Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: April 2025

จากครูปกครองสุดเฮี้ยบที่ผลักเด็กจากระบบการศึกษา สู่ครูนางฟ้าที่สื่อสารด้วยหัวใจ: ครูโจ-วิฑูลย์ แซมสีม่วง
Social Issues
8 April 2025

จากครูปกครองสุดเฮี้ยบที่ผลักเด็กจากระบบการศึกษา สู่ครูนางฟ้าที่สื่อสารด้วยหัวใจ: ครูโจ-วิฑูลย์ แซมสีม่วง

เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • ด้วยความเชื่อว่า ‘ไม้แข็ง’ จะช่วยป้องปรามเด็กไม่ให้เดินทางผิด ‘ครูโจ’ วิฑูลย์ แซมสีม่วง โรงเรียนเทศบาล 3 (ชาญวิทยา) จึงเคยลงโทษเด็กถึงขั้นให้เด็กออกจากโรงเรียนมาแล้ว แต่เพราะความรู้สึกผิด ทำให้ครูโจเปลี่ยนมายเซ็ตของตัวเองในการดูแลเด็ก
  • เรื่องราวของครูโจผู้ใช้การสื่อสารด้วยหัวใจ เข้าใจ และอยู่เคียงข้างนักเรียน ไม่เพียงสร้างการเปลี่ยนแปลงในชั้นเรียนของเขา ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด โครงการ ‘ครูนางฟ้า’ ที่เสริมศักยภาพครูในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยใช้หลักจิตวิทยาสังคม
  • หัวใจสำคัญในการที่ครูคนหนึ่งจะดูแลเด็กได้ก็คือ ครูจะต้องมีใจที่เมตตาต่อเด็ก ให้ความใส่ใจ และรับฟังโดยไม่ตัดสิน

“ผมเคยเป็นครูฝ่ายปกครองสายโหดที่เด็กกลัวมาก วันที่เด็กมีปัญหา เราใช้วิธีผลักเด็กออกจากระบบ จนเกิดความรู้สึกผิดในใจ ก็เลยพยายามเปลี่ยนมุมมองความคิด เริ่มจากขอโทษเด็กก่อนเลย เพราะเรารู้สึกว่า…เราทำไมแย่จัง ที่ไปตัดสินเขาแบบนั้น”

‘ครูโจ’ วิฑูลย์ แซมสีม่วง โรงเรียนเทศบาล 3 (ชาญวิทยา) จังหวัดเพชรบูรณ์ เล่าประสบการณ์จากครูฝ่ายปกครองที่เด็กๆ ‘กลัว’ สู่ครูที่เด็กๆ ‘รัก’ ในเวที Inspiring Talks คนตัวเล็กผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง มหกรรมวิชาการ สุข Marathon ‘Happiness is Blooming’ จัดโดยสถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม (สพบ.) ภายใต้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายกว่า 100 องค์กร 

เรื่องราวของครูโจผู้ใช้การสื่อสารด้วยหัวใจ เข้าใจ และอยู่เคียงข้างนักเรียน ไม่เพียงสร้างการเปลี่ยนแปลงในชั้นเรียนของเขา ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด โครงการ ‘ครูนางฟ้า’ ที่เสริมศักยภาพครูในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยใช้หลักจิตวิทยาสังคม 

จากครูปกครองสายโหด สู่ครูผู้ปกป้องเด็ก

ครูโจเคยเป็นครูฝ่ายปกครองที่คอยกวดขันความประพฤตินักเรียนให้อยู่ในร่องในรอย ด้วยความเชื่อว่า ‘ไม้แข็ง’ จะช่วยป้องปรามเด็กไม่ให้เดินทางผิด ถึงขนาดเคยลงโทษให้เด็กออกจากโรงเรียนมาแล้ว และนั่นได้กลายมาเป็นจุดเปลี่ยนในที่สุด เมื่อครูโจตระหนักว่าสิ่งที่ทำลงไปไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่กลับกลายเป็นการผลักเด็กเข้าสู่เส้นทางที่สุ่มเสี่ยงมากไปกว่าเดิม

ด้วยความรู้สึกผิด ครูโจจึงเข้าไปปรึกษาคุณหมอดวงดาว (พญ.ดวงดาว ศรียากูล) กลุ่มหมอครอบครัวในโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ซึ่งทำงานร่วมกับครูและนักเรียนในโรงเรียน ในการแก้ปัญหาเด็กเปราะบาง เช่น ยาเสพติด ภาวะซึมเศร้า หลังจากนั้นก็พัฒนามาเป็น ‘กระบวนการครูนางฟ้า’ หรือ ‘ครูที่พร้อมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจเด็ก’ และทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า

“มีอยู่วันหนึ่งเด็กเขามีปัญหา แน่นอนครับเรายังไม่รู้วิธีการว่าจะต้องดูแลลูกๆ เรายังไง วิธีตอนนั้นก็คือผลักเด็กออกจากระบบ เราตัดสินเขาเลย เมื่อก่อนผมเป็นอย่างนั้น จนเด็กคนนี้เข้ามาในโรงเรียนเพื่อจะมาขอวุฒิการศึกษา เขาเจอผมแล้วเขาก็ยังกลัวมากเหมือนเดิม กลัวจนตัวสั่น เรารู้สึกผิดที่ทำให้เด็กหลายๆ คน ไม่ใช่แค่เขาคนเดียวที่รู้สึกอย่างนี้กับเรา ก็เลยเดินไปจับมือเขา บอกเขาว่า “หนูครูขอโทษ” ผมขอโทษเด็กก่อนเลยครับ เรารู้สึกว่าเราทำไมแย่จัง” 

โดยทักษะสำคัญที่ครูโจมองว่าเป็นกุญแจสู่ความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างครูกับนักเรียน นั่นก็คือ ‘การสื่อสาร’ 

“การสื่อสารเป็นจุดสำคัญมากๆ สำหรับทุกเพศ ทุกวัย ทุกช่วงอายุ คือรับฟังให้เยอะ รับฟังเขาว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาจริงๆ แล้วก็ให้เข้าใจในสิ่งที่เป็นเขาว่าเขาทำแบบนี้มีตัวแปร มีเหตุผลอะไร อย่าไปตัดสินเขา 

สิ่งที่เขาทำมันจะถูกจะผิด สุดท้ายเขาตัดสินใจจะเลือกแบบนี้ ผิดเขาก็ต้องยอมรับ แล้วตระหนักถึงสิ่งที่มันเกิดขึ้น มองต่อว่าก้าวต่อไปหลังจากนี้จะเดินยังไง เรามีหน้าที่ประคองเขาให้จบครับ วันนี้เราได้ให้สกิลในเรื่องของมุมมองความคิดในการเข้าใจตัวเอง ในการมองโลก เขาจะโตเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างไม่ทำร้ายตัวเองและทำร้ายใคร”

“เมื่อก่อนเวลาผมเจอเด็กที่ทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็เรียกมาคุยแล้วทำโทษตามกระบวนการ ก็คือ วิ่งรอบสนามอะไรแบบนี้ แล้วก็มีใช้ระบบไม้เรียวด้วย แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ประมาณ 7-8 ปีแล้วที่ผมไม่ได้จับไม้อีกเลย เพราะเรารู้แล้วว่ามันไม่ได้ช่วยอะไรเลยในเรื่องนี้”

คู่มือดูแลเด็ก เริ่มต้นที่เปลี่ยนมายเซ็ตครู  

หลังจากที่ครูโจเปลี่ยนมายเซ็ตของตัวเองในการดูแลเด็ก คาบแนะแนว และชุมนุมวิชาลูกเสือส่วนหนึ่งจึงกลายเป็นเหมือนคลินิกจิตวิทยาขนาดย่อมๆ ในโรงเรียน ซึ่งครูโจพยายามปั้นเด็กให้มีทักษะการสื่อสารเชิงบวก เสริมสร้างแรงบันดาลในการเปลี่ยนพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น เพื่อหวังขยายการช่วยเหลือเด็กได้อย่างทั่วถึง  

“ผมได้เครื่องมือจากคุณหมอมาเป็นตัว MI หรือ Motivational Interviewing ก็คือการสร้างแรงจูงใจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กับ LICBT หรือ Low-Intensity Cognitive Behavioral Therapy เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตวิทยาสังคม 

คือผมไปเรียนรู้ก่อน แล้วก็ได้เอามาลองใช้พูดคุยกับเด็ก และคอยสังเกตว่าในการพูดคุยกันแต่ละครั้งเด็กมีการเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง โดยการเปลี่ยนแปลงก็จะมีหลายระยะด้วยกัน ระยะที่ 1 ก็คือ เมินเฉย ไม่ฟัง ไม่รับรู้ระยะที่ 2 ก็คือ ลังเล คิดอยู่ว่าจะฟังหรือไม่ฟังดี จะทำหรือไม่ทำ ระยะ 3 คือ ตัดสินใจ ระยะที่ 4 คือ ลงมือทำ ระยะที่ 5 คือ ทำอย่างต่อเนื่อง และอาจจะกลับไปวนลูประยะ 1-3 ใหม่ และระยะสุดท้าย ระยะที่ 6 คือน้อยคนที่จะเจอระยะนี้ได้ คือกลับไปมีปัญหาซ้ำ”

ครูโจใช้คำถามปลายเปิดในการพูดคุยกับเด็กเสมอ เช่น คำถามง่ายๆ แสดงถึงความห่วงใย อย่าง “วันนี้เป็นยังไงบ้างลูก?” ให้เด็กค่อยๆ เปิดใจ แล้วเขาจะเล่าปัญหาสารทุกข์สุขดิบในชีวิตให้ฟังเอง

นอกจากนี้ก็จะมีกิจกรรมชุมนุมที่เป็นประโยชน์กับเด็กๆ มากมาย โดยแบ่งเป็นระดับชั้น ม.1 เรียนรู้เรื่องการใช้สื่อ เพราะในช่วงวัยที่เริ่มใช้สื่อมากและเสพติดได้ง่าย ม.2 เป็นเรื่องคุณแม่วัยใส ที่จำเป็นต้องให้ความรู้และดูแลอย่างใกล้ชิด ม.3 เน้นที่เรื่องสารเสพติดกับอาชีพที่ใช่ ตัวเลือกที่ชอบ ในส่วนมัธยมศึกษาตอนปลาย จะเน้นกระบวนการหมอน้อย เรียนรู้การดูแลสุขภาพกายใจและจิตวิทยาสังคมต่างๆ 

“พอเขาได้ทำกิจกรรมแล้วเห็นผลที่ดี พฤติกรรมเปลี่ยน เข้าใจตัวเองมากขึ้น ก็ปั้นเขาให้มาเป็นอาสาสมัครในการดำเนินกิจกรรมกับครู ซึ่งก็มีทั้งเด็กที่เคยอยู่ในกลุ่มเปราะบาง มีปัญหา และเด็กที่ไม่ได้มีปัญหาอะไร เขาก็มาเรียนรู้ด้วยกัน เพื่อเข้าใจกันมากขึ้น”

“ผมมองว่าทุกคนมีปัญหาหมด เด็กบางคนเขาอาจเหมือนไม่ได้เป็นอะไร แต่จริงๆ เป็นนะ แต่พอเขาได้พูดคุยกันเขาจะเยียวยากันเอง แต่ถามว่าการที่เขาเป็นเด็กด้วยกันการเยียวยาของเขามันจะมีประสิทธิภาพ หรือช่วยได้มากน้อยแค่ไหน เชื่อไหมว่าเขาโอเค เพราะว่าช่องว่างระหว่างวัยเรากับเด็กมันเยอะ พอมันเยอะ การที่เด็กจะวกเข้ามาหาเราก็ยาก แต่ถ้าปัญหาไหนใหญ่เกินกว่าจะแก้ได้ เขาก็จะส่งต่อมาให้เรา เราก็จะดูต่อว่าควรจะให้คำปรึกษายังไง”

บทบาทของครูโจจึงเป็นเหมือนโค้ช ที่คอยเฝ้าสังเกตการณ์ก่อน เมื่อถึงเวลาจึงค่อยลงสนาม โดยครูโจได้ยกตัวอย่างบทสนทนาที่ใช้พูดคุยกับเด็ก เช่น เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่ทางโรงเรียนกำลังรณรงค์กันอยู่

“สิ่งที่ผมห่วงตอนนี้ก็คือบุหรี่ไฟฟ้า เพราะมันกระจายเยอะมาก บางคนเริ่มตั้งแต่ประถม แล้วบางคนเท่าที่ถามดูใช้มา 2-3 ปีแล้ว ผมก็บอกว่า จะให้ครูห้ามมันก็คงห้ามยาก แต่ว่าวันนี้ตัวเองรับได้ใช่ไหมว่าสิ่งที่ใช้อยู่มันมีผลกระทบยังไงบ้าง เราก็จะคุยประมาณนี้

ต้องบอกก่อนว่าห้ามโกรธพ่อแม่นะ ห้ามโกรธคุณครู โกรธเพื่อน เพราะอะไร เพราะทุกคนรัก แล้วสิ่งที่ตัวเองทำอยู่คืออะไร ในระยะ 1 ปี 2 ปี 3 ปี มันจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง รับได้ใช่ไหม วันนี้ถ้าเราเบามัน หยุดมัน ภาพนั้นมันจะไม่เกิดขึ้นเลย ซึ่งเราไม่ได้คุยที่เดียวจบ เป็นการทําซ้ำๆๆ อย่างต่อเนื่อง แล้วสุดท้ายก็ให้เขาเป็นคนตัดสินใจเองว่าเขาจะใช้มันต่อหรือจะหยุด”

“เด็กกลุ่มนี้เขาต้องการการยอมรับ เมื่อเรามีพื้นที่มีเวทีให้เขาได้ทำ แล้วก็ให้ได้เห็นคุณค่าในตัวเอง เขาจะลุกออกมาจากตรงนั้นได้ไว ซึ่งเราก็ต้องหาวิธีให้เขาเรื่อยๆ มันก็เป็นโจทย์สำคัญทั้งนั้น การที่เราเข้าใจคนเดียวมันไม่ได้ เราต้องหาตัวคูณ นั่นก็คือน้องๆ ที่เป็น ‘หมอน้อย’ ให้เข้าใจเหมือนเรา แล้วก็ต้องติดตั้งสกิลในเรื่องของกระบวนการ หรือมายด์เซ็ตให้กับเด็กกลุ่มนี้ให้ไว เพื่อให้เขาจะช่วยเหลือกัน” 

ช่วยเหลือดูแลกันด้วยหลักจิตวิทยาสังคม

นอกจากการปรับมายเซ็ตให้เด็กๆ รวมถึงติดตั้งทักษะการสื่อสารเพื่อให้พวกเขาสามารถดูแลกันได้ในเบื้องต้นแล้ว ครูโจบอกว่าการช่วยเหลือเด็กๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่สุ่มเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือเด็กที่มีปัญหาด้านต่างๆ ต้องทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนครูและผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนและร่วมมือเป็นอย่างดี 

ในส่วนของคุณครูที่ท่านต้องดูแลเด็กห้องหนึ่งราว 30 คน ต่างก็ช่วยคัดกรองเด็กในเบื้องต้น หากเห็นใครมีปัญหาก็จะส่งไม้ต่อมาให้ครูโจเริ่มกระบวนการดูแลช่วยเหลือ ซึ่งครูโจบอกว่าเด็กๆ เหล่านี้นอกจากจะได้เครื่องมือในการปรับทัศนคติของตนเอง ยังสามารถนำไปปรับใช้กับครอบครัว ได้อีกด้วย 

“อย่างเด็กคนนึงพ่อแม่แยกทางกัน เขาอยู่กับยาย แล้วพูดกับยายค่อนข้างแรง แล้วยายก็พูดแรงกลับเหมือนกัน จนเด็กมานั่งทำกิจกรรมกับเรา เราก็บอกเด็กว่าให้ลองเปลี่ยนคำพูด หนูลองถามยายก็ได้ ยายพูดอย่างนี้กับหนู ยายรู้สึกว่ายายเป็นทุกข์ไหม ใช้คำถามปลายเปิดมากขึ้น แล้วหนูลองทำอะไรบางอย่างให้ยายเห็น ยายจะได้เชื่อใจ ทำให้เขาไว้ใจเราสิลูก เราก็คุยกับเขาแบบนี้ ตอนนี้เด็กเขาเปลี่ยนไปเยอะ วิธีพูดกับยายก็น่ารักขึ้น ยายก็เลิกใช้คำพูดแรงๆ ด้วย แล้วเขาก็ไม่ขาดเรียนแล้ว”

ครูโจมักจะย้ำกับเด็กเสมอว่า “สิ่งที่เราเคยทำมาก่อนหน้านี้มันอาจจะไม่ได้ดี แต่ให้เรียนรู้มัน เราจะได้รู้ว่าเราจะเดินต่อยังไง”

ดังนั้น หัวใจสำคัญในการที่ครูคนหนึ่งจะดูแลเด็กได้ก็คือ ครูจะต้องมีใจที่เมตตาต่อเด็ก ให้ความใส่ใจ และรับฟังโดยไม่ตัดสิน  

“วันนี้สิ่งที่ผมอยากทำต่อก็คือ สร้างเมล็ดต้นกล้าที่เขาได้สกิลในการสื่อสาร กระบวนการ MI เพื่อขยายการดูแลกัน ลดปัญหาต่างๆ ที่มักเกิดกับเด็กทุกช่วงวัย แล้วก็อยากเห็นภาพคุณครูทั่วประเทศเลย ได้เข้าใจในเรื่องของหลักการของการใช้จิตวิทยาสังคม” ครูโจทิ้งท้าย

Tags:

การดูแลเด็กการสื่อสารด้วยหัวใจครูโจ-วิฑูลย์ แซมสีม่วงโรงเรียนเทศบาล 3 (ชาญวิทยา)การสร้างแรงจูงใจการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)ครูนางฟ้าจิตวิทยาสังคม

Author:

illustrator

นฤมล ทับปาน

Photographer:

illustrator

ปริสุทธิ์

Related Posts

  • Creative learning
    ห้องเรียนฐานชุมชน (Social Lab) เมื่อครูไม่ได้เป็นผู้ให้คำตอบ แต่เปิดพื้นที่ ให้นักเรียนสร้างคำตอบเอง: ครูภัทร – ภัทฑริก เอียดเกลี้ยง

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง ภาพ ปริสุทธิ์

  • Early childhoodFamily Psychology
    เติบโตไปด้วยกัน Alpha Generation EP.7 ‘การสื่อสารที่ส่งไปถึงใจลูก’

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Kru Lisa
    Social Issues
    “การเป็นครูแปลว่าต้องดูแลเด็กตั้งแต่จิตใจ” ครูลีซ่า-นูริทรา แปแนะ ครูนางฟ้าที่ใช้การสื่อสารเชิงบวก รับฟังและอยู่เคียงข้าง

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • Deep Listening-nologo
    Character building
    ‘การฟังเป็น’ ไม่ใช่แค่ได้ยินเสียง แต่ต้องให้ดังไปถึงใจ

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to enjoy life
    เปิด ‘ไพ่มูดูชีวิต’ เข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้งและค้นหาวิธีดูแลใจ กับ ‘อั๊ท – ณอัญญา สาวิกาชยะกูร’ เพจวารีแห่งใจ

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

Love Bombing: เมื่อการทุ่มเทความรักมากมายเป็นเพียงเหยื่อล่อไปสู่ความสัมพันธ์ท็อกซิก
Relationship
3 April 2025

Love Bombing: เมื่อการทุ่มเทความรักมากมายเป็นเพียงเหยื่อล่อไปสู่ความสัมพันธ์ท็อกซิก

เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Love Bombing คือพฤติกรรมที่อีกฝ่ายแสดงความรักอย่างท่วมท้นในช่วงเริ่มต้นของความสัมพันธ์ เพื่อทำให้อีกฝ่ายหลงรักและผูกพันอย่างรวดเร็ว ก่อนจะเริ่มควบคุมและบงการในภายหลัง
  • ผลของ Love Bombing อาจนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationship) ทำให้ผู้ถูกกระทำสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ถูกควบคุม หรือแม้แต่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในบางกรณี
  • เราควรรักและเห็นคุณค่าของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อเรารักตัวเองแล้วเราจะดึงดูดคนที่รักตัวเองเหมือนกันเข้ามาหาเอง นำไปสู่ความรักที่แท้ที่ไม่ใช่การเสแสร้งดังเช่นความสัมพันธ์แบบ Love Bombing

ในช่วงเริ่มต้นของความสัมพันธ์ ความรู้สึกตื่นเต้น หัวใจเต้นแรง และความหลงใหลมักเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น เราอาจรู้สึกโชคดีที่ได้เจอคนที่ใส่ใจ ให้ความสำคัญ และมองว่าเราน่ารักในทุกด้าน บางครั้งอีกฝ่ายก็แสดงความรักแบบจัดเต็มจนเรารู้สึกเหมือนเป็นคนพิเศษเกินกว่าที่จะหาที่ไหนได้

พฤติกรรมเหล่านี้ฟังดูโรแมนติกและเป็นจุดเริ่มต้นของความรักที่ดี อย่างไรก็ตาม การแสดงความรักอย่างท่วมท้นทั้งที่รู้จักกันไม่นานอาจไม่ใช่เรื่องดีอย่างที่คิด เพราะมันอาจเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘Love Bombing’ พฤติกรรมโปรยความรักให้มากมายเพื่อหวังควบคุมบงการเราในอนาคต

Love Bombing คืออะไร?

Love Bombing หมายถึง การทุ่มเทความรักให้อย่างมากมายในช่วงเริ่มต้นของความสัมพันธ์เพื่อทำให้อีกฝ่ายประทับใจและตกหลุมรัก เมื่อฝ่ายที่ได้รับความเอาใจใส่รู้สึกผูกพันจนถอนตัวไม่ได้ ฝ่ายที่ทำ Love Bombing จะเริ่มควบคุมบงการชีวิตของอีกฝ่ายให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ

พฤติกรรม Love Bombing อาจดูคล้ายกับช่วงระยะหนึ่งของความสัมพันธ์ที่เรียกว่า ‘ช่วงโปรโมชัน’ (Honeymoon Phase) กล่าวคือ มีการแสดงความรักออกมามากมาย ทุกอย่างดูดี เข้ากันได้ไปหมด ตัวติดกันตลอด แต่สิ่งที่ทั้งสองอย่างนี้ต่างกันคือ ‘เจตนาที่อยู่เบื้องหลัง’ และ ‘ความสมดุลของความรัก’

‘ช่วงโปรโมชัน’ เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีความตื่นเต้น ความหลงใหลเข้ามาเกี่ยวข้อง ก่อเกิดเป็นสายสัมพันธ์บางอย่างที่เชื่อมต่อกัน แต่ ‘Love Bombing’ เป็นเพียงการมอบความรักที่ดูมากมายเกินเหตุจากฝ่ายเดียว โดยมีจุดประสงค์ให้อีกฝ่ายหลงจนถอนตัวไม่ขึ้น เพื่อนำไปสู่การควบคุมบงการชีวิตของอีกฝ่ายในอนาคต

พูดง่ายๆ ก็คือ Love Bombing เป็นการใช้ความรักเป็นเครื่องมือเพื่อหวังควบคุมอีกฝ่ายไม่ให้ทิ้งตนไปนอกจากนี้ AARP องค์กรสนับสนุนคนเกษียณในสหรัฐ ยังเตือนว่า ในบางกรณีพฤติกรรม Love Bombing ก็เป็นหนึ่งในเทคนิคที่มิจฉาชีพใช้หลอกล่อให้เหยื่อหลงรักหรือที่เรียกว่า Romance Scam เพื่อหวังผลประโยชน์อื่นๆ เช่น เงินหรือของมีค่า ได้เช่นกัน

สัญญาณเตือนของ Love Bombing

  • พยายามเร่งรัดความสัมพันธ์ – ผู้ที่ทำ Love Bombing มักจะเร่งพัฒนาความสัมพันธ์ไปอย่างรวดเร็วจนอีกฝ่ายตั้งตัวไม่ทัน พยายามสร้างความใกล้ชิดและการผูกมัดอย่างรวดเร็ว เช่น ขอเป็นแฟนทั้งที่เจอกันไม่กี่ครั้ง หรือกล่าวว่าอยากสร้างอนาคตร่วมกันทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จักกันดี
  • กล่าวเยินยอเกินจริงและพร่ำเพื่อ – การใช้คำพูดบอกรักเป็นเรื่องปกติของคนรักกัน แต่ถ้าเป็นคนที่เพิ่งเจอกันไม่กี่ครั้งแต่กลับบอกว่า ‘เราเป็นคู่ชีวิต’ ‘เราเป็นที่ตามหามานาน’ ก็ดูจะเกินจริงไปหน่อย อีกทั้งคำเยินยอเกินจริงเหล่านี้มักถูกกล่าวอยู่บ่อยๆ จนทำให้เราเคลิ้มและติดกับได้
  • ขยันให้ของขวัญมากเกินไป – คนประเภทนี้มักซื้อของขวัญมาเอาใจทั้งๆ ที่ดูไม่จำเป็นในบริบทนั้นๆ โดยของขวัญบางอย่างอาจมีมูลค่าสูง ทำให้คนที่ได้รับรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ เกรงใจ และยอมทำตาม
  • ไม่เคารพพื้นที่ส่วนตัว – ผู้ที่มีพฤติกรรม Love Bombing มักคอยเช็กอีกฝ่ายตลอดเวลาว่าทำอะไรอยู่ที่ไหน แสดงความหึงหวงมากเกินเหตุ เรียกร้องให้อีกฝ่ายใช้เวลาอยู่กับตน พยายามแยกเราออกจากกลุ่มเพื่อนหรือครอบครัว

ทำไมคนถึงทำ Love Bombing?

จากที่กล่าวไปในตอนต้นว่า Love Bombing อาจเป็นเทคนิคหนึ่งที่มิจฉาชีพใช้หลอกล่อเหยื่อ พฤติกรรมนี้ก็มีปัจจัยทางจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีงานวิจัยพบว่า ผู้ที่เห็นคุณค่าในตนเองต่ำ (Low Self-esteem), มีบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง (Narcissism) หรือมีรูปแบบความผูกพันแบบไม่มั่นคง (Insecure Attachment Style) มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรม Love Bombing

รูปแบบความผูกพัน หมายถึง ลักษณะการตอบสนองเวลาเรามีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด เช่น เรารู้สึกเชื่อใจไว้ใจคนใกล้ชิดของเรา อยู่ด้วยแล้วรู้สึกสบายใจ แบบนี้จะเรียกว่า ‘รูปแบบความผูกพันแบบมั่นคง’ แต่หากเรารู้สึกไม่เชื่อใจหรือไว้ใจคนใกล้ชิด แบบนี้จะเรียกรวมๆ ว่า ‘รูปแบบความผูกพันแบบไม่มั่นคง’

ผู้ที่มีรูปแบบความผูกพันแบบไม่มั่นคงมักจะเกิดความคลางแคลงใจว่าบุคคลใกล้ชิดของเราไว้ใจได้หรือไม่ บ้างก็หลีกหนีการมีความสัมพันธ์ บ้างก็ต้องการคำยืนยันจากอีกฝ่ายตลอดว่ารักเราหรือไม่ หรือบ้างก็หาวิธีที่ทำให้อีกฝ่ายไม่ทิ้งเราไป ซึ่ง Love Bombing ก็เป็นหนึ่งในวิธีที่จะควบคุมไม่ให้คนที่เรารักทิ้งเราไป

ส่วนคนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตนเองมักมีภาพของ ‘ตัวตนในอุดมคติ’ ไม่สอดคล้องกับ ‘ตัวตนในความเป็นจริง’ เช่น คิดว่าตัวเองเก่ง ทั้งที่ก็ไม่ได้เก่งอะไร เมื่อตัวตนทั้งสองนี้ไม่สอดคล้องกัน จึงทำให้คนประเภทนี้ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง เรียกว่า ‘การเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ’

ดังนั้นคนหลงตนเองจึงพยายามหาวิธีเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อรักษาภาพลวงตาที่ตนได้สร้างเอาไว้ เช่น ใช้สิ่งของมูลค่าสูงเพื่อเสริมภาพลักษณ์ โอ้อวดเพื่อกลบเกลื่อนจุดด้อย หรือพยายามควบคุมคนอื่นเพื่อให้รู้สึกว่าตนมีอำนาจและสำคัญ

วิธีรับมือกับ Love Bombing

อย่างที่กล่าวไปในตอนต้นว่าพฤติกรรม ‘Love Bombing’ อาจดูคล้ายกับ ‘ช่วงโปรโมชัน’ ในความสัมพันธ์ ดังนั้นในขั้นแรกอาจเริ่มต้นด้วยการสังเกตสัญญาณต่างๆ ที่บ่งชี้ถึงพฤติกรรม เช่น การมอบความรักที่มากมายอยู่ฝ่ายเดียว เรารู้สึกถูกกดจากความรักที่มากมายจนไม่เป็นตัวของตัวเอง

เมื่อเราทราบว่ากำลังเจอกับ Love Bombing นักจิตวิทยา Mark Travers แนะนำให้เริ่มด้วยการกำหนดขอบเขตไม่ให้อีกฝ่ายรุกล้ำ ความรักที่ดีควรจะต้องเคารพขอบเขตซึ่งกันและกัน ทำให้เราเป็นตัวของตัวเองและไม่รู้สึกอึดอัด ขอบเขตในที่นี้อาจจะเป็นเวลาส่วนตัวเอง หรือความชอบ-ไม่ชอบในพฤติกรรมบางอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรสื่อสารกับอีกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา

หลายคนมักคิดว่าเมื่อมีความรักก็ควรจะต้องละทิ้งขอบเขตเหล่านี้ออกไป เพื่อให้เราเป็นของกันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ฟังดูโรแมนติกแต่อาจใช้ไม่ได้กับความสัมพันธ์ในระยะยาว

Osho นักปรัชญาร่วมสมัยชาวอินเดีย กล่าวว่า ความรักที่แท้ต้องมีอิสรภาพ ทำให้เราเป็นตัวของตัวเอง เพราะความรักเกิดจากคนที่อยู่ได้ด้วยตัวคนเดียวสองคนมาเจอกัน คนที่อยู่ได้ด้วยตัวคนเดียวจะเป็นอิสระอย่างเต็มที่ เกิดการให้ที่จริงใจและการแบ่งปันที่แท้จริง

เมื่อกล่าวเช่นนี้ หลายคนอาจรู้สึกว่าเมื่อคนรักของเราสามารถอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว เราก็คงจะหมดความหมาย จึงพยายามเข้าไปจัดการชีวิตของอีกฝ่ายให้ต้องพึ่งพาตน สิ่งนี้ไม่ใช่ ‘ความรัก’ แต่เป็น ‘การต่อรอง’ เพื่อควบคุมอื่นฝ่าย ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งและการทะเลาะเบาะแว้งที่ไม่มีวันจบสิ้น

บางคนอาจคิดว่าความรักคือการพบกันระหว่างคนเหงาสองคน แต่ความเหงาหรือความเดียวดายไม่อาจเติมเต็มให้กันได้ มีแต่จะฉวยโอกาสอีกฝ่ายเข้ามาเติมเต็มช่องว่างในหัวใจ สิ่งนี้ไม่ใช่ ‘ความรัก’ แต่เป็น ‘ราคะ’ การใช้คนอื่นเพื่อเติมเต็มความปรารถนาของตัวเอง แต่ความรักคือการให้ความนับถืออีกฝ่ายในความเป็นตัวเขา

คนที่เข้าหาคนอื่นด้วยราคะ มิอาจเสแสร้งได้นานว่ามันคือความรัก เมื่อช่วงเวลาแห่งการดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ (ช่วงโปรโมชัน) จบลง ธาตุแท้ของเขาจะปรากฏ นี่จึงเป็นหนึ่งเหตุผลที่บางคนมักคิดว่าเมื่อช่วงเวลาแห่งการดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์จบลง ความรักก็จบลงด้วย คนที่คิดเช่นนี้คือคนที่ไม่รู้จักความรักที่แท้จริง

ต่อมา Travers แนะนำให้เริ่มปฏิเสธของขวัญอย่างสุภาพ ในขั้นนี้จะสามารถช่วยกรองได้ระดับหนึ่งว่าอีกฝ่ายกำลัง Love Bombing หรือเป็นเพียงอาการตื่นเต้นที่เกิดจากช่วงโปรโมชัน วิธีการปฏิเสธแบบสุภาพ เช่น ‘ขอบคุณนะ แต่ฉันคิดว่ามันยังเร็วเกินไป’

เมื่อปฏิเสธแล้วให้ดูปฏิกิริยาของอีกฝ่าย หากอีกฝ่ายตอบสนองความต้องการของเราด้วยการไม่เร่งรัดความสัมพันธ์และไม่ให้ของขวัญที่ไม่จำเป็น ก็เป็นสัญญาณที่ดี แต่หากอีกฝ่ายยังคงดื้อรั้นที่จะให้ของขวัญเราต่อไปและพยายามเร่งรัดความสัมพันธ์ ก็ควรดำเนินการขั้นถัดไป

ขั้นสุดท้ายคือการยุติความสัมพันธ์นี้แล้วก้าวต่อไป เราอาจรู้สึกผิดที่ทิ้งเขาไปแม้เขาจะทำดีกับเรามากมาย แต่เราต้องไม่ลืมว่าพฤติกรรม Love Bombing เป็นเพียงเหยื่อล่อไปสู่ความสัมพันธ์ท็อกซิกในอนาคต 

เราควรรักและเห็นคุณค่าของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อเรารักตัวเองแล้วเราจะดึงดูดคนที่รักตัวเองเหมือนกันเข้ามาหาเอง นำไปสู่ความรักที่แท้ที่ไม่ใช่การเสแสร้งดังเช่นความสัมพันธ์แบบ Love Bombing

อ้างอิง

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2016). Self-esteem – การเห็นคุณค่าในตนเอง.

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2019). Attachment style – รูปแบบความผูกพัน.

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2022). บุคลิกภาพแบบหลงตนเอง – Narcissism.

ลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากร. (2023). Love Bombing การทุ่มเทความรักอย่างหนักหน่วงในช่วงต้นของความสัมพันธ์.

AARP. (n.d.). For Scammers, It’s Not About Love, It’s About Your Money.

Cleveland Clinic. (2023). What Is Love Bombing?

Gina Cherelus. (2022). What Is ‘Love Bombing’?

Mark Travers. (2022). A Psychologist Suggests Three Ways To Disarm A Love Bomber.

OSHO. (2564). Being in Love [ดีไซน์รัก]. ฟรีมายด์ พับลิชชิ่ง จำกัด.

Strutzenberg, C. C., Wiersma-Mosley, J. D., Jozkowski, K. N., & Becnel, J. N. (2017). Love-bombing: A Narcissistic Approach to Relationship Formation. Discovery, The Student Journal of Dale Bumpers College of Agricultural, Food and Life Sciences, 18(1), 81-89.

Tags:

ความสัมพันธ์ความรักToxic relationshipLove Bombing

Author:

illustrator

ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Relationship
    Breadcrumbing: เลิกกั๊กแล้วรักได้มั้ย? ความสัมพันธ์ที่มีแต่ความหวังลมๆ แล้งๆ ไม่พัฒนาไปไหน

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Book
    Normal People: จะรวยหรือจน…ทุกคนล้วนเป็นคนธรรมดา

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Relationship
    ‘หึง’ ก็เพราะรัก? ‘หวง’ ก็เพราะห่วง? เข้าใจธรรมชาติของอารมณ์หึงหวงก่อนทำลายความสัมพันธ์

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Relationship
    ทำความเข้าใจความรักกับการเมืองด้วย Balance theory

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Relationship
    รักดีๆ อยู่ที่ไหน : ฟ้าลิขิตหรือความพยายาม?

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

Posts navigation

Newer posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel