- เพราะต้องมนต์สะกดในห้องเรียนของแม่ตัวเอง ทำให้ครูยอร์ช – ณัฐพงศ์ อนุสนธิ์ ตัดสินใจเลือกเดินในเส้นทาง ‘ครู’ ตามรอยแม่ ฝันของเขา คือ อยากให้นักเรียนรู้สึกสนุกในห้องเรียนของตัวเองเหมือนกับที่แม่ทำ
- แต่เส้นทางอาชีพของครูยอร์ชไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบและไม่ได้อบอวลด้วยความสุข แต่เต็มไปด้วยด่านทดสอบ ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเป็นครูที่ดีว่าต้องเข้มงวด เขี้ยวเข็น และไม่อ่อนข้อกับนักเรียน หรือระบบครูในโรงเรียน อุปสรรค์ที่เจอทำให้ครูยอร์ชต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘สิ่งที่ทำไปนั้นถูกต้องแล้วจริงๆ หรือ?‘ และ ‘การเป็นครูที่ดีต้องทำแบบนี้จริงๆ หรือ?‘
- ครูยอร์ชในปัจจุบัน คือ ครูยอร์ชที่ค้นพบวิธีสร้างความสุขในห้องเรียนตัวเอง นั่นคือการรู้จักนักเรียนของตัวเองและออกแบบการเรียนการสอนบนพื้นฐานเข้าใจความแตกต่างของเด็กๆ
“ผมอยากเป็นครูมาตั้งแต่เด็ก มีแม่เป็นครูภาษาไทย ชอบขอตามแม่ไปโรงเรียน จำได้ว่าแม่เป็นคนสอนหนังสือสนุก ตอนนั้นยังใช้วิธียืนพูดยืนเล่า แต่น้ำเสียง ท่าทาง การเดินไปรอบห้องของแม่สะกดคนนั่งฟัง แม่ดึงความสนใจของนักเรียน รวมถึงผมให้ตั้งใจฟังที่เขาสอนในทุกๆ ชั่วโมงได้ ผมอยู่ในห้องเรียนแล้วมีความสุข การเรียนแบบนี้นี้ทำให้ผมรู้สึกชอบวิชาภาษาไทยมาก แล้วก็เป็นคนที่เก่งวิชาภาษาไทยมาก
“ตอนที่เป็นเด็ก ตอนนั้นผมรู้สึกว่าการสอนของแม่ เหมือนได้ฟังนิทานเรื่องหนึ่งในแต่ละชั่วโมง แต่เป็นนิทานที่มีแบบฝึกหัด พอฟังแล้วก็มานั่งทำแบบฝึกหัด นึกถึงเรื่องที่เขาเล่าให้ฟังในห้อง”
ครูยอร์ช – ณัฐพงศ์ อนุสนธิ์ เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของเส้นทางชีวิตความเป็นครู ที่ปลูกสร้างมาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก เขาเลือกสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เลือกเฉพาะสาขาด้านศึกษาศาสตร์ทุกอันดับ จบการศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ การศึกษาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน์ ปัจจุบันสอบบรรจุเข้าในโครงการครูคืนถิ่น เป็นครูสอนอยู่ที่ โรงเรียนวัดบางขวาก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่ปี 2559 ถึงตอนนี้ประมาณ 3 ปีแล้ว
ปีการศึกษานี้ครูยอร์ชรับหน้าที่สอนวิชาวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และหน้าที่เพิ่มเติม หรือหน้าที่พลเมือง ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
แม้การแสดงออกจะเป็นคนโผงผาง เด็ดขาด และตรงไปตรงมา จนหลายครั้งกลายเป็นกำแพงในการทำงาน รวมถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเป็นครูที่ดีว่าต้องเข้มงวด เขี้ยวเข็น และไม่อ่อนข้อกับนักเรียน เคยใช้อำนาจในห้องเรียนอยู่บ่อยครั้ง ทั้งต่อว่า ดุด่า และลงโทษนักเรียน จนต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘สิ่งที่ทำไปนั้นถูกต้องแล้วจริงๆ หรือ?‘ และ ‘การเป็นครูที่ดีต้องทำแบบนี้จริงๆ หรือ?‘
แต่เมื่อสามารถผ่านด่านการทำความเข้าใจตัวเองไปได้ ครูยอร์ชก็สามารถกลับมาสร้างสรรค์บรรยากาศห้องเรียนที่เต็มไปด้วยความเพลิดเพลินและสนุกสนานได้อย่างไม่ฝืนตัวเอง
ห้องเรียนขยายโอกาส
โรงเรียนวัดบางขวากเป็นโรงเรียนขยายโอกาส มักได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างเชิงเปรียบเทียบอยู่บ่อยๆ ว่า โรงเรียนเหมือนต้องจ้างเด็กมาเรียน เพราะสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนที่ต้องหาเช้ากินค่ำ ผู้ปกครองอยากให้ลูกมาช่วยทำงานหาเลี้ยงปากท้องมากกว่ามาเรียนหนังสือ วันไหนมีนักเรียนในชั้นเรียนครบตามจำนวนที่ลงทะเบียนไว้ แทบเป็นเรื่องน่าแปลกใจ
“ภาพห้องเรียนแม่กับห้องเรียนของผมต่างกันราวฟ้ากับดิน พอมาสอนเด็กวัดบางขวาก แรกๆ ผมยังไม่รู้วิธีการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียน ผมมาสอนแบบยืนพูดหน้าชั้นให้เด็กฟัง ทำให้คุมห้องเรียนไม่ได้ นักเรียนจากที่ไม่ได้อยากมาโรงเรียนอยู่แล้วก็ไม่สนใจ ผมเลยเริ่มใช้อำนาจควบคุมชั้นเรียนมากขึ้น ลงโทษเขี้ยวเข็นนักเรียน ทุกวันๆ ความอึดอัดในตัวยิ่งทวีความรุนแรง บรรยากาศในชั้นเรียนไม่มีความสุขเลย”
อย่างไรก็ตาม ภาพที่ครูยอร์ชเล่าให้ฟังถึงการลงโทษนักเรียนจนไม่มาโรงเรียน แตกต่างจากบรรยากาศในห้องเรียนที่เราเห็นอย่างสิ้นเชิง
อาคารอเนกประสงค์ของโรงเรียน ถูกใช้เป็นห้องเรียนในคาบของครูยอร์ชมาได้ราว 1 ปีการศึกษาแล้ว นักเรียนล้อมวงนั่งอยู่ในระดับเดียวกันบนพื้น จับกลุ่มสมมุติตัวเองเป็นโมเลกุลเคมีในวิชาวิทยาศาสตร์ แล้วทำกิจกรรมจับคู่โมเลกุล เสียงหัวเราะ รอยยิ้ม และความสนุกในห้องเรียน ทำให้เรานึกภาพห้องเรียนที่น่าอึดอัดแบบเดิมไม่ออก
“ห้องเรียนของผมเปลี่ยนไป จากวันที่ผมเริ่มเข้าใจว่าสิ่งที่ผมทำมาตลอดในห้องเรียนคือการใช้อำนาจ สิ่งที่มากระทบจนทำให้ผมเสียศูนย์ คือ โครงสร้างการใช้อำนาจในระบบราชการที่บังคับให้ต้องคล้อยตาม ก่อนนี้ผมไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ความคิดในหัวผมมันฟุ้งไปหมด
“การเข้าร่วมโครงการก่อการครูให้คำตอบกับผม โครงการถอดให้ผมเห็นตัวเองก่อน ทำให้ครูกลับเข้าไปเห็นความเป็นมนุษย์ ครูเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ถูกได้ผิดได้ ชี้ให้เห็นห้องเรียนแห่งอำนาจ ฉายภาพให้เห็นว่ามีการใช้อำนาจในห้องเรียนและในโรงเรียนเต็มไปหมด แล้วบ้างครั้งครูก็เผลอใช้อำนาจ ไม่ได้เป็นอำนาจที่เกิดจากตัวเราเท่านั้น แต่มีโครงสร้างในระบบที่มาบีบคั้นกำหนดทิศทางการทำงานของครูด้วย หลังจากนั้นผมจึงมาทำความเข้าใจห้องเรียนตัวเอง เข้าใจที่มาที่ไปว่าทำไมตัวเองถึงทำแบบนั้น”
วิธีสร้างการเรียนรู้ที่จะทำให้ห้องเรียนเปลี่ยน ครูต้องออกแบบการเรียนการสอนที่เข้าใจความแตกต่างของเด็ก ทำอย่างไรให้เด็กเรียนรู้หลายๆ อย่างในห้องเรียนได้มากที่สุด ทำอย่างไรให้นักเรียนสามารถเจอสิ่งที่เขาสนใจในห้องเรียน นอกจากเนื้อหาตามหลักสูตร
“วิธีการสอนควรเป็นลีลาของครู ครูมีลีลาการสอนแบบนี้ อยู่กับเด็กกลุ่มนี้ ครูเรียนรู้และเข้าใจเด็กกลุ่มนี้ แล้วไปออกแบบการสอนมาให้เหมาะกับเด็กแต่ละกลุ่ม แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่ครูเจอ ครูถูกตีด้วยเนื้อหา ผลสัมฤทธิ์ การสอบโอเน็ต ต้องรีบสอนเพราะเด็กต้องเอาความรู้ไปสอบ”
“ห้องเรียนของผม วิชาการเป็นเพียงแค่เสี้ยวเดียว แต่กิจกรรมที่ได้ทำจะสร้างทักษะติดตัวเด็กไปได้ เช่น การทำงานเป็นทีมที่เด็กจะเอาปัญหามานั่งถกกัน ความสัมพันธ์ที่ต้องจัดการระหว่างเพื่อนซึ่งไม่เคยทำงานด้วยกัน หรือระหว่างชายกับหญิง ผลสัมฤทธิ์เป็นการใช้สมองแค่ส่วนหนึ่ง แต่ความถนัดด้านอื่นยังมีอีกเยอะแยะ ผมอยากให้เด็กเจอตัวเองในแบบของเขาในห้องเรียนของผม”
แรงเสียดทานที่ทำให้โดดเดี่ยว ท้อแท้ แต่ต้องก้าวต่อ
“ผมให้เวลาตัวเองเตรียมสอน เข้าใจนักเรียน อยู่กับนักเรียนเพื่อวิเคราะห์ผู้เรียน ผมเลยเริ่มปฏิเสธงานโรงเรียนบางอย่าง จากเดิมที่รับงานโรงเรียนหลังชนฝาจนแทบไม่มีเวลาสอนหนังสือ แล้วช่วงแรกๆ ก็เพลิดเพลินและสนุกกับมันด้วยซ้ำ ภาพจำยอร์ชคนเดิมพานักเรียนทำกิจกรรมทุกอย่างตอบสนองนโยบายและโครงการของโรงเรียนเต็มไปหมด หลังๆ กลายเป็นครูยอร์ชที่ละวาง เริ่มใช้เวลากับตัวเองวางแผนการสอนให้ดีมากขึ้น ใช้เวลาในห้องเรียนมากขึ้น แต่กลับทำให้เกิดช่องว่างความสัมพันธ์ระหว่างผมกับครูคนอื่นๆ ในโรงเรียน”
ความรู้สึกโดดเดี่ยวเพราะทำตัวแปลกแยกห่างเหินจากคนอื่น ไม่ได้ทำให้ครูยอร์ชถอย เขากลับมาโฟกัสที่นักเรียน แม้แต่การแต่งกายประจำวันยังดูคล่องแคล่วในชุดกีฬาที่ทำให้ดูเหมือนเป็นครูพละมากกว่าครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์
“ใส่ชุดแบบนี้มาสอนแล้วมันสบายกว่า เมื่อผมเข้าใจตัวเอง มันคลี่คลายปมในใจไปได้ มันอ๋อ…ขึ้นมาเลยว่า ที่ห้องเรียนเราไม่มีความสุขเพราะเราใช้อำนาจอยู่หรือเปล่า ที่ผมเครียดกับการทำงานเพราะโครงสร้างอำนาจแบบนี้หรือเปล่า เด็กคนนั้นที่หลุดออกไปจากโรงเรียนเป็นเพราะผมไม่ฟัง ตัดสิน และไม่เปิดพื้นที่ให้ความหลากหลายของเด็กหรือเปล่า แต่ตัวตนของความดุดัน ความเป็นเผด็จการในห้องเรียนก็ยังมีอยู่ ผมก็ยังเห็นตัวเองใช้อำนาจในห้องเรียนอยู่ในหลายๆ จังหวะ แต่ก็ท้าทายกับมัน พยายามช้าลงมากๆ เรียนรู้ว่าสิ่งไหนทำได้ไม่ได้ ช่วงไหนทำได้ผมก็มีความสุขสนุกกับมัน
“ช่วงไหนที่ทำไม่ได้ผมก็กลับมาเครียดอีกเหมือนกัน ความคิดความรู้สึกผมไวมาก สงสัยว่าทำไมตัวเองไม่เปลี่ยนแบบทันทีทันใดเมื่อทำไม่ได้อย่างที่ตั้งใจ ผมเลยสนใจเรียนรู้เรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมจากเวทีต่างๆ มากขึ้น เช่น การเรียนรู้เกี่ยวกับการฟัง เวทมนต์ของห้องเรียน การโค้ช ความแตกต่าง และการเรียนรู้ตัวตนที่ทำให้เข้าใจตัวเองและความเป็นมนุษย์ ผมว่าเราต้องให้โอกาสตัวเองด้วย”
จริงใจ (Sincerity)
The Potential ให้ครูยอร์ชเลือกบัตรคำที่อธิบายถึงความเป็นตัวเองขึ้นมา 1 ใบ จากบัตรคำทั้งหมด 24 ใบ ‘จริงใจ’ เป็นคำที่ครูยอร์ชเลือก
“จริงใจ ผมรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำให้ปรากฏอยู่ในการทำงาน ความสัมพันธ์ และในสิ่งที่เราทำด้วย ผมพยายามทำให้ความจริงใจเป็นส่วนหนึ่งในตัวเอง จะให้เอาตัวเข้าแลกก็ยอม ผมคิดว่าความจริงใจที่มีทำใหผมกล้าเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา ทั้งเรื่องงานสอน หรือแม้แต่การเป็นครูที่ผมกล้าบอกเด็กว่าผมไม่ดียังไง สิ่งนี้ผมเคยทำมาแล้วผลลัพธ์เป็นยังไง รวมถึงบอกด้านดีของตัวเองด้วย แล้วดูเหมือนว่าผมจะเรียกร้องสิ่งนี้จากคนอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน”
และเพราะต้องการความจริงใจนี้เอง ครูยอร์ชจึงไม่เข้าข้างตัวเองว่าเด็กชอบทุกกิจกรรมและเพลิดเพลินไปกับการเรียนทุกคาบที่เขาสร้างสรรค์ขึ้น และให้นักเรียนประเมินการสอนอย่างเปิดเผย
การสอบปลายภาคเทอมที่ผ่านมาของนักเรียนชั้น ม.1-3 ที่ได้เรียนกับครูยอร์ช มีส่วนหนึ่งที่ให้นักเรียนสะท้อนตัวเองออกมาว่าเรียนรู้อะไรไปบ้าง ชอบอะไรในสิ่งที่เรียน ไม่ชอบอะไร หรือเรื่องไหนที่ยังไม่เข้าใจ รวมไปถึงการสะท้อนการจัดการเรียนรู้ และตัวครูผู้สอน
“ผมให้เด็กสะท้อนความรู้สึกที่มีต่อห้องเรียนผ่านการเขียน สังเกตสายตา อารมณ์ และพลังงานของเขาที่ร่วมกับเราในห้องเรียน มันจะมีวันที่สอนเสร็จแล้วฟินกับตัวเองมาก บอกกับตัวเองว่าดีมากๆ รักคาบนี้มาก แต่ก็มีวันที่รู้สึกเฉยๆ และมีวันที่คิดว่าเอาแค่ให้ผ่านไปแบบนี้แล้วกัน”
หรือการสอบจบวิชาวิทยาศาสตร์ชั้น ม.3 ที่ครูยอร์ชให้โจทย์ว่า สอบจบแบบไหนก็ได้ แต่ให้ประมวลความรู้ทั้งหมดลงมาในรูปแบบการนำเสนอร่วมกัน โดยมีข้อแม้ 3 ข้อ ได้แก่
หนึ่ง ห้ามแต่งกายชุดนักเรียน ถือว่าไม่ให้เกียรติครูยอร์ช
สอง วิชาครูยอร์ชทั้งที จะมายืนพูดเฉยๆ ธรรมดาๆ ก็แล้วแต่นะ คิดเอาเอง
และสาม มีเวลาจำกัดให้ไม่เกิน20นาที จะใช้เครื่องเสียง ใช้อุปกรณ์ หรือสถานที่ใดๆ ก็ได้
ปรากฏว่านักเรียนจัดหนักจัดเต็ม เตรียมชุดแต่งกาย ร้องเต้น เล่นละคร แบบมีสาระ ขนาดที่ทำให้ครูทั้งขำจนหยุดไม่อยู่และภูมิใจในความทุ่มเทของนักเรียน
และเพราะความจริงใจอีกเช่นกัน ที่ทำให้ครูยอร์ช บอกกับเราว่าหลายครั้งตัวเขาเองยังรู้สึกสับสน เขาเล่าให้ฟังถึงโครงการประกวดการจัดแสดงทางวิทยาศาสตร์ หรือ Science Show ที่เป็นเหมือนเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และมีคุณค่าเป็นเหมือนเครื่องต่อรองเชิงอำนาจของเขากับความสัมพันธ์ที่มีกับโรงเรียน
Science Show ส่งเสริมให้นักเรียนแสดงความสามารถด้วยการนำเสนอและสื่อสารความรู้ทางวิทยาศาสตร์ผ่านการแสดง โครงการนี้นักเรียนต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม ครูยอร์ช ปลุก ปั้น และผลักดัน ให้ทีมนักเรียนวัดบางขวากได้รับรางวัลระดับประเทศมาแล้วติดกัน 2 ปีซ้อน
“ผมต้องส่งเด็กเข้าประกวด เป็นสิ่งที่ผมรู้ว่าทำได้ แล้วผมรู้ด้วยว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผมก้าวหน้า เป็นอำนาจต่อรองบางอย่างในระบบแห่งนี้ ถ้าผมคิดจะหัวรั้น ผมต้องหาที่ยืนให้ได้ แล้วผมก็ทำได้สำเร็จ
“เฝ้าสังเกตตัวเองอยู่เหมือนกันว่า ผมพุ่งเข้าหาความสำเร็จแต่ทุกครั้งที่ได้รับความสำเร็จผมไม่มีความสุขเลย ผมอยู่กับเด็กตอนได้รับรางวัล อยู่ข้างนอกก็ยิ้มๆ ไป พอกลับมาถึงห้องพักกลับไม่ได้รู้สึกดีใจอย่างนั้น แต่รู้สึกโหวงเหวง โดดเดี่ยว ถามตัวเองว่าเราต้องการอะไรกันแน่
“มันเป็นความย้อนแย้งในตัวเองที่แง่หนึ่งผมไม่เอาระบบ แต่ผมก็ส่งเด็กเข้าประกวดแข่งขัน ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าปล่อยมันไปไม่ได้ ตอนซ้อมผมจริงจังมาก คิดเลยว่าต้องเอาชัยขนะมาให้ได้ ถ้าไม่ได้ผมจะรู้สึกเหมือนว่าไม่เป็นที่ยอมรับ มีความคิดว่าเราจะยืนอยู่ในโรงเรียนนี้ได้ยังไง แค่โดดเดี่ยวอย่างที่เป็นอยู่นี้ก็วิเวกพอแล้ว แล้วเรายังไม่ทำให้ใครเห็นอีกหรือว่าเรามีดียังไง อย่างปีนี้ก็กำลังมองหาเด็กใหม่ที่จะมาทำ Science Show ”
อย่างไรก็ตาม แม้คำถามและความสับสนในใจจะผ่านเข้ามาให้ต้องทบทวนตัวเอง แต่บทสรุปที่ครูยอร์ชให้กับตัวเองในท้ายที่สุด ในทุกๆ ครั้ง เป็นคำตอบเดียวกันเสมอ
“ผมไม่เคยเปลี่ยนแปลงความฝัน ผมไม่รู้เลยว่าวันนี้ถ้าไม่เป็นครูจะทำอะไรอยู่”