มีคำถามเรื่องจัดการลูกชอบปาของไม่ได้อยู่เรื่อยๆ ยิ่งห้ามยิ่งปา สอนก็แล้วสอนเสร็จปาเลย จ้องหน้าก็แล้วดุก็แล้วลูกจ้องหน้ากลับแล้วปา ตีก็แล้ว ลูกปาเสร็จยื่นมือให้ตี
ปาของในบ้านทำพ่อแม่หลายคู่สติแตก แต่ที่สติหลุดกันบ่อยมาก คือ ปาอาหารบนโต๊ะ
เรามาทบทวนกันตั้งแต่แรก
1. เด็กปาของเพื่อทดสอบพลังกล้ามเนื้อ เขามิได้ปา เขาอาจจะต้องการวาง แต่เขาเพิ่งเกิดมาไม่นาน จะให้ใช้กล้ามเนื้อชิ้นไหนวาง บริเวณต้นแขนของเขามีกล้ามเนื้อเดลตอยด์ ไบเซ็ป ไตรเซ็ป แบรเคียลิส และโคแรคโคแบรเคียลิส ทั้งนี้ยังไม่นับกล้ามเนื้อที่สะบักและแผงหน้าอก รวมทั้งกล้ามเนื้อปลายแขนอีกกลุ่มหนึ่ง เขาจะบังคับกล้ามเนื้อสิบชิ้นนี้อย่างไรเพื่อวางของให้ถูกตำแหน่งที่ใจต้องการ
เขาจะฝึกฝนจนช่ำชองจึงจะเลิกปา
2. เด็กมิได้จะวาง เขาต้องการปาจริงๆ นั่นแหละ เกิดมาไม่นานเพิ่งค้นพบว่าตนเองมีพลังในการทำให้วัตถุเคลื่อนย้ายตำแหน่งได้โดยไม่ต้องเป็นแม่นาคพระโขนง เขาก็จะปา ดูว่าปาได้ไกลแค่ไหน แรงแค่ไหน เสียงวัตถุกระทบพื้นดังอย่างไร แก้วแตกหรือไม่ เสียงแก้วแตกไพเราะเสนาะหูมากเพียงไร เสียงไข่เจียวตกพื้นดังแผละ มันฟังแล้วเละเทะเพียงใด ดูข้าวต้มที่พุ่งกระจายออกจากฝ่ามือเป็นมุม 30-135 องศาด้วยความแรงเท่าไร
ใช่แล้ว เขาคือนักทดลอง
3. เด็กเป็นนักทดลอง ปาไปของตก ปาไปของตก ปาไปของตก ทุกคนเป็นเซอร์ไอแซ็ค นิวตัน โดยกำเนิด เด็กได้เรียนรู้แรงโน้มถ่วง การเปลี่ยนตำแหน่ง ความเร็วในการตกของวัตถุ วิถีโค้ง ฯลฯ คือ Newton’s Physics พวกเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์โดยกำเนิดจริงๆ
4. มากกว่านี้คือของตกแม่เก็บ ของตกแม่เก็บ ของตกแม่เก็บ ทุกคนเป็นฌอง เปียเจต์ โดยกำเนิด มีหนึ่งต้องมีสอง มีหนึ่งต้องมีสอง มีหนึ่งต้องมีสอง คือพัฒนาการที่เรียกว่า juxtaposition เมื่อไรที่เขาค้นพบว่าของตกแม่เก็บ ของตกแม่เก็บ ของตกแม่เก็บ เป็นเรื่องน่าเบื่อมากเขาก็จะได้สรุปผลการทดลองแล้วหยุด แต่ถ้าเขาพบว่าของตกแม่ด่า ของตกแม่บ่น ของตกแม่หัวเสีย เขาพบว่าของตกสามารถสร้างเรื่องราวหลากหลายรอบตัวไม่ซ้ำกัน แต่ละฉากช่างน่าสนใจว่าแม่จะแปลงร่างได้อีกกี่ร่างจึงจะหมด เขาก็จะปาไปเรื่อยๆ
เวลาก้มหยิบของให้ทำหน้าตาน่าเบื่อเข้าไว้
5. มากไปกว่านี้อีกคือปาไปแม่ตี ปาไปแม่ตี ปาไปแม่ตี ที่แท้เขาสามารถควบคุมบังคับแม่ได้ด้วย นี่คือ autonomy อำนาจที่มาโดยอัตโนมัติ ทุกคนเป็นอิริค เฮช อิริคสัน โดยกำเนิด การตีครั้งที่ 1 แล้วลูกหยุดปาเป็นเรื่องหายาก โดยทั่วไปแม่ตีเขาปา แม่ตีเขาปา แม่ตีเขาปา เกิดการวางเงื่อนไขทางลบ (negative conditioning) เด็กกลับจะทำซ้ำๆ เพื่อให้ถูกตี
จะเห็นว่าเป็นอัจฉริยะมาเกิดทั้งนั้น หรืออยากให้ลูกนั่งนิ่งๆ
6. เด็กกำลังพัฒนาวงจรประสาทที่ใช้ในการประสานมือและสายตา เรียกว่า hand-eye coordination ซึ่งมิได้เพียงใช้กล้ามเนื้อแขน สะบัก หรือแผงอก แต่เขากำลังพัฒนาสมองน้อยคือ cerebellum เพื่อรับรู้ว่าตนเองกำลังนั่งในท่าใด หลังอยู่ในท่าใด คือ proprioception ความรับรู้ท่าร่างของตนเอง ตาเล็งเป้าหมาย แขนรวบรวมพลัง พร้อมแล้วปาไปให้ถูกตำแหน่ง นี่คือปฐมบทของการทอยกอง อันเป็นรากฐานของการละเล่นที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจคือ economic literacy ฮา ฮา
ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนเอาเงินที่แม่ให้ไปโรงเรียนทุกวันไปซื้อถั่ว ในซองถั่วมีตุ๊กตุ่น (แปลว่าตุ๊กตาตัวน้อย) แถมมาซองละ 1 ตัว บ้างเป็นรูปโกลด้า บ้างเป็นรูปโรดั๊ก (ตัวละครในหุ่นอภินิหารของเท็ตซึกะ โอซามุ ซึ่งสร้างเป็นหนังทีวีเมื่อห้าสิบปีก่อน) เด็กรุ่นเราสะสมตุ๊กตุ่นไปเล่นทอยกอง ผู้เขียนเริ่มด้วยตุ๊กตุ่น 5 ตัวเพราะแม่จับได้ว่าเอาเงินไปซื้อขนมจึงสั่งห้าม จากตุ๊กตุ่นห้าตัวผมเล่นกลับบ้านได้ 2 ถังใหญ่ๆ แม่เอาไปบรรจุถุงละ 5-10 ตัววางขายหน้าบ้าน (แต่ไม่เห็นจะแบ่งเงินเราอยู่ดี)
7. เมื่อเด็กทำได้ เด็กก็จะทำ นอกจากเขาทดสอบพลังของตนเองแล้ว เขากำลังทดสอบกติกาของบ้านหลังนี้ พวกเรามีหน้าที่วางกติกา ของชิ้นนี้ปาไม่ได้ ชิ้นนี้ปาได้ ที่ตรงนี้ปาไม่ได้ ที่ตรงนั้นปาได้ ในบ้านปาไม่ได้ นอกบ้านปาได้ เวลานี้ปาไม่ได้ เวลานั้นปาได้ เป็นต้น จะเห็นว่าการห้ามนั้นทำง่ายแต่ได้ผลยาก การวางกติกาทำยากแต่ได้ผลระยะยาว ไม่เพียงทำให้เด็กรู้ว่าการปามีกติกา
ที่แท้แล้วทุกๆ เรื่องมีกติกา เขาสามารถทำอะไรได้บ้าง ที่ไหน และเมื่อไร
8. อย่างไรก็ตาม การห้ามโดยไม่ให้ทางออกเลยก็เหมือนการสุมไฟให้ไอน้ำรอระเบิด พ่อแม่ที่ชาญฉลาดจึงควรใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์นั่นคือจัดลานปาของแข่งกัน คุณพ่ออาจจะเริ่มสะสมกระป๋องเบียร์ (เรียนบรรณาธิการ ไม่อนุญาตให้เซ็นเซอร์ กรุณาอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง) แล้วสะสมก้อนหินหากพ่อออกแนวบู๊ หรือสะสมลูกเทนนิสใช้แล้วหากพ่อออกแนวนักกีฬา หรือตุ๊กตาผ้าขนาดเหมาะมือหากแม่เป็นผู้เล่นด้วย จากนั้นท้าดวล ตั้งกระป๋องเบียร์ให้เรียบร้อย เอาสูงเข้าว่า พื้นปูนจะดีกว่าพื้นดินเพราะเสียงกระป๋องเปล่ากระทบพื้นจะมันมาก ลูกหัวเราะเอิ๊กอ๊าก จากนั้นนัดเวลาลูก เย็นนี้เรามาเจอกัน
ด้วยวิธีนี้เด็กได้ระบาย ได้ฝึกพลัง และได้ควบคุมพลัง
9. การเล่นปาของที่หนักหน่วงเป็นวิธีระบายความเครียด ความคับข้องใจ ความก้าวร้าว พลังส่วนเกิน สถานที่ที่เหมาะสมคือชายหาดสักแห่งหรือลำธารเงียบสงัด กำเปลือกหอยเอาไว้ให้มั่น หินชายหาดก้อนเหมาะมือ จากนั้นปาออกไปให้สุดแรงเท่าที่มีพร้อมทั้งสาปแช่งโชคชะตา (อย่าคิดว่าเด็กจะทำไม่เป็น) เปลือกหอยหรือหินชายหาดเป็นวัสดุธรรมชาติ เป็นสัญลักษณ์ของของเหลือใช้ ของส่วนเกิน ของที่ไม่มีใครเอา ปาของเสียในใจออกไปให้ไกลที่สุด มากที่สุด
แต่ไม่ควรปาปูเสฉวนนะครับ
ในกรณีฉุกเฉิน หากเด็กไม่ยอมหยุดปาจริงๆ เราควรอุ้มเขาออกจากพื้นที่ไปนั่งด้วยกันอย่างสงบ สอนสั้นๆ ว่าเราไม่ให้ปาอะไร ที่ไหน เมื่อไร แล้วหยุดเท่านั้น วันต่อไปเขาทำอีก เราทำอีก เท่านี้เองครับ