- ข้างในใจลึกๆ ฉันไม่รู้ว่าพี่น้องคนอื่นคิดอย่างไร แต่สำหรับฉันในวัยเกือบ 9 ขวบ กำลังเริ่มมีเสียงผุดขึ้นมาว่า “อยากตายประชดพ่อ” เพราะจะมีวิธีไหนอีกล่ะที่จะทำให้พ่อเจ็บปวดแทบตายได้ ถ้าไม่ใช่การตายพร้อมเขียนจดหมายประกาศให้โลกรู้ว่า “พ่อนี่แหละคือคนที่ฆ่าฉัน”
- เราเลยเป็นครอบครัวที่เข้มแข็งจากภายนอกแต่ภายในล้มเหลวไม่มีชิ้นดี กระนั้นความทุกข์ใจที่ฉันได้รับก็คงไม่เท่ากับเสี้ยวหนึ่งที่พ่อเจอ เด็กที่ถูกเลี้ยงด้วยความรุนแรงขนาดนั้น ถ้าเขามองว่านี่คือปมชีวิตที่ต้องมี “ผู้ชดใช้” เหมือนพ่อแม่บางคนที่เอาความเจ็บปวดในวัยเด็กมาลงที่ลูก ถ้าเป็นแบบนั้นจริงเราทุกคนคงต้องเจ็บมากกว่าพ่อหลายเท่านัก (…) นึกไม่ออกว่าหากฉันเกิดแต่งงานมีลูกไปก่อนที่จะนั่งคุยกับพ่อในวันนี้ ฉันจะกลายเป็นแม่แบบไหน จะบ้าอำนาจ ขี้โมโห เหมือนพ่อหรือไม่?
วัยเด็กคือช่วงเวลาที่ถ้าเปรียบเป็นบ้านก็คือช่วงลงเสาเข็ม ถมดิน ปรับพื้น เพื่อสร้างให้บ้านหนึ่งหลังมีพื้นฐานมั่นคง หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นช่วงที่ก่อร่างสร้าง “ตัวตนที่แท้จริง” ของเรา ซึ่งพ่อแม่ยุคนี้ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก แต่ก็มีหลายครอบครัวที่ประสบปัญหาทั้งที่ก็ศึกษาหาข้อมูลมาอย่างดี แล้วนับประสาอะไรกับพ่อแม่เมื่อ 30-40 ปีที่ก่อน ที่เลี้ยงลูกจากคู่มือพ่อแม่ที่เขียนขึ้นจาก “ตัวเอง”
ว่ากันว่าเสาเข็มชีวิตจะทยอยลงครบทุกต้นในช่วงอายุประมาณ 7 ปี บ้านหลังนี้จะอยู่อย่างมั่นคงแข็งแรงยาวนานแค่ไหน นี่จึงเป็นช่วงเวลาชนิดพลาดไม่ได้แม้แต่นิดเดียว แต่จะมีใครบ้างล่ะที่สุขสมหวังไปหมดทุกอย่าง แล้วถ้าเรามีวัยเด็กที่เจ็บปวดล่ะ จะโตขึ้นมาเป็นอย่างไร?
ใครที่เริ่มรู้ว่าชีวิตกำลังพังจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ไม่ว่าจะจากการโดนบังคับให้เรียนมากไป พ่อแม่หย่าร้าง ถูกละเลยขาดความรัก ใช้ชีวิตอย่างขัดสนยากจน หรือแม้แต่ถูกทำร้ายร่างกายในทุกระดับ คงมีคำถามนี้ผุดขึ้นในหัวอยู่เหมือนกัน เพราะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ภายใต้ความ “หวังดี” บางทีก็ทำร้ายลูกอย่างแสนสาหัส จนบางคนไม่เหลือแม้แต่ชีวิตให้แก้ตัวใหม่ เพราะพ่อแม่บางคนไม่รู้จริงๆ ว่าคำพูดประโยคไหน หรือการกระทำแบบใดที่ทำให้หัวใจของลูก “ล่มสลาย”
สำหรับฉันเอง เมื่อก่อนก็คิดว่ามีชีวิตราบรื่นเหมือนคนปกติ จนมีโอกาสได้ทบทวนตัวเองในวัย 35 ปี ทำให้รู้ว่าฉันแค่เป็นคนโชคดีที่ “กู้ซากตัวเอง” ได้ทัน
“วัยเด็กที่เจ็บปวด”
ย้อนไปราวอายุ 6-7 ขวบ เป็นช่วงที่แม่และเราสี่พี่น้องได้รู้ข่าวจากเพื่อนพ่อ (ที่สงสารพวกเรา) ว่าพ่อมีเมียน้อย ฉันจำได้ว่าตัวเองช็อกและผิดหวังกับพ่อมาก แต่พวกเราไม่มีใครกล้าบอกให้พ่อเลิกกับเมียน้อยเพราะพ่อเป็นใหญ่ที่สุดในบ้าน และใครจะรู้ว่านี่เพิ่งเข้าสู่จุดเริ่มต้นของฝันร้ายในวัยเด็ก…
พ่อที่นำเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนร่วมกับเมียน้อยเพราะหลงเชื่อคำชวนแสนหวาน ผ่านไปไม่ถึงปีก็เริ่มเห็นแล้วว่าเงินที่ลงทุนไปน่าจะเสียเปล่า ในที่สุดพ่อทนไม่ไหวจนเริ่มทะเลาะอย่างรุนแรงและเลิกรากัน แน่นอนว่าจากเหตุการณ์นี้ส่งผลให้การค้าที่บ้านหยุดลง ภายในไม่กี่ปีก็ต้องขายบ้าน ขายรถ กลายเป็นครอบครัวที่ใช้ชีวิตอย่างลำบากโดยที่ภายนอกไม่มีใครดูออก เพราะเราคือชนชั้นกลางที่ยังมีบ้านอยู่ ยังมีเสื้อผ้าดีๆ ลูกๆ ได้ไปเรียนหนังสือ แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพราะได้รับการช่วยเหลือจากญาติๆ ทำให้เราผ่านช่วงเวลาเลวร้ายนั้นมาได้
“ปัญหาจากภายนอกมักส่งผลถึงปัญหาภายใน” นับตั้งแต่วันที่การเงินฝืดเคือง พวกเราพี่น้องต้องทนเห็นพ่อแม่ทะเลาะกันแทบทุกวัน แม่ที่ปกติเรียบร้อยไม่ชอบทะเลาะกับใครก็เริ่มเถียงพ่อแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเราสี่พี่น้องร้องไห้กันระงมด้วยความกลัว บางวันถึงขั้นลงไม้ลงมือกันก็มี แต่ยังดีที่ไม่ถึงขั้นทำร้ายร่างกายจนเป็นแผล และนับจากนั้นพวกเราก็เริ่มออกห่างจากพ่อมากขึ้น เรามองเขาเหมือนคนแปลกหน้าที่น่ากลัวเหมือนผีหรือตัวอะไรก็ได้ที่รู้สึกเกลียดชัง
ข้างในใจลึกๆ ฉันไม่รู้ว่าพี่น้องคนอื่นคิดอย่างไร แต่สำหรับฉันในวัยเกือบ 9 ขวบ กำลังเริ่มมีเสียงผุดขึ้นมาว่า “อยากตายประชดพ่อ” เพราะจะมีวิธีไหนอีกล่ะที่จะทำให้พ่อเจ็บปวดแทบตายได้ ถ้าไม่ใช่การตายพร้อมเขียนจดหมายประกาศให้โลกรู้ว่า “พ่อนี่แหละคือคนที่ฆ่าฉัน”
เด็ก 9 ขวบ ที่ดูภายนอกร่าเริงสดใส ไปโรงเรียนกลับมาบ้านเหมือนปกติ แต่ใครจะรู้ว่ากำลังวางแผนหาตึกสูงเพื่อฆ่าตัวตาย ส่วนเหตุที่เลือก “กระโดดตึก” เพราะดูง่ายสุดเท่าที่ปัญญาเด็กจะคิดได้ในตอนนั้น แต่สักพักก็มีเสียงถามว่า… “ตึกที่สูงแค่ 3 ชั้น ถ้ากระโดดลงมาเราจะตายจริงเหรอ ความสูงจะพอเหรอ? เออ แฮะ… ดีนะที่พอมีความรู้จากการ์ตูนอยู่บ้าง เพราะถ้าโดดลงมาแล้วไม่ตายทันที หลังออกจากโรงพยาบาลต้องโดนพ่อตีปางตายแน่นอน แค่นึกภาพพ่อถือไม้เรียวในมือความกลัวตายก็บังเกิด เลยคิดว่างั้นย้ายไปกระโดดตึกที่สูงสุดของโรงเรียนแทนละกัน
แต่พอคิดได้ว่าตึกโรงเรียนที่สูงสุดก็แค่ 3 ชั้นเท่าบ้านเหมือนกัน แผนนี้เลยเป็นอันต้องพับไปเพราะไม่มีปัญญาจะหาตึกสูงกว่านี้อีกแล้ว แต่ยิ่งไปกว่านั้นการกระโดดตึกตายคงไม่ใช่ทางออกที่ดีด้วย งั้น “เลิกตาย” ก็ได้ เปลี่ยนแผนใหม่เป็น “หนีออกจากบ้าน” แทนละกัน แต่แค่คิดได้ไม่นาน แม่ก็ตะโกนเรียก “กินข้าวได้แล้ว” เออ…ถ้าฉันหนีไปจริงๆ จะเอาข้าวที่ไหนกิน? ฉันที่ตั้งใจจะไม่ตายแล้ว แต่ถ้าไม่มีข้าวกินคงต้องตายในสักวันแน่นอน ไหนจะแม่อีกล่ะ พี่น้องอีกล่ะ คนที่รักฉันคงเสียใจน่าดู
เมื่อคิดได้แบบนี้ความอยากประชดพ่อเลยจบลงภายในวันเดียว อาจเพราะพื้นฐานฉันเป็นคนร่าเริงและสดใสมาก แถมมีเสียงแม่มาช่วยเรียกสติเลยทำให้ฉันผ่านช่วงเวลานี้มาได้อย่างหวุดหวิด… แถมเจ้าความคิดฆ่าตัวตายนั้นก็ไม่ได้ย้อนกลับมาอีกเลย เพียงแต่เปลี่ยนสภาพเป็นความ “เก็บกด” จนทำให้ฉันแทบเป็นคน “ไร้อารมณ์” ที่ภายในเต็มไปด้วย “อารมณ์” เพราะฉันสามารถพูดด่าใครก็ได้อย่างไม่แคร์และไม่รู้สึกผิด แถมพยายามไม่แสดงความอ่อนแอให้ใครเห็นเพราะมันเจ็บปวดเกินไปถ้าฉันต้องอ่อนแอ ส่วนอารมณ์ที่ฉันใช้บ่อยสุดเวลากลบเกลื่อนความทุกข์ในใจก็คือ “ความโกรธ” ไม่ว่าฉันจะเสียใจ อยากร้องไห้แค่ไหน ฉันจะโกรธทุกอย่างรอบตัวเพราะมันง่ายและดีกว่าที่จะร้องไห้ออกมาตรงๆ
นับจากนั้นทุกคนในบ้านก็ดำเนินชีวิตต่อไปอย่างเคร่งเครียด พ่อที่ยังตั้งหลักชีวิตไม่ได้ก็ยังเอาแต่ใจตัวเองและตั้งตัวเป็นใหญ่ภายในบ้าน แม่ที่ต้องเป็นทั้งแม่บ้านและออกไปทำงานหาเงินแทนพ่อ ทำให้พวกเราพี่น้องสงสารแม่จนแทบจะคุยกับพ่อแบบนับคำได้
“พ่อที่จากไป”
ในวัยที่อายุย่าง 19 ปี ฉันเลิกหวังว่าชีวิตในบ้านจะดีขึ้น เลยให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมชมรมที่มหาลัย ที่นี่มีทั้งเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง ที่สนิทใจและเป็นยิ่งกว่าบ้านของฉัน พวกเขาเข้าใจ ยอมรับ จริงใจ และตลกเฮฮา ทำให้เราสนิทกันมาก เพื่อนของฉันส่วนมากเป็นเด็กดี เรียบร้อย และไม่มีการมั่วสุมหรือชวนไปทำอะไรเกเรอย่างที่พ่อชอบกล่าวหา ฉันพยายามอธิบายจนกลายเป็นทะเลาะรุนแรงในหลายที แต่ด้วยความที่กลับบ้านค่ำเกือบทุกวัน ในที่สุดวันหนึ่งพ่อก็สั่งให้ฉันเลิกทำชมรมอย่างเด็ดขาด! พร้อมขู่ว่าจะไปหาฉันถึงมหาลัยถ้ายังไม่ยอมเลิก และถ้าเจอฉันอยู่ชมรมจะตบฉันต่อหน้าเพื่อนๆ ให้อาย
คำพูดครั้งนี้ถือว่าทำร้ายจิตใจมาก การตั้งใจเรียนจนได้เกรดเฉลี่ย 4.00 ไม่ได้ทำให้พ่อเชื่อใจในตัวฉันเลย ในทางกลับกันพ่อที่ไม่ทำงานอะไร ไม่เป็นผู้นำครอบครัวที่ให้ความอบอุ่นใจ มาในวันนี้ยังจะพรากความสุขเพียงหนึ่งเดียวของฉันไปอีกเหรอ!? หลังทะเลาะกับพ่ออย่างรุนแรงในวันนั้น เสียงที่ฉันไม่ได้ยินมาเนิ่นนานก็เริ่ม…กลับมาอีกครั้ง
“ถ้ามีพ่อเป็นแบบนี้เราจะมีไปทำไม สู้ตายๆ ไปเลยจะยังดีกว่า ใช่… พ่อนี่แหละต้องตาย พวกเราทุกคนจะได้มีความสุขกันเสียที” ฉันนึกสาปแช่งพ่ออยู่ในใจแบบนี้จนกระทั่งนอนหลับไป
ณ ช่วงกลางวันที่ทุกคนเดินวุ่นวายในสถานที่ที่มองเท่าไหร่ก็ไม่รู้สึกคุ้นเคย รู้แค่เพียงฉันที่ใส่ชุดเดรสสีดำทั้งตัวกำลังก้าวเท้าไปที่ห้องเล็กแห่งหนึ่ง ภายในห้องปูด้วยเสื่อญี่ปุ่นคล้ายเป็นห้องรับรองขนาดไม่ใหญ่นัก ตรงกลางห้องมีที่เก็บของอยู่ใต้เสื่อ ฉันไม่รีรอที่จะเดินไปเปิดดูอย่างร้อนใจ ซึ่งสิ่งที่พบก็คือเสื้อผ้าผู้ชายชุดหนึ่งวางพับอยู่ ใกล้กับชุดคือรองเท้าที่มองแล้วรู้สึกคุ้นเคย สักครู่ก็เริ่มคิดได้ว่าที่นี่คือเสื้อผ้า และรองเท้าของพ่อ ใช่เลย! ฉันกำลังอยู่ใน “งานศพพ่อ” พ่อ…ที่ฉันสาปแช่งให้ตายไปให้พ้นๆ ฉันเคยตั้งใจว่าในงานศพพ่อจะหัวเราะออกมาดังๆ ให้สาสมที่รอคอยมาเป็นสิบปี แต่น่าแปลกที่น้ำตากลับไหลออกมาแทนที่ พอรู้สึกตัวอีกทีมือก็เอื้อมไปหยิบรองเท้าคู่นั้นมากำไว้แน่น ร้องไห้สะอึกสะอื้นแทบขาดใจ
“ฮึกๆ… ฮือออออออ” น้ำตาที่ไหลท่วมหน้าจนเปียกไปถึงไรผม ทำให้ฉันเริ่มรู้สึกตัวว่ากำลังนอนดิ้นทุรนทุรายอยู่บนเตียง โดยมีสองมือจับผ้าห่มไว้แน่นแทนรองเท้าคู่นั้น พอนิ่งสักพักก็ได้สติรู้ว่านี่เป็นเพียงแค่ “ความฝัน” แต่น่าแปลกที่น้ำตากับความรู้สึกเสียใจนี้คือของจริง ฉันยังคงร้องไห้เสียใจกับการตายของพ่อชนิดไม่มีอะไรเทียบได้ และรู้แล้วว่าถ้าพ่อตายจริงฉันก็คงร้องไห้ไม่ต่างจากตอนนี้ เพราะอะไรน่ะหรือ? คงเพราะในวัยเด็กของฉัน พ่อคือคนที่ฉันรักมากที่สุด ใช่…ฉันรักพ่อมากกว่าแม่ เพราะพ่อเป็นคนพูดเก่ง ฉลาด ร้องเพลงเพราะ และมักจะซื้อของเล่นกับเทปเพลงการ์ตูนให้ตามที่ลูกๆ ขอเสมอ ที่สำคัญพ่อพาพวกเราไปเที่ยวทะเล ไปกินอาหารอร่อยเป็นประจำ และที่สำคัญ ฉันกับพ่อเราหน้าเหมือนกันมาก เดินไปไหนจะรู้ทันทีว่านี่ลูกใคร
“เราจะกลายเป็นคนดีที่สุดทันที ก็ต่อเมื่อตายไปแล้วเท่านั้น”
ประโยคนี้ท่าจะจริง เพราะการตาย (ในฝัน) ของพ่อครั้งนี้ ทำให้ความรักที่ฉันมีต่อพ่อปรากฏขึ้นอีกครั้ง เหมือนมีเวทย์มนตร์ประหลาดมาเสกให้ “ปุ่มรับรู้ความดี” ของพ่อในตัวฉันทำงาน ความโกรธแค้นที่มีต่อพ่อในตอนนี้หายไปแทบจะเกินครึ่ง แม้ว่าหลังจากตื่นมาไม่นานก็ยังได้ยินเสียงพ่อกับแม่ทะเลาะกันเหมือนเคย แต่ครั้งนี้เปลี่ยนจากความรู้สึกโกรธ เบื่อ รำคาญ กลายเป็นย่องออกไปดูพ่อแม่ทะเลาะกันอย่างเงียบๆ ภาพพ่อที่กำลังเถียงแม่ด้วยเสียงดัง ก้าวร้าว เป็นสิ่งยืนยันอย่างดีว่า “พ่อยังไม่ตาย” และนี่คงเป็นการฟังพ่อแม่ทะเลาะกันที่ฉันมีความสุขที่สุดในชีวิต
ถึงไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้หรือวันต่อๆ ไป ฉันยังต้องทะเลาะกับพ่ออีกนานแคไหน แต่อย่างน้อยวันนี้ฉันก็ไม่ได้เกลียดเขาเท่าเมื่อวานอีกแล้ว
“ค้นหาเงาหลังกระจก”
ค่ำนี้เป็นอีกวันที่พ่อยืนรออยู่หน้าบ้านด้วยสีหน้าดุดันเหมือนเคย แต่ภารกิจออกค่ายประจำปีที่แสนเข้มข้นของชมรม คงไม่มีทางทำให้ฉันกลับบ้านเร็วกว่านี้ได้ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้คือวันนี้ฉันตั้งใจจะมา “ฟัง” โดยเฉพาะ เพราะที่ผ่านมาฉันเอาแต่เถียงอยู่ตลอดจนทะเลาะกันรุนแรงแทบทุกครั้ง และจากการที่รับฟังพ่ออย่างตั้งใจ ฉันก็เซอร์ไพรส์กับการค้นพบครั้งนี้ เพราะภายใต้คำดุด่า ใต้ท่าทางที่ร้อนรน และอารมณ์ที่พุ่งพล่าน ฉันเห็นแต่ “ความเป็นห่วง” ของพ่อเต็มไปหมด
ตอนนี้รู้แล้วว่าพ่อสอนพวกเราแบบอ่อนโยนไม่เป็น ดังนั้นการด่าว่าของพ่อก็คือการแสดงความรักแบบหนึ่ง แต่เป็นแบบที่ไม่มีลูกคนไหนชอบ และคงไม่มีใครต้องการความรักแบบนี้ แม้แต่พ่อเองก็คงไม่ชอบเหมือนกัน แต่ครั้งนี้ฉันบอกตัวเองว่าจะลองตั้งใจฟังพ่อแบบดีๆ สักครั้ง และน่าแปลกที่ความตั้งใจนี้ทำให้พ่อเริ่มผ่อนท่าทีเกรี้ยวกราดลง ฉันจึงรีบใช้จังหวะนั้นขอบคุณที่พ่อเป็นห่วง และสัญญาว่าจะพยายามกลับบ้านให้เร็วขึ้นเท่าที่ทำได้ สีหน้าพ่อดีขึ้นทันทีราวกับเสกมนตร์ และจบบทสนทนาด้วยดีอย่างไม่น่าเชื่อจนทุกคนในบ้านแทบตั้งตัวไม่ทัน
หลังจากวันนั้นฉันเริ่มอยากรู้ว่าพ่อถูกเลี้ยงดูมาแบบไหน ช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ดูจังหวะที่พ่ออารมณ์ดีก็หาโอกาสถามเรื่องปู่เพราะพ่อมักเล่าถึงท่านไม่มากนัก ปู่เสียชีวิตก่อนน้องชายจะเกิดเพียงไม่กี่เดือน ฉันยังจำได้ว่าพ่อสะดุ้งโหยงและรีบปฏิเสธทันทีเมื่อฉันบอกว่า “น้องชายต้องเป็นปู่กลับชาติมาเกิดแน่เลย”
จากที่นั่งคุยอยู่ราวครึ่งชั่วโมง ฉันจับใจความได้ว่าปู่เป็นคนดุมาก เพราะเป็นทหารเก่าหนีตายมาจากประเทศจีนช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง คุณย่าเป็นสาวชาวจีนที่ก็หนีมาอยู่เมืองไทย ท่านทั้งสองพบกันผ่านการดูตัวจนมีลูกด้วยกันถึง 8 คน ปู่เป็นคนขยันมาก ทำการค้าจนมีกิจการใหญ่โต เลี้ยงลูกเหมือนอยู่ค่ายทหาร เพราะลูกทุกคนจะถูกฝึกให้ทำงานช่วยที่บ้านอย่างขันแข็ง โดยเฉพาะพ่อที่ดูมีแววดื้อและรักอิสระที่สุดเลยต้องโดนใช้งานหนักสุด
แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือตอนเด็กๆ เวลาพ่อดื้อหรือหนีไปเที่ยวเล่นไม่เชื่อฟังคำสั่งก็มักโดนผูกแขนด้วยเชือกแล้วห้อยลงมาจากเสาบ้าน ก่อนจะใช้เข็มขัดหรือสายไฟฟาดที่หลังจนแทบไม่เหลือที่ว่าง หลายครั้งคนข้างบ้านต้องวิ่งมาขอให้หยุดตีด้วยความสงสาร หรือเวลาถอดเสื้อไปวิ่งเล่นนอกบ้านก็มีอาแปะแถวนั้นมาลูบหลังพ่อพร้อมถามว่า “หลังลื้อไปโดนอะไรมา?” แล้วก็น้ำตาไหลด้วยความสงสาร
ระหว่างที่พ่อเล่า ฉันจำได้ว่าตัวเองอ้าปากค้าง ในใจนึกอยากลุกไปกอดพ่อมาก เพราะทุกวันนี้ร่องรอยที่หลังก็ยังมีเหลืออยู่ให้เห็น แต่ก็ได้แค่คิดเพราะฉันยังไม่สนิทใจกับพ่อขนาดนั้น ส่วนพ่อก็เล่าด้วยสีหน้าปกติปนสงสัยเพราะไม่รู้ว่าทำไมถึงโดนตีขนาดนั้น
ฉันแอบเดาในใจว่าตอนนั้นพ่อคงเด็กเกินไปที่จะรู้ว่าตัวเองทำอะไรผิด ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับปู่ จึงไม่ต่างอะไรระหว่างฉันกับพ่อ ที่ต่างก็อยู่ด้วยความ “กลัว” ในพ่อของตัวเอง
ฉันไม่รู้ว่าพ่อเกลียดปู่ไหมเพราะเห็นแต่ความกลัวเต็มไปหมด แต่ก็คงไม่มีอะไรจะหนักหนาเท่ากับการสูญเสียแม่ที่รักมากในวัยเพียง 13 ปี พ่อเล่าว่าย่าป่วยหนักหลังคลอดลูกคนสุดท้าย และนั่นคงทำให้พ่อหัวใจสลาย แต่ความเป็นลูกอดีตทหารที่โดนเลี้ยงอย่างเข้มงวดคงไม่มีเวลาให้เสียใจมากนัก
ฉันคิดย้อนไปถึงความฝันเรื่องพ่อตายในวันนั้น ฉันในวัย 19 ปี กับพ่อที่โกรธเกลียดมาตลอดสิบกว่าปี ฉันยังร้องไห้แทบตาย แล้วประสาอะไรกับพ่อที่ต้องสูญเสียแม่ที่รักมากในชีวิตจริงด้วยวัยเพียง 13 ปี คิดไม่ออกเลยว่าถ้าเป็นฉันจะร้องไห้ขนาดไหน ฉันเดาว่าพ่อต้องเก็บอารมณ์ความรู้สึกเสียใจทั้งหมดเอาไว้ และเปลี่ยนเป็นความเข้มแข็งเพื่อให้ผ่านความทุกข์อันสาหัสไปให้ได้ ที่ฉันคิดแบบนี้เพราะฉันและพี่น้องก็ถูกพ่อสอนให้ไม่ร้องไห้ตั้งแต่เด็กเหมือนกัน ถ้าหกล้มแล้วร้องจะโดนตีซ้ำ ถ้าร้องไห้เพราะอยากให้โอ๋จะโดนด่าหนักกว่าเดิม
เราเลยเป็นครอบครัวที่เข้มแข็งจากภายนอกแต่ภายในล้มเหลวไม่มีชิ้นดี แต่ถึงกระนั้นความทุกข์ใจที่ฉันได้รับก็คงไม่เท่ากับเสี้ยวหนึ่งที่พ่อเจอ เด็กที่ถูกเลี้ยงด้วยความรุนแรงขนาดนั้น ถ้าเขามองว่านี่คือปมชีวิตที่ต้องมี “ผู้ชดใช้” เหมือนพ่อแม่บางคนที่เอาความเจ็บปวดในวัยเด็กมาลงที่ลูก ถ้าเป็นแบบนั้นจริงเราทุกคนคงต้องเจ็บมากกว่าพ่อหลายเท่านัก ฉันเลยสรุปเองในใจว่า “พ่อดีขึ้นกว่าเดิม” เพราะพ่อชอบพูดเสมอว่าถ้าพวกฉันเป็นลูกปู่คงโดนตีไม่เหลือแน่ และนึกไม่ออกเลยว่าหากฉันเกิดแต่งงานมีลูกไปก่อนที่จะนั่งคุยกับพ่อในวันนี้ ฉันจะกลายเป็นแม่แบบไหน จะบ้าอำนาจ ขี้โมโห เหมือนพ่อหรือไม่?
แต่คำถามนี้คงไม่จำเป็นต้องตอบ เพราะทุกวันนี้ฉันมีโอกาสเริ่มต้นใหม่… และเหนืออื่นใดเวลามองพ่อตอนนี้ฉันกลับเห็นเงาของเด็กน้อยขี้กลัวคนนั้น มากกว่าจะเป็นพ่อจอมบ้าอำนาจที่ชอบดุด่าลูกเมีย เป็นครั้งแรกที่ฉันรู้สึกทึ่งว่าการฟังอดีตของพ่อมันเปลี่ยนฉันได้ขนาดนี้เชียวหรือนี่!
“เราเปลี่ยนพ่อเปลี่ยน”
จากวันนั้นกว่า 20 ปี ถ้าเปรียบเป็นเด็กหนึ่งคนก็คงเรียนจบใกล้รับปริญญาเต็มที และผลจากพากเพียรของฉันก็คือพ่อค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ช่วงปีแรกเราอาจไม่คุ้นเคยกับการพูดจาดีๆ สักเท่าไหร่ แต่ทุกวันนี้ฉันสามารถพูดกับพ่อได้ทุกเรื่อง แม้บางหัวข้อจะมีทะเลาะกันบ้าง แต่ก็เป็นสิ่งที่ฉันในวัยเด็กไม่เคยคิดเลยว่าจะมีวันนี้ เมื่อลองวิเคราะห์ว่าเหตุใดพ่อถึงสามารถเปลี่ยนแปลง และเปิดใจกับฉันได้มากกว่าลูกๆ คนอื่น
ในที่สุดก็พบคำตอบว่า การได้มองเห็น “เงาหลังกระจก” หรือได้เห็น “เด็กน้อย” ที่ซ่อนอยู่ในเงา นี่แหละ…พ่อถึงเริ่มเปิดใจยอมรับฉันจริงๆ การเรียนหนังสือเก่ง หรือการเป็นลูกที่ดีเชื่อฟังตามคำสั่งอย่างที่ฉันเคยพยายามทำในตอนเด็ก ก็พอมีส่วนอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่ทำให้ฉันกับพ่อสามารถคุยได้ทุกเรื่องแบบนี้
เพราะหากมีเด็กสักคนโตมาพร้อมความกลัวที่กัดกินอยู่ในใจลึกๆ โอกาสที่เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่สมบูรณ์ย่อมมีน้อยนัก แถมบ่อยครั้งความกลัวมักกลายร่างเป็นความโกรธ ความอยากได้การยอมรับก็มักแสดงตัวผ่านการใช้อำนาจ สำหรับพ่อ ต้นแบบการใช้อำนาจก็คือปู่ ส่วนครอบครัวคือโอกาสให้พ่อได้ใช้อำนาจเพื่อชดเชยความเจ็บปวดในอดีต ดังนั้นเมื่อฉันสัมผัสและเข้าใจได้ทั้งหมดนี้ พ่อจึงกลายเป็นเด็กน้อยไร้เดียงสาคนหนึ่ง จนทำให้ฉันสามารถลดอคติ ความโกรธ และความเกลียดชังในใจลงได้ จนส่งผลไปถึงการรับฟัง การกลั่นกรองคำพูดต่างๆ ที่เต็มไปด้วยความใส่ใจและระมัดระวังมากขึ้น เพราะฉันรู้ดีว่าถ้ายิ่งใส่ใจพ่อมากเท่าไหร่ เด็กน้อยคนนั้นของพ่อก็จะแข็งแรงและเติบโตขึ้นจนพร้อมรับฟังเด็กน้อยของฉันได้เช่นกัน
กฎความจริงอีกข้อคือ “เราทุกคนต่างเป็นเงาในกระจกของกันและกัน” ที่ผ่านมาฉันมองเห็นแต่ภาพตัวเองทุกข์ใจผ่านเงาสะท้อนในกระจกของพ่อ ยิ่งอยากเห็นตัวเองยิ้มเท่าไหร่ก็ยิ่งคาดหวัง เมื่อไม่สมหวังก็โกรธแค้น โมโห เกลียดชัง แต่ไม่เคยสนใจมองทะลุเข้าไปว่าหลังกระจกบานนั้นมีอะไรซ่อนอยู่ จนเมื่อวันหนึ่งได้รู้ว่าเงาที่อยู่หลังกระจกนั้นก็เจ็บปวดไม่แพ้กัน ฉันถึงได้ “เลิกทุกข์” และมีความเข้าใจ เห็นใจ มาแทนที่
ที่สำคัญฉันเริ่มเห็นสีหน้าตัวเองเปลี่ยนไป ในที่สุดก็มีรอยยิ้มปรากฏให้เห็นเสียที และแน่นอนว่าพ่อคงไม่ต่างกัน ที่ผ่านมาก็เห็นแต่ใบหน้าทุกข์ใจของตัวเองผ่านกระจกเงาของฉัน จนเมื่อวันหนึ่งที่ฉันเริ่มเปลี่ยน พ่อก็คงเห็นใบหน้าเปื้อนยิ้มของตัวเองสะท้อนกลับมามากขึ้นเช่นกัน ความมั่นคงเริ่มแทนที่ความกลัวในใจของเด็กน้อยคนนั้น เมื่อพ่อไม่กลัวก็จะไม่โกรธจนต้องใช้อำนาจบ่อยๆ พ่อเริ่มเรียนรู้วิธีที่จะขอร้องลูกๆ มากกว่าสั่งหรือบังคับอย่างเดียวเหมือนก่อน
การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ ทำให้ฉันเชื่อแล้วว่าแค่เราเริ่มต้นจากการ “ฟัง” ไม่ว่าจะเร็วหรือช้า การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่แบบคาดไม่ถึงจะตามมาอย่างแน่นอน สำหรับฉัน 20 ปี ไม่ใช่เรื่องที่ยาวนาน เพราะความสัมพันธ์ไม่ได้เปลี่ยนกันได้แค่เพียงข้ามคืน ข้ามปี โดยเฉพาะกับคนที่มีความเจ็บปวดในวัยเด็ก ระยะเวลาและความใส่ใจที่สม่ำเสมอ คือเครื่องมือชั้นเลิศที่จะพาความสุขกลับมาได้มั่นคงที่สุด และด้วยวิธีเดียวกันนี้ ฉันก็รู้ว่าหากค้นลึกเข้าไปในกระจกเงาของปู่ ก็คงได้พบกับเด็กน้อยคนหนึ่งในนั้น เพียงแต่ไม่รู้ว่าเขาจะขี้กลัวเหมือนพ่อ ขี้โมโหเหมือนฉัน หรืออาจจะขี้เหงาก็เป็นได้?
“ทุกคนล้วนมีเงา แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมองเห็น”
ฉันเชื่อว่าเราทุกคนล้วนมีกระจกที่ใช้สะท้อนผู้อื่น และเห็นตัวเองผ่านกระจกของทุกคนเช่นกัน ส่วนภาพสะท้อนของเราจะสุขหรือทุกข์เพียงใด คงขึ้นอยู่กับว่าเรารู้สึกกับเจ้าของกระจกแบบไหน และที่สำคัญ “เงาหลังกระจก” ของเรามีเด็กน้อยคนไหนแอบอยู่ข้างหลัง
ระหว่างที่ฉันใช้ทั้งชีวิตเรียนรู้ที่จะพูดคุยกับพ่อ ฉันก็ไม่ละเลยที่จะคุยกับเด็กน้อยหลังกระจกของตัวเองเช่นกัน หากวันใดเด็กน้อยขี้โมโหคนนั้นเจ็บปวด ฉันจะรีบดูแลเขาและถอยห่างจากพ่อทันที อาจเว้นไป 1-2 วัน หรือรอจนกระทั่งดีขึ้นจึงค่อยคุยต่อ นั่นเพราะฉันรู้แล้วว่าทุกการพูดคุยกับพ่อ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องไม่สร้างบาดแผลให้ตัวเอง รวมถึงไม่คาดหวังว่าผู้คนที่พบเจอในแต่ละวันจะมองเห็นเด็กน้อยที่แอบอยู่หลังกระจกของฉัน ในทางกลับกันฉันได้ใช้วิธีนี้กับคนที่รู้สึกไม่ชอบเพื่อเปลี่ยนอคติที่มีต่อเขาให้กลายเป็นความเข้าใจ เพราะการจะเห็นเงาหลังกระจกนี้ได้ต้องอาศัยเวลา ความเมตตา และความเคารพที่มีให้กันจากหัวใจ ดังนั้นจึงไม่ง่ายที่ทุกคนจะมองเห็นเงาหลังกระจกของตัวเองหรือใคร แต่ก็ไม่ยากเกินไปหากมีความตั้งใจจริง
และถ้าจะให้ขอบคุณสำหรับจุดเปลี่ยนที่ทำให้ฉันมีความสุขได้อย่างทุกวันนี้ ก็คงเป็น “การตายเสมือนจริง” ของพ่อในคืนนั้น นี่อาจเป็นความฝันที่ดีที่สุดในชีวิตของฉันก็ว่าได้ เพราะถ้าปล่อยเวลาเนิ่นนานไปกว่านี้จนพ่อตายจากไปจริงๆ ฉันคงไม่มีโอกาสเข้าใจใครสักคนอย่างถ่องแท้ ไม่รับรู้ว่าในความเกลียดชังมีความรักมากมายซ่อนอยู่ และที่สำคัญ “พ่อ” ก็จะกลายเป็นผู้สร้างบาดแผลที่กัดกินใจฉันไปจนวันตาย และฉันก็จะนำความเจ็บปวดนี้ส่งต่อไปให้กับลูก หลาน ตลอดจนทุกคนรอบตัวที่พบเจอ จนในที่สุดก็ต้องใช้ชีวิตอย่างเจ็บปวด ทุกข์ใจ จากความเกลียดชังที่เขาเหล่านั้นส่งกลับมาให้ ที่สุดคงได้ตายทั้งเป็นในชีวิตจริงสักวันหนึ่ง
ทุกครอบครัวล้วนมีความทุกข์ ความเจ็บปวดบางอย่าง เป็นมรดกตกทอดโดยไม่ตั้งใจ แม้แต่พ่อแม่ยุคนี้ที่ศึกษาวิธีเลี้ยงลูกอย่างดีจากตำราคุณหมอจิตวิทยาเด็ก ก็ยังไม่อาจหนีพ้นมรดกแห่งความทุกข์นี้ เพราะวิธีแก้ไม่ได้มีเขียนไว้ในตำราหมอเล่มใด หากแต่อยู่ที่การฟังและพูดคุยอย่างเปิดใจเพื่อจะมองให้ลึกถึงเงาของเด็กน้อยที่ซ่อนอยู่หลังกระจกนั้น และไม่ใช่แค่เฉพาะคนในครอบครัวเท่านั้น ผู้คนรอบตัวล้วนก็มีเงาที่ซ่อนอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น
แล้วคุณล่ะ…เคยพบกับเงาหลังกระจก (เงา) ใครบ้างหรือยัง?