- เราต่างก็มีวิธีรับมือกับการสูญเสียคนที่ผูกพันและมีกระบวนการเยียวยาตนเองหลังการสูญเสีย โดยในกระบวนการเหล่านี้มักมีห้วงเวลาสำคัญที่ผู้สูญเสียต้องกลับมาอยู่กับตัวเองก่อนจะออกไปสัมพันธ์กับโลกอีกครั้ง อย่างที่จะค่อยๆ อธิบายในเชิงสัญลักษณ์ ผ่านนิทานพื้นบ้านของไทยเรื่องปลาบู่ทอง
- การพลัดพรากจากคนที่เราผูกพันด้วยเป็นโอกาสในการ เกิดใหม่ ทางจิตใจ ความสูญเสียจึงสามารถเป็นหมุดหมายหนึ่งของการเติบโต
- ภัทรารัตน์ วาดภาพให้เห็นปฏิกิริยาต่างๆ ของผู้ที่สูญเสียและวิธีการรับมือการสูญเสียที่เห็นโดยทั่วไป เช่น หาสิ่งแทนบุคคลอันเป็นที่รักซึ่งได้จากไป ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว นอกจากนี้ยังนำเสนอทางเลือกอีกสามประการในการช่วยปรับสภาพจิตใจของผู้สูญเสีย โดยเริ่มจากกิจกรรมที่มีฐานการรับรู้อารมณ์ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งมีการใช้ ร่างกาย สัมผัสกับ วัตถุ
“…ท่านอยู่ไหน? สุดสายตาจรดฟ้า เพียงหญ้าเฉาโรยอันแผ่ไปมิรู้จบในความห่างไกล มองถนน กระวนกระวาย รอท่านกลับมา”
ถอดความจากบทกวีของหลี่ชิงเจ้า (李清照) กวีหญิงยุคราชวงศ์ซ่ง
การพลัดพรากสูญเสียคนที่เราผูกพันด้วย อาจทำให้เราถอนตัวจากโลก แล้วดำดิ่งลงในตนเองเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะกลับมาเชื่อมโยงกับคนอื่นอีกครั้ง บางทีก็ทำให้เราหาทางเชื่อมโยงกับคนที่จากไปด้วยผ่านสิ่งแทนหรือตัวแทน หรือทำให้เบลอ เฉยชา หรือแม้แต่อาจทำให้เราหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ใหม่ๆ แต่ไม่ว่าอย่างไร เราต่างก็มีวิธีการของตนในการรับมือกับความสูญเสียและมีหนทางเยียวยาตนเองได้ อย่างที่จะค่อยๆ อธิบายผ่านนิทานพื้นบ้านของไทยเรื่องปลาบู่ทอง ดังนี้
เอื้อย หญิงสาวชาวบ้านใจงามผู้หนึ่งมีแม่ชื่อขนิษฐา มีพ่อชื่อว่าเศรษฐีทารก (ทา-ระ-กะ) พ่อของเอื้อยมีภรรยาอีกคนด้วยชื่อขนิษฐี ต่อมาพ่อฆ่าแม่ของเอื้อยตาย เอื้อยไปนั่งร้องไห้อยู่ท่าน้ำและได้พบแม่ซึ่งกลับมาเกิดเป็นปลาบู่ทอง เอื้อยจึงมาหาปลาทุกวัน ต่อมานางขนิษฐีจับปลามาขอดเกล็ดทำอาหาร เอื้อยจึงนำเกล็ดปลาบู่ไปฝังดินเพื่อให้แม่เกิดเป็นต้นมะเขือ แต่ขนิษฐีก็ตามราวีโค่นต้นมะเขืออีก เอื้อยจึงนำเมล็ดมะเขือไปฝังดินพร้อมกับอธิษฐานให้แม่เกิดเป็นต้นโพธิ์เงินโพธิทองที่ไม่มีใครทำลายหรือเคลื่อนย้ายได้
ต่อมา พระเจ้าพรหมทัตเสด็จประพาสป่ามาเห็นต้นโพธิ์เงินโพธิทองจึงต้องการย้ายไปปลูกในวัง ซึ่งก็มีเพียงเอื้อยเท่านั้นที่เคลื่อนย้ายต้นโพธิ์ได้ พระเจ้าพรหมทัตจึงทรงแต่งตั้งให้เอื้อยเป็นพระมเหสีแล้วย้ายเข้าวัง แต่ก็ถูกแม่เลี้ยงลวงให้กลับไปเยี่ยมบ้านแล้วฆ่าทิ้ง
เอื้อยตายไปเกิดใหม่เป็นนกแขกเต้าและได้โบยบินกลับไปหาพระเจ้าพรหมทัต ทำให้ถูกจับถอนขนเตรียมทำเป็นอาหาร แต่ได้หนูช่วยไว้และได้พักฟื้นในรูหนูจนขนงอกขึ้นมาใหม่ เมื่ออาการดีขึ้นก็บินออกจากรูหนูไปเจอฤๅษีในป่า ฤาษีจึงช่วยเสกให้คืนร่างเป็นเอื้อยดังเดิม พร้อมกับวาดรูปเด็กแล้วเสกให้เป็นคนและมอบให้เป็นของลูกเอื้อย เมื่อเด็กโตก็ได้นำมาลัยที่เอื้อยร้อยไปให้พระเจ้าพรหมทัต พระองค์ทรงจำฝีมือเอื้อยได้และเมื่อทรงทราบเรื่องราวทั้งหมดก็เสด็จไปรับเอื้อยกลับวัง
หลุมมืดแห่งความตรอมตรมของคนสูญเสีย และชีวิตใหม่
ในเรื่องปลาบู่ทอง เราเห็นความพยายามของเอื้อยผู้สูญเสียในการสื่อสารกับแม่ผ่านรูปของสิ่งมีชีวิตที่สามารถแปลงกายปรากฏใหม่ไปได้เรื่อยๆ จากคนเป็นปลาบู่ จากปลาบู่เป็นต้นมะเขือ และเปลี่ยนร่างเป็นต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองอีกก็ได้ และย่อมจะเปลี่ยนได้อีกเรื่อยๆ หากเอื้อยยังต้องการเช่นนั้น
ทว่า เอื้อยเองก็ไม่ได้เศร้าโศกตรอมตรมและยึดติดกับแม่อยู่ตลอดไป ในที่สุดแม่ของเอื้อยก็กลายเป็นต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองที่มั่นคงและไม่มีใครโค่นลงได้ อีกทั้งเรื่องเล่าหลังจุดนี้ไม่ได้เน้นความสัมพันธ์กับต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองที่เป็นร่างปราฏของแม่อีก แต่เริ่มให้น้ำหนักกับตัวเอื้อยเองมากขึ้นในการสร้างสัมพันธ์กับสิ่งใหม่และผู้คนใหม่ๆ
หากเปรียบกับผู้สูญเสียนอกนิทาน ก็เป็นการที่เขาค่อยๆ ถอนพลังงานที่ใช้ไปกับความอาลัยอาวรณ์ผู้ตายอันเป็นที่รักออก และเริ่มใช้พลังงานมากขึ้นไปกับชีวิตของเขาเอง เสมือนหนึ่งว่าในที่สุดเขาก็ ‘ยอมรับ’ ความสูญเสียแล้วจริงๆ ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องรู้สึกโอเคกับสิ่งเกิดขึ้นทั้งหมดก็ได้
สัญลักษณ์สำคัญในนิทานที่สะท้อนการยอมรับความสูญเสียโดยสิ้นเชิงคือ เอื้อยตายกลายเป็นนกที่สามารถโบยบินไปตามที่ต่างๆ ได้ดังใจ อุปมาได้กับจิตใจของผู้สูญเสียที่เป็นอิสระมากขึ้น ทว่าตอนที่นกถูกถอนขนออกจนมีสภาพปางตายกระทั่งต้องเข้าไปหลบในรูหนู ตรงนี้แสดงถึงพลังงานทางจิตที่เคลื่อนเข้าด้านในและถดถอยอีกครั้ง โดยมีรูหนูเป็นภาชนะโอบกอดการดำดิ่งเข้าไปในอารมณ์หดหู่ ทั้งนี้ หนูที่ช่วยนกแสดงคุณลักษณะภายในของผู้สูญเสียเอง นั่นคือความสามารถที่จะใจดีกับตัวเอง และฤาษีก็คือปัญญาหยั่งรู้ของเราทุกคน
ยกตัวอย่างจิตแพทย์ชาวสวิสชื่อ คาร์ล กุสตาฟ ยุง ซึ่งเคยมีช่วงเวลาแห่งการสูญเสียอันทำให้เขาถอนตัวจากโลกและดำดิ่งลงในหลุมมืดแห่งจิต การถอนตัวจากโลกซึ่งเริ่มในปี 1914 จากที่ยุงสูญเสียความสัมพันธ์กับ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ นักจิตวิเคราะห์ชาวออสเตรีย ที่อาจเปรียบเป็น ‘พ่อ’ อีกคนของยุงในตอนนั้น ซึ่งแม้ไม่ใช่การจากตายแต่ก็เป็นความสูญเสียใหญ่หลวง เขาลาออกจากตำแหน่งของมหาวิทยาลัยซูริก ถอนตัวจากแวดวงที่เขาเคยมีบทบาทสำคัญ แล้วกลับมาโดดเดี่ยวราวกับเด็กน้อยที่เล่นกับก้อนหินคนเดียว
ยุงปฏิสัมพันธ์กับข้อมูลในจิตไร้สำนึกอย่างเต็มที่ เช่น ใส่ใจเนื้อหาของความฝันและวาดความฝันออกมาเป็นรูปภาพ อีกทั้งปล่อยให้ภาพฟุ้งฝันในใจได้พรั่งพรูออกมาในขณะที่เล่นก่อกองหิน เมื่อเวลาผ่านไปยุงก็เปลี่ยนจากการเป็นคนป่วยและค่อยๆ กลายเป็นเฒ่าผู้ทรงปัญญา นอกจากนี้ หลังฟื้นตัวจากเหตุการณ์แตกหักกับฟรอยด์ เขาก็มีผลงานชิ้นสำคัญเรื่อง Pyschological Types (1921) ด้วย (เนื้อหาส่วนหนึ่งพยายามอธิบายความแตกต่างระหว่างเขากับฟรอยด์ ยุงเห็นว่าการเคลื่อนความสนใจเข้าด้านใน (Introversion) ของเขา ไม่เหมือนการไหลออกสู่ภายนอก (Extraversion) ของฟรอยด์)
การพลัดพรากจากคนที่เราผูกพันด้วยเป็นโอกาสในการเกิดใหม่ทางจิตใจ ชีวิตใหม่ของผู้ที่เคยสูญเสียมีความเข้าใจโลกมากกว่าเดิม คงจริงที่ว่าความสูญเสียเป็นหมุดหมายหนึ่งของการเติบโต
ในความพลัดพรากสูญเสีย
ในความสูญเสียแบบการจากตายของคนเรา ความเชื่อในเรื่องโลกหลังความตายย่อมมีผลกับความนึกคิดรับรู้ของผู้สูญเสีย ในช่วงแรกของการสูญเสีย หลายคนเห็นตรงกันว่าวิญญาณของพ่อหรือแม่มาบอกลา บ้างก็เห็นตอนยังไม่หลับแต่เป็นวันที่ทำพิธีกรรม บ้างก็เห็นหรือรู้สึกถึงวิญญาณตอนกึ่งหลับกึ่งตื่นในวันที่พ่อหรือแม่จากไป หรือฝันถึงในวันใกล้ครบรอบปีแห่งมรณพิธี
คนที่สูญเสียพ่อแม่หรือผู้ดูแลที่ผูกพันด้วยมีปฏิกิริยาได้มากมายหลายอย่าง บ้างก็บอกว่าเสียใจที่เคยขัดแย้งกับผู้ตายมามาก เพราะต่อให้ความสัมพันธ์จะดีร้ายอย่างไร เขาก็เคยดูแลเรา บ้างก็บอกว่าเสียใจแต่ก็โล่งใจที่ไม่ต้องก่อกรรมกับแม่อีกแล้วเพราะก่อนหน้านั้นเคยทะเลาะกันประจำ หรือบอกว่าไม่ต้องทำตามความคาดหวังของพ่อแม่ที่คอยผลักดันให้เขาสมบูรณ์แบบอีกแล้ว
ผู้สูญเสียบางคนรับมือด้วยการพยายามลืมเลือนทุกอย่างและมีกรณีที่ถึงขนาดว่าความทรงจำของชีวิตหายไปเกือบทั้งหมด หรือบ้างก็กลายเป็นคนเฉยชาไร้ความรู้สึกทั้งที่แต่ก่อนเป็นคนรู้สึกกับสิ่งต่างๆ อย่างลึกซึ้ง หรือบ้างก็หลีกเลี่ยงความผูกพันใหม่ๆ โดยในหลายกรณีการที่ผู้สูญเสียพยายามป้องกันความสูญเสียในอนาคตกลับทำให้สูญเสียความสัมพันธ์กับผู้คนที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน และการที่เขาตระหนักว่าตัวเองไม่สามารถป้องกันความสูญเสียในอนาคตจึงเป็นการเยียวยาความสูญเสียในอดีตได้อย่างหนึ่ง
นอกจากนี้ ผู้สูญเสียมากมายหาทางรักษาความสัมพันธ์ที่หายไปผ่านช่องอื่นๆ เช่น เขียนจดหมายหาผู้จากไป เอาสิ่งของคนนั้นมาใช้ เล่นและฟังบทเพลงที่ผู้จากไปชอบ หรือหาสิ่งแทนอื่นๆ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว เช่นในเหตุการณ์หนึ่ง พ่อของผู้ชายคนหนึ่งจากลาเขาไป โดยที่ก่อนตายนั้นพ่อบอกให้เขาถอดนาฬิกาของพ่อมาใส่ แล้วกล่าวคำอำลาว่าวันหนึ่งลูกเองก็ต้องลาจากทุกอย่างไปเหมือนกัน หลังจากพ่อเสียชีวิต ผู้ชายคนนี้ก็ใส่นาฬิกาอันเป็น ‘ตัวแทนของพ่อ’ มาตลอด โดยแทบไม่ถอดออกเลย แต่วันหนึ่งนาฬิกานั้นก็หายไป แม้ว่าจะปั่นป่วนแต่สุดท้ายเขาก็ต้องหาวิธีเชื่อมโยงกับพ่อใหม่ ซึ่งก็คือเชื่อมโยงกับคำเตือนของพ่อที่ว่าวันหนึ่งเขาก็ต้องจากทุกอย่างไปเหมือนพ่อ (อ้างจาก Life Lessons)
ส่วนชายอีกคนนั้นเคยมีความรับรู้เกี่ยวกับพ่อตามคำบอกเล่าเชิงลบของแม่ที่ว่าพ่อไม่ค่อยทำงานการอะไร แต่พอพ่อจากไปเขาพบว่าแท้จริงแล้วพ่อได้ทำงานอย่างลับๆ ให้กับพรรคกั๋วหมินหรือก๊กมินตั๋ง ทุกวันนี้แม้นไร้เงาบิดา เขากลับยิ่งใช้เวลาว่างศึกษาภาษาและวัฒนธรรมเก่าแก่อันรุ่มรวยของจีน อีกทั้งศึกษาพระคริสตคัมภีร์อย่างลึกซึ้งเหมือนดั่งผู้ร่วมก่อตั้งพรรคกั๋วหมิน อันเป็นพรรคที่พ่อของเขาเคยทำงานให้นั่นเอง
นอกเหนือจากการพยายามกลับไปเชื่อมโยงกับคนที่จากเราไปผ่านสิ่งแทนตามที่เล่ามาข้างต้น ก็ยังมีวิธีการอื่นอีกมากที่สามารถช่วยปรับสภาพจิตใจของผู้สูญเสีย โดยขอคัดมาเพียงสามข้อ ดังนี้
1. ดึงความสนใจไปที่กิจกรรมอย่างอื่นนอกจากความสูญเสีย โดยกิจกรรมเหล่านั้นควรมีบรรยากาศแนวงานอดิเรกอันผ่อนคลายที่อยู่นอกเหนือกรอบจำกัดของภาระหน้าที่ในการเรียนหรือการทำงานตามปรกติ ตัวอย่างเช่น การกลับมาอยู่กับตัวเองผ่านการทำขนม ทำสวน วาดรูป เล่นดนตรี ต่อจิ๊กซอว์ ต่อเลโก้ สร้างสิ่งต่างๆ จากหินหรือดินหรือทราย ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้มีฐานการรับรู้อารมณ์ที่เป็นรูปธรรม และช่วยทำให้ใจสงบได้ดีเพราะได้ใช้ ร่างกาย ถ่ายทอดพลังงานทางจิตออกมาในวัตถุ อีกทั้งจะทำให้เห็นรูปแบบข้อมูลบางอย่างภายในจิตใจของตัวเองชัดขึ้นผ่านสิ่งที่เป็นรูปธรรมด้วย
2. การทำใจยอมรับว่าเราสูญเสียบุคคลนั้นไปแล้วโดยทิ้งความคาดหวังไปก่อนว่าจะได้อยู่ด้วยกันอีก แม้ว่าอาจมีโอกาสก็ตาม จากการคุยกับคนจำนวนหนึ่งที่สูญเสียคนที่ผูกพันด้วยไปก็พบว่า
ช่วงแรกๆ คนมักจะมีความคิดว่า “ถ้า ได้อยู่ด้วยกันอีกจะ…(มักเป็นการแก้ไขสิ่งที่คิดว่าผิดพลาด)…” แม้ว่าการคิดในลักษณะนี้บ้างจะไม่ได้ผิดอะไร แต่ถ้ามากเกินไปก็ทำให้เสียเวลาในปัจจุบันไปกับการคิดแก้ไขอดีต และเป็นการใช้พลังงานไปกับเรื่องนอกตัวเองที่ส่วนใหญ่แล้วก็ควบคุมไม่ได้จริง ทำให้ผู้สูญเสียไม่ได้ เผชิญกับอารมณ์ตัวเองอย่างซื่อตรง
ทางเลือกคือ ผู้สูญเสียสามารถใช้กิจกรรมตามข้อ 1 ในการเผชิญกับตัวเองก่อน ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจตัวเองชัดขึ้นและอารมณ์มั่นคงขึ้นเร็วกว่าการเอาแต่คิดแก้ไขเรื่องภายนอก เมื่อหยั่งรากมั่นคงในการอยู่กับตัวเองได้แล้วก็จะช่วยเพิ่มความยั่งยืนให้ความสัมพันธ์ใหม่ๆ และ/ หรือความสัมพันธ์เก่าที่อาจกลับมาด้วย
3. ยอมรับว่าความพลัดพรากสูญเสียเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตของเราทุกคน ซึ่ง
3.1 อาจเป็นการตกผลึกแล้วยอมรับได้เองเมื่อกาลเวลาผ่านพ้นไป หรือ
3.2 อาจเป็นการยอมรับผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และรับรู้การสูญเสียของผู้อื่น สิ่งเหล่านี้หาได้จากการพูดคุยกับผู้อื่นโดยตรง อีกทั้งจากการเสพวรรณกรรมทางศาสนาและเรื่องเล่าต่างๆ ซึ่งไม่จำกัดอยู่แค่เรื่องเล่าของผู้ใหญ่ เพราะแม้แต่นิทานและอนิเมชั่นสำหรับเด็กนับไม่ถ้วนก็มีการพูดถึงการเปลี่ยนผ่านเติบโตของตัวละครหลักซ้อนไปกับการสูญเสียผู้ที่ตัวละครเอกผูกพันด้วย เช่น The Lion King และ Mowgli: Legend of the Jungle และอื่นๆ มากมาย เหล่านี้ล้วนย้ำเตือนว่าเราทุกคนย่อมมีประสบการณ์พลัดพรากสูญเสียเป็นธรรมดา เราทั้งหมดมีเพื่อนร่วมทุกข์
ไม่ว่าเราจะสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักโดยการจากเป็นหรือจากตาย โปรดจำไว้ว่าชีวิตของเราเองก็มีค่า เมื่อให้เวลากับความเศร้าโศกและกระบวนการเยียวยาแล้ว ชีวิตที่เหลืออยู่ของเราก็ยังต้องเดินทางต่อไป โดยมีเพื่อนเดินทางเป็นความเข้าใจชีวิตที่ดีมากขึ้น