- ‘เรื่องที่ทำให้เราขุ่นเคืองไม่พอใจผู้อื่น จะนำไปสู่การเข้าใจตัวเราเองได้’ – คาร์ล ยุง
- ตาราง 4 ช่อง เป็นแบบฝึกหัดง่ายๆ ที่ทำให้คุณเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงการรับรู้แบบเดิมๆ
- การทำตาราง 4 ช่อง เปิดโอกาสให้เราได้เห็น “ศักยภาพ” บางอย่างที่เราทอดทิ้งไป ไม่ใช่เพราะมันเป็นด้านไม่ดี แต่เบื้องหลังของการที่เราตัดสินนิสัยของคนอื่นที่เราคิดว่าไม่ดี มันยังมีประโยชน์หรือคุณูปการบางอย่าง บางทีเราตัดสินนิสัยนั้นมากๆ จนเราไม่สามารถมองเห็นข้อดีของมันได้เลย ทำให้เรามีความพร้อมที่จะกลับมาหลอมรวม “ศักยภาพ” บางอย่างที่เราทอดทิ้งไปได้อีกด้วย
ใครกันแน่ที่กวนใจ “เรา”
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมเราถึงรู้สึกไม่ชอบหน้าใครบางคน แม้เพิ่งจะเจอหน้ากันก็ตาม
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมเราถึงรู้สึกเดือดดาล อารมณ์ขึ้นทันที เมื่อเจอคนมีนิสัยบางอย่างที่เราไม่ชอบ
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมเรามักคิดว่า ฉันไม่ชอบคนนิสัยแบบนี้เลย ฉันจะไม่ทำแบบนี้แน่ๆ
แล้วจริงหรือไม่ ที่เราจะไม่มีนิสัยแบบคนที่กวนใจเรา หรือจริงๆ เราแค่เก็บกดนิสัยนั้นเอาไว้
หลายคำถามที่เคยสงสัยและถามตัวเอง ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน ฉันเคยทนอึดอัดกับบางพฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง ทั้งๆ ที่เราสองคนต้องทำงานร่วมเป็นทีมเดียวกัน แต่ด้วยอารมณ์อึดอัดขัดข้องใจก็ทำให้ฉันแทบไม่มีความสุขในงานเสียเลย วันๆ ก็มีแต่คำพูดกวนใจส่งเสียงดังในหัวของฉัน
“หึ….เธอชอบพูดจาเสียงดังโผงผาง รบกวนสมาธิชะมัด แถมไม่มีมารยาท ไม่เคยเกรงใจกัน ไม่ชอบหน้าเลยจริงๆ”
“อีกแล้ว ทำไมเรารู้สึกอึดอัดมากขึ้น ไม่ชอบพฤติกรรมแบบนี้ แล้วยังต้องเจอกันทุกวันอีก”
นอกจากเสียงในหัวจะดังแบบที่เล่าแล้ว ฉันเองก็ยังแสดงพฤติกรรมโต้ตอบอัตโนมัติทุกครั้งที่เจอเพื่อนคนนี้ เช่น แรกๆ ก็แสร้งตอบไปตามมารยาท ทั้งที่ในใจไม่อยากตอบรับ ต่อมาก็เริ่มปฏิเสธ โกรธ ฮึดฮัด พูดจาไม่ดีเป็นการตอบกลับ นานวันเข้าก็ปะทุลุกลามไปจนถึงเพิกเฉย ไม่สนใจ ราวกับเธอเป็นอากาศธาตุ
ยิ่งฉันมีความรู้สึกภายในต่างๆ นานาเกิดขึ้นก็ยิ่งบั่นทอนความสัมพันธ์ของฉันกับเพื่อนร่วมงานให้แย่ลงไปเรื่อยๆ ฉันเองก็ไม่รู้ว่าอะไรคือเหตุของความทุกข์ในเรื่องความสัมพันธ์นี้ แล้วฉันจะออกจากวงจรแห่งทุกข์นี้อย่างไรดี
ทำความรู้จัก “ตาราง 4 ช่อง” แบบฝึกหัดเช็คความปรี๊ด-จี๊ดในใจเรา
จนกระทั่งวันหนึ่งฉันได้มีโอกาสร่วมงานกับนักเขียนท่านหนึ่ง คือ เรือรบ – จิณณ์ณัฏฐ์ พรหมนุรักษ์และได้อ่านหนังสือของเขาชื่อ “สิบวันเปลี่ยนชีวิต” ในหนังสือเล่มนั้นมีแบบฝึกหัดที่เรียกว่า ตาราง 4 ช่อง เมื่อลองทำตามก็ทำให้เข้าใจตนเอง และยังทำให้ค่อยๆ เห็นเพื่อนคนนี้ในแง่มุมใหม่ที่ตัวเองก็ไม่เคยนึกถึง ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ของตัวเอง ช่วยให้คลี่คลายปัญหาความสัมพันธ์ที่สะสมมานานกว่า 2 ปี
ขอเกริ่นถึงที่มาของแบบฝึกหัดตาราง 4 ช่องที่ว่านี้ ซึ่งคุณมะเหมี่ยว – วรธิดา วิทยฐานกรณ์ Voice Dialogue Facilitator ได้ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ไว้ว่า
“ต้นกำเนิดแรกมาจากแบบฝึกหัดชื่อ Bug You Exercise ซึ่งคิดขึ้นโดย เจมี่ โอน่า แพนกาย่า (J’aime Ona Pangaia) ครูอาวุโสของงาน Voice Dialogue แบบฝึกหัดนี้ถูกออกแบบขึ้นเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจในเบื้องต้นสำหรับผู้สนใจเรียนรู้ Voice Dialogue หรืองานจิตวิทยาเพื่อการตระหนักรู้และการเปลี่ยนแปลง”
Voice Dialogue เป็นเครื่องมือที่ผสมผสานระหว่างศาสตร์ด้านจิตวิทยาและจิตวิญญาณ ที่พัฒนาขึ้นโดย ดร.ฮัลและซิดร้า สโตน (Drs.Hal and Sidra Stone) ทั้งคู่เป็นสามีภรรยานักจิตวิทยาที่ศึกษาศาสตร์จิตวิทยาเชิงลึก (Depth Psychology) ในแนวทางของ คาร์ล ยุง (Carl Jung) โดยเครื่องมือและวิธีการที่ทั้งสองค้นพบและพัฒนาขึ้น นั่นคือ การสร้างการตระหนักรู้ ผ่านการสำรวจรูปแบบตัวตนภายใน (Voice Dialogue Facilitation) ซึ่งมีศักยภาพอย่างมากในการสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยผ่านกระบวนการพัฒนาการตระหนักรู้ ซึ่งสามารถช่วยสนับสนุนนให้เกิดการเติบโตระดับลึกในแต่ละบุคคล
ส่วนแนวคิดของแบบฝึกหัด Bug You Exercise คือ โดยทั่วไปคนเรามักยึดติดอยู่ในรูปแบบการเป็นที่เราคุ้นเคย เรียกว่า “Primary Selves” หรือ “ตัวตนหลัก” ฉันเป็นคนแบบนั้น ฉันเป็นคนแบบนี้ และปฏิเสธ “ตัวตน” รูปแบบการเป็นบางอย่างที่คิดว่า ฉันไม่เป็น ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ทำแน่ๆ เรียกว่า “Disowned Selves” หรือ “ตัวตนที่ถูกปฏิเสธ” การยึดถือระบุตนเองและการปฏิเสธรูปแบบตัวตนทั้งสองประเภทนี้ จะทำให้เกิดการครอบงําและควบคุมวิถีการดําเนินชีวิตของเราไปทั้งชีวิตอย่างที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัว
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ขออุปมาเปรียบเทียบกับสำรับไพ่ เมื่อคนเราทุกคนเกิดมาพร้อมไพ่ 52 ใบเท่ากันหมด นั่นคือเรามีศักยภาพมากมายเหมือนไพ่เต็มสำรับ แต่ชีวิตในแต่ละช่วงวัยที่ผ่านการเติบโตและเรียนรู้ ทั้งจากการเลี้ยงดู ครอบครัว ศาสนา สังคม ความเชื่อ การศึกษา การคบเพื่อน เพศ ฯลฯ ทำให้เราเกิดการเรียนรู้ที่จะเลือกทิ้งไพ่บางใบออกไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นไพ่บางส่วนที่เข้ากันไม่ได้กับวัฒนธรรมของเรา หรือบางส่วนที่เราค้นพบว่าถ้าเราเป็นแล้ว จะเจอประสบการณ์ที่ไม่ดีหรือคนอื่นจะไม่ยอมรับ หรือบางส่วนที่อาจมีบางเหตุการณ์ในชีวิตที่การเป็นบางอย่างของเราในอดีต เคยสร้างผลลัพธ์ที่เจ็บปวดจนเกิดเป็นบาดแผลในใจขึ้นมา หรือบางส่วนที่กระบวนการเลี้ยงดูจากพ่อแม่และครอบครัวของเราหล่อหลอมและหวงห้ามไม่ให้เราเป็น เราก็จะเลือกทิ้งไพ่แห่งศักยภาพเหล่านั้นทีละใบๆ ไปเรื่อยๆ
ตัวอย่างเช่น สมัยเด็กๆ เราเคยเป็นเด็กซน แต่พ่อแม่เราเป็นคนเข้มงวดมาก พอเราซนก็โดนลงโทษอย่างรุนแรง เราจำต้องละทิ้งความซนนั้นไป โตขึ้นเรากลายเป็นคนเรียบร้อย พอนานวันเข้า เราจะเริ่มมองคนที่ไม่อยู่ในระเบียบ ไม่เรียบร้อย ว่าเขาเป็นคนไม่ดี เมื่อคนเหล่านั้นผ่านเข้ามาในชีวิต อาจเป็นเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย ลูกค้า หรือคนที่บ้าน เป็นแฟน เป็นสามีหรือภรรยา หรือเป็นลูกเราเอง เราก็จะเกิดปฏิกิริยาอัตโนมัติ คือ หงุดหงิดงุ่นง่าน เห็นแล้วขัดตาเคืองใจ รู้สึกจี๊ดในใจ ไปจนถึงขั้นอารมณ์ปะทุขึ้น เกิดการทะเลาะกันเป็นเรื่องราวตามมา บางคนอาจยังไม่ทันหายมีเรื่องกับคนหนึ่งก็อาจไปมีเรื่องเดิมๆ กับคนใหม่ที่มีพฤติกรรมเดิมๆ ได้อีก ซึ่งหากมองลงลึกด้วยจิตวิทยารูปแบบตัวตน (Psychology of Selves) ก็คือ เราเลือกทิ้งไพ่ความซนของตัวเองไปตั้งแต่เด็ก จนเราคุ้นชินไปแล้ว และเราก็ถือไพ่ของการอยู่ในระเบียบวินัยมาตลอดชีวิตที่เหลือ
ถ้าเทียบกับปัญหาความสัมพันธ์ที่เรามักเจอในชีวิตประจำวัน ทำไมเราต้องเกิดความขัดแย้งหรือมีปัญหากับคนแบบหนึ่งเสมอ หรือทำไมจู่ๆ เราเกลียดหรือไม่ชอบหน้าคนแบบนี้ หรือทำไมเรามีแฟนทีไรก็เจอแต่กับปัญหาเดิมๆ เปลี่ยนแฟนมากี่คนก็เจอแต่คนที่มีลักษณะแบบนี้อีกแล้ว และถึงที่สุดเราก็มักจะต้องทุกข์ทรมาน เพราะความไม่เข้าใจกัน
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเป็นคนตรงต่อเวลา เราก็มักไม่ชอบคนมาสาย แต่วันหนึ่งเราเจอคนในฝัน เขาคนนั้นช่างดูเป็นคนผ่อนคลาย ง่ายๆ สบายๆ เราคิดว่าเลือกดีแล้ว แต่แล้วก็พบว่าหนีไม่พ้นได้แฟนเป็นคนมาสาย ไม่ตรงเวลา แม้เลิกกันไป เปลี่ยนแฟนคนใหม่กี่คน สุดท้ายก็มักจะได้แฟนที่เป็นคนเช่นนั้นทุกครั้งไป เพราะขั้วต่างกันเลยดึงดูดกัน แต่ก็ต้องจบความสัมพันธ์ เพราะหาความลงตัวไม่ได้
เล่ามาถึงตรงนี้ อยากให้ลองนึกภาพตามว่า ตั้งแต่เกิดจนถึงเด็กวัยพอรู้ความประมาณ 5-6 ขวบ เราอาจเลือกทิ้งไพ่ไปเรื่อยๆ จนเหลือไว้ในมือแค่ 3-4 ใบ ไพ่ที่เหลือในมือเราคือ Primary Selves ตัวตนหลักคือ บุคลิกภาพหลักๆ ของเรา และไพ่มากมายที่ถูกทิ้งไป ซึ่งก็จะตกอยู่ใน 3 หมวดนี้ คือ ตัวตนที่เราปฏิเสธ จะไม่เป็นแบบนี้อีกแล้ว (Disowned Selves) หรืออาจจะเป็นตัวตนที่เราเป็นได้บ้างบางครั้งบางคราว ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หรือบริบท (Sometimes Selves) และสุดท้าย ตัวตนที่เรายังไม่เคยรู้จักมาก่อน เนื่องจากประสบการณ์ในชีวิตนี้ยังไม่ได้เผยปรากฏขึ้นมาให้กับเรา (Unknown Selves)
นี่คือสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ผ่าน Bug You Exercise หรือที่หลายคนได้ค้นพบประโยชน์ของแบบฝึกหัดจนได้นำไปถ่ายทอดต่อๆ กันในชื่อ ตาราง 4 ช่อง สิ่งที่เราคิดว่า เราใช่ เราเป็น นั้นยังมีอีกครึ่งหนึ่งที่เราอาจไม่เห็นหรือไม่ได้ตระหนักรู้ ด้วยการยึดอยู่ในรูปแบบการเป็นบางอย่างของเราเอง ที่มาพร้อมกับเสียงตัดสิน ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นข้อดีของการเป็นในรูปแบบที่เราปฏิเสธได้เลย แต่เมื่อเราได้ลองทำแบบฝึกหัดตาราง 4 ช่องนี้ อาจทำให้เรากลับมาค้นพบว่า ที่ผ่านมาเกือบตลอดชีวิต เราเลือกทิ้งไพ่หรือศักยภาพต่างๆ ในตัวเราไปมากมาย และยังทำให้เราค้นพบเบื้องหลังที่เราตัดสินนิสัยบางอย่างของคนอื่นที่คิดว่าไม่ดีนั้น อีกด้านมันยังมีประโยชน์หรือคุณูปการบางอย่าง ทำให้เรามีความพร้อมที่จะกลับมาหลอมรวม “ศักยภาพ” บางอย่างที่เราทอดทิ้งไปได้อีกด้วย
เล่าเป็นแนวคิดแล้วอาจยังไม่เข้าใจกระจ่างนัก ขอชวนมาลองทำตาราง 4 ช่องต่อไปนี้เพื่อเข้าใจกันมากยิ่งขึ้นค่ะ
ฝึกทำตาราง 4 ช่องกันเถอะ
จากหนังสือของคุณเรือรบที่ฉันเคยได้อ่านครั้งนั้น จึงอยากชวนกันมาเขียนตาราง 4 ช่อง นำกระดาษ A4 หนึ่งแผ่น แบ่งกระดาษเป็น 4 ช่อง เขียนเลข 1 – 4 ไว้แต่ละช่อง แล้วตอบคำถามต่อไปนี้
(ตัวอย่างการเขียนตาราง 4 ช่อง)
1.ด้านบวกหรือข้อดี | 2.ฉันไม่ใช่คน… | 3.ฉันเป็นคน… | 4.ด้านลบหรืออีกด้าน |
ปากตรงกับใจ ชัดเจน ตรงไปตรงมา | หยาบคาย | สุภาพ | ดัดจริต |
อิสระ ชอบเรียนรู้ | โง่ | ฉลาด | อวดรู้ |
ผ่อนคลาย | เหลวไหล | มีความรับผิดชอบ | แบกโลก แสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ |
ดูแลตัวเอง | เห็นแก่ตัว | เสียสละ | ไม่ดูแลตัวเอง |
ประสิทธิภาพ | วู่วาม | สุขุมรอบคอบ | ไม่กล้าตัดสินใจ |
มีเอกลักษณ์ เป็นตัวของตัวเอง | ยึดติดตัวเอง | ยืดหยุ่น | ไร้จุดยืน |
…… | ….. | ….. | ….. |
1. เขียนตารางช่องที่ 3 “ฉันคือคน….”
ให้เขียนสิ่งที่เราเชื่อว่าเราเป็น เป็นคุณสมบัติของตัวเราเอง เขียนออกมาเยอะๆ เช่น ฉันสุภาพ ฉันฉลาด ฉันตลก ฉันมีน้ำใจ ฉันเสียสละ ฯลฯ
จำได้ว่าตอนแรกที่ฉันลงมือทำแบบฝึกหัดนี้ เริ่มจากมองตัวเองก่อน กรอกลงไปในช่อง 3 ว่า “ฉันสุภาพ” ใช่แล้ว ฉันคิดในใจกับตัวเองต่อไปว่า เพราะฉันมีมารยาท รู้จักกาลเทศะ อะไรควรไม่ควร เคารพกติกาของสังคม ให้เกียรติผู้อื่น และไม่ทำอะไรที่เดือดร้อนผู้อื่น
2. เขียนตารางช่องที่ 2 “ฉันไม่ใช่คน…”
ให้เขียนสิ่งที่เราไม่ชอบของคนที่มักกวนใจเราหรือเราไม่ชอบหน้า พอบอกไม่ชอบปุ๊บ เห็นหน้าเขาผุดขึ้นมาเลย พอมีไหม แต่หากไม่มี ก็ลองนึกถึงพฤติกรรมหรือบุคลิกลักษณะที่เราไม่ชอบ เราไม่ใช่คนแบบนี้ เรารับไม่ได้ เช่น ฉันไม่ใช่คนหยาบคาย ฉันไม่ใช่คนโง่ ฉันไม่ใช่คนเรียบร้อย ฉันไม่ใช่คนเห็นแก่ตัว ฯลฯ สังเกตจะเห็นว่าช่องที่ 2 นี้เป็นขั้วตรงข้ามกับช่องที่ 3
ฉันทบทวนเรื่องที่ผ่านมา ภาพของเพื่อนร่วมงานผุดขึ้นมาในหัว ไม่ลังเลที่จะกรอกช่อง 2 คือ คนพูดจาเสียงดัง ไม่สุภาพ ไม่มีมารยาท ไม่ให้เกียรติผู้อื่น ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แหม แค่ย้อนคิดแล้วก็เหมือนมีอารมณ์กรุ่นๆ เกิดขึ้นในใจไปด้วยเลย
3. เขียนตารางช่องที่ 1 “ด้านบวกหรือข้อดี…”
ข้อนี้จะเริ่มท้าทายหน่อยๆ จากช่องที่ 2 “ฉันไม่ใช่คน…” เชื่อไหมว่าด้านที่ไม่ใช่เรา บ่อยครั้งเรามักคิดตัดสินไปเลยว่าด้านนี้ไม่ดีหรือเลว แต่เบื้องหลังที่เราตัดสินนิสัยบางอย่างนั้น มันยังมีประโยชน์หรือคุณูปการบางอย่าง บางทีเราตัดสินด้านนั้นมากๆ จนเรามองไม่เห็นข้อดีของมันเลย ลองมาเขียนกันว่าข้อดีมีอะไร แต่หากคิดไม่ออก จะลองถามเพื่อนๆ ใกล้ตัวก็ได้นะ เช่น
- คนหยาบคาย ด้านบวกคือ เป็นคนปากตรงกับใจ ชัดเจน ตรงไปตรงมา กล้าเปิดเผย
- คนโง่ ด้านบวกคือ อิสระ ชอบเรียนรู้
- คนเหลวไหล ด้านบวกคือ ผ่อนคลาย
- คนเสแสร้ง ด้านบวกคือ ดูแลและปกป้อง
- คนเห็นแก่ตัว ด้านบวกคือ คนดูแลตัวเอง
มองกลับมาที่ตัวฉันเอง ทบทวนข้อดีของการพูดจาเสียงดัง ไม่มีมารยาท หรือไม่เกรงใจคนอื่น แบบเพื่อนร่วมงานคนนี้แล้ว แรกๆ ก็ยากมากที่จะคิดว่ามีข้อดีในนี้ด้วยหรือ แต่เมื่อฉันค่อยๆ ทบทวนก็พบว่า ด้านบวกของนิสัยคนที่ฉันไม่ชอบก็คือ ความชัดเจน ตรงไปตรงมา กล้าเปิดเผย และเป็นตัวของตัวเอง ใช่แล้ว ฉันไม่เคยคิดถึงเขาในมุมนี้เลยจริงๆ ว่าไปก็เป็นอีกมุมที่ทำให้ฉันเริ่มประหลาดใจเช่นกัน
4. เขียนตารางช่องที่ 4 “ด้านลบหรืออีกด้าน….”
จากช่องที่ 3 “ฉันคือคน…” เรามักคิดว่า สิ่งที่เราเป็นเราคือข้อดีแล้ว แต่อีกด้านของข้อดีนี้ คนอื่นก็อาจมองเห็นว่าเราเป็นได้ ถ้าเป็นคิดเป็นคำถามก็คือ “คนในช่อง 1 จะมองว่าคนในช่อง 3 เป็นคนอย่างไร” ซึ่งจะเป็นในทางลบ แบบฝึกหัดข้อนี้อาจทำให้หลายคนอึดอัดใจ คิดไม่ออก แต่อยากให้ลองคิดหรือหากคิดไม่ออก จะถามหรือชวนเพื่อนๆ มาช่วยคิดกัน เช่น
- คนสุภาพ อีกด้านคือ ดัดจริต สร้างภาพ คลุมเครือ
- คนฉลาด อีกด้านคือ อวดรู้
- คนมีความรับผิดชอบ อีกด้านคือ คนแบกโลกหรือเจ้าข้าวเจ้าของ
- คนจริงใจ อีกด้านคือ คนไร้เดียงสาหรือซื่อบื้อ
- คนเสียสละ อีกด้านคือ คนไม่ดูแลตัวเอง อ่อนต่อโลก ถูกหลอกง่าย
กลับมาที่ตัวฉันเอง ช่องสุดท้ายนี้อาจยากหน่อย เพราะต้องมองให้เห็นข้อเสียของตัวเอง หากช่อง 1 ฉันเป็นคนสุภาพ มีมารยาท และให้เกียรติผู้อื่นแล้ว อีกด้านจะคืออะไร ฉันก็พยายามคิดแบบเป็นกลางๆ ไม่เข้าข้างตัวเอง และมองตามความเป็นจริง คำตอบที่ค้นพบก็คือ คนอื่นๆ อาจดูว่าฉันเป็นคนเคร่งเครียด จริงจัง ไม่เป็นตัวของตัวเอง และอาจดูว่าเป็นคนดัดจริต สร้างภาพ หรือคลุมเครือก็ได้เช่นกัน
พอเขียนแบบฝึกหัดนี้เสร็จ ฉันได้ทบทวนตัวเองก็เริ่มเข้าใจปัญหาที่เกิดกับเพื่อนร่วมงานในเวลานั้น ที่ฉันสะสมความโกรธ ความไม่ชอบ ไม่พอใจ การโยนความผิด และตัดสินนิสัยเพื่อนร่วมงานคนนั้นกว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากฉันจะทุกข์แล้ว ฉันยังเห็นภาพบิดเบือนจากความเป็นจริง ฉันเห็นแต่สิ่งที่ตัวเองอยากเห็นเท่านั้น เพราะการยึดอยู่ในการเป็นของฉันแบบนี้ ฉันจึงไม่สามารถเห็นอีกด้านที่เป็นบวกของเขาหรืออีกด้านที่เป็นลบในตัวเองได้เลย
ปรับมุมคิด พลิกมุมมอง เราเปลี่ยนไป โลกก็เปลี่ยนตาม
จากแบบฝึกหัด 4 ช่องที่ทำกันไป จะเห็นได้ว่า ช่องที่ 1 กับ 2 เปรียบได้กับไพ่ที่ถูกทิ้งไปหรือ Disowned Selves ตัวตนที่เราปฏิเสธ ไม่ยอมให้ตัวเองเป็น ส่วนช่องที่ 3 กับ 4 คือไพ่ที่ถูกถือไว้ในมือ หรือ Primary Selves สังเกตได้ว่าตัวตนของเราในช่องที่ 3 จะบ่งบอกถึงระบบคุณค่า ความเชื่อ ความหมายของชีวิต สิ่งที่เรายอมรับว่าทำไปแล้วเรารู้สึกดี แต่นานวันเข้า เมื่อเรายึดถือไพ่ชุดนี้อย่างเหนียวแน่น แน่นอนว่าเราจะต้องไม่พอใจกับคนที่แสดงไพ่ตรงกันข้ามหรือคนที่เป็นแบบช่องที่ 2 ทันที เราจะรู้สึกจี๊ดหรือปรี๊ดขึ้นมา เราจะไม่ยอมเป็นอย่างช่องที่ 2 โดยเด็ดขาด และผลลัพธ์ที่พ่วงตามมาด้วยคือ เราได้ปฏิเสธและละทิ้งความสามารถในช่องที่ 1 ไปด้วยนั่นเอง
หากมองแต่ละช่องแบบแยกเดี่ยวๆ เช่น ช่องที่ 1 เป็นด้านบวกของรูปแบบการเป็นที่เราคิดว่าไม่ดีหรือเราไม่เป็นแบบนี้แน่ๆ ทั้งที่ความจริง มันมีคุณประโยชน์หรือคุณูปการ และเป็นอีกศักยภาพสำหรับชีวิตเราเช่นกัน แต่พอเราปฏิเสธลักษณะแบบช่องที่ 2 กลับทำให้เราทิ้งไปเลยทั้งช่อง 1 และ 2 เช่น เราไม่กล้าพูดตรงไปตรงมา ไม่กล้าเป็นตัวของตัวเอง เพราะเรากลัวคนมองว่าเราไม่สุภาพ ไม่มีมารยาท หรือเราไม่กล้ารักษาผลประโยชน์ของตัวเอง เพราะเรากลัวถูกมองว่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น หากเราไม่ตระหนักรู้และยึดอยู่ในตัวตนแบบช่องที่ 3 ผลที่ตามมาเราสามารถถูกมองว่าเป็นช่อง 4 ได้ทันทีเช่นกัน เช่น เราใจดี มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อไปซะทุกอย่าง เราสามารถถูกมองว่าเป็นคนอ่อนต่อโลก ถูกหลอกประจำก็เป็นได้ หรือเราอาจจะมองตัวเองว่าเป็นคนพูดจาไพเราะ มีมารยาท สุภาพ รู้กาลเทศะ และให้เกียรติคนอื่นแล้ว แต่เพื่อนก็อาจคิดว่าเราดัดจริตหรือสร้างภาพได้
อย่างไรก็ดี จุดประสงค์หลักในการทำ Bug You Exercise หรือตาราง 4 ช่อง คือ เพื่อให้เราสังเกตเห็นบางอย่างภายในตัวเราเอง และอาจเป็นบางอย่างที่เราไม่มีโอกาสได้เห็นมาก่อน เพื่อที่เราจะได้ทำความรู้จัก และเปิดรับความเป็นไปได้หรือศักยภาพใหม่ๆ รวมถึงได้แนวทางว่าเราจะสามารถทำงานกับโลกภายในตัวเราต่อไปอย่างไรได้บ้าง
คุณซอย – วริวรรณ์ วิทยฐานกรณ์ Voice Dialogue Facilitator เล่าเสริมว่า “สำหรับบางคนที่ทำ Bug You Exercise แล้วรู้สึกว่าทำให้เข้าใจคนอื่นมากขึ้น ไม่ได้เป็นเพราะว่าเราไปพยายามทำความเข้าใจคนอื่น แต่เป็นเพราะว่าเราเริ่มรับรู้แล้วว่า สิ่งที่เราไม่เคยเห็นและรับรู้ได้ในช่องที่ 1 ได้ช่วยคลี่คลายความรู้สึกของเราไปโดยปริยาย และการที่เราทำช่องที่ 4 ออกมาได้ มันจะลดความจริงจังของความเชื่อในสิ่งที่เรามีลงมาได้ เพราะฉะนั้นนอกจากความสามารถในการเข้าใจตัวเองแล้ว มันยังทำให้เราสามารถคลี่คลายบางอย่างในตัวเราได้”
หากมองย้อนไปหลายต่อหลายครั้งที่เราโกรธใครบางคน คนที่ทำให้เราขุ่นข้องหมองใจ คนคนนั้นนั่นเองเขาเป็นดั่งกระจกสะท้อนตัวเรา แล้วเขาอาจมีไพ่หรือนิสัยที่เราเคยเป็นแต่ทิ้งมันไปนานแล้วก็ได้ มันอาจเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวดมากในอดีตตอนที่เราทำสิ่งนั้น แล้วคนนี้ก็ทำให้เราระลึกถึงเหตุการณ์นั้นได้ เราจึงไม่พอใจเพราะมันเคยทำให้เราเจ็บปวด
เหมือนเช่นเหตุการณ์ของฉันกับเพื่อนร่วมงาน หลังจากที่ฉันได้ทำตาราง 4 ช่อง มุมมองและการรับรู้ต่อตัวเองก็เริ่มเปลี่ยนไป ฉันเห็นตัวฉันในหลากมุมมากขึ้น เปิดกว้างที่จะเรียนรู้มุมมองของเพื่อนในอีกหลายๆ ด้านที่ฉันไม่เคยเห็น ขยายศักยภาพและโอกาสที่จะให้ตัวเองและเพื่อนร่วมงานได้เป็นตัวของตัวเอง วงจรความทุกข์ค่อยๆ คลี่คลาย ความเข้าใจในตัวเองเปลี่ยนไป และสถานการณ์ตอนนั้นก็ดีขึ้น จนทุกวันนี้แม้ฉันและเพื่อนจะไม่ได้ทำงานที่เดิมแล้ว แต่เราทั้งคู่ก็ยังเป็นเพื่อนกันต่อไป
สมดุลด้วยการตระหนักรู้ทุกตัวตนในชีวิต
นอกจากแบบฝึกหัด 4 ช่องจะช่วยขยายมุมมองความเข้าใจเรื่องตัวตนของเราและผู้อื่นแล้ว ยังมีอีกเรื่องที่ฉันได้เรียนรู้ นั่นคือ ความสมดุลของชีวิต
แม้เราจะเห็นว่าคนเรามีหลากตัวตนแล้ว แต่ยังรวมถึงการรักษาสมดุล ด้วยการเพิ่มพื้นที่ของการเข้าถึงศักยภาพในตัวเราได้มากขึ้นเรื่อยๆ และไม่ใช่แค่การที่เราจะแปรเปลี่ยนตัวเองไปได้ในทันที เช่น หลายคนอาจจะคิดไปล่วงหน้าก่อนว่า ถ้าเราเป็นคนนิสัยอีกแบบ ตรงข้ามกับที่เป็นอยู่ เราจะเป็นเหมือนคนคนนั้นได้เลย (คือ คนในช่อง 1 และช่อง 2)
คุณซอย – วริวรรณ์ วิทยฐานกรณ์ Voice Dialogue Facilitator พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “เรามักจะจินตนาการไปสุดขีดว่า ถ้าเราเป็น เราจะเป็นหนักเหมือนคนคนนั้น เช่น หากเราต้องเป็นคนง่ายๆ สบายๆ เราก็จะกลายเป็นคนลวกๆ เราจินตนาการไปไกลเกิน แต่เราจะไม่เคยจินตนาการว่าถ้าเราสามารถมีคุณลักษณะแบบที่เขาเป็นแค่ 2% จะเป็นยังไง มันอาจจะผ่อนคลายขึ้นเลยนะ จริงๆ แค่เพียงนิดเดียวของคุณลักษณะนั้นก็เปลี่ยนพลวัตข้างในตัวเราได้มหาศาลเลย”
สมดุลชีวิตในที่นี้ จึงหมายถึงการตระหนักรู้ต่อการยึดอยู่ในรูปแบบตัวตนของตัวเองใดๆ ด้วยสติปัญญา และการมีความสัมพันธ์กับโลกนี้ ทั้งต่อผู้คน และต่อสถานการณ์ต่างๆ อย่างเหมาะสม เราจะค้นพบว่าชีวิตสู่การเป็นมนุษย์ที่แท้ อาจไม่ใช่แบบที่เราเคยคิดตัดสินว่าถูกหรือผิด ดีหรือเลว ฉันเป็นคนแบบนี้ ฉันไม่ใช่คนแบบนั้น แต่คือการหลอมรวมและเปิดใจยอมรับคุณลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในตัวเราทุกๆ ด้าน ความเป็นไปได้นับไม่ถ้วนจะถูกเปิดออก และความบริบูรณ์ของชีวิตที่มีแต่ดั้งเดิมก็กลับมาอีกครั้ง
สุดท้าย เมื่อเราเข้าใจความเป็นมนุษย์ในตัวเราได้มากขึ้น เราก็จะสามารถเข้าใจความเป็นมนุษย์ในผู้อื่นได้มากขึ้นเช่นกัน