- คนทั้งโลกถามซักเด็กไม่หยุดว่า “คุณทำอะไรได้บ้าง” โดยที่ไม่มีใครสักคน หรือวิชาไหนพาพวกเขาย้อนกลับไปทบทวนตัวเอง
- ชวนไปสำรวจชีวประวัติ (Biography) ในวิชาการสื่อสารภายในบุคคล พร้อมเดินทางย้อนเวลาไปสู่จุดเริ่มต้นของการหล่อหลอมตัวตนตั้งแต่วัยเด็ก มาจนถึงการสะท้อนตัวตนในปัจจุบันไปพร้อมๆ กัน กับครูอิ๊ก ณฐิณี เจียรกุล
- ในช่วงชีวิตของทุกคนควรมีโอกาสได้ทบทวนชีวิตตัวเอง เพื่อกลับมาตั้งหลักและยืนอยู่บนเท้าของตัวเองอีกครั้ง เตรียมพร้อมตัวเองวันนี้ในการที่จะก้าวต่อไป ไม่งั้นเราก็จะไม่รู้เลยว่าเราก้าวต่อไปเรื่อยๆ เพื่ออะไร
ชีวิตที่ผ่านมาของคุณเป็นอย่างไรบ้าง? ตั้งแต่ปฐมวัย-ประถมศึกษา-มัธยมศึกษา-มหาวิทยาลัย-ทำงาน-เปลี่ยนงาน-มีลูก ฯลฯ ลองนำความทรงจำช่วงนั้นขึ้นมาทบทวนตัวเองกันอีกครั้ง เพราะตัวตนที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากเหตุการณ์สำคัญในทุก 7 ปี อาจสะท้อนให้เห็นอีกครั้งโดยที่คุณก็ไม่รู้ตัวในอีกหลายปีให้หลัง
ตลอดชีวิตที่ผ่านมา หลายคนอาจไม่เคยมีเวลาสงบๆ ให้ตัวเองได้นั่งพักแล้วคิดทบทวนการเติบโตของชีวิตเลยสักครั้ง อาจไม่เคยกลับมาตั้งหลักพิจารณาอดีตก่อนจะตัดสินใจก้าวต่อไปในอนาคต อาจพบกับปัญหาเดิมซ้ำซากในทุกความสัมพันธ์ที่แก้เท่าไหร่ก็ไม่หาย นั่นอาจเพราะเราไม่เคยมองเห็นนิสัยบางอย่างของตัวเองที่สะสมมาตั้งแต่เด็กจนโตอย่างแนบเนียน และถ้าเรายังไม่ให้ความสำคัญกับการสำรวจตัวเอง เราอาจต้องใช้ชีวิตอยู่กับคำถามในใจที่ไม่เคยมีใครตอบไปตลอดหรือเปล่า?
ตัวผู้เขียนเองก็เคยอยู่ในจุดที่มองเห็นเพียงแค่สิ่งรอบกายแล้วตอบสนองกับมันไปตามสถานการณ์อย่างร่างที่ไร้จิตวิญญาณ ไม่เคยย้อนถามตัวเองว่าทำไมถึงทำแบบนั้น? ทำไมถึงคิดแบบนั้น? หรือแท้จริงแล้วต้องการอะไรกันแน่? แต่มีวิชาหนึ่งที่ตอบปัญหาที่ค้างคาในใจจนหมดสิ้นคือวิชาการสื่อสารภายในบุคคล (Intrapersonal Communication) ซึ่งทำให้ได้รู้จักกับครูคนหนึ่งที่มารื้อฟื้นความทรงจำในวัยเด็กที่สะท้อนมาถึงตัวตนของเราในปัจจุบันผ่านการสำรวจ Biography หรือชีวประวัตินั่นเอง
เมื่อมีโอกาสจึงอยากชวน ครูอิ๊ก ณฐิณี เจียรกุล คุณครูผู้สอนการทำความรู้จักตัวเองผ่าน Biography มาแบ่งปันผู้อ่าน เพราะคิดว่าอาจช่วยให้หลายคนสามารถค้นพบตัวตนบางอย่างจากการสำรวจ Biography และอาจคลี่คลายปมบางอย่างที่ตัวเองซ่อนไว้จนหาต้นเหตุไม่เจอ
ปัจจุบันครูอิ๊กเป็นอาจารย์สอนนิสิตครุศาสตร์และนิสิตนิเทศศาสตร์ รวมทั้งทำงานเกี่ยวกับเด็กปฐมวัยด้วย แต่ก่อนหน้านั้นเธอผ่านการประกอบอาชีพมาอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแอร์โฮสเตส ติวเตอร์ นักแสดง ถ่ายโฆษณา แอคติ้งโค้ช หรือแม้กระทั่งเด็กเสิร์ฟ แต่ท้ายที่สุดเธอก็ได้คำตอบกับตัวเองว่าอาชีพในฝันของเธอจริงๆก็คือการเป็นครูสอนเด็กปฐมวัย จึงลาออกจากการเป็นแอร์โฮสเตสเพื่อมาทำตามความฝัน
จุดเชื่อมโยงของครูละคร & ครูปฐมวัย
ครูอิ๊กเรียนจบปริญญาตรีคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง เอกสื่อสารการแสดงมาก่อนที่จะไปเรียนต่อทางครุศาสตร์ปฐมวัย นั่นทำให้เธอมีความรู้สำหรับการสอนนักเรียนทั้งสองคณะ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการที่เธอนำ “ละคร” มาใช้สอน “เด็กปฐมวัย”
เธอเล่าเกี่ยวกับสาขาวิชาสื่อสารการแสดงที่เธอเรียนจบออกมา แต่อีกวิชาหนึ่งที่เธอให้ความสำคัญไม่แพ้กันก็คือวาทวิทยา
เธออธิบายว่าวาทวิทยาและการละครไม่ได้แยกออกจากกัน ละครเป็นสิ่งที่ช่วยให้ครูเข้าใจนักเรียน ขณะเดียวกันวาทวิทยาก็เป็นเหมือนเครื่องมือในการสื่อสารกับนักเรียน ซึ่งทั้งสองศาสตร์แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนอยู่แล้ว ละครจะช่วยให้เรามองเห็นความคิดและความต้องการของอีกฝ่ายผ่านการสวมบทบาทให้เขาเป็นตัวละครหนึ่ง ส่วนวาทศาสตร์คือการเลือกว่าจะใช้วิธีการไหนเพื่อให้สื่อสารได้ตรงวัตถุประสงค์
เธอยกตัวอย่างเด็กเล็กคนหนึ่งที่ดึงของจากมือเพื่อน แล้วเพื่อนคนนั้นก็เตรียมอาละวาด ครูจึงต้องใช้ศาสตร์ทางวาทวิทยามาอธิบายให้เด็กๆ ฟังว่า “เหตุผลที่เพื่อนดึงของจากมือเราเพราะ ‘เขายังใช้ภาษาไม่ค่อยได้ จึงต้องใช้ภาษากายแทน’ เด็กคนที่แย่งของไปไม่ใช่เด็กนิสัยไม่ดีแต่เพราะเขามีข้อจำกัดบางอย่างนึ่คือการใช้ละครในการทำความเข้าใจเขา”
ในการสอนเด็กโตอย่างนิสิตคณะครุศาสตร์ เอกปฐมวัย เธอก็ได้ประยุกต์ศาสตร์แห่งวาทวิทยาและสื่อสารการแสดงมาสอนนิสิตในการวางแผนการสอนให้มี “ความเป็นมนุษย์” มากขึ้น ครูอิ๊กแบ่งปันกระบวนการวางแผนการสอนว่า เธอจะออกแบบเหมือนพีระมิดของพล็อตละคร มีตั้งแต่จุดเริ่มต้น ไต่ไปจนถึงไคลแม็กซ์ เจอปมขัดแย้งต่างๆ ค่อยๆ คลี่คลาย แล้วก็จบ เพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกสนุกมากกว่าแผนการแบบทั่วไป และเธอก็ได้แบ่งปันเทคนิคนี้ให้กับนิสิตคณะครุศาสตร์เพื่อไปสอนนักเรียนของพวกเขาให้สนุกกับบทเรียนมากขึ้น
นอกจากนี้เธอยังฝากคำถามชวนคิดทิ้งท้ายให้นิสิตได้หาคำตอบว่าพวกเขา “คุณเป็นครูแบบไหน” โดยให้นิสิตลองนึกย้อนกลับไปว่าวิธีการสอนของพวกเขานั้นได้รับอิทธิพลมาจากไหน แล้วสไตล์การสอนแบบนี้มีผลดีผลเสียกับเด็กอย่างไรบ้าง ครูอิ๊กให้เหตุผลว่า “ครูต้องทบทวนบทบาทของตัวเองให้ดี เพราะการจะเป็นครูที่ดีได้นั้นต้องเข้าใจตัวเองก่อน แล้วจึงจะเข้าใจคนอื่นได้”
ครูละครสอนวิเคราะห์ชีวประวัติ Biography
บทเรียนเรื่อง Biography นั้นอยู่ในวิชาการสื่อสารภายในบุคคล เป็นวิชาของภาควาทวิทยา ซึ่งภาควิชานี้ถูกมัดรวมอยู่ในสาขาเดียวกับสื่อสารการแสดงเพราะทั้งสองวิชามีความคาบเกี่ยวกันในด้านการทำความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ ภาควิชาวาทวิทยาจะมุ่งเน้นการสอนเรื่องการสื่อสารภายในตัวเอง การสื่อสารกับคนรอบข้าง หรือแม้แต่การสื่อสารต่อสาธารณะ ส่วนภาควิชาสื่อสารการแสดงสอนเรื่องการสื่อสารกับผู้ชมผ่านบทบาทสมมติจากบทที่แต่งขึ้น
Biography หรือทฤษฎีการสำรวจชีวประวัติของตัวเอง ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง คล้ายการเขียนไดอารีรายวัน แต่เป็นก่อนย้อนอ่านชีวิตตั้งแต่เกิดมาจนถึงปัจจุบัน เป็นทฤษฎีที่อยู่ในรากฐานของมนุษยปรัชญา ที่เชื่อว่าทุก 7 ปี ชีวิตมนุษย์จะเปลี่ยน โดยจะเปลี่ยนไปอย่างไรขึ้นอยู่กับการเติมเต็มความต้องการในช่วงวัยหนึ่งๆ
ครูอิ๊กยกกรณีศึกษาที่เห็นในสังคมมาตั้งคำถาม ทำไมคนที่มีทุกอย่างพร้อมจึงลุกขึ้นมาทำสิ่งที่เราคาดไม่ถึง หรือสิ่งที่ไม่ควรทำ นั่นอาจเป็นผลมาจากประสบการณ์วัยก่อนหน้านี้ที่เขาเคยพบเจอมาก็ได้
ครูอิ๊กแสดงความคิดเห็นอย่างมีความหวังว่า “วิชาการสื่อสารภายในบุคคลควรเป็นวิชาที่ถูกบรรจุให้ทุกหลักสูตรของทุกคณะ เพราะไม่ว่าโตไปเป็นอาชีพใด ก็ไม่ควรละเลยการทำความเข้าใจตัวเอง” โดยช่วงวัยที่ครูอิ๊กแนะนำให้เรียนการทบทวน Biography นั้น อย่างน้อยที่สุดผู้เรียนควรอยู่ในช่วง 15-21 ปี แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดควรจะเรียนในวัยที่ผ่านโลกมามากกว่า 20 ปีขึ้นไป
บทเรียน Biography : ช่วงวัยไหนต้องการอะไร แล้วได้เติมเต็มหรือยัง?
ก่อนเรียนครูอีกฝากคำถามให้นิสิตสำรวจตัวเองคร่าวๆว่า
- ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ในแต่ละปีคุณเจออะไรมาบ้าง
- สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นกับคุณในแต่ละช่วงวัย ส่งผลต่อคุณอย่างไร
- คุณคิดว่านิสัย/ตัวตน/ความคิดของคุณที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นั้นจะมีผลต่อไปในอนาคตอย่างไร
จากนั้นเธอจึงพานิสิตร่วมเดินทางไปกับทฤษฎี Biography ว่าทุกๆ 7 ปีชีวิตคนเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง โดยสิ่งหลักๆ ที่เปลี่ยนไปคือวิธีการมองโลกและความคาดหวังที่จะได้รับจากคนรอบข้าง รวมถึงความคาดหวังต่อชีวิตของตัวเอง
0-7 ปี The world is good (โลกนี้ดี) : ช่วงวัยแห่งการสะท้อน ทำอะไรให้ลูก ลูกจะทำสิ่งนั้นตอบกลับมา พ่อแม่จึงต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้เขา แสดงให้เห็นว่าโลกนี้มีสิ่งดีๆที่รอเขาอยู่ เขาต้องการรู้ขอบเขตว่าว่าสิ่งใดทำได้สิ่งใดทำไม่ได้ และต้องการจะรู้ว่าโลกนี้ไว้ใจได้ คนใกล้ชิดจึงสำคัญมาก นอกจากนี้สิ่งที่เด็กซึมซับในช่วงวัยนี้จะสะท้อนให้เห็นเมื่อเขาอายุ 56-63 ปี
8-14 ปี The world is beautiful (โลกนี้ช่างงดงาม) : ช่วงวัยนี้จะเริ่มมีความรัก เริ่มเข้าใจเรื่องเพศมากขึ้น ช่วงอายุ 9 ปีเป็นช่วงที่เด็กตื่นตัวต่อสิ่งรอบข้าง เขาเริ่มสังเกตว่าทุกสิ่งไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด แต่โลกก็ยังคงงดงาม
15-21 ปี The world is true (โลกนี้คือความจริง) : ช่วงวัยนี้หากพ่อแม่ทำผิดต้องแสดงให้ลูกเห็นว่าควรแก้ไขยังไง ไม่ใช่ผิดแล้วหมกเม็ด การโกหกหรือผิดสัญญาจะทำให้ลูกเริ่มหันหลังให้ เพราะสิ่งที่เขาตามหาในช่วงวัยนี้คือแบบอย่างที่แท้จริงในการดำเนินชีวิต หากครูสอนผิดหรือทำผิดแล้วไม่ยอมรับจะทำให้นักเรียนปิดใจไม่เปิดรับอีก เพราะเขารู้สึกว่าครูไม่สามารถมอบความจริงให้เขาได้ นอกจากนี้วัย 16 ปียังเป็นช่วงวัยที่เด็กเริ่มขบถ เช่น การโดดเรียน การทำสีผม การฉีกกรอบบังคับบางอย่าง เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าเขามีตัวตนอยู่ในโลกใบนี้
22-28 ปี The world is interesting (โลกนี้น่าสนใจ) : เป็นช่วงวัยที่อยากจะออกไปสำรวจโลกภายนอก อยากค้นหาสีสันในชีวิต อยากลองผจญภัยและใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง
29-35 ปี The world is feasible (โลกนี้มีความเป็นไปได้) : เป็นช่วงเวลาที่เราใช้จิตวิญญาณในการรับรู้โลก เป็นวัยที่มีทั้งกำลังและสติปัญญา หาจุดสมดุลระหว่างความฝันและความจริง แสวงหาคำตอบอื่นๆในชีวิต เป็นช่วงที่คนเริ่มหางานที่จะอยู่กับมันตลอดไป
36-42 ปี The world is contradictory (โลกกำลังกลับด้าน) : เป็นช่วงวัยที่ค้นพบสิ่งสำคัญหรือความหมายที่แท้จริงของชีวิต อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะเลือกชีวิตแบบไหนให้ตัวเอง
ครูอิ๊กชี้ให้เห็นว่าคำตอบของแต่ละคนจะออกมาหลากหลายแทบไม่ซ้ำกัน นั่นเพราะทุกคนได้รับการเติมเต็มความต้องการที่ไม่เท่ากัน ต่อให้มีพ่อแม่คนเดียวกันหรือประสบสถานการณ์เดียวกันทุกอย่าง แต่เกิดขึ้นคนละช่วงวัยผลลัพธ์ก็อาจจะออกมาไม่เหมือนกัน
หากอิงตามทฤษฎี Biography เด็กที่พ่อแม่หย่ากันในช่วง 0-7 ปี The world is good (โลกนี้มันดี) ซึ่งเป็นวัยที่ต้องการรับรู้ว่าโลกนี้มีสิ่งดีๆ รอเขาอยู่และต้องการเชื่อใจใครสักคน อาจทำให้โลกของเขาทั้งใบอาจพังทลายลง แต่หากเหตุการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นกับเด็กในวัย 8-14 ปี The world is beautiful (โลกนี้ช่างงดงาม) ซึ่งเขาเริ่มแยกแยะความจริงต่างๆ ได้แล้ว เขาอาจจะรับมือกับการหย่าร้างของพ่อแม่ได้ และอาจมองเห็นความงดงามของความรักที่พ่อแม่ยังคงมอบให้เขาต่อไป แม้พวกท่านจะแยกทางกัน
กิจกรรมหลังเรียน : ชวนมองพ่อแม่ ย้อนอดีตไปยังจุดเกิดเหตุ
ถึงแม้ว่าช่วงวัยของนิสิตจะอยู่ในช่วง 20 ปี แต่การสำรวจ Biography ก็สามารถทำให้พวกเขามองเห็นตัวเองในอดีตและมองเห็นความเป็นไปได้ในอนาคตจากการสังเกตและสวมบทบาทเป็นคนในครอบครัว
ตอนที่ครูอิ๊กเป็นนักแสดง เธอได้ลองสวมบทบาทของตัวละครจึงทำให้เธอเข้าใจการกระทำของตัวละครนั้นที่คนอื่นอาจไม่เข้าใจ หรือตัดสินไปว่าเป็นเรื่องผิด เธอคิดว่านั่นเป็นเพราะทุกคนก็ต่างมองในมุมของตัวเอง จึงมีเหตุผลและการกระทำที่ต่างกันออกไป
ในห้องเรียนครูอิ๊กจะให้นิสิตที่สมัครใจช่วยแบ่งปันเกี่ยวกับการกระทำของพ่อแม่ที่พวกเขาเคยตั้งคำถามหรือรู้สึกต่อต้าน แต่ปัจจุบันรู้สึกเข้าอกเข้าใจพ่อแม่มากขึ้นเพราะค้นพบเหตุผลที่แท้จริงของพวกท่าน
มีนิสิตแสดงความคิดเห็นกันหลากหลาย เช่น พ่อแม่ของบางคนในช่วงชีวิต 0-21 ปีประสบกับความยากลำบากในชีวิตหลายประการ จึงนำความคาดหวังที่จะเต็มเติมความสุขสบายของเขามาลงที่ลูก ในยามที่เป็นพ่อแม่ โดยที่เขาอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังใช้ลูกเพื่อเติมเต็มสิ่งที่ขาดหรือกำลังเอาความฝันของตัวเองมายัดให้ลูก
ครูอิ๊กเองก็แบ่งปันให้นิสิตฟังว่า “คุณแม่ของครูมักเกรงใจ จนไม่ร้องขอเพื่อความต้องการของตัวเอง” ซึ่งทำให้บางครั้งครูอิ๊กรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากในการคาดเดาความต้องการของคุณแม่ เมื่อได้รู้จักกับ Biography เธอไม่เพียงแต่ย้อนความทรงจำไปยังวัยเด็กของตัวเองอย่างเดียว แต่พยายามย้อนไปมองว่าทำไมแม่ของเธอถึงชอบเสียสละ จนได้พบคำตอบว่าแม่ของเธอมีพี่น้องหลายคน จึงต้องแสดงออกว่าตัวเองไม่ต้องการเพื่อให้ยายสบายใจ เมื่อเธอทราบข้อเท็จจริงนี้จึงพยายามปรับมุมมองใหม่ แล้วเริ่มบอกความต้องการที่แท้จริงกับลูกมากขึ้น เริ่มปรึกษาเรื่องต่างๆ กับลูก และเธอก็ได้ค้นพบว่าปัญหาบางอย่างที่ผู้ใหญ่กังวล เด็กๆ อาจแก้ไขมันได้อย่างง่ายดาย
ครูอิ๊กยังกล่าวอีกว่า “พ่อแม่มักหลงลืมว่าตอนที่ตัวเองเป็นเด็กนั้นรู้สึกยังไง เพราะความคาดหวังจากทั้งตัวเองและคนรอบข้างทำให้พ่อแม่กลัวที่จะเป็นคนอ่อนแอ กลัวว่าจะรู้น้อยกว่าลูก กลัวที่จะยอมรับกับลูกว่าตัวเองกำลังเสียใจ บางครั้งผู้ใหญ่ก็คิดมากเกินไป ลูกอาจจะไม่ได้ต้องการพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบทุกอย่าง เขาอาจจะต้องการใครสักคนที่สามารถพูดคุยกันได้”
กิจกรรมหลังเรียน : ชวนคุยชีวิต ชวนคิดกับผู้เรียน
นอกจากกิจกรรมชวนมองพ่อแม่ที่มีจุดประสงค์ให้นิสิตมองเห็นจุดเริ่มต้นของผู้เลี้ยงดูพวกเขาแล้ว ครูอิ๊กก็ชวนให้นิสิตแบ่งปัน “การขบถในวัย 15-21 ปี” ของพวกเขา เพื่อให้นิสิตลองเปิดใจทำความรู้จักตัวเอง ทำความเข้าใจกับบริบทของครอบครัวหรือสังคมที่ตัวเองเติบโตมา
โดยคำตอบของนิสิตออกมาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการโดดเรียน การปลอมลายเซ็นผู้ปกครอง การทำสีผม หรือแม้แต่การกลับบ้านช้า ซึ่งครูอิ๊กให้ความเห็นว่า “การแบ่งปันวิธีขบถของตัวเองนี้ไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าวีรกรรมของใครดีหรือแย่กว่ากัน แต่แสดงให้เห็นถึงกฎเกณฑ์และขอบเขตในวัยเด็กที่ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าการลองทำบางอย่างเป็นเรื่องต้องห้าม เช่น การกลับบ้านช้าดูเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยแต่อาจเป็นขบถใหญ่หลวงของเด็กบางคน”
ผู้เขียนเองก็ได้แบ่งปันการขบถในวัย 15-21 ปีในห้องเรียนเหมือนกัน มีอยู่ 2 ข้อคือ การออกจากบ้านที่ต่างจังหวัดมาเรียนที่กรุงเทพฯ และ “การเปลี่ยนศาสนา” เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นจากความรู้สึกอึดอัดใจที่ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้เวลาอยู่บ้าน และรู้สึกว่าบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย เราสังเกตตัวเองว่าเวลาอยู่โรงเรียนเราจะมีความเป็นผู้นำ มีความกล้าแสดงออก ผิดกับตอนอยู่บ้านที่กลายเป็นคนเก็บตัวเงียบ ซึ่งคิดว่าการแสดงออกที่แตกต่างออกไปเวลาอยู่บ้านเกิดขึ้นจากนิสัยของคุณพ่อที่ชอบเอาชนะ ยกตัวอย่างเช่น เราชอบบะหมี่น้ำ พ่อก็จะบอกว่าบะหมี่แห้งอร่อยกว่าทำไมไม่กิน เราต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยใส่เส้นก่อนผงปรุงรส พ่อก็จะบอกว่าต้มไม่เป็นแบบนี้เส้นมันก็จืดสิ
ผู้เขียนจึงตัดสินใจเดินทางมาสอบเข้าโรงเรียนมัธยมปลายในกรุงเทพฯ เพื่อจะได้อยู่หอพักคนเดียวและใช้ชีวิตตามใจตัวเอง เมื่อย้ายมาอยู่ก็ตัดสินใจเข้าโบสถ์ไปเรียนศาสนาอยู่ 1 ปี จนได้รับการบัพติศมาหรือพิธีรับเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชน ทั้งๆที่คุณแม่เป็นคนเคร่งศาสนา(พุทธ)มาก ซึ่งนี่ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งที่ได้เลือกทำตามความชื่นชอบและความต้องการของตัวเอง
ในห้องเรียนแห่งนี้นิสิตทุกคนได้ย้อนกลับไปสู่การเติบโตของพ่อแม่ และอดีตอันใกล้ของพวกเขา ซึ่งนั่นก็ทำให้พวกเขาก็เริ่มเห็นภาพของชีวิตตัวเองแต่ละฉากชัดเจนขึ้น ภาพชีวิตเหล่านี้นี่เองที่เป็นจิ๊กซอว์บอกใบ้ตัวตนของเขาในปัจจุบัน ซึ่งการจะระบุว่าเองตัวเองเป็นคนแบบไหน ได้รับอิทธิพลมาตั้งแต่ตอนไหน หรือเหตุการณ์ใดที่พัดพาให้นิสัยบางอย่างปรากฏขึ้นกับตัวเรา ก็ขึ้นอยู่ที่วิธีตีความของแต่ละคน แต่อย่างน้อยสิ่งที่นิสิตกลุ่มนี้ได้รับจากคาบเรียน คือชิ้นส่วนความทรงจำที่เคยเลือนรางหรืออาจเป็นชิ้นส่วนของความทรงจำที่เขาเผลอทำหล่นหายไปในอดีต
ทำไมต้องทบทวน Biography
การเรียนรู้ Biography ของตัวเองไม่ใช่เพื่อทำนายอนาคต แต่เพื่อย้อนไปมองตัวเองในอดีตทุกๆ 7 ปี แล้วเตรียมตัวรับมือกับสิ่งที่อาจสะท้อนในช่วงวัยต่อมา เป้าหมายหลักในการสอนเรื่องนี้ให้นิสิตก็เพื่อให้เขาทำความรู้จักชีวิตตัวเอง น้อยวิชาที่สอนให้เด็กรู้จักตัวเอง แต่คนทั้งโลกกลับถามซักเขาไม่หยุดว่า “คุณทำอะไรได้บ้าง” โดยที่ไม่มีใครสักคนพาพวกเขาย้อนกลับไปทบทวนตัวเอง
ครูอิ๊กกล่าวว่าจริงๆ แล้วในช่วงชีวิตของทุกคนควรมีโอกาสได้ทบทวนชีวิตตัวเอง เพื่อกลับมาตั้งหลักและยืนอยู่บนเท้าของตัวเองอีกครั้ง เตรียมพร้อมตัวเองวันนี้ในการที่จะก้าวต่อไป ไม่งั้นเราก็จะไม่รู้เลยว่าเราก้าวต่อไปเรื่อยๆ เพื่ออะไร หรือจะก้าวต่อไปด้วยท่าทีแบบไหน บางคนอาจทบทวนทุกวันผ่านการเขียนไดอารี บางคนทบทวนทุกปี บางคนเพิ่งมาทบทวนแค่ในตอนที่สูญเสียคนสำคัญไป แต่ความจริงแล้วเราควรทบทวนชีวิตตัวเองอยู่เรื่อยๆ เธอเสริมอีกว่าการทบทวนตัวเองโดยไม่มีอคติ ช่วยให้เราให้อภัยตัวเองและคนที่ผ่านมาในชีวิตของเราได้ดีขึ้น
“เป้าหมายของวิชาการสื่อสารภายในบุคคล (Intrapersonal Communication) คือการสอนให้นิสิตเข้าใจตัวเอง ตระหนักในทุกการกระทำ เคารพการตัดสินใจและผลลัพธ์ในทางเดินที่นิสิตเลือกเอง” – ครูอิ๊ก ณฐิณี เจียรกุล