- การเล่านิทานพื้นบ้าน (Folklore) ทำให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้ค่านิยมและความเชื่อจากสังคมที่ตนเองเติบโตขึ้นมา พวกเขาจะสามารถสร้างความคิดรวบยอดได้ว่าควรปฏิบัติตนอย่างไรในสังคม
- เมื่อใช้รูปแบบการเล่าเรื่องที่เน้นการพูดคุยระหว่างผู้เล่ากับเด็ก เน้นการถามตอบอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นให้คิด เป็นการใช้เทคนิคกระตุ้นความทรงจำมีประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะความคิดเชิงลึก
- การที่ตัวเอกในนิทานพื้นบ้านส่วนใหญ่เป็นสัตว์ คือ การเปรียบเปรยที่ทำให้เด็กเชื่อมโยงตัวละครกับการกระทำของมนุษย์โดยอ้อม และส่งเสริมจินตนาการได้อย่างเต็มที่
การศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Education) เป็นรูปแบบการศึกษาที่มีเป้าหมายพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านกายภาพ ศีลธรรม วัฒนธรรม หรือสติปัญญา ทำให้เด็กเข้าใจตัวเอง ผู้อื่น และใช้ชีวิตในโลกความเป็นจริงได้อย่างเต็มศักยภาพ จากการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของนิทานพื้นบ้านต่อพัฒนาการทางความคิดและพัฒนาการของเด็ก เรื่อง Folklore epistemology: how does traditional folklore contribute to children’s thinking and concept development? ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติด้านการศึกษาปฐมวัย (International Journal of Early Years Education) นักวิจัยได้ทำการศึกษาระบบการศึกษาในชนพื้นเมืองอาคัน (Akan) ประเทศกานา ซึ่งใช้นิทานพื้นบ้านเป็นสื่อการเรียนการสอน
นิทานพื้นบ้านและเทคนิคกระตุ้นความทรงจำช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็ก
นิทานพื้นบ้านส่งผลต่อจินตนาการและการสร้างความคิดรวบยอด (Concept Formation) ในเด็กปฐมวัยอย่างไร? เป็นคำถามสำคัญของการศึกษาครั้งนี้
นักวิจัย พบว่า จินตนาการและความคิดรวบยอดมีความสัมพันธ์กับสังคมและวัฒนธรรม
จินตนาการไม่ได้กำเนิดมาจากความว่างเปล่าแต่มาจากประสบการณ์และการรับรู้จากบริบททางสังคมของแต่ละคน
เมื่อเด็กมีโอกาสได้เรียนรู้ค่านิยมและความเชื่อจากสังคมที่ตนเองเติบโตขึ้นมา พวกเขาจะสามารถสร้างความคิดรวบยอดได้ว่าควรปฏิบัติตนอย่างไรในสังคม นักทฤษฎีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมพบว่า นิทานพื้นบ้านที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ใหญ่และคนในชุมชนช่วยพัฒนาทักษะการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมให้กับเด็ก และช่วยสร้างความเข้าใจถึงที่มาที่ไป ตัวตน และรากเหง้าของตัวเอง
บริบททางสังคมของประเทศกานาในปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาสังคมยุคดิจิทัลไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการขาดความเคารพซึ่งกันและกัน หรือความรู้เท่าทันเรื่องเพศสัมพันธ์ จากสถิติพบว่า เด็กอายุ 8 ขวบเริ่มมีเพศสัมพันธ์กันแล้ว ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกมีความหนักเบาต่างกัน การใช้เรื่องเล่า นิทานพื้นบ้านหรือนิทานปรัมปรา เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมกระบวนการคิดและสร้างการเรียนรู้ได้
นิทานพื้นบ้านที่ชนพื้นเมืองอาคันใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัย เป็นรูปแบบการเล่าเรื่องเน้นการพูดคุยระหว่างผู้เล่ากับเด็กคล้ายนิทานรอบกองไฟ ใช้เทคนิคการกระตุ้นความทรงจำ (Stimulated Recall) เน้นการถามตอบอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นให้เด็กคิด นักวิจัยศึกษากระบวนการตอบคำถามของเด็กๆ 23 คน อายุ 5 – 6 ขวบ เริ่มด้วยเสียงกลองบรรเลงพร้อมกับการเต้นประกอบเพื่อเชิญผู้อาวุโสในชุมชน 2 ท่านมาเล่านิทานใต้ต้นไม้ จากนั้นผู้อาวุโสวางข้อตกลงการถามตอบระหว่างเล่าเรื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ มีส่วนร่วม หลังจากเล่าเรื่องจบผู้อาวุโสช่วยเด็กย้อนคิดถึงข้อคิดของนิทาน ทุกขั้นตอนถูกบันทึกวิดีโอไว้ จากนั้นผู้อาวุโสเปิดวิดีโอที่ถูกบันทึกให้เด็กๆ ดูอีกครั้งเพื่อกระตุ้นความทรงจำ (Stimulated Recall) และกระบวนการถามตอบเกิดขึ้นอีกครั้ง
เรียนรู้จากการตั้งคำถามกลับกับตัวเอง
ผลการวิเคราะห์ พบว่า เทคนิคกระตุ้นความทรงจำมีประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาทักษะการใช้ความคิดในเชิงลึก (Deep Thinking) เพราะเด็กมีโอกาสได้ทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเรื่องเล่าจากผู้อาวุโสที่ดำเนินบทบาทเป็นทั้งผู้เล่าเรื่องและผู้ถาม เด็กๆ ได้พัฒนากระบวนการคิด พิจารณาความหมายและเหตุผลจากกระทำของตัวละคร เช่น ผู้อาวุโสถามว่า ‘ตัวละครในเนื้อเรื่องทำอะไรอยู่’ เด็กตอบว่า ‘เขากำลังขโมยถั่วร้อนๆ’ และเด็กอีกคนตอบกลับว่า ‘ขโมยเป็นสิ่งที่ไม่ดีเพราะทำให้คนอื่นไม่มีความสุข’ เด็กแสดงความไม่พอใจต่อตัวละครที่ประพฤติตนไม่ดี บางคนตอบกลับว่า ‘ถ้าเราทำอะไรไม่ดี สิ่งนั้นจะติดตัวเราไปตลอด’
ในสถานการณ์ดังกล่าว เด็กได้เรียนรู้กฎว่าควรปฏิบัติตนอย่างไรในสังคม ในขณะเดียวกันการที่ตัวเอกในนิทานพื้นบ้านส่วนใหญ่เป็นสัตว์ คือ การเปรียบเปรยที่ทำให้เด็กเชื่อมโยงตัวละครกับการกระทำของมนุษย์โดยอ้อม และส่งเสริมจินตนาการได้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจจากการวิจัยนี้ คือ นิทานพื้นบ้านที่ใช้เทคนิคกระตุ้นความทรงจำส่งเสริมให้เด็กเป็นทั้งผู้ชมจากข้างนอกและผู้แสดงในเนื้อเรื่อง นักวิจัยเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า ความคิดนามธรรม (Abstract Thinking) ที่ไม่ยึดเด็กติดกับพื้นที่ (Space) รวมทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต การที่เด็กจินตนาการเห็นตนเองเป็นผู้แสดงเปรียบเสมือนว่าเด็กได้ปฏิสัมพันธ์ในสังคมวัฒนธรรมผ่านเรื่องเล่าเหล่านั้นในความเป็นจริง
กระบวนการที่เกิดขึ้นส่งเสริมให้เด็กคิดถึงตนเองเชื่อมโยงกับคนอื่น
- คนอื่นในสังคมจะมองฉันอย่างไร?
- ฉันควรปฏิบัติตนเองอย่างไรในสังคม?
เลือกนิทานและคำถามให้เหมาะสม
ทั้งนี้ ผลการศึกษาแนะนำว่านิทานพื้นบ้านที่มีเนื้อหาเหมาะสมทำให้เทคนิคกระตุ้นความทรงจำ ส่งผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งคำถามที่ช่วยให้เด็กคิดวิเคราะห์ในเชิงลึก ด้วยเหตุนี้ผู้อาวุโสหรือผู้เล่าเรื่องจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการสนับสนุนการคิด ช่วยให้เด็กคิดตามและสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ กระบวนการที่ใช้ควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกลุ่มไม่ใช่การแข่งขันระหว่างกัน เพราะการศึกษาแบบองค์รวมควรช่วยให้เด็กเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่นมากกว่าการสร้างความขัดแย้ง
หลายคนอาจคิดว่านิทานพื้นบ้านไม่เหมาะสมกับการสอนเด็กในยุคปัจจุบันที่โลกพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย เรื่องเล่าในนิทานพื้นบ้านอาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง การวิจัยตอบข้อโต้แย้งนี้ว่านิทานพื้นบ้านไม่ได้สอนแค่วิถีดำเนินชีวิตในอดีต แต่นำเสนอคุณค่าสากลที่มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบันด้วย จะเห็นได้ว่านิทานพื้นบ้านมักแฝงไปด้วยเรื่องราวที่ทำให้มองเห็นคุณค่า ความเป็นธรรม สิทธิ และศีลธรรมผ่านข้อคิดของนิทาน ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การเลือกนิทานที่มีเนื้อหาเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ในชีวิตประจำวันและผู้เล่าเรื่องที่เข้าใจกระบวนการสร้างการเรียนรู้