- เมื่อเกมไม่ใช่แค่สื่อบันเทิงผ่อนคลายอารมณ์ แต่เป็นครูคนหนึ่งของ รดิศ ค้าไม้ หรือ ภูมิ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ภูมิ เป็นเด็กเจเนอเรชัน Z ที่โตมากับการเล่นเกม เขาชอบมันจนถึงขั้นคลั่งไคล้ จากแค่ชอบเล่นเกม ปัจจุบันภูมิออกแบบเกมที่ชื่อว่า Kings of Dungeon เกมคอมพิวเตอร์ตะลุยด่านทั่วไปแต่มีทีเด็ดที่การใช้สมาร์ทโฟนเป็นตัวควบคุม (controller)
- ในวันที่โลกเปลี่ยนเร็วและแรง อาชีพใหม่และแปลกเกิดขึ้นอย่างไม่อาจจับตาทัน The Potential ชวนภูมิคุยถึงชีวิตที่เกิดและเติบโตมากับการเล่มเกมจนวันนี้กลายเป็นความฝันและอาชีพของเขา ทั้งหมดนี้มันให้อะไรกับเขาบ้าง
เวลาพูดถึง ‘เด็กติดเกม’ ภาพในหัวเป็นเด็กใส่แว่นหน้ามันผมเหนียว วันๆ คลุกอยู่หน้าจอไม่ออกนอกห้องและไม่กินข้าวกินปลา พ่อแม่หนักใจต้องสรรหาทุกวิธีมาต่อรองให้ลูกเล่นน้อยลง ภาพนี้เป็นจริงในบางบ้านและผู้ปกครองหลายคนก็หนักใจอยู่
พูดอย่างไม่ให้กำลังใจ เกมในปัจจุบันยังแตกแขนงไปหลายหลายรุ่น หลายเรื่องราว หลากวิธีเล่น ทั้งซึมซาบไปอยู่ในสมาร์ทโฟนของคนแทบทุกวัย เกมออนไลน์หลายประเภทกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารของกลุ่มเพื่อนที่รู้จักในชีวิตประจำวันและไม่เคยเห็นหน้าแต่รู้จักกันดีในโลกออนไลน์
เกมกลายเป็นอีกหนึ่งความบันเทิงชีวิตที่ใครๆ ก็เล่นกัน บางช่วงเวลา …หากคุณไม่รู้จักเกมบางตัวที่ฮิตติดลมบนก็อาจถูกมองเป็นคนตกยุคไปเลยก็มี เกมยังกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และเป็นอาชีพของคนจริงๆ ในยุคปัจจุบันไปแล้ว
รดิศ ค้าไม้ หรือ ภูมิ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือหนึ่งในเด็กติดเกม โตมากับเกม ขนาดเคยกล่าวว่าเกมเปรียบเป็นครูคนหนึ่งของเขา วันนี้ภูมิกลายเป็นนักพัฒนาเกมมืออาชีพและมือรางวัลตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ
ในวันที่โลกเปลี่ยนเร็วและแรง อาชีพใหม่และแปลกเกิดขึ้นอย่างไม่อาจจับตาทัน The Potential ชวนภูมิคุยถึงชีวิตที่เกิดและเติบโตมากับการเล่มเกมจนวันนี้กลายเป็นความฝันและอาชีพของเขา ทั้งหมดนี้มันให้อะไรกับเขาบ้าง
เด็กชายภูมิที่โตมากับเกม เกมเป็นทุกอย่างและเป็นครูของเขา
ที่จริงแล้วภูมิเหมือนเด็กเจเนอเรชัน Z ทั่วไป (อันที่จริงก็เริ่มตั้งแต่เจเนอเรชัน Y ตอนกลาง) ที่เติบโตมากับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เกมจอย เกมในสมาร์ทโฟน เพียงแต่เขาอาจจะคลั่งไคล้และให้เวลากับมันมากหน่อย การเล่นเกมของภูมิก็ไม่ได้กระทบการเรียน นั่นจึงเป็นเหตุให้เขาไม่กระทบกระทั่งกับคนในครอบครัว
อีกด้านของเหรียญเดียวกัน เกมกลายเป็นความชอบ ความฝัน และมีผลต่อระบบวิธีคิดในสมองของเขาโดยไม่รู้ตัว
“ผมเล่นตั้งแต่ตอนที่ผมอายุประมาณ 7-8 ขวบ คิดดูแล้วเกมออนไลน์สอนการใช้ชีวิตให้ผมนะ เกมนึงที่ผมเล่นตอนเด็กๆ มันเป็นเกมเกี่ยวกับระบบค้าขาย เราต้องหาของมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ทำให้เราเข้าใจระบบเศรษฐกิจอย่างง่ายว่าถ้าของมีปริมาณน้อยราคาจะแพง ส่วนของที่หาได้ง่ายและขายได้ไม่เยอะก็จะราคาถูก มันยังมีระบบปาร์ตี้ให้เรากับเพื่อนไปสู้กับมอนสเตอร์ พูดไปแล้วมันสอนการเข้าสังคมนะ รู้จักบทบาทหน้าที่ของตัวเอง สอนเรื่องสัมพันธ์ของกลุ่มเพื่อให้เราจัดการกับมอนสเตอร์ได้ หมายถึงว่า เกมมันให้ประสบการณ์หลายๆ อย่างที่ใกล้เคียงกับโลกจริง แต่ในโลกจริงอาจไม่เคยได้ทำหรือทำไม่ได้
“ด้วยความที่โตมากับเกม เล่นมาเยอะมากและเล่นหลายแพลตฟอร์ม ผมก็อยากจะสร้างมันขึ้นมาเองบ้าง เวลาเห็นอะไรเราก็จะนึกโดยอัตโนมัติว่าถ้าอยู่ในรูปแบบเกม เราจะทำให้มันสนุกได้ยังไง จะถ่ายทอดให้คนอื่นเล่นได้ยังไง จะสร้างมันขึ้นมาได้ยังไงนะ” ภูมิกล่าว
จุดเปลี่ยนที่ทำให้จากนักเล่นเกมกลายเป็นนักสร้าง คือวันที่ภูมิอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เพราะด้วยความที่เรียนหลักสูตรวิทย์-คณิต ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่านักเรียนที่ชอบสายเทคโนโลยีมักอยากฝึกมือด้วยการทำโครงงานเข้าประกวด โดยเวทีการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (National Software Contest) หรือ NSC เป็นหนึ่งในนั้น
ภูมิได้รับการชักชวนจากครูที่โรงเรียนประกอบกับเพื่อนคนอื่นๆ ในรุ่นเดียวกันก็ตบเท้ากันคิดและเขียนโครงการเข้าประกวดด้วย
“ผมส่งเกมของผมเข้าประกวดในเวที NSC ตอนอยู่ม.4 แต่ด้วยความที่ไม่ได้อยู่ห้อง gifted computer (โครงการห้องเรียนพิเศษคอมพิวเตอร์) ไม่มีเรียนมาทางคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมโดยตรง เลยลำบากกว่าทีมที่เรียนด้านนี้มาโดยตรง และเพื่อนในห้องผมก็ไม่ได้สนใจโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขนาดนั้น เลยมีแค่เราคนเดียวในห้องที่สนใจและทำเกมเข้าประกวด
“อาจารย์บอกว่าไหนๆ เราก็ต้องทำโครงงานส่งในห้องเรียนอยู่แล้ว ทำไมไม่ลองส่งงานอันนี้เข้าประกวดดู ตอนนั้นผมไม่มั่นใจในผลงานตัวเองนะ แต่อาจารย์บอกว่ามันโอเคนะ ก็เลย อะ… ลองส่งดู แต่ผลลัพธ์ออกมาเลยไม่ค่อยดีเท่าไรฮะ คือผ่านเข้ารอบแต่ไม่ได้เข้ารอบระดับประเทศ
“แต่พอได้ลองทำแล้วชอบ หลังจากนั้นเลยทำงานส่งประกวดทุกปี ค้นคว้าเอง ฝึกเองไปเรื่อยๆ จนพอเข้ามหา’ ลัย ผลงานของเพื่อนสนิทคนหนึ่งเค้าได้รับคัดเลือกเข้าโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่เพื่อไปพัฒนางานต่อ แต่เนื่องจากเขาเคยเข้าโครงการต่อกล้าฯ มาแล้ว อยากให้เพื่อนคนอื่นได้เข้าไปเวิร์กช็อปในค่ายต่อกล้าฯ บ้าง เขาเลยสละงานชิ้นนี้ให้ผมมาทำต่อ”
ผลงานที่ว่าก็คือเกม Kings of Dungeon เกมคอมพิวเตอร์ตะลุยด่านทั่วไปแต่มีทีเด็ดที่การใช้สมาร์ทโฟนเป็นตัวควบคุม (controller) ที่กรรมการในเวที NSC เห็นว่าสร้างสรรค์และน่าสนใจจนได้รับรางวัลเข้ารอบลึก แม้ภูมิไม่ได้เป็นคนคิดค้นเกมนี้ขึ้น แต่การถูกเพื่อนทาบทามให้เป็นผู้พัฒนาต่อ ก็ถือเป็นความท้าทายและก้าวสำคัญการเป็นนักพัฒนาเกม
จากเด็กติดเกมสู่นักพัฒนาเกม ที่ต้องใช้ทักษะการบริหารบุคคลเข้ามาสร้างอาณาจักรตัวเองด้วย
การเล่นเกมคือเรื่องนึง แต่การเป็นนักพัฒนาเกมเป็นอีกเรื่อง การเข้าค่ายต่อกล้าฯ ครั้งนี้ทำให้ภูมิต้องทำให้ Kings of Dungeon เป็นรูปเป็นร่าง เล่นได้จริง รวมทั้งต้องทำงานกับผู้คนมากมายเพื่อก่องานให้เกิดขึ้น
โครงการต่อกล้าฯ มีกำหนดว่าทุกทีมต้องเข้าไปพัฒนาทักษะกับโคชจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เป็นเวลา 8 เดือน เพื่อเรียนรู้ทักษะการออกแบบพื้นฐานอย่าง UI (User Interfere) หรือ หน้าตาความยากงานของการใช้งานแอพพลิเคชัน UX (User eXperience) ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน ทักษะการตลาด ทักษะการสื่อสารเพื่อขายงาน เป็นต้น
โดยในช่วงแรกนั้น ภูมิหาเพื่อนร่วมทีมมาร่วมทีม เช่น มือเขียนโค้ด คนทำกราฟฟิก ทีมประสานงาน ซึ่งระหว่างทางการเข้าไปพัฒนาเกมในค่ายต่อกล้าฯ ร่วม 8 เดือน สมาชิกในทีมมีเข้าและออกหลายครั้งระหว่างทาง แต่คนที่อยู่พัฒนาเป็นหลักคู่กันคือ นักพัฒนาโปรแกรม (developer) มือโค้ดดิ้งอย่าง ทัช-ศรันย์ เสือสุวรรณ
“ตอนแรกผมไม่รู้เลยว่าโครงการต่อกล้าฯ คืออะไร แต่ภูมิมาชวนให้พัฒนาเกมด้วยกันก็รู้สึกสนใจมาก เพราะการเรียนในห้องไม่ได้มีโปรเจกต์ให้ได้ทดลองมากนักโดยเฉพาะการทำโปรแกรม ส่วนตัวผมเองตอนนั้นก็ยังไม่รู้ตัวมากว่าเราอยากจะเป็นหรือทำอะไรจริงๆ การเข้ามาเวิร์กช็อปและพัฒนาเกมกับภูมิ น่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดี อย่างน้อยให้ได้ค้นหาตัวเองและทดลองอะไรบางอย่าง” ทัชกล่าว
นอกจากทัชที่ถือเป็นมือขวาในการเขียนโค้ด ยังมี ไอซ์-มือโค้ดดิ้งอีกคน, ทิว-กราฟฟิกดีไซน์เนอร์, และฟลุ๊ก ประสานงานและหน่วยสนับสนุนการทำงานของทีม ทั้งสามคนเล่าให้ฟังคล้ายกันว่าการเข้ามาพัฒนาเกม แม้ไม่ได้เป็นโปรเจคต์ยิ่งใหญ่ แต่มันเป็นพื้นที่ทดลองให้ทั้งสามได้มาทำงานที่มีปัญหาให้แก้จริง มีโคชที่คอยให้คำแนะนำ สำคัญที่สุด คือการทำงานเป็นทีมที่ยากกว่างานกลุ่มอื่นๆ
“หน้างานของผมจะสร้างตัวละคร เช่น Monster แต่ละตัวทำอะไรได้บ้าง จะใช้ท่าทางการต่อสู้ยังไง ทัชจะเป็นคนดูเรื่องลูกเล่นว่าจะมีอะไร ถ้าทำให้ส่วนประกอบนี้มันจาง ซ่อน หรือซ้อนกันต้องทำยังไง ไอซ์จะเป็นคนดูพวกระบบการเชื่อมต่อของสมาร์ทโฟนว่าจะควบคุมยังไง ส่วนใหญ่แล้วผมจะกระจายงานให้ทุกคนทำพร้อมกันไปได้เลยจะได้ไม่ต้องมานั่งคอยกัน ทุกคนก็ทำกันไปไม่มีปัญหา
“ความยากคือเราจะมีมาตรฐานในหัวว่าเราอยากได้งานคุณภาพไหน แต่บางครั้งไม่ได้ตามนั้น หรือได้แต่ช้ามาก ก็ต้องคอยดูมาตรฐานและพยายามให้ทันเวลา เช่น อย่างทิวก็จะเป็นคนที่ตามตัวยากมาก (หัวเราะ) ต้องคอยตามว่าเขาทำถึงไหนแล้ว แต่เรารู้ว่าแม้งานมาช้าแต่มีประสิทธิภาพ คือได้งานมาแล้วทำต่อได้เลย อันนี้ก็เป็นข้อดีของเขา” ภูมิเล่าให้ฟัง
“มันไม่ใช่แค่งานกลุ่ม แต่มันเหมือนงานจริงๆ” ทัชเสริมและว่า พอเข้าโครงการต่อกล้าฯ ทำให้เขาและเพื่อนถูกชวนไปเขียนโค้ดให้กับโปรเจกต์นอกห้องเรียนอื่นๆ ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่ดี แต่ถ้าถามว่า การทำ Kings of Dungeon ให้อะไรทัชที่สุด ทัชตอบว่า…
“ได้รู้ว่าไม่ชอบทำเกมฮะ (หัวเราะ) แต่รู้ว่าผมชอบเขียนโค้ดนะ แต่อยากเขียนโค้ดให้กับเว็บไซต์ที่ต้องใช้เทคนิคเยอะหน่อย เช่น เขียนเว็บไซต์ขายของที่ต้องกรอกรายละเอียดแล้วประมวลผล อะไรเทือกนั้นมากกว่า” ทัชกล่าว
ขณะที่ภูมิ ในฐานะหัวหน้าทีมและมีแพชชันกับโครงการนี้ที่สุดบอกว่า สิ่งที่ได้คือได้รู้ว่าเขาชอบเกมจริงๆ และฝันอยากจะเป็นนักพัฒนาเกมหลายๆ อย่าง
“สิ่งที่อยากทำในฐานะนักพัฒนาเกมคือ ผู้เล่นต้องได้รับรู้ความในใจของเรา เช่น เราต้องการให้ผู้เล่นรู้สึกแบบเดียวกับที่เรารู้สึกเวลาเล่นเกมสนุกๆ สักตัว อยากให้เค้าอิน ให้เค้าสนุก รู้สึกอยากเล่นต่อ”
นี่คือความในใจของอดีตนักติดเกม ที่วันนี้กลายเป็นคนที่มีแพชชันในการพัฒนาต่อยอดสิ่งที่ตัวเองรัก และกลายเป็นอาชีพได้จริงๆ