- เดินตามเด็กๆ เข้า ‘ค่ายรักษ์วัฒนธรรม เรื่องเก่าที่บ้านเกิด’ ณ ตำบลทุ่งควายกิน จังหวัดระยอง ค่ายที่ชวนเด็กๆ เข้ามาทำความรู้จักชุมชนของตัวเอง
- เป็นค่ายประจำปีที่ 21 ของ กลุ่มรักษ์เขาชะเมา ในชื่อตอน เปิดทุ่ง เล่นรู้ เด็กๆ จะเข้าหรือไม่เข้าซุ้มไหนก็ได้ จะต่อบล็อก ปั้นขนม หรือเดินสวนก็ได้ ไม่มีการบังคับ
- “ความรู้ในโรงเรียนมันไม่พอในการตอบโจทย์ชีวิต เด็กมาเรียนแบบนี้มีความสุขเพราะไม่มีเรื่องของอำนาจ การบังคับ มีอิสระ” พี่แฟ้บ-บุปผาทิพย์ แช่มนิล หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มรักษ์เขาชะเมาเล่าให้ฟัง
“เด็กมาเรียนแบบนี้มีความสุขเพราะไม่มีเรื่องของอำนาจ การบังคับ มีอิสระ มันเป็นศิลปะสุนทรียะของชีวิต ถ้าเรามีจินตนาการในวัยเยาว์ที่สวยงาม มันจะเป็นเกราะป้องกันเราเวลาโตขึ้นแล้วเจอกับวิกฤติ” พี่แฟ้บ-บุปผาทิพย์ แช่มนิล หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มรักษ์เขาชะเมาเล่าให้ฟังถึงเจตจำนงของการจัดค่าย
สายลมหนาวพัดผ่านในช่วงธันวาคม ทำให้อากาศเย็นสบายเหมาะแก่การนอนหลับในช่วงเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ หากแต่บริเวณโรงยิมในโรงเรียนวัดเนินเขาดิน จังหวัดระยอง กลับเต็มไปด้วยกลุ่มเด็กๆ ที่สะพายกระเป๋า หิ้วของเตรียมพร้อมสำหรับเข้าค่าย แม้อากาศจะหนาวเย็นแค่ไหน แต่เด็กๆ ก็พร้อม สองมือกระชับเสื้อคลุมให้แน่นขึ้น ส่วนสองเท้าก็รีบวิ่งเข้าไปในโรงยิมเตรียมพร้อมทำกิจกรรม
‘ค่ายรักษ์วัฒนธรรม เรื่องเก่าที่บ้านเกิด’ จัดขึ้นที่โรงเรียนวัดเนินเขาดิน จังหวัดระยอง โดย กลุ่มรักษ์เขาชะเมา เมื่อวันที่ 7-8 ธันวาคม 2562 เพื่อให้เด็กๆ ในพื้นที่ ตำบลทุ่งควายกิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ได้รู้จักชุมชนของตัวเองผ่านการทำกิจกรรม โดยมีคนในชุมชนเป็นคนถ่ายทอด ใช้ความเชี่ยวชาญของตนเองสอนเด็กๆ ส่วนเด็กๆ เองก็ได้พื้นที่เรียนรู้และค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบอย่างอิสระ ไม่มีใครบังคับ การได้ไปเรียนรู้ในชุมชน ทำให้เด็กรู้จักชุมชนของตัวเอง เกิดความรักความผูกพัน เป็นความทรงจำดีๆ ที่เมื่อเด็กโตขึ้นมันจะกลายเป็นที่ที่ปลอดภัยไว้พิงหลัง ให้เขากลับมาได้ทุกครั้งเมื่อเจอกับปัญหา
ค่ายในปีนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 21 ในชื่อตอน ‘เปิดทุ่ง เล่นรู้’ พาเด็กๆ ไปรู้จัก ตำบลทุ่งควายกิน อันเป็นพื้นที่ที่ชุมชนของพวกเขาตั้งอยู่ ผ่านการเรียนรู้อย่างอิสระ ซึ่งตลอดทั้งปีกลุ่มรักษ์เขาชะเมาก็จะพาเด็กๆ ไปทำกิจกรรมในตำบลทุ่งควายกินอยู่แล้ว เช่น ไปทำขนม ทำอาหาร พร้อมจัดค่ายใหญ่ปลายปีเพื่อสรุปกิจกรรมทั้งหมดที่ทำมาตลอดทั้งปี ซึ่งก็คือค่ายครั้งนี้ที่เด็กๆ มากัน
ต้นกำเนิดกลุ่มรักษ์เขาชะเมา: การเปิดพื้นที่สร้างจินตนาการที่งดงามในวัยเยาว์
บุปผาทิพย์ แช่มนิล หรือที่คนในพื้นที่เรียกกันว่า ‘พี่แฟ้บ’ (แต่ในกลุ่มเด็กจะเรียกกันว่า ‘ป้าแฟ้บ’) หนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งกลุ่มรักษ์เขาชะเมา ได้เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของกลุ่มและวิธีคิดในการจัดกิจกรรม ตอนนั้นพี่แฟ๊บตัดสินใจกลับมาอยู่ระยองหลังจากไปเรียนที่กรุงเทพฯ กว่า 20 ปี กลับมาเปิด ร้านเช่าหนังสือน้ำใจ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ละแวกนั้นแวะเวียนเข้ามาเช่าหนังสือ มานั่งทำการบ้าน หรือมีเรื่องที่ต้องการคำปรึกษาก็จะมาพูดคุยกับพี่แฟ้บ ทำให้ร้านเช่าหนังสือน้ำใจกลายเป็นพื้นที่ให้เด็กๆ ในชุมชนมารวมตัวกัน
เมื่อมีเด็กมาที่ร้านเป็นจำนวนมาก พี่แฟ้บก็ตัดสินใจพาไปทำกิจกรรมร่วมกันที่อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง ไปเดินป่า-ร้องเพลงท่ามกลางธรรมชาติ จากกิจกรรมตรงนั้นก็ขยายและสร้างเป็นกลุ่มรักษ์เขาชะเมาขึ้นมาเมื่อปี 2537 พาเด็กๆ ไปทำกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น ค่ายเยาวชนสานฝันสู่ป่าสวย พี่แฟ้บนำความรู้ตอนทำค่ายสมัยที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยรามคำแหงมาใช้ จนปี 2541 แนวคิดภาคประชาสังคมกำลังได้รับความนิยม จากค่ายสิ่งแวดล้อมพัฒนามาเป็นค่ายวัฒนธรรม พาเด็กๆ ไปรู้จักท้องถิ่นของตนเอง
“ช่วงนั้นพี่ใช้เวลาหลังเลิกงาน 5 โมงเย็นเดินไปเคาะประตูตามบ้านประมาณ 8 หมู่บ้าน ชวนคนมาเข้ากลุ่ม ใช้เวลาประมาณครึ่งปี ได้ตัวแทนหมู่บ้านละ 5 คน รวมเป็น 40 คน มาช่วยกันทำ” พี่แฟ้บอธิบายถึงขั้นตอนการทำงาน ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากคนในพื้นที่ เด็กเรียนรู้จากผู้ใหญ่ในชุมชนตนเอง เกิดปฏิสัมพันธ์กันในชุมชน
กิจกรรมของกลุ่มรักษ์เขาชะเมาแบ่งออกเป็นสองส่วน กิจกรรมที่พาไปทำตลอดทั้งปี เช่น พาไปทำประมง ทำขนมไทย เรียนรู้เรื่องสมุนไพร เป็นต้น และส่วนของงานค่ายประจำปี ซึ่งจะจัดทุกเดือนธันวาคม เป็นการนำเอากิจกรรมทั้งหมดตลอดทั้งปีที่เด็กๆ ไปทำ มาสรุปไว้ในค่าย เด็กที่มาเข้าค่ายอายุขั้นต่ำที่ผ่านเกณฑ์ คือ 10 ปี เพราะต้องมีนอนค้างคืนด้วย แต่เด็กที่อายุต่ำกว่าก็สามารถมาได้ เพียงแต่จะไม่ได้ค้างคืน
“ค่ายใหญ่เราจะตั้งชื่อว่า ‘เรื่องเก่าที่บ้านเกิด’ เแล้วแต่ละปีก็จะเป็นชื่อตอนๆ อย่างปีนี้ชื่อตอนว่า ‘เปิดทุ่ง เล่นรู้’ เพราะในปีที่ผ่านมาเราพาเด็กๆ เรียนรู้ในพื้นที่ตำบลทุ่งควายกิน ไปหาความรู้ เรื่องของเล่นบ้าง เรื่องอาหาร หรือสมุนไพร”
และภายใต้การเรียนรู้ ‘ชุมชน’ หนีไม่พ้นบริบทสังคมจังหวัดในแง่ที่ระยองเป็นหนึ่งในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) ทำให้พื้นที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ การเข้ามาของนักธุรกิจ แรงงานข้ามชาติ (ที่หมายรวมถึงลูกๆ ของพวกเขาด้วย) และชาวบ้านเดิมที่อาศัยในพื้นที่ ความหลากหลายทางสังคมยิ่งเรียกร้องให้ผู้คน โดยเฉพาะเยาวชนในพื้นที่ต้องติด ‘เครื่องมือการเรียนรู้’ นอกจากนี้พี่แฟ้บมองว่าการมุ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจมากเกินไป จะทำให้ลบเลือนความสำคัญของการเรียนรู้แบบนอกห้องเรียน พี่แฟ้บจึงตั้งใจที่จะทำ อีแอลซี (ELC: Eastern Learning Corridor) ออกมาสวนย้อน EEC เป็นการเรียนรู้อย่างมีความสุข ผ่านการให้เด็กไปรู้จักรากเหง้าชุมชน ทำให้เขาสามารถกำหนดวิถีชีวิตตัวเองได้
“ภายใต้อีอีซีที่เข้ามา พี่อยากให้ฝั่งตะวันออกของระยองชูประเด็นยุทธศาสตร์การเกษตรและการท่องเที่ยว ซึ่งเราไม่อยากพูดอย่างเดียว แต่อยากให้เด็กมามีส่วนร่วม ปีหน้าเราจะผลักดันเด็กๆ ให้ลงไปเก็บข้อมูลในชุมชนรู้ว่ามีแหล่งเรียนรู้ของเขานะ ภาคภูมิใจในพื้นที่ของเขา ฝั่งนี้ที่ควรเป็นเกษตรและท่องเที่ยวเพราะเรามีของ ให้เด็กๆ ไปรู้จักกับมัน
“ความรู้ในโรงเรียนมันไม่พอในการตอบโจทย์ชีวิต เด็กมาเรียนแบบนี้มีความสุขเพราะไม่มีเรื่องของอำนาจ การบังคับ มีอิสระ มันเป็นศิลปะสุนทรียะของชีวิต พี่ชอบคิดว่าถ้าเรามีจินตนาการในวัยเยาว์ที่สวยงามมันจะเป็นเกราะป้องกันเราเวลาโตขึ้นแล้วเจอวิกฤติเลยนะ เป็นภูมิคุ้มกัน เป็นสุนทรียะที่หล่อหลอมเรา และถ้าเราผูกพันกับชุมชน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน มันจะเป็นที่ไว้ให้เราพิงหลัง”
เรียนรู้ผ่านการเล่นในลานกว้าง
หลังจากทำกิจกรรมให้สมาชิกค่ายสานสัมพันธ์กันในช่วงครึ่งวันแรก มีตั้งแต่ให้แนะนำตัว จับคู่กับคนที่ไม่เคยรู้จักแล้วให้วาดหน้าเพื่อน เล่นเกมไล่จับ ทำให้เด็กๆ คุ้นเคยกัน ก็เข้าสู่กิจกรรมในช่วงบ่าย คือ การเข้าซุ้มกิจกรรม
ระยะทางจากโรงยิมมาถึงลานจัดกิจกรรมนั้นไม่ไกลมากนัก เพราะอยู่ในบริเวณวัดเขาเนินดิน เป็นลานกว้างขนาดใหญ่ รายล้อมด้วยต้นไม้ ซุ้มทางเข้าทำจากไม้ไผ่ตกแต่งด้วยริบบิ้นหลากสีสัน เมื่อเดินผ่านเข้ามาก็จะพบลานกว้างนั้นเต็มไปด้วยซุ้มกิจกรรมทั้งหมด 4 ซุ้ม ซุ้มบ้านเรียนหนุมาน ซุ้มตุงใยแมงมุง ซุ้มห้องเรียนชุมชน และซุ้มโรงเรียนบ้านเหล่ากกโก จังหวัดสระแก้ว ตั้งล้อมรอบลานกว้าง ทั้งหมดเป็นซุ้มที่ชาวบ้านเครือข่ายกลุ่มรักษ์เขาชะเมามาจัด ในช่วงบ่ายจะเป็นกิจกรรมให้เด็กเข้าไปเรียนตามซุ้มที่อยู่ในลาน โดยให้เด็กตัดสินใจเองว่าอยากเรียนซุ้มไหนก็ได้ พอพี่เลี้ยงอธิบายเสร็จ เด็กๆ ก็พากันเข้าไปในลานเพื่อเดินหาบูธที่ตัวเองสนใจ
บ้านเรียนหนุมาน
ซุ้มแรกที่ตั้งติดกับทางเข้า เป็นซุ้มที่เด็กๆ ยืนล้อมโต๊ะตัวยาวกันเต็มไปหมด เมื่อเดินไปดูใกล้ๆ ก็จะเห็นว่าบนโต๊ะมีกล่องไม้วางอยู่จำนวน 3-4 กล่อง ภายในบรรจุบล็อกไม้เป็นลักษณะต่างๆ มีทั้งสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม ถัดจากกล่องไม้ก็มีสีน้ำวางเรียงรายเต็มไปหมด กิจกรรมของซุ้มนี้ คือ ให้ต่อบล็อกไม้ตามจินตนาการของตัวเอง จะต่อเป็นบ้าน ตึก หรืออะไรก็ได้ เด็กทุกคนก็สร้างสรรค์บ้านของตัวเองอย่างเต็มที่ บางคนเอาบล็อกสามเหลี่ยมต่อบนบล็อกสี่เหลี่ยมเป็นบ้านลักษณะที่พบเห็นบ่อยๆ หรือบางคนก็นำบล็อกสี่เหลี่ยมขนาดเล็กต่อบนวงกลม พอต่อเสร็จก็คว้าพู่กันมาระบายสีตามชอบ ระหว่างที่เด็กๆ ทำกิจกรรมก็จะมีผู้หญิงคนหนึ่งที่คอยดูแล ให้คำแนะนำเด็กๆ เมื่อได้พูดคุยกันจึงได้รู้ว่าผู้หญิงดังกล่าว คือ เก๋ กัลญา คุณแม่ลูกสามเจ้าของ ซุ้มบ้านเรียนหนุมาน
“ที่ตั้งชื่อว่าบ้านเรียนหนุมาน เพราะลูกพี่ชอบดูหนุมาน”
บ้านเรียน หรือ homeschool เก๋เล่าถึงที่มาว่า เกิดจากการที่ลูกสาวคนโตของเธอไม่มีความสุขกับการไปโรงเรียน จะแสดงอาการร้องไห้หรืออาเจียนออกมา ด้วยความเป็นห่วงลูกเธอก็พยายามหาวิธีแก้ไข จนไปเจอว่ามีการทำบ้านเรียน โดยพ่อแม่เป็นคนสอนลูกเอง เก๋ก็ตัดสินใจพาลูกออกมาทำบ้านเรียนของตัวเอง บ้านเรียนหนุมานของเธอเน้นให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ เป็นพื้นที่ให้ลูกได้ค้นหาความสนใจของตัวเอง
“อย่างตัวบล็อกไม้เราให้อิสระเด็กในการจัดการว่าเขาอยากออกแบบแบบไหน พี่จะไม่ติดกาวเลยนะ เพราะเด็กเขาจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ วันนี้เป็นตึก พรุ่งนี้เป็นอุโมงค์ แล้วการทำอันนี้มันสอนหลายอย่างเลยนะ เช่น ฟิสิกส์ ถ้าต่อไม่สมดุลมันจะล้ม เด็กเขาก็จะเรียนรู้ตรงนี้ มันช่วยสร้างความมั่นใจ ภาคภูมิใจให้กับตัวเด็กผ่านกิจกรรมที่ทำ”
ซุ้มตุงใยแมงมุม
ตรงข้ามกับบ้านเรียนหนุมานจะพบกับกลุ่มคนที่นั่งบนเสื่อ แต่ละคนกำลังหยิบแผ่นลักษณะเป็นห้าเหลี่ยม พันด้วยไหมพรมหลากหลายสีสัน ‘ตุงใยแมงมุม’ ชื่อที่ใช้เรียกแผ่นไหมพรมพวกนั้น ‘นะโม’ ชายหนุ่มเจ้าของซุ้มดังกล่าวได้อธิบายถึงที่มาของตุงใยแมงมุมว่าเป็นเครื่องสักการะชนิดหนึ่ง นิยมใช้ในแถบภาคเหนือและอีสาน ซึ่งวิธีการทำ คือ เอาไม้เสียบลูกชิ้นมา 2 ไม้ วางเป็นรูปกากบาทก็จะมัดด้วยไหมพรม ขณะที่พูดนะโมก็ทำท่าประกอบด้วยเผื่อให้เด็กๆ เข้าใจมากขึ้น พอประกอบไม้เสร็จ นะโมก็อธิบายว่าขั้นตอนต่อไปขึ้นการขึ้นรูปโดยเอาไหมพรมมาพันรอบๆ ไม้ ลวดลายก็ตามความชอบของแต่ละคน พออธิบายเสร็จเขาก็แจกไม้ให้กับเด็กๆ ซึ่งแต่ละคนพอได้อุปกรณ์ครบ ก็ลุกขึ้นหาที่เหมาะๆ ในการสร้างสรรค์งานของตัวเอง
ห้องเรียนชุมชน
ข้ามมาที่อีกฟากของลานกิจกรรม มีซุ้มตั้งติดกับ 3 ซุ้ม ซุ้มแรกสุดมีเด็กยืนรอบเป็นวงกลม กลางวงมีชายหญิงสองคน ฝ่ายหนึ่งกำลังถือไม้ทุบลงไปในอ่างไม้ เป็นขั้นตอนการทำขนมข้าวตู ถัดมาอีกซุ้มมีเด็กๆ นั่งพับเพียบบนเสื่อ แต่ละคนกำลังขะมักเขม้นกับการปั้นแป้ง มีทั้งสีขาวและฟ้า โดยมีหญิงสูงวัยคอยสอนทำขนมไข่เต่าแห้ง ดัดแปลงมาจากปลากริมไข่เต่า และซุ้มสุดท้ายเป็นซุ้มทำขนมครก เด็กๆ ช่วยกันหยอดแป้ง แคะขนมครกกันอย่างสนุกสนาน บางคนก็นั่งจดวิธีการทำที่ถามจากคนในซุ้มพร้อมกับกินขนมครกที่เพื่อนทำ
ทั้งสามซุ้มเป็น ซุ้มห้องเรียนชุมชน เป็นชุมชนที่เด็กๆ เคยไปลงพื้นที่ทำกิจกรรมกันมาก่อน เมื่อได้พูดคุยกับเจ้าของซุ้มทั้งหมด ล้วนแล้วแต่เป็นคุณป้าคุณลุงวัย 50 ปีขึ้นไป พวกเขาเล่าว่ามาออกซุ้มทุกปีตั้งแต่ที่เริ่มทำค่ายนี้แรกๆ ที่มากันก็เพราะอยากเอาความรู้ถ่ายทอดให้กับเด็กๆ ในแต่ละปีก็จะเอากิจกรรมมาทำไม่เหมือนกัน อย่างปีที่แล้วก็สอนทำอาหาร และมีนาจำลองให้เด็กๆ ลองปลูกข้าว
บรรยากาศเด็กๆ ในลานกว้างนั้นมีความหลากหลาย บางคนตั้งใจกับการจดบันทึก ถามข้อสงสัย หรือบางคนเน้นลงมือทำ อยากเข้าซุ้มไหนก็ได้หรือถ้าไม่ชอบซุ้มที่เข้าก็เปลี่ยนซุ้มได้ทันที ไม่มีการบอกว่า “เธอต้องเข้าให้ครบทุกซุ้ม” ไม่มีการตำหนิจากผู้ใหญ่ อาจเพราะบางคนได้ความรู้จากการลงมือจด แต่บางคนอาจจะได้จากการลงมือทำ แต่สุดท้ายแล้วผลลัพธ์พวกเขาล้วนเหมือนกัน คือ ได้ประสบการณ์ เป็นการเรียนรู้ที่อิสระตามความหมายของมัน
ระหว่างที่ทำกิจกรรม พี่เลี้ยงก็จะคอยเดินดู คอยตอบคำถามเด็กๆ ซึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมดภายในค่ายก็เป็นการทำงานของทีมพี่เลี้ยง คธาศักดิ์ อ้วนล่ำ หรือ เฟิร์ส วัย 21 ปี หนึ่งในทีมพี่เลี้ยง เขาอธิบายถึงขั้นตอนการทำค่ายให้ฟังว่า จะมีการประชุมก่อน 1 เดือนเพื่อเตรียมว่าจะทำอะไรบ้าง เช่น กิจกรรมที่พาน้องไปลง การแสดงในงาน เป็นต้น โดยจะมีกลุ่มพี่รุ่นใหญ่อดีตเด็กค่าย ที่เขากลับมาช่วยงานกลุ่มรักษ์เขาชะเมา กลุ่มพี่ๆ จะช่วยคิดธีมกิจกรรมในแต่ละปี แล้วสอนความรู้ให้ทีมพี่เลี้ยงไปสอนเด็กในค่ายต่อได้ ซึ่งเฟิร์สก็เป็นอดีตเด็กค่ายที่เลื่อนขั้นมาเป็นพี่เลี้ยง เข้าค่ายตั้งแต่อายุ 10 ขวบ
“มันสนุก ไม่มีผิดมีถูก ได้ทำอะไรหลายๆ อย่าง เรียนรู้อย่างนี้สนุกกว่า ในห้องเรียนมันจะเครียดๆ” เฟิร์สกล่าว
เรียนตามบ้าน
วันสุดท้ายของการทำกิจกรรม เป็นวันสำหรับการลงพื้นที่ไปเรียนรู้ในชุมชน มีตัวเลือกให้เด็กๆ เป็นบ้านทำขนม บ้านทำอาหาร บ้านสมุนไพร และบ้านของเล่น โดยให้เด็กๆ แต่ละกลุ่มตัดสินใจว่ากลุ่มตัวเองอยากไปเรียนที่บ้านไหน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5 นาทีแต่ละกลุ่มก็ได้ข้อสรุป เมื่อเลือกกันได้แล้ว ทีมพี่เลี้ยงก็ปล่อยแต่ละกลุ่มให้ไปขึ้นรถกระบะที่จอดเรียงรายอยู่ 3-4 คัน เพื่อไปบ้านที่เลือกไว้ พอขึ้นรถครบทุกคัน แต่ละคันก็สตาร์ทรถแยกย้ายกันไปตามทางของตัวเอง
สวนสมุนไพรของตาธิ
ตลอดสองข้างทางของการเดินทางเต็มไปด้วยทุ่งข้าวสีเขียว ลมเย็นๆ ในเดือนธันวาคมคอยพัดมา ทำให้อากาศหลังกระบะเย็นสบาย แม้จะเป็นเวลาเช้าแดดแรงก็ตาม จุดหมายปลายทางเป็นร้านขายของชำ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับทุ่งนา เมื่อรถดับเครื่องเด็กๆ ก็พากันเดินลงมาสำรวจรอบๆ บ้าน ก่อนที่พี่เลี้ยงจะเรียกให้ไปรวมตัวเพื่อพบกับเจ้าของร้านและผู้ที่ให้ความรู้ในวันนี้
สุทธิ นิสัยมั่น หรือ ตาธิ วัย 78 ปี เดินมาต้อนรับเด็กๆ พร้อมกับแนะนำตัวเองให้เด็กๆ ได้รู้จัก ตาธิเล่าต่อว่าตนเองเรียนวิธีการรักษามาจากพ่อและครูคนอื่นๆ ซึ่งการรักษาของตาธิจะเป็นหมอยาพื้นบ้านผสมกับศาสตร์ความเชื่อ เพราะก่อนจะทำการรักษาต้องมีพิธีไหว้ครู หรือเวลาปรุงยาก็ต้องสวดคาถาด้วย ยาที่ใช้ทำมาจากสมุนไพรที่ปลูกอยู่ในสวนของตาธิเอง คนไข้ส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ละแวกนั้น
โรคแรกที่ตาธิสอนให้เด็กรู้จัก คือ โรคเริม อุปกรณ์การสอนของตาธิเป็นลังกระดาษและปากกาหนึ่งแท่ง ตาธิก็วาดรูปพร้อมกับอธิบายเพื่อให้เด็กๆ เข้าใจโรคเริม พร้อมทั้งวิธีแก้ พอสอนเสร็จ ‘พี่กิ๊ฟ’ หรือ พจนา ศุภผล ก็ให้เด็กๆ วาดตารางจำนวน 9 ช่องลงในสมุด พี่กิ๊ฟเองก็เป็นอดีตเด็กค่าย ที่เคยมาทำกิจกรรมเรียนสมุนไพรพื้นบ้าน ก็ได้รู้ว่าตัวเองชอบแพทย์แผนโบราณเลยศึกษาเรียนต่อ หลังจากจบออกมาก็กลับมาทำงานที่บ้านเกิด พาเด็กๆ ไปรู้จักกับแพทย์แผนไทย
พอเขียนเสร็จพี่กิ๊ฟก็ให้พี่เลี้ยงอ่านประโยคให้เด็กเขียนลงในตาราง ประโยคมีหลากหลาย ฟังดูแปลกๆ เช่น แก้ร้อนใน มีผล ใบรี แก้ปวดฟัน เป็นต้น มีทั้งหมด 9 ประโยค พี่กิ๊ฟอธิบายต่อว่าจะพาเด็กๆ ไปเดินดูสวนสมุนไพรของตาธิ โดยถ้าเจอต้นไม้หรืออะไรที่คิดว่าตรงกับประโยคที่บอกไป ก็ให้เขียนลงในช่องที่ตัวเองคิดว่าคู่กัน
สวนสมุนไพรของตาธิตั้งอยู่บริเวณหลังบ้าน ภายในสวนเต็มไปด้วยต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ คณะชมสวนพากันเดินไปหยุดที่ต้นแรกเป็นต้นมะเฟือง กำลังออกผลเต็มต้น ตาธิอธิบายถึงสรรพคุณของมะเฟืองที่ช่วยเรื่องขับถ่าย เลือดออกตามไรฟัน พร้อมกับเด็ดใบให้เด็กๆ ลองชิม แต่ละคนรับไปชิมกันอย่างสนุกสนาน บางคนก็ขอลองชิมผลมะเฟือง ตาธิก็อนุญาตให้เด็กๆ กินได้ตามสบาย ถัดจากต้นมะเฟืองก็เป็นต้นมะม่วงหาวมะนาวโห่ ขณะที่ตาธิอธิบาย เด็กบางคนก็เด็ดใบชิมทันทีโดยไม่กลัว พออธิบายต้นนี้จบ ตาธิก็พาเด็กไปทำความรู้จักกับต้นอื่นๆ เด็กบางคนก็เดินตามไปฟังอย่างใกล้ชิดพร้อมกับจดบันทึกตาม บางคนก็เดินเล่นในสวน เด็ดใบต้นตามๆ ชิมกัน ชวนกันวิเคราะห์ว่ามันคือต้นอะไร เด็กๆ บอกว่าบางต้นที่บ้านปลูก ทำให้รู้จัก
ใบหม่อน เด็กหญิงวัย 10 ปี กำลังลองชิมใบจากต้นสิงหโมรา ซึ่งตาธิบอกว่ามีสรรพคุณช่วยแก้มะเร็งได้ หลังจากชิมไปครั้งแรก เด็กหญิงบอกว่ารสชาติของมันขมๆ แต่ไม่มากนัก หลังจากชิมต้นนี้เสร็จใบหม่อนก็ลองไปชิมต้นอื่น บางต้นเด็กหญิงก็สามารถบอกชื่อได้ทันที เพราะที่บ้านก็ปลูกเหมือนกัน การเข้าค่ายครั้งนี้เป็นปีที่ 3 ใบหม่อนเริ่มเข้าค่ายตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก โดยมีพ่อเป็นคนพามา เหตุผลที่ทำให้ยังมาเรื่อยๆ ใบหม่อนตอบพร้อมรอยยิ้มว่า คือความสนุกที่ได้เล่น ได้ทำกิจกรรมต่างๆ
หลังจากเดินชมสวนได้พักใหญ่ๆ ก็ได้ยินเสียงเรอของเด็กๆ หลังจากที่ชิมสมุนไพรในสวนเกือบครบทุกต้น พี่กิ๊ฟก็พาเด็กๆ กลับมานั่งในร้านขายของชำเพื่อบอกลาตาธิ และเดินขึ้นรถกระบะคันเดิมเพื่อกลับไปที่วัด ขามาเด็กๆ พกมาแค่สมุดและปากกา แต่ขากลับมือของเด็กๆ เต็มไปด้วยผลไม้ สมุนไพรที่พากลับมาจากบ้านตาธิ ถือเป็นของฝากให้กับเด็กๆ
เมื่อทุกกลุ่มกับมาถึงวัด พี่เลี้ยงก็พาเด็กไปรับประทานอาหารกลางวัน ก่อนจะนัดรวมตัวกันตอนบ่ายโมงเพื่อสรุปกิจกรรม ให้แต่ละกลุ่มเขียนอธิบายสิ่งที่ตนเองไปเรียนมาให้เพื่อนกลุ่มอื่นๆ ฟัง มีอุปกรณ์เป็นกระดาษแผ่นใหญ่และปากกาหลายสี หลังจากกลุ่มสุดท้ายออกมานำเสนอเสร็จก็ถึงเวลาปิดค่าย พร้อมเปิดใหม่อีกครั้งในปีหน้า
ภาพสุดท้ายของค่าย เป็นภาพที่เด็กๆ พากันเก็บของ สะพายกระเป๋าเตรียมกลับบ้าน เหมือนกับวันแรกที่พวกเขามาเข้าค่าย แต่ต่างกันตรงที่พวกเขาได้ประสบการณ์ติดตัวกลับไปด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุดอาจไม่ใช่แค่ความรู้ที่ได้รับ แต่การได้มีพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ลองทำสิ่งที่ชอบ ได้แสดงความคิดเห็น โดยไม่มีคำว่าถูกหรือผิด มีอิสระที่จะเล่นและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เกิดขึ้นได้ในชุมชน