- สำหรับใครหลายคนที่พยายามหลีกเลี่ยงการทะเลาะเพราะไม่อยากให้ความสัมพันธ์ร้าวราน จากงานวิจัยของจอห์น เอ็ม ก็อทแมน (John M. Gottman) พบว่า การทะเลาะหรือโมโหใส่กันไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์แตกหัก เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีความเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่สิ่งที่ทำให้เลิกกันคือ การดูหมิ่น ปกป้องตัวเอง และเมินเฉยอีกฝ่าย
- การทะเลาะคือ โอกาสในการทำความเข้าใจความรู้สึก ความต้องการ ความกังวลและตัวตนของอีกฝ่าย ยิ่งทะเลาะ ยิ่งพูดคุยกันมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้รู้จักและเข้าใจกันมากขึ้นเท่านั้น และระหว่างนี้เองเมื่อต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่าความรู้สึกของตัวเองได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างเข้าใจก็จะทำให้สารแห่งความรัก (Oxytocin) หลั่งออกมาส่งผลให้ทั้งคู่รู้สึกสนิทใจและเชื่อมโยงกันมากขึ้น
- การทะเลาะที่ดีหรือ Healthy Fight คือ การทะเลาะบนพื้นฐานที่ต่างฝ่ายต่างมีจุดหมายเดียวกันคือ ทำความเข้าใจกันและกัน โดยประนีประนอมและใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่สามารถพูดสิ่งที่ขุ่นเคืองออกมาได้ แต่ให้พูดด้วยใจที่ไม่ใช้อารมณ์รุนแรงจนเกินไป โดยเริ่มได้การที่รับฟังกันและกันอย่างตั้งใจ
บางคนอาจมีทัศนคติต่อการทะเลาะว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิด เพราะไม่อยากให้ความสัมพันธ์ร้าวราน จึงพยายามหลีกเลี่ยงเพื่อรักษาความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น แต่โรเบิร์ต วาลดิงเจอร์ (Robert Waldinger) หัวหน้างานวิจัย Harvard Study of Adult Development ได้ค้นพบว่า ความสัมพันธ์ที่ดีไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ไม่ทะเลาะกันแต่อย่างใด
คู่รักวัย 80 บางคู่ อาจจะทะเลาะไม่หยุดไม่หย่อน แต่ตราบเท่าที่พวกเขายังรู้สึกว่าสามารถพึ่งพากันได้เมื่อทุกอย่างแย่ การทะเลาะก็ไม่ใช่เรื่องที่ส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์และบุคคล
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าการทะเลาะเกิดจากความต้องการพื้นฐานของคนแต่ละรูปแบบไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งรูปแบบความสัมพันธ์ (Attachement Style) ของมนุษย์ สามารถแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ
อย่างแรก มนุษย์มั่นคง (Secure) คือ คนที่รู้สึกว่ามันง่ายที่จะใกล้ชิดหรือสนิทกับใครสักคน และไม่กังวลที่จะขอความช่วยเหลือ พึ่งพาผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้กลัวผู้อื่นจะมาพึ่งพา และไม่กังวลกับการถูกปฎิเสธหรือไม่ยอมรับ
ต่อมา มนุษย์วิตกกังวล (Anxious) คือ คนที่รู้สึกอยากสนิทกับคนอื่นอย่างมาก แต่หลายครั้งก็กลัวเหลือเกินว่าเขาจะไม่รักหรือไม่อยากสนิทกับเรา และก็กลัวว่าเขาจะไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ทำให้มักกังวลอยู่เสมอว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับตัวเอง
ท้ายสุด มนุษย์หลีกหนี (Avoidant) คือ คนที่กลัวความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด มักมีขอบเขตในความสัมพันธ์กับผู้อื่นว่า ถ้าเข้ามาใกล้เรามากกว่านี้ เราจะหนีแล้วนะ คนแบบนี้มักถูกมองว่าเป็นคนเฉยเมย เย็นชา ไม่มีหัวใจ แต่ความจริงเขาเองก็ต้องการความรักเช่นเดียวกัน เพียงแต่กลัวการปฎิเสธจนต้องพยายามหลีกหนีการแสดงความรู้สึกหรือตัวตนที่แท้จริง
ลองนึกภาพถ้ามนุษย์หลีกหนี (Avoidant) ได้รับการดูแลเอาใจใส่มากเกินไปจนล้ำเส้น เขาก็อาจถอยห่างออกไปจนความสัมพันธ์บั่นทอนได้ แต่ถ้ามนุษย์วิตกกังวลได้รับการดูแลเอาใจใส่เพียงครั้งคราว เขาก็อาจรู้สึกไม่มั่นคงจนอาจต้องพยายามพิสูจน์ว่าอีกฝ่ายรักเขาไหมด้วยการน้อยใจ หรือชวนทะเลาะเพื่อให้เขารู้สึกว่าอีกฝ่ายยังคงสนใจและห่วงใย แต่สำหรับมนุษย์มั่นคงอาจไม่ได้มีปัญหานัก หากไม่ใช่ปัญหาที่รุนแรง เช่น การหักหลัง การโกหกที่รุนแรง เป็นต้น
การตีความสถานการณ์จากประสบการณ์ในอดีตก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการทะเลาะ เพราะในตัวเราทุกคนมีสิ่งที่เรียกว่า “เสียงภายใน” (Inner Voice) ที่คอยตีความและให้ความหมายสถานการณ์ และมักมีแนวโน้มจะตีความเหตุการณ์โดยอิงจากประสบการณ์ในอดีตมากกว่ามองเหตุการณ์ในปัจจุบัน
ยกตัวอย่าง เพื่อนอาจถามเราว่า “ทำไมถึงเปลี่ยนโทรศัพท์ใหม่ เห็นพึ่งใช้เครื่องก่อนหน้านี้ได้ไม่นาน” ถ้าก่อนหน้านี้เราเคยถูกแม่ดุ เพราะเปลี่ยนมือถือใหม่ ก็อาจทำให้เราตีความว่าเพื่อนกำลังดูถูกที่เราไม่สามารถดูแลมือถือได้ดี ซึ่งความเป็นจริงอาจเป็นแค่การถามด้วยความสงสัยเฉยๆ หากแต่เราตีความด้วยอารมณ์จากความขุ่นเคืองในอดีต เพราะเหตุการณ์นั้นเชื่อมโยงกับประสบการณ์ในอดีตที่เคยเกิดและฝังใจมา
สำหรับใครหลายคนที่พยายามหลีกเลี่ยงการทะเลาะเพราะไม่อยากให้ความสัมพันธ์ร้าวราน จากงานวิจัยของจอห์น เอ็ม ก็อทแมน (John M. Gottman) พบว่า การทะเลาะหรือโมโหใส่กันไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์แตกหัก เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีความเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่สิ่งที่ทำให้เลิกกันคือ การดูหมิ่น ปกป้องตัวเอง และเมินเฉยอีกฝ่าย
พูดง่ายๆ เราสามารถทะเลาะกันได้และมันก็เกิดขึ้นอยู่แล้วเพราะทุกคนต่างเกิดมาในสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม การเลี้ยงดูที่ต่างกัน คงเป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นพ้องต้องกันหมดซะทุกเรื่อง สิ่งสำคัญ ไม่ใช่การทะเลาะหรือไม่ทะเลาะ แต่คือวิธีการทะเลาะต่างหาก
ลีนเน่ ฮาล์ท (Leanne Hart) นักจิตบำบัดครอบครัวอธิบายถึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่เธอพบว่า คู่ที่ไม่ทะเลาะกันเลยมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดความห่างเหินในความสัมพันธ์ ในทางตรงกันข้าม คู่ที่ฝ่ายหนึ่งทะเลาะอีกฝ่ายหนึ่งเงียบก็เกิดผลลัพธ์เดียวกัน
จะเห็นได้ว่าไม่มีปัญหาใดคลี่คลาย หากทั้งสองฝ่ายไม่สื่อสารกัน ซึ่งคู่ที่ต่างฝ่ายต่างทะเลาะกันมักมีแนวโน้มที่จะสนิทและเข้าใจกันมากกว่าสองคู่ที่กล่าวไปก่อนหน้า
การทะเลาะคือ โอกาสในการทำความเข้าใจความรู้สึก ความต้องการ ความกังวลและตัวตนของอีกฝ่าย ยิ่งทะเลาะ ยิ่งพูดคุยกันมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้รู้จักและเข้าใจกันมากขึ้นเท่านั้น และระหว่างนี้เองเมื่อต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่าความรู้สึกของตัวเองได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างเข้าใจก็จะทำให้สารแห่งความรัก (Oxytocin) หลั่งออกมาส่งผลให้ทั้งคู่รู้สึกสนิทใจและเชื่อมโยงกันมากขึ้น
ในทางกลับกัน การไม่ทะเลาะก็คือ การทะเลาะในอีกรูปแบบที่เป็นกับตัวเองแทน เพราะรู้สึกขุ่นเคืองกับปัญหาที่ถูกกดทับอยู่ภายใน
ทุกความสัมพันธ์ ยิ่งหลีกหนีการทะเลาะก็จะยิ่งทำให้รู้สึกห่างเหินกันและกันมากเท่านั้น แม้ภายนอกอาจดูเหมือนไม่มีความขัดแย้ง แต่ภายในใจกลับเต็มไปด้วยความรู้สึกครุกรุ่นที่รอวันระเบิด
การพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ยิ่งทำให้ทั้งคู่เชื่อมโยงกันได้ง่ายขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างสามารถแสดงตัวตนออกมาได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องคอยปกปิดความรู้สึก
สำหรับใครหลายคนที่ชอบอยู่กับคนที่สนิทก็อาจเป็นเพราะเหตุผลง่ายๆ อย่างการที่ไม่ต้องคอยปกปิดหรือกดความรู้สึกตัวเอง การเปิดเผยตัวตนจึงสำคัญมาก หากต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งในรูปแบบคู่รัก พ่อแม่ พี่น้อง หรือเพื่อน
ซึ่งก็สามารถเริ่มได้ง่าย ๆ ด้วยการพูดคุยถึงปัญหาโดยไม่หลีกหนี
แล้วควรทะเลาะอย่างไรให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกว่าเดิม ?
การทะเลาะที่ดีหรือ Healthy Fight คือ การทะเลาะบนพื้นฐานที่ต่างฝ่ายต่างมีจุดหมายเดียวกันคือ ทำความเข้าใจกันและกัน โดยประนีประนอมและใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่สามารถพูดสิ่งที่ขุ่นเคืองออกมาได้ แต่ให้พูดด้วยใจที่ไม่ใช้อารมณ์รุนแรงจนเกินไป โดยเริ่มได้การที่รับฟังกันและกันอย่างตั้งใจ ถ้าอีกฝ่ายพูดเราก็ฟังก่อน แม้เขาอาจพูดในสิ่งที่ผิดก็ให้ฟังให้จบก่อนแล้วค่อยอธิบายทีหลัง เพราะนี่คือเวลาที่เขาจะได้ปลดปล่อยอารมณ์ ความรู้สึก และตัวตน
ลองนึกภาพง่าย ๆ ถ้าวันนี้คุณกำลังระบายความรู้สึกอยู่ แล้วอีกฝ่ายมาพูดขัดเพื่ออธิบาย แม้สิ่งที่เขาพูดจะถูก แต่ก็คงยากที่คุณจะอยากรับฟัง เพราะคุณเองก็ยังไม่ได้รู้สึกว่าเขาเข้าใจและรับฟังตัวเองอย่างตั้งใจ
สิ่งสำคัญ เวลาเกิดปัญหาให้ระวังการพูดโจมตีที่ตัวบุคคล (Personal Attack) ซึ่งประกอบด้วย สิ่งที่อีกฝ่ายให้ความสำคัญ และสิ่งที่อีกฝ่ายเป็น
การโจมตีสิ่งที่อีกฝ่ายให้ความสำคัญ เช่น “เพราะพ่อแม่สั่งสอนไม่ดี แกเลยเป็นแบบนี้ใช่ไหม” “เพราะมัวแต่นั่งวาดรูป ชาตินี้จะมีเงินกับเขาไหม”
การโจมตีสิ่งที่อีกฝ่ายเป็น เช่น “เพราะเกิดมาเป็นคนจนไง ชีวิตนี้เลยไม่ไปไหนกับเขาสักที” “หน้าเป็นสิวเยอะแบบนี้ ใครเขาจะอยากอยู่ด้วย”
แต่เวลาเกิดปัญหา ให้มุ่งเน้นไปที่สถานการณ์หรือพฤติกรรมมากกว่า ยกตัวอย่าง หากวันนี้คนในครอบครัวพูดไม่ดีใส่ แทนที่จะบอกว่า “เพราะแม่เป็นคนใจร้ายเลยพูดไม่ดี” ลองพูดใหม่ว่า “หนูเข้าใจเลยว่าแม่เป็นห่วงแต่คำพูดเมื่อกี้ทำให้หนูไม่สบายใจ เป็นไปได้ไหมถ้าแม่จะบอกหนูด้วยน้ำเสียงที่ใจดีขึ้น”
ผลของการพูดถึงพฤติกรรมคือ เขาจะรู้ถึงสาเหตุที่ชัดเจนว่าการกระทำรูปแบบไหนที่ส่งผลต่อคนอื่น เพื่อให้มีโอกาสได้ปรับปรุงตัวในการกระทำครั้งต่อไป ซึ่งดีกว่าการพูดถึงตัวตนเพราะอาจกระทบถึงความเชื่อมั่นและคุณค่าในตัวเอง
บางคนชอบใช้ประโยคประเภท You Message ที่เน้นการโยนความผิดและความรับผิดชอบให้อีกฝ่ายอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้เขารู้สึกว่าถูกโจมตี ไม่ได้รับความเข้าใจจนอาจทำให้ไม่อยากคุยต่อ อย่างประโยค “ทำไมเธอไม่ทำแบบนั้นเลย” “ทำไมแม่ไม่เป็นเหมือนแม่คนอื่นบ้าง”
ดังนั้นอาจลองเปลี่ยนไปใช้ประโยค I Message ที่เน้นพูดถึงความรู้สึกตัวเองเพื่อแสดงให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเรากำลังอยากพยายามทำความเข้าใจมากกว่าโจมตี จะทำให้ลดการสร้างความตึงเครียดได้ เช่น “ผมรู้สึกไม่สบายใจเลยที่แม่ขึ้นเสียง แม่พอเล่าให้ฟังได้ไหมว่าตอนนั้นผมทำอะไรผิดหรือป่าว”
เข้าใจดีว่า บางครั้งการเผชิญหน้ากับปัญหาหรือพูดในสิ่งที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากนั้น การพูดความรู้สึกตัวเองออกมาตรง ๆ ก็ดูเป็นเรื่องที่ยากสำหรับหลายคนเลยอยากจะให้กำลังใจว่าค่อยเป็นค่อยไปกับตัวเอง ถ้าวันนี้ไม่ได้พรุ่งนี้ก็เอาใหม่ อย่าพึ่งเร่งรีบกับตัวเองนัก ทำไปเรื่อย ๆ จะพบเองว่าการพูดอย่างตรงไปตรงมาแต่ก็นึกถึงความรู้สึกอีกฝ่ายด้วยมันรู้สึกปลดปล่อยแค่ไหน และการทะเลาะแบบนี้ (Healthy Fight) นี่แหละที่จะเป็นหนึ่งในกุญแจสู่ความสัมพันธ์ที่ดี
คุณว่าไหม ?