- พาไปดูวิธีคิดและนโยบายทางการศึกษาของ 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ จีน (เซี่ยงไฮ้) ออสเตรเลีย แคนาดา และฟินแลนด์ ที่ใช้การวางรากฐานระบบการศึกษาของคนในชาติ มาแก้ปัญหาในบริบทที่ต่างกัน จนสามารถพลิกจากประเทศที่ล้าหลังขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการศึกษาของโลกภายในเวลาไม่ถึงสามสิบปี
- ทำความรู้จักลักษณะร่วม 8 ประการของการศึกษาคุณภาพสูง จากการถอดบทเรียนการพัฒนาการศึกษาของทั้งห้าประเทศ
เวลานี้สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในประเทศและทั่วโลกกำลังส่งสัญญาณที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดของโรคในครั้งนี้ ทำให้เราเห็นรากของปัญหาต่างๆ ในสังคม ความไม่เท่าเทียมที่ถูกกวาดซ่อนไว้ใต้พรม และกลับมาตั้งคำถามทั้งกับตัวเองและสังคมถึงสาเหตุของปัญหาเพื่อตั้งรับและเตรียมรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
หนึ่งในนั้นคือ เรื่องการศึกษา ที่จะพูดไปก็เหมือนไก่กับไข่ บ้างว่าปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นจากการที่คนได้รับการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม บ้างว่าการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมเกิดจากความไม่เท่าเทียมในสังคม บ้างว่าเป็นโครงสร้างของระบบที่สายเกินแก้ เกิดเป็นวงจรทับซ้อนจนจับต้นชนปลายไม่ถูก
แต่ไม่ว่าต้นสายจะคืออะไร ไม่มีปัญหาไหนที่สายเกินแก้ ชวนมาดูวิธีพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศที่วันนี้ได้ชื่อว่ามีการศึกษาคุณภาพสูงระดับโลก กว่าจะมาถึงจุดนี้บางประเทศเริ่มนับจากศูนย์ บางประเทศต้องเริ่มจากติดลบ เขาแก้เกมการศึกษานี้อย่างไร และทำสำเร็จได้อย่างไร
มาร่วมคิดวิเคราะห์ และต่อไฟความหวังของการศึกษาไทย สร้าง new normal ที่ดีกว่าเดิม กับบทเรียนจากการปฏิรูปการศึกษาของ สิงคโปร์ แคนาดา ฟินแลนด์ จีน และออสเตรเลีย
เนื้อหาต่อจากนี้มาจากหนังสือการศึกษาคุณภาพสูงระดับโลก ซึ่งเป็นการรวมบันทึกการตีความ (ไม่ใช่แปล) ของ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช จากหนังสือ A World-Class Education: Learning from International Models of Excellence and Innovation (2012) เขียนโดย Vivien Steward
“การศึกษาในปัจจุบันจะต้องมุ่งพัฒนาเด็กให้ไปมีชีวิตที่ดีในอนาคต เข็มมุ่งหลักมี 2 ประการ คือ สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาและเสาะหาทักษะที่ต้องการสำหรับการดำรงชีวิตในอนาคต ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับบริบทและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ”
สิงคโปร์ : สร้างประชากรคุณภาพสูงด้วยการศึกษาที่ส่งเสริมและสอดคล้องกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
สิงคโปร์เริ่มวางรากฐานการศึกษา หลังจากได้รับเอกราชและตั้งเป็นประเทศในปี ค.ศ. 1965 หากย้อนกลับไปในขณะนั้นจิตวิญญาณของคนสิงคโปร์ คือ ความอยู่รอด ในสังคมที่ไร้ทรัพยากรธรรมชาติ ผู้คนยากจน และไม่มีระบบการศึกษาภาคบังคับ รัฐบาลภายใต้ภาวะผู้นำของ ลี กวน ยู จึงต้องสร้างทุกอย่างขึ้นมาจากศูนย์ โดยมุ่งเน้นการสร้างสังคมที่ปราศจากการคอร์รัปชัน
วันนี้สิงค์โปร์เป็นที่รู้จักในฐานะประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาการศึกษาคุณภาพสูงและมีประชากรคุณภาพและสุขภาวะที่ดีในอันดับต้นๆ ของโลก
“สิงคโปร์มีวิสัยทัศน์และภาวะผู้นำ ที่มองเห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดการศึกษาคุณภาพสูงให้แก่พลเมืองเพราะทรัพยากรหลักสำหรับความอยู่รอดและอยู่ดีของประเทศสิงคโปร์ คือ ทรัพยากรมนุษย์”
เคล็ดลับ คือ เขาออกแบบระบบการศึกษาตามแนวทางการพัฒนาประเทศที่แบ่งออกเป็น 3 ยุค คือ
- ยุคที่ 1 เพื่อความอยู่รอด (1959-1978)
- ยุคที่ 2 เพื่อประสิทธิภาพ (1978-1996)
- ยุคที่ 3 ความรู้โลก (1990s-ปัจจุบัน)
ในยุคที่ 2 หลังพบว่ามีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมาก เขาจึงออกแบบการศึกษาใหม่ให้มี 3 เส้นทาง คือ สายวิชาการ สายโปลีเทคนิค และสายอาชีวะ โดยทุกสายสามารถข้ามไปข้ามมาได้ เพื่อให้เด็กทุกคนได้เรียนตามความถนัด ความชอบ และความสามารถของตัวเอง เขามองว่าการส่งเสริมการศึกษาคือการยกระดับพลเมืองซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
เปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจแบบใช้แรงงาน สู่เศรษฐกิจแบบใช้ทุนและทักษะ มีการจัดตั้ง ITE (Institute for Technical Education) เป็นสถาบันการศึกษาหลังระดับมัธยม รับคนที่เรียนจบมัธยมแล้ว (เกรด 10) หรือผู้ใหญ่ที่ต้องการเปลี่ยนงานเข้าศึกษา ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้คนสิงคโปร์เห็นคุณค่าของการศึกษาสายอาชีวะมาถึงปัจจุบัน และตอกย้ำด้วยการรณรงค์ว่า Hands-on, Minds-on, Hearts-on เพื่อย้ำว่าอาชีวศึกษาไม่ใช้แค่เพียงการฝึกทักษะทางมือ แต่ยังเป็นการฝึกทักษะทางจิตใจและหัวใจด้วย
เมื่อเข้าสู่ยุคที่ 3 เพื่อให้ทันต่อโลกที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคค้นพบและประยุกต์ความรู้ใหม่ การศึกษาของสิงคโปร์จึงเพิ่มการเน้นด้านนวัตกรรม ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และการวิจัย โดยรัฐบาลส่งเสริมทึนวิจัยและดึงดูดนักวิทยาศาสตร์ตัวท็อปเข้าไปเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย โดยมีคำขวัญทางการศึกษาว่า “Thinking Schools, Learning Nation” นอกจากนั้น ยังมีการส่งเสริมคุณภาพครู กระจายอำนาจให้ครูมีอิสระในการดำเนินการ ประกาศใช้นโยบาย “Teach Less, Learn More” ส่งเสริมการใช้ไอที ศิลปะ และดนตรี ในหลักสูตรให้มากขึ้น รวมทั้งเน้นการเล่นสำหรับเด็กเล็กเพื่อกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก
แคนาดา: ยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของโรงเรียนทั้งในเมืองและชนบทไปพร้อมๆ กัน
ประเทศแคนาดานั้นเป็นสหพันธรัฐที่ประกอบด้วย 10 รัฐ (Province) และ 3 พื้นที่ (Territory) การศึกษานั้นจัดการโดยรัฐ ไม่ใช่รัฐบาลกลาง ในที่นี้จะยกตัวอย่างรัฐที่มีการศึกษาคุณภาพสูง คือ Alberta และ Ontario
Alberta มีภูมิศาสตร์เป็นทุ่งหญ้ากว้าง มีพลเมืองเพียง 3.5 ล้านคน โดยเป็นนักเรียนถึงหกแสนคน แนวทางของที่นี่ คือ การให้ความสำคัญกับครู ทั้งความไว้ใจในการออกแบบการเรียนการสอน มีหลักสูตรคุณภาพสูงที่ครูเป็นผู้ออกแบบและพัฒนา ให้อำนาจครูในการบริหารและประยุกต์ใช้หลักสูตร และการยกย่องให้เกียรติวิชาชีพครู เป็นอาชีพที่ได้รับความนับถือและมีเงินเดือนสูง จึงดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้ามาเป็นครู
นอกจากนั้น ครูทุกคนต้องเสนอแผนพัฒนาตนเองประจำปีโดยแผนนั้นจะต้องสอดคล้องกับหลักสูตรของโรงเรียน และของรัฐโดยที่ครูเป็นผู้เสนอวิธีการบรรลุแผนพัฒนาตนเอง และยังมี โปรแกรมการวิจัยชั้นเรียน (Alberta Innitiative for School Improvement) เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ครูในโรงเรียนรวมตัวกันสร้างนวัตกรรมในการเรียนการสอน การทำงานเป็นทีมครู และสร้างการผูกพันกับนักเรียน (Student Engagement) รวมทั้งศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นในห้องเรียน มีคลังข้อมูลกิจกรรม และมีการจัดประชุมวิชาการประจำปีเพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ให้ทั่วถึงทั้งรัฐ เพื่อส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนของครูแต่ละคน
อีกประการที่สำคัญ คือ การขับเคลื่อยนโยบายสร้างการเปลี่ยนแปลง ในปี ค.ศ. 2010 กระทรวงศึกษาธิการได้จัดกระบวนการสอบถามความเห็นจากสาธารณะด้านนโยบายการศึกษา (Public Engagement) ผ่านทางออนไลน์ โดยส่งอีเมลไปยังประชาชนเพื่อถามว่า การศึกษาของรัฐอัลเบอร์ต้าควรเป็นอย่างไรในอีก 20 ปีข้างหน้า และมีการสื่อสารกับประชาชนก่อนหน้านั้นเพื่อชี้ให้เห็นว่านำ้มันและก๊าซธรรมชาติที่สร้างรายได้หลักให้รัฐจะต้องหมดไปในไม่ช้า ต่อจากนั้นความอยู่ดีกินดีภายในรัฐจะขึ้นอยู่กับทรัพยากรมนุษย์ ไม่ใช่ทรัพยากรธรรมชาติอีกต่อไป ความเห็นที่ได้นั้นกลายมาเป็นรายงานชื่อ Inspiring Change เสนอเป็นนโยบายจัดการศึกษาเพื่อเตรียมเยาวชนสู่อนาคต ไม่ใช่จัดตามอดีตของผู้ใหญ่อีกต่อไป
รัฐ Ontario เป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดในแคนาดา มีนักเรียนกว่าสองล้านคน และในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 27 เป็นผู้อพยพเข้าเมือง นักเรียนจึงมีความแตกต่างหลากหลายมาก ที่นี่มีแนวทางการพัฒนาการศึกษาที่แตกต่างจากรัฐอัลเบอร์ต้าโดยสิ้นเชิง ซ้ำยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างครูในระบบและรัฐบาลมายาวนาน จนในปี 2004 มีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี และปรับนโยบายมาเป็นมิตรกับครู จัด Ontario Education Partnership Table ชี้ให้เห็นว่าการปฎิรูปจะไม่มีทางสำเร็จด้วยรูปแบบ Top-down แต่ต้องดึงทุกฝ่ายมาร่วมกันพัฒนาการศึกษา ให้อำนาจแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนตั้งเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ของตนเอง และวางแผนรวมกันในการดำเนินการ
อีกทั้งเพิ่มครูดนตรี ศิลปะ และกีฬาในระดับประถมศึกษา เพื่อให้ครูประจำชั้นมีเวลาดูแลพัฒนาการของเด็กแต่ละคนมากขึ้น ในระดับมัธยม มีการจัดตั้ง Student Success Innitiative เพื่อค้นหาสัญญาณของเด็กที่จะออกจากโรงเรียนกลางคัน และมีมาตรการช่วยเหลือ ทั้งเด็กที่เบื่อเรียน และการฝึกทักษะร่วมกับบริษัทเอกชนเพื่อเพิ่มรายได้ให้เด็กนักเรียน
นอกจากการเน้นประสิทธิภาพของครูแล้ว กลไกการจัดการการศึกษาของแคนาดาจัดโดยรัฐไม่ใช่รัฐบาลกลาง จึงทำให้มีความคล่องตัวในการประยุกต์และตัดสินใจตอบสนองต่อปัญหาในบริบทที่แตกต่างกันได้ดีกว่า และในภาพรวมระดับประเทศ มีเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างรัฐทั้งที่ผ่านกระทรวงและผ่านกลไกทางวิชาการ
ฟินแลนด์: การพัฒนาจากประเทศเกษตรกรรมที่มีพลเมืองจบมัธยมเพียงร้อยละ 40 สู่ประเทศที่มีการศึกษาอันดับหนึ่งของโลก และเด็กจบมัธยมร้อยละ 99 ภายในสามสิบปี
หากย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1970 ขณะนั้นอาชีพหลักของชาวฟินแลนด์คือทำป่าไม้ และเกษตรกรรม มีเพียงร้อยละ 40 ของประชากรเท่านั้นที่เรียนจบชั้นมัธยมปลาย แต่เมื่อสามสิบปีผ่านไป ชื่อของฟินแลนด์สามารถทะยานขึ้นสู่อันดับหนึ่งของ PISA ในด้านผลสัมฤทธฺ์ทางการศึกษาของเด็กอายุ 15 ปี และที่สำคัญผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนนี้ยังมีความแตกต่างกันน้อยมาก (น้อยกว่าร้อยละ 5) ปัจจุบัน 99% ของเด็กฟินแลนด์จบการศึกษาภาคบังคับในระดับมัธยมต้น (เกรด 9) เมื่ออายุ 16 ปี และใช้งบประมาณประเทศอยู่ในระดับปานกลาง (เมื่อเทียบกับนานาประเทศ ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มใช้งบด้านการศึกษาสูงสุดของโลก)
เบื้องหลังความสำเร็จนี้มาจากการที่รัฐสภาออกกฏหมาย เพื่อจัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ที่มีคุณภาพให้กับเด็กทุกคน ไม่เกี่ยงว่าพ่อแม่จะมีฐานะหรืออาชีพใด หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ใดของประเทศ ทุกคนมีสิทธิเข้าเรียนใน Common School โดยมีทั้งการซื้อโรงเรียนเอกชนมาพัฒนาต่อ ซื้อตัวครูเก่งๆ จากโรงเรียนเอกชนมาสอน พัฒนาหลักสูตรใหม่ระดับชาติโดยมีครูแกนนำจากทั่วประเทศมาร่วมพัฒนา
เขาเห็นว่า การจะบรรลุเป้าหมายทางการเรียนของเด็กทุกคนได้ ต้องมีการผลิตครูที่มีความรู้และทักษะชุดใหม่ มีการกำหนดมาตรฐานว่าครูต้องจบการศึกษาระดับปริญญาโท และยกย่องวิชาชีพครูว่าเป็นอาชีพของคนที่มีความรู้ความสามารถ มีความน่าเชื่อถือและอิสระในการทำงาน จนกลายเป็นอาชีพยอดนิยม ที่คนต้องสอบแข่งขันกันเข้ามาเป็นครู
พร้อมกันนั้นยังชูนโยบาย No Child Left Behind ที่เอามากางดูจะพบว่า ครูทุกคนถูกฝึกให้มีทักษะในการวินิจฉัยเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือทั้งในด้านการเรียนและความเป็นอยู่ และมีทักษะในการให้ความช่วยเหลือเด็ก มีครูพิเศษสำหรับช่วยเหลือเด็กด้านการเรียน มีทีมบริการสุขภาพร่วมดูแล และในทุกโรงเรียนมี “ทีมช่วยเหลือเด็ก” ที่ประกอบไปด้วย ครูใหญ่ ครูประจำชั้น ครูพิเศษ และนักจิตวิทยา ที่ประชุมและประเมินเด็กอย่างสม่ำเสมอ และหากเกินกำลังของโรงเรียน ทางเทศบาลก็มีหน่วยช่วยเหลือพิเศษรองรับอีกด้วย และมอบอิสระให้โรงเรียนเป้นผู้จัดการหลักสูตรและสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอน
นอกจากนั้น การเรียนในชั้นมัธยมต้น นักเรียนแต่ละคนสามารถออกแบบหลักสูตรของตัวเองได้ (โดยมีครูคอยแนะนำ) นักเรียนแต่ละคนจึงมีตารางเรียนแตกต่างไปตามความสนใจของแต่ละคน แถมยังเป็นการเรียนที่เน้นความเป็นพลเมืองโลก โดยเรียนเป็นภาษาฟินนิชแล้วเพิ่มภาษาต่างประเทศอีก 2 ภาษา
เมื่อการศึกษาขั้นพื้นฐานถึงมัธยมต้นได้รับผลตอบรับอย่างดี จึงทำให้มีความต้องการศึกษาต่อในชั้นมัธยมปลายและมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น เขาจึงออกแบบการเรียนเป็นระบบ Module ที่นักเรียนสามารถออกแบบโปรแกรมการเรียนตามวิชาที่ตัวเองสนใจ และเเบ่งออกเป็น สายอาชีพ กับ สายวิชาการ ซึ่งทั้งสองสายสามารถเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ การปฏิรูปนี้ส่งผลให้คนฟินแลนด์ อายุ 20-30 ปี จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาถึงร้อยละ 43 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในยุโรป
จีน: จากปฏิวัติวัฒนธรรม สู่การปฏิรูปการศึกษา พลิกฟื้นระบบการศึกษาที่ถูกทำลายสู่การศึกษาคุณภาพอันดับหนึ่งของโลก ภายใน 20 ปี
ผลพวงจากยุคปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ. 1966-1976) ระบบการศึกษาของจีนถูกทำลาย แต่หลังจากนั้นไม่นาน ในปี 2009 จีนส่งมณฑลเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีประชากรกว่า 50 ล้านคน และเขาหมายมั่นว่าเป็นมณฑลที่มีความก้าวหน้าทางการศึกษาที่สุดเข้ารับการประเมิน ผลคือ จีนได้อันดับหนึ่งของโลก ทั้ง 3 วิชา คือ การอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์
ที่มาของความสำเร็จนี้ เกิดจากการมุ่งมั่นเอาจริงที่จะพัฒนาการศึกษา โดยสร้างวัฒนธรรมให้คุณค่าต่อการเรียน เชื่อว่าการศึกษาจะช่วยยกระดับฐานะในสังคม
จีนมีระบบจอหงวนที่ให้คุณค่ากับความสามารถ ฝังรากในสังคมมากว่าพันปี ซึ่งความเชื่อนี้สะท้อนให้เห็นการให้ค่าในความขยันหมั่นเพียรมากกว่าความฉลาด ซึ่งในปัจจุบันเราเรียกว่า กระบวนทัศน์พัฒนา (Growth Mindset) บวกกับวิสัยทัศน์ที่มุ่งประยุกต์ความรู้ให้เกิดผลที่ตัวผู้เรียน ในปี ค.ศ. 1988 จีนออกกฏหมายการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี จนถึงชั้นมัธยมต้น และด้วยความกระหายในการศึกษาของจีน ทำให้การศึกษาภาคมัธยมปลายขยายตัวตามเช่นกัน โดยจีนออกแบบให้มีทั้งสายอาชีวะ และสายวิชาการคู่กัน เพื่อตอบสนองการขยายตัวของภาคการผลิตของประเทศ ปัจจุบัน ระบบการศึกษาของจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีนักเรียนระดับประถมและมัธยมถึง 200 ล้านคน ซึ่งนับเป็น 20 เปอร์เซ็นของนักเรียนทั้งโลก
อีกเคล็ดลับสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาของจีน คือเริ่มจากการศึกษาตัวอย่างของประเทศชั้นนำกว่า 30 ประเทศ แล้วนำมาทดลองปรับใช้ในบางมณฑลในรูปแบบมณฑลนำร่อง เลือกเอาส่วนที่ประสบความสำเร็จมาขยายผลไปยังมณฑลอื่นๆ อย่างรวดเร็ว ในส่วนหลักสูตรก็หันมาเน้นการเรียนแบบสหวิทยาการ ยกเลิกการท่องจำตามครูและการสอบวัดความรู้ มาเป็นการสอบความคิดสร้างสรรค์และการประยุกต์ใช้ความรู้ เน้นเนื้อหาด้านศิลปะ มนุษยศาสตร์ และการเรียนจากการปฏิบัติมากขึ้น และเริ่มเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้น ป.3 เพื่อเตรียมเด็กให้เป็นพลเมืองโลก
หนึ่งในมณฑลกองหน้าในการนำร่องระบบการศึกษาใหม่ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง คือ เซี่ยงไฮ้ ที่นี่มีมาตรการลดความเครียดของเด็ก ยกเลิกโรงเรียนสำหรับเด็กเก่งที่เน้นการสอบแข่งขัน แล้วทดแทนด้วยโรงเรียนคุณภาพใกล้บ้าน และยกระดับคุณภาพโรงเรียนด้วยโปรแกรม “จับคู่” โรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนชนบท และความสัมพันธ์แบบโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง กับโรงเรียนชั้นนำในต่างประเทศทั่วโลก มีการกระจายครูสอนเก่งไปทั่วทั้งมณฑล และจัดวิธีการสอบเข้ามหาลัยในมณฑลใหม่ เพื่อลดการแข่งขันระดับประเทศที่สุดโหด และที่สำคัญคือ ส่งเสริมการให้ feedback ในห้องเรียน ทั้งจากครูและนักเรียน หรืออาจเรียกได้ว่า ใช้นักเรียนเป็นโค้ชให้ครู
ออสเตรเลีย: ใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงเด็กที่อยู่ห่างไกล และส่งเสริมการศึกษาทางไกล
ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่มาก ทำให้มีเด็กอยู่ในพื้นที่ห่างไกล จึงนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาระบบการศึกษา มีการใช้ Teleconference จากเด็กที่อยู่ห่างไกลเข้ามาเรียนในห้องเรียน
วิสัยทัศน์ของหลักสูตร คือ “เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะ ความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในการอยู่ร่วมกันและมีความก้าวหน้าในสังคม รวมทั้งมีความสามารถในการแข่งขันในโลกแห่งโลกาภิวัฒน์ มีความสามารถประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ในอนาคตที่ต้องใช้ข้อมูลซับซ้อน หลักสูตรดังกล่าวจะต้องเข้าถึงเยาวชนออสเตรเลียทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในครอบครัวที่มีเศรษฐฐานะใดหรืออยู่ในโรงเรียนใด”
จะเห็นได้ว่าวิสัยทัศน์นี้เน้นที่ความเท่าเทียมและการเป็นพลเมืองโลกอย่างเด่นชัด
หลักสูตรของที่นี่ครอบคลุมตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยม เน้นการเรียนรายวิชาโดยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่หนึ่ง ประกอบด้วย วิชาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ขั้นตอนที่สอง มีวิชาภูมิศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ และศิลปะ ขั้นตอนที่สาม มีวิชาไอซีที เศรษฐศาสตร์ การออกแบบและเทคโนโลยี และหน้าที่พลเมือง นอกจากนั้นยังมี “Cross Curriculum Themes” ได้แก่ วิชาโลกทัศน์ของคนพื้นเมือง เอเชียเเละความผูกพันของออสเตรเลียต่อเอเชีย รวมทั้งการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน
มีการจัดตั้ง ACARA (The Australian Curriculum, Assessment, and Reporting Authority) โดยมีสภารัฐมนตรีศึกษาธิการของทุกรัฐทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และติดตามตรวจสอบผลลัมฤทธิ์ของโรงเรียน ที่น่าสนใจ คือ การตรวจสอบนี้เน้นเป็นการตรวจสอบประสิทธิภาพในเชิงระบบ (Formative Assesment) มากกว่าการจี้จุดว่าโรงเรียนไหนดีไม่ดี และมีมาตรการสร้างความโปร่งใสของผลประเมินด้วยการตั้งเว็บไซต์ MySchool เพื่อเปิดเผยข้อมูลต่อ พ่อแม่ ครู และประชาชนทุกคน
จากตัวอย่างที่กล่าวมา ทั้ง 5 ประเทศ ล้วนมีแนวทางการพัฒนาและโจทย์ที่ใช้ตั้งหลักในการปฏิรูปการศึกษาที่ต่างกันตามบริบทของประเทศ
แต่มีมาตรการสำคัญที่ทั้ง 5 ประเทศนำมาปรับใช้เหมือนกันอยู่ 8 ประการคือ
- วิสัยทัศน์และภาวะผู้นำ
- กำหนดมาตรฐานสูงหรือท้าทาย
- มุ่งสร้างความเท่าเทียม
- ครูและผู้นำการศึกษาคุณภาพสูง
- มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกันและสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ทั้งในระดับนโยบายถึงปฏิบัติการ
- แนวทางการจัดการและระบบรับผิดรับชอบที่สะท้อนผลลัพธ์ที่ผู้เรียน
- นักเรียนมีแรงจูงใจต่อการเรียนสูง
- มุ่งเรียนเป็นพลโลก และเพื่ออนาคต
จากบทเรียนของทั้ง 5 ประเทศ จะเห็นว่า การศึกษามิใช่เพียงการจัดให้ผู้ที่สมควรเข้าเรียนได้รับการศึกษาเท่านั้น แต่เป็นการตั้งเป้าหมายให้สูงและมุ่งสร้างความเท่าเทียม (High Expectation, High Support) เพื่อคนทั้งประเทศด้วย ดังเช่นที่ อาจารย์หมอวิจารณ์เขียนไว้ในหนังสือว่า
“การสอนเด็กตามแนวที่เราเคยได้รับการสอนในอดีตเป็นการปล้นอนาคตของเด็ก” และ “นโยบาย High expectation for all เป็นประเด็นท้าทายในการปฏิรูปเชิงโครงสร้างของระบบการศึกษาไทย” และการมุ่งสร้างผลลัพธ์ให้เกิดที่ผู้เรียน เป็นแนวทางที่เราควรนำมาพิจารณาและปรับใช้แทนการ สอนเพื่อสอบอย่างที่การศึกษาไทยกำลังทำอยู่”
นอกจากนั้นการเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการศึกษาให้มีคุณภาพสูงของทุกฝ่าย ทั้ง ครู ผู้บริหารโรงเรียน ภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้ประกอบการ ชุมชน และผู้ปกครอง ก็เป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปการศึกษาประสบผลสำเร็จ
ข้อมูลจากหนังสือ การศึกษาคุณภาพสูงระดับโลก โดย ศ.นพ วิจารณ์ พานิช และ ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร สามารถดาวน์โหลดหนังสือได้ที่นี่ |