- ความเสี่ยงหนึ่งที่มักถูกมองข้ามคือการแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าตัวเล็กในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เจ้าตัวเล็กโดนขโมยตัวตน (identity theft) โดยใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีบนโลกออนไลน์เช่น ภาพถ่าย ชื่อ-สกุล วันเดือนปีเกิด และที่อยู่ประกอบสร้างเป็นตัวตนปลอมสำหรับทำธุรกรรมทางการเงิน
- เพียงเพราะเด็กชายหรือเด็กหญิงยังอาจไม่มีพัฒนาการเพียงพอที่จะบอกปฏิเสธ ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำอย่างไรกับเขาหรือเธอก็ได้ เพราะวันหนึ่งเมื่อเด็กเหล่านั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่หรือวัยรุ่น ภาพหรือคลิปวีดีโอที่พ่อแม่เคยมองว่าน่ารักอาจกลายเป็นเรื่องน่าอับอาย ถูกหยิบนำมาล้อเลียนหรือกลั่นแกล้งจนเด็กสูญเสียความมั่นใจในตัวเองในอนาคต
ผมกับภรรยาค่อนข้างระมัดระวังเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียในการแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัว และตระหนักถึงความสำคัญเรื่องความเป็นส่วนตัว เราเองก็ตั้งมั่นว่าจะแบ่งปันประสบการณ์เลี้ยงลูกบนโลกออนไลน์แบบพอเหมาะพอควร ส่วนใหญ่จะถ่ายรูปเก็บไว้แบ่งปันกันเองในกลุ่มส่วนตัว หรือพื้นที่ออฟไลน์
แต่เรื่องที่ห้ามยากจนอาจกล่าวได้ว่าควบคุมไม่ได้ คือการโพสต์รูปลูกโดยเหล่าญาติสนิทมิตรสหาย ทั้งปู่ย่าตายายลุงป้าน้าอาซึ่งหลายคนอาจมีค่านิยมการใช้โซเชียลมีเดียและความเป็นส่วนตัวแตกต่างกันไป
“ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ใครๆ เขาก็ทำกัน” นี่คือประโยคคลาสสิคที่ผมและภรรยาได้ยินเมื่อเริ่มห้ามปราม แต่ในฐานะพ่อแม่ เราต้องให้น้ำหนักกับสิทธิและความเป็นส่วนตัวลูกเป็นสำคัญ และพยายามหาทางออกแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นกับเหล่าญาติๆ บางครั้งคุยกันไม่เข้าใจ สุดท้ายก็ต้องใช้เอกสิทธิ์คนเป็น ‘พ่อแม่’ ขอให้ลบหรือเปลี่ยนการตั้งค่าว่าใครควรเห็นรูปนั้นได้บ้าง
ผมจึงถือโอกาสใช้พื้นที่ในบทความนี้ ถ่ายทอดประสบการณ์ตรง แนวทางการพูดคุยเพื่อปรับความเข้าใจกับเหล่าญาติ และสาเหตุที่ทำไมเราต้องคิดให้รอบคอบก่อนโพสต์รูปลูกหลาน
ถ้าเป็นเรา เราโอเคไหม?
พ่อแม่บางคนชื่นชอบการโพสต์รูปเด็กน้อยกำลังอาบน้ำ หรือภาพเกือบเปลือยของเจ้าตัวเล็กโดยมีสติกเกอร์น่ารักมาปิดบางส่วนไว้ไม่ให้ดูวาบหวิวจนเกินไป ภาพลักษณะนี้คือกฎเหล็กของผมและภรรยาว่าห้ามเด็ดขาด ห้ามแม้กระทั่งส่งต่อในกลุ่มส่วนตัว เพราะเป็นการละเมิดสิทธิของเด็กในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอย่างรุนแรง
เพียงเพราะเด็กชายหรือเด็กหญิงยังอาจไม่มีพัฒนาการเพียงพอที่จะบอกปฏิเสธ ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำอย่างไรกับเขาหรือเธอก็ได้ เพราะวันหนึ่งเมื่อเด็กเหล่านั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่หรือวัยรุ่น ภาพหรือคลิปวีดีโอที่พ่อแม่เคยมองว่าน่ารักอาจกลายเป็นเรื่องน่าอับอาย ถูกหยิบนำมาล้อเลียนหรือกลั่นแกล้งจนเด็กสูญเสียความมั่นใจในตัวเองในอนาคต
สิ่งหนึ่งที่เรามักไม่ตระหนักถึงในโลกออนไลน์ คือ การทำซ้ำข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูลมีต้นทุนต่ำมาก ผนวกกับความสามารถในการค้นหาที่ทรงพลัง ทำให้ภาพที่พ่อแม่เคยโพสต์สมัยเจ้าตัวเล็กยังจำความไม่ได้มีโอกาสที่จะกลับมาแพร่สะพัดในโลกออนไลน์ได้เสมอหากผู้ค้นหามีความพยายามมากพอ
การศึกษาชิ้นหนึ่งที่มีกลุ่มตัวอย่างคือคู่พ่อแม่และเด็กวัย 10 ถึง 17 ปีในสหรัฐอเมริกาจำนวน 249 คู่พบว่า นอกจากพ่อแม่จะพยายามตั้งกฎเกณฑ์การใช้เทคโนโลยีในบ้านเพื่อกำกับลูกแล้ว ลูกๆ เองก็ต้องการตั้งกฎเกณฑ์กับพ่อแม่โดยเฉพาะเรื่องการแบ่งปันข้อมูลของเด็กๆ บนโลกออนไลน์ โดยเขาและเธอมองว่าพ่อแม่มีแนวโน้ม ‘แบ่งปันมากเกินไป’ โดยโพสต์ข้อมูลหรือภาพของลูกโดยไม่ได้ขออนุญาตก่อน
ในวัยที่เด็กน้อยยังไม่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเอง ผมและภรรยาจะใช้กฎจำง่ายด้วยการตั้งคำถามว่า “ถ้าเป็นเรา เราโอเคไหม?”
เราโอเคไหมที่อากัปกิริยาของเราจะถูกนำไปทำเป็นสติกเกอร์ขาย? เราโอเคไหมที่จะมีรูปกึ่งเปลือยที่เพื่อนสามารถเข้ามาค้นเจอ? เราโอเคไหมที่จะมีภาพขณะเข้าโรงพยาบาลโพสต์บนโลกออนไลน์?
ถ้าคำตอบคือไม่ ก็ไม่มีใครแม้กระทั่งพ่อแม่เองควรกระทำเพราะนั่นคือการละเมิดสิทธิของเจ้าตัวเล็ก
เสี่ยงแค่ไหนกับการให้ข้อมูลลูกบนโลกออนไลน์
อีกหนึ่งความเสี่ยงที่พ่อแม่หลายคนมักดูเบาคือความเสี่ยงจากการแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าตัวเล็กในปริมาณที่มากเกินไป ปัจจุบัน การขโมยตัวตน (identity theft) โดยใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีบนโลกออนไลน์มาประกอบสร้างเป็นตัวตนปลอมสำหรับทำธุรกรรมต่างๆ เริ่มกลายเป็นสิ่งแพร่หลายมากขึ้น
รายงานของธนาคารบาร์เคลย์ สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหราชอาณาจักรคาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า การแบ่งปันข้อมูลลูกๆ บนโลกออนไลน์ที่มากเกินไป (sharenting) จะเป็นสาเหตุของการฉ้อโกงมูลค่าหลายร้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะอาชญากรสามารถรวบรวมข้อมูลทั้งภาพถ่าย ชื่อ-สกุล วันเดือนปีเกิด และที่อยู่ เพื่อใช้เปิดบัญชีปลอมขึ้นมาได้
นอกจากนี้ หลายคนอาจไม่เคยทราบถึงความเสี่ยงว่ารูปน่ารักของลูกน้อยในท่วงท่าในชีวิตประจำวันแสนจะธรรมดาจะถูกนำไปรวบรวมและเผยแพร่บนเว็บไซต์สื่อลามกอนาจารเด็ก
เมื่อ พ.ศ. 2559 มีการเปิดโปงครั้งสำคัญเมื่อคุณแม่ชาวออสเตรเลียตามไปเจอภาพลูกของเธอบนเว็บไซต์หนึ่งพร้อมกับกลุ่มคนที่แสดงความคิดเห็นจากหยาบคายและอนาจารต่อภาพนั้น บนเว็บไซต์ดังกล่าวมีภาพเด็กกว่า 45 ล้านภาพโดยรัฐบาลออสเตรเลียประมาณการว่ากว่าครึ่งหนึ่งเป็นภาพที่พ่อแม่อัปโหลดลงเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม
แล้วเราจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้กับข้อมูลของลูกเราอย่างไรดี?
วิธีป้องกันเบื้องต้นที่ทำได้ไม่ยากและผู้เขียนแนะนำให้พ่อแม่ทุกคนทำทันที คือการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของบัญชีโซเชียลมีเดีย ไม่ใช่เฉพาะของเราเท่านั้นนะครับ แต่ต้องช่วยตรวจเช็คการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของบัญชีคนในครอบครัวด้วยซึ่งส่วนใหญ่จะมีค่าตั้งต้นในการโพสต์คือ ‘สาธารณะ’ ที่ใครๆ ก็สามารถเข้ามาดูได้โดยไม่ต้องเป็นเพื่อน
สิ่งที่ผู้เขียนอธิบายให้พ่อแม่เห็นภาพ คือการบอกว่าการตั้งค่าโพสต์แบบสาธารณะก็ไม่ต่างจากการปรินท์ภาพทุกภาพมาแปะไว้รอบบ้าน ใครที่เดินผ่านบ้านก็สามารถดูได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ส่วนการตั้งค่าโพสต์แบบเฉพาะเพื่อนนั้น ก็คล้ายกับการเก็บภาพไว้ในสมุดที่หากเพื่อนจะเข้ามาชมดูต้องได้รับอนุญาตจากเราก่อน
แต่หากถามว่าการตั้งค่าโพสต์ให้เห็นเฉพาะเพื่อนนั้นสามารถขจัดความเสี่ยงได้อย่างหมดจดหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ครับ เพราะหลายครั้งที่เราอาจจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าคนที่อยู่ในรายชื่อเพื่อนของเราคือใคร อีกทั้งการจัดเก็บและส่งต่อรูปภาพนั้นก็
ง่ายแสนง่ายเพียงปลายนิ้วคลิก ทางที่ดีที่สุดคือการคิดให้รอบคอบก่อนการโพสต์แต่ละครั้ง หรือถ้าเด็กน้อยเริ่มรู้ความก็ควรขออนุญาตเจ้าตัวเล็กเพื่อความสบายใจของทั้งสองฝ่ายอีก ทั้งส่งเสริมความเป็นตัวของตัวเองและการกล้าตัดสินใจของเด็กอีกด้วย
แน่นอนว่าการแบ่งปันเรื่องราวของลูกแบบออนไลน์ให้กับญาติสนิทที่อยู่ห่างไกลในโลกออฟไลน์ย่อมช่วยสานสัมพันธ์และสร้างความแน่นแฟ้นในหมู่เครือญาติ ผมเองก็คอยแบ่งปันคลิปวีดีโอน่ารักๆ ของเจ้าตัวเล็กให้กับกลุ่มไลน์ส่วนตัวอยู่เป็นประจำ แต่ก่อนที่จะคลิกส่งทุกครั้งผู้เขียนอยากให้ทุกครอบครัวชั่งน้ำหนักระหว่างความสุขและความเสี่ยง ยิ่งเมื่อเด็กอายุราว 6 ถึง 8 ขวบ พ่อแม่อาจเริ่มกระบวนการเรียนรู้ไปพร้อมกันว่าภาพและเนื้อหาแบบไหนที่ทุกคนสบายใจให้ปรากฎอยู่บนโลกออนไลน์