- กอล์ฟ-ธนุพล ยินดี นักการละครและเจ้าหน้าที่ กลุ่มมะขามป้อม หนึ่งในผู้จัด ผู้ริเริ่ม และเจ้าของความฝันอยากเห็นพื้นที่รวมเครือข่ายศิลปินเชียงใหม่ให้มาทำงานขับเคลื่อนประเด็นร่วมกัน
- กอล์ฟอยากชวนศิลปินส่งเสียงผ่านละคร เพราะเราต่างถูกกดทับอยู่และไม่ได้ถูกฝึกให้ใช้สิทธิใช้เสียง แต่ก็ต้องเล่ามันออกมาอย่างมีสุนทรียะ
- จริงๆ แล้วศิลปินรุ่นใหม่อย่างกอล์ฟมีโอกาสไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่กลับปัดข้อเสนอนี้ไป โดยให้เหตุผลว่า “ยิ่งมันกดฉันใช่ไหม แพชชั่นยิ่งร้าย ยิ่งท้องฟ้ามืดเท่าไร ดวงดาวยิ่งสว่างและสวยมากเท่านั้น ดังนั้นฉันจะไม่ยอมไปไหนจนกว่าประเทศฉันจะดี”
ตอนเห็นโปสเตอร์งาน Act Up: Chaingmai Transformative Theatre Festival ครั้งแรกผ่านฟังก์ชั่นอีเวนต์ในเฟซบุ๊ค คำอธิบายอีเวนต์นี้ขึ้นว่ามันคือ เทศกาลละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง ครั้งที่ 1 แถมพ่วงด้วยว่าละครจะมีทั้งหมด 8 เรื่อง จาก 8 กลุ่มละครทั่วจังหวัดเชียงใหม่ พวกเขาจะมา act up – คำกริยาที่แปลว่า ‘แสดงอาการออกมา’ หรือ ‘ทำให้สภาพที่เป็นอยู่แสดงอาการออกมา’ – ประเด็นสังคมอย่างเข้มข้น …เข้มข้น ในโปสเตอร์ใช้คำนี้จริงๆ
ความสนใจแรกไม่ใช่แค่เรื่องละคร แต่อยากรู้ว่านักการละครทั้งมืออาชีพและรุ่นใหม่ เขากำลังพูดคุยกันเรื่องอะไร ประเด็นทางสังคมที่พวกเขาอยากสื่อสารคือเรื่องอะไร และด้วยท่าทีน้ำเสียงแบบไหนกัน
และนี่คือลิสต์รายชื่อกลุ่มนักการละครและประเด็นที่สื่อสารในงานนี้
- Orange: ประเด็นโรค/ภาวะซึมเศร้า โดย กลุ่มนักการละครรุ่นใหม่ Sirisook Dance Theatre
- ปีก: ประเด็นการเหยียดชาติพันธ์ุโดยเฉพาะแรงงานเพื่อนบ้าน โดย กลุ่มละครมืออาชีพ มะขามป้อม
- FARmily: ความกดดันกะเกณฑ์ชีวิตจากคนในครอบครัว โดย กลุ่มนักการละครรุ่นใหม่ Chapter One
- WHY? สิ่งแวดล้อมที่เชื่อมกับการเมือง โดย กลุ่มละครมืออาชีพ พระจันทร์พเนจร
- กระดานดำ: การไร้อิสรภาพในการศึกษา โดย กลุ่มนักการละครรุ่นใหม่ Define Love
- ขี้แห้งจับตาหมา: ความสวยงามตามกรอบสังคม จากนักการละครมืออาชีพ Foong Bur Dance Theatre
- THE CAGE: กรอบหรือกงขังมนุษย์ จากกลุ่มนักการละครรุ่นใหม่ ลานยิ้มการละคร
- HO Butoh Contempolary Dance: และการตีความเรื่องชาตินิยมในบ้านเรา โดย กลุ่มนักการละครมืออาชีพ Sonoko Prow & Khandha Arts
การศึกษา ครอบครัว เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ อิสรภาพ – คือหมวดใหญ่ที่ศิลปิน …ซึ่งนัยหนึ่งก็คือเพื่อน พี่น้อง คนในสังคม ยังรู้สึกเจ็บปวดและอึดอัดกับมันอยู่
จาก 4 ใน 8 เรื่อง ซึ่งจัดแสดงโดยกลุ่มละครคนรุ่นใหม่ – Orange, FARmily, กระดานดำ, THE CAGE: ภาวะซึมเศร้า ครอบครัว สถานการณ์การศึกษาไทย และความสวยงามที่สังคมเป็นคนกำหนด – ทั้งหมดนี้กำลังจะบอกอะไรกับเราไหมว่า คนรุ่นใหม่ในยุคสมัยนี้ เจ็บช้ำและรู้สึกถูกกดขี่กดดันจากสถานการณ์แบบใด? เขามองประเด็นทางสังคมด้วยสายตาอะไร?
วางประเด็นความคับข้องใจของคนในสังคมไว้ข้างหนึ่งก่อน The Potential ชวน กอล์ฟ-ธนุพล ยินดี นักการละครและเจ้าหน้าที่ กลุ่มมะขามป้อม หนึ่งในผู้จัด ผู้ริเริ่ม และเจ้าของความฝันอยากเห็นพื้นที่รวมเครือข่ายศิลปินเชียงใหม่ให้มาทำงานขับเคลื่อนประเด็นร่วมกัน
พูดคุยกันถึงเบื้องหลังโครงการ Act Up ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมาในฐานะโครงการที่ต้องการสร้างกระบวนการผลิต ‘ผู้นำนักการสื่อสารละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง’ เริ่มตั้งแต่กระบวนการอบรมการเป็นผู้นำการสื่อสารละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง และอบรมทักษะการละคร ช่วงเวลาฝึกซ้อมละคร การออกทัวร์ทั่วเมืองเชียงใหม่ของแต่ละทีม ทีมละ 2 ครั้ง มาจนถึงอีเวนต์งาน Act up ณ Dream space Gallery CNX เมื่อวันที่ 2-3 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
ไม่ใช่แค่ถอยเวลากลับไปตลอด 1 ปี แต่การเกิด Act Up ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ธนุพลใช้เวลา 2 ปี ศึกษาหรืออาจเรียกว่าเป็นการทำวิจัยส่วนตัวเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของเครือข่ายศิลปินในพื้นที่ชุมชน ตั้งต้นจากคำถามที่ว่า เชียงใหม่ที่ใครก็ว่าเป็นพื้นที่ศิลปะศิลปิน แต่เพราะอะไรการรวมตัวกันขับเคลื่อนประเด็นสังคม ที่ร่วมกันตั้งแต่ภาครัฐ เอกชน และภาคสังคม จึงไม่เคยเกิดขึ้นจริงสักครั้งเลย?
หากคนหนุ่มสาวขับเคลื่อนชีวิตด้วยไฟฝันและจินตนาการข้างใน ธนุพลก็เช่นนั้น ฝันของเขาคืออยากเห็นการรวมตัวของศิลปินในพื้นที่ ศิลปินต้องไม่ไส้แห้ง และร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นสังคมที่กดทับพวกเราอยู่ – เพราะศิลปะไม่ใช่แค่สุนทรียะแต่คือพื้นที่ระบายออกซึ่งความคับข้องใจ การถูกกดทับกดขี่ หรือส่งมอบอารมณ์บางอย่างที่ไม่สามารถสื่อสารผ่านตัวอักษรหรือการบอกเล่าทางตรงได้ ในหลายพื้นที่ ศิลปะจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อพลิกเปลี่ยนความคิดคนและสร้างความเคลื่อนไหว (movement) บางอย่าง
เหมือนที่คนหนุ่มสาวและทุกเพศออกมา act up หลากประเด็นในพื้นที่กลางแห่งนี้
ที่มาโปรเจ็คต์ Act Up
Act Up เป็นพื้นที่ที่อยากสร้างนักการละครเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมเชียงใหม่ วางไว้ว่าอยากทำงานกับนักการละครเยาวชน 4 กลุ่มและมืออาชีพ 4 กลุ่ม ที่วางแบบนี้เพราะเป็นจำนวนที่ไม่มากไม่น้อยไป จัดการได้ แต่กระบวนการที่ใช้จะเป็นกระบวนที่เน้นสร้างการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ในตัวเอง ในกลุ่ม หรือสังคมที่เขาอยู่ ทำทั้งหมดนี้โดยใช้กระบวนการละครนำ ซึ่งเราคิดว่าละครและงานศิลปะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เริ่มต้นตั้งแต่ในคนทำงาน เปลี่ยนทั้งวิธีคิด ท้าทายความเชื่อเก่าๆ ตั้งคำถามกับความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมาตลอดแล้วพยายามรื้อสร้างความเชื่อใหม่ๆ ที่สร้างคุณค่าร่วมกันในสังคม
อันนี้รู้สึกว่าจะเป็นโจทย์แรกเลยที่ว่า “การเปลี่ยนแปลงคืออะไร?” ก็คือเริ่มที่ตัวเองก่อน ถ้าคุณเปลี่ยนได้ คนอื่นจะเปลี่ยนได้ เราอยากเห็นแววตาที่เป็นความเชื่อว่าเขาเปลี่ยนตัวเองได้ มันต้องใช้เวลาในการ empowering สูงมาก
เห็นว่าการเดินทางของ Act Up ไม่ใช่แค่หน้างานวันนี้ แต่ดำเนินงานมาเกือบปีแล้ว
(พยักหน้า) กิจกรรมมีตลอดทั้งปีเลย ช่วงสองเดือนแรกจะเป็นค่ายแลกเปลี่ยนให้พี่ๆ นักการละครรุ่นใหญ่ แต่ละกลุ่มออกแบบกิจกรรมและหลักสูตรเพื่อแชร์ประสบการณ์ให้น้อง และน้องก็ได้แชร์ประสบการณ์ให้กลุ่มพี่ๆ ได้ฟังด้วย
หลังจากนั้นอีกสามเดือน เราจะให้ทุนเล็กๆ กับแต่ละกลุ่มไปผลิตงาน ออกแบบกระบวนให้พี่กับน้องได้เจอกันบ่อยๆ ทั้งเรื่องจัดที่ซ้อม เวลา หรือหาเวลามา follow up ร่วมกัน มา feed back กัน พี่ฟังน้อง น้องฟังพี่ ต่อมาอีกเดือนนึงจะเป็นช่วงที่แต่ละกลุ่มต้องไปทัวร์ด้วยเงื่อนไขว่าแต่ละกลุ่มต้องแสดงอย่างน้อย 2 รอบ ซึ่งบางกลุ่มก็มากกว่านั้นนะ แสดงไป 4-5 รอบก็มี แต่หมายความว่ามันจะเกิดพื้นที่ศิลปะในเชียงใหม่อย่างน้อย 16 ที่ในเดือนเดียว
การเลือกสถานที่แสดงละครก็ต้องดีไซน์นะว่าทำไมคุณไปเล่นที่นี่ ไม่ใช่เพราะเขาให้คุณเล่นฟรี แต่เพราะคุณรู้จักที่นี่ เพราะ performance art ที่คุณจะแสดงมันเหมาะกับพื้นที่นั้นๆ เพราะคุณรู้ว่าถ้าเล่นที่นี่มันมีความเป็นไปได้ที่จะเกิด social change ต่อพื้นที่นี้ได้ หรือ ถ้าคุณจะไปเชิญคนมาดู คนกลุ่มไหนที่คุณเชิญมาแล้วน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเด็นที่คุณจะเคลื่อนจริง นี่คือสิ่งที่เราก็พยายามออกแบบกระบวนการให้เห็นว่าการออกแบบเพื่อพัฒนาคนดู มันทำได้ตั้งแต่การเลือกสถานที่แล้วนะ
เบื้องหลังคือกระบวนการสร้างนักการละคร งาน Act Up: Chiang Mai Transformative Theatre Festival เหมือนเป็นงานโชว์ผลงานหรือเปล่า หรือความตั้งใจต่องานวันนี้คืออะไร
กับงานวันนี้ ใจจริงเราอยากประกาศนามให้สังคมได้รู้มากกว่าว่ามันมีแปดกลุ่มนี้อยู่จริงๆ และเราไม่ได้มาเล่นๆ นะ / ซ้อมกันมา 7-8 เดือนนะ / ทัวร์มาแล้วด้วยนะ / โดนสาป โดนแช่ง โดนด่า โดนชมมาตลอดทางนะ แต่เขาก็ยังทำอยู่ เอาเข้าจริง แปดกลุ่มนี้ก็เพิ่งมาแสดงเวทีเดียวกัน แม้ว่าเขาจะเคยไปที่อื่นมาแล้ว และแม้ว่าบางทีมจะเคยแสดงร่วมกันมาก่อนหรือไปดูแต่ละทีมแสดงตอนทัวร์กันมาก่อนหน้านี้ แต่งานนี้เป็นเหมือนเวทีที่ให้พวกเขามาแสดงร่วมกันจริงๆ เวทีแรก และเราเห็นคนดูหน้าใหม่ๆ ที่เราไม่เคยรู้จักแต่คิดว่ามันเป็นแรงกระทบจากการเดินทางไปทัวร์มาตลอด 6-7 เดือนที่ผ่านมา
อีกอย่าง ที่เราฝันมากๆ คืออยากให้ภาคประชาชนในเชียงใหม่เข้าถึงงานศิลปะ งานศิลปะมันเป็นเครื่องมือที่สร้างการเรียนรู้ให้คนทำงาน และสร้างการรับรู้ให้คนดูไปด้วย
คุณกล่าวก่อนหน้านี้ว่างาน Act Up เป็นการสร้างเครือข่ายคนทำงานศิลปะในพื้นที่เชียงใหม่ มีสองคำถาม คำถามแรก – ทำไมคุณไฮไลต์คำว่า ‘เครือข่ายคนทำงานศิลปะในเชียงใหม่’ คำถามที่สอง – เข้าใจว่าเชียงใหม่ถูกบอกว่าเป็นพื้นที่ศิลปะ แต่ฟังดูเหมือนมันไม่มีเครือข่ายในพื้นที่นี้?
จริงๆ เชียงใหม่มีพื้นที่ performing art festival หลายที่หลายจุดนะ แต่สังเกตได้เลยว่าคนที่จัดหรือการแสดงต่างๆ ที่มาเข้าร่วมเป็นของต่างเมืองต่างประเทศทั้งนั้น ไม่เคยมีเทศกาลไหนที่รวมศิลปินท้องถิ่นมากๆ ได้ นี่คือความแตกต่างของ act up กับเทศกาลอื่นๆ ในเชียงใหม่ และเอาจริงๆ นะ พอเราจัดงานนี้ปุ๊บ เราก็ช็อกเหมือนกันที่พบว่านี่เป็นครั้งแรกของศิลปินซึ่งแม้เป็นที่รู้จักในพื้นที่ได้มาร่วมงานกันเป็นครั้งแรก คือเขารู้จัก อิ๊อ๊ะ ทักทายกันแต่ไม่เคยร่วมงานกัน เลยคิดว่า เออ… เราก็มาถูกทางเหมือนกันนะที่ทำให้ศิลปินที่ต่างทำงานของตัวเองอยู่แล้วได้มาเจอกัน
คำถามที่สอง ถ้าบอกว่าการรวมกันทำงานไม่ใช่ธรรมชาติของศิลปิน ทำไมจึงอยากทำให้เกิดเครือข่ายของนักการละคร
เพราะทำงานคนเดียวลำบากแน่ (ตอบทันที) soft power อย่างศิลปะมีอำนาจและอิทธิพลในการขับเคลื่อนคน อารมณ์ สังคม ก็จริงอยู่ แต่มันจะไม่ได้เคลื่อนร่วมกันเป็นคลื่น มันจะไม่ขับเคลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงได้เลยถ้าคุณทำด้วยตัวเองคนเดียวหรือมันไม่มีแผนยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนมวลใหญ่ เราไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องมาช่วยกันในมวลใหญ่ตลอดเวลานะ ทำงานเดี่ยวก็ได้ แต่คุณรู้รึเปล่าว่างานเดี่ยวของคุณมันอยู่ในแผนใหญ่ด้วยกันรึเปล่า อยู่ในความตั้งใจร่วมกันรึเปล่า
ประเด็นที่ 8 กลุ่มละครเลือกหยิบมาเล่า เป็นประเด็นสังคมทั้งหมด เป็นโจทย์ของ Act Up หรือแต่ละกลุ่มมีประเด็นที่อยากเล่าอยู่แล้วแต่บังเอิญรวมกันแล้วกลายเป็นประเด็นสังคมทั้งหมด?
แต่จริงๆ แล้วทุกคนทำงานและประเด็นการเมือง ประเด็นสังคมหมดเลย จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม การที่คุณลุกขึ้นมาพูดมันคือเสียงหนึ่งของสังคม ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสียงนั้นก็คือการแสดงออกทางการเมือง และศิลปะก็เป็นงานสื่อสารที่คุณทำและจับอยู่ เราอยากยกระดับการสื่อสารให้คนเห็นว่ามันไม่ใช่แค่ละคร แต่เป็นการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม อยากให้มองเห็นกระบวนการคิด ออกแบบ วิเคราะห์ปัญหา รวมไปถึงเสนอทางแก้อย่างเป็นภาพรวม ไม่ใช่แค่มองว่าฉันสนใจปัญหาซึมเศร้าแล้วจะจบแค่นั้น ไม่จริง ทุกอย่างมันลิงค์กันหมด
เช่น หนึ่งในเรื่องซึมเศร้าก็คือปัญหาการศึกษา คนทำละครต้องไม่ลืมว่าเราอยู่ภายใต้โครงสร้างสังคมเดียวกัน ภายใต้คลื่นลูกเศรษฐกิจเดียวกัน เราอาจจะถูกกระทบคนละจังหวะเวลาแต่สุดท้ายเราก็โดนเหมือนกัน
กระบวนการผลิตละครต้องชี้ให้คนทำละครเห็นว่าสิ่งที่อยากจะมาพูด อยากจะมาส่งเสียงผ่านละคร จริงๆ แล้วก็เพราะเราถูกกดทับอยู่ไง เราไม่ได้ถูกฝึกให้ใช้สิทธิใช้เสียงไง เราเลยอยากทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา แต่ก็ต้องบริหารเรื่องเล่าว่าทำยังไงให้ดูมีสุนทรียะนิดนึง
แต่สารภาพว่าตอนรับสมัครเราไม่ได้เลือกน้องที่ประเด็นนะ แค่ถามว่าเขาสนใจอะไร หมกมุ่นเรื่องอะไร มี passion อะไร สนใจเรื่องไหน กับกลุ่มน้องๆ ที่ไม่เคยเล่นละครในประเด็นทางสังคมมาก่อนเขาก็เหวอไปแป๊บนึงแล้วถามเราว่า “จะต้องยังไง สังคมแค่ไหนนะ มันต้องการเมืองขนาดไหนคะ ต้องเครียดไหมคะ?”
เราก็ค่อยๆ ให้กระบวนการเป็นตัวผ่าตัดความคิดเขา เช่น ช่วยถามว่า “หนูตั้งใจจะทำอะไร หรือหนูอยากพูดเรื่องอะไรก่อน?” เขาก็จะค่อยๆ เห็นว่า เออ… ประเด็นการศึกษาที่เขาอยากพูดถึงนี่มันก็การเมืองนะ มันก็สังคมนะ และมันก็ลิงค์กับชีวิตเขาหลายเรื่องนะ ท้ายที่สุดกระบวนการละครมันก็นำไปสู่ประเด็นที่เกี่ยวกับความคับข้องใจหรือความขัดแย้งที่ตัวเขามีต่อประเด็นนั้น ทั้งหมดนี้ใช้กระบวนการนำไม่ใช่ชี้นำ ค่อยๆ พาเขาไปเจอประเด็นที่อยากสื่อสารจริงๆ
อยากให้ช่วยเล่า process การทำงานกับนักการละครรุ่นใหม่ในช่วงพัฒนาประเด็น เพราะเข้าใจว่าก่อนจะมาที่ประเด็นนี้นักแสดงต้องทำหลายอย่างมาก เช่น เอาประเด็นมาวางเพื่อเลือกกัน ต้องวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์ว่าที่เขาแสดงออกแบบนั้นเพราะอะไร อยากให้เล่าตรงนี้เพิ่มเติมเพราะอยากทราบว่านักการละครจะเปลี่ยนสังคมได้ยังไง ด้วยกระบวนการแบบไหน
เชื่อไหมว่าเราเริ่มต้นจากการที่ให้ค้นหา being ของตัวเองก่อน โดยจะมีกิจกรรมที่ชวนให้นึกถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตของเราแต่ละคนว่ามันมีผลอย่างไรกับจุดยืนในปัจจุบัน กิจกรรมนี้จะทำให้แต่ละคนถูกปลดล็อค ได้ทบทวน ได้เติมคำตอบให้ชีวิต และเสริมพลังภายใน
จากนั้นเราจะเอาประเด็นสังคมที่แต่ละกลุ่มเลือกว่ามันเชื่อมโยงอะไรกับชีวิตส่วนตัวของแต่ละคนยังไง ทำเพื่อหาแรงขับในการทำงาน เพื่อหาคำถามที่พวกเขาใช้กระบวนการในกิจกรรมเพื่อหาคำตอบ และนำไอเดีย ความคิด ข้อความ ภาพที่ต้องการ เทคนิคการแสดงมาเสนอกันแล้วผสมผสานหาจุดเชื่อมและจุดแย้ง หาสิ่งที่น่าสนใจจากการสนทนา กระบวนการนี้เรียกว่า devising theater เพราะกิจกรรมนี้จะสร้างความเป็นเจ้าของและความ,uส่วนร่วมจากทุกคนอย่างมาก
จากนั้นเราจะชวนแต่ละกลุ่มคิดว่าถ้าประเด็นปัญหาสังคมที่จับมันคือปรากฏการณ์บนภูเขาน้ำแข็ง แล้วอะไรที่เป็นแนวคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมที่อยู่ล่างปัญหาเหล่านั้น และเมื่อเห็นแล้ว ประเด็นปัญหาที่เราจับมันไปเชื่อมโยงได้อย่างไรกับประเด็นปัญหาที่กลุ่มอื่นจับ เพราะเราต้องการให้เห็นว่าปัญหาทุกอย่างมันอยู่ภายใต้โครงการสร้างสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อที่ซับซ้อน เราจึงต้องให้ความละเอียดในการหาข้อมูล วิเคราะห์ และนำเสนออย่างเป็นเข้าใจ
เราถึงเชื่อว่าการทำละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงต้องสามารถเปลี่ยนตัวเองให้ได้ก่อนว่า เราเชื่อว่า ประชาชนอย่างเราก็มีเสียง อำนาจในการเปลี่ยนแปลง แล้วเมื่อรวมกลุ่ม รวมเครือข่ายเรายิ่งจะมีอำนาจในการต่อรองและสร้างการเปลี่ยนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ตอนที่คิดจะทำโปรเจ็คต์นี้ เราฝันเห็นภาพแบบไหน มีแรงขับอะไรที่ตัดสินใจทำมัน
ฝันของเราคือ BTF (Bangkok Theatre Festival เทศกาลละครกรุงเทพฯ) ตอนเด็กๆ เราลงไปกรุงเทพฯ เพื่อดูละครครั้งแรกแล้วแบบ “เฮ้ย BTF โอ้ มายก็อช” (ลากเสียง) มีละครเป็นร้อยเรื่องให้จิ้มๆๆ และฟรี (กดเสียง) นี่คือฝันของเรา มันติดตาตรึงใจไปหมด พอโตขึ้นเราก็มีโอกาสไปเทศกาลอื่นๆ ในต่างประเทศ … (นิ่งคิด/ตัดประโยค) แต่ไม่หรอก เรารู้ว่าแม้แต่ BTF ก็ไม่เหมาะกับบริบทสังคมเชียงใหม่ ซึ่งปัญหาตอนนั้นก็คือเราก็ไม่แน่ใจว่าอะไรคือโจทย์คนเชียงใหม่ เข้าใจไหม? เราเลยต้องไปรีเสิร์ช
รีเสิร์ชในแง่ไหน ค้นข้อมูลส่วนตัวหรือเป็นการทำวิจัยในสถาบันการศึกษา
ทำของเราส่วนตัวเลย ไปนั่งไล่อ่านวิจัยต่างๆ เวลาเขาสร้างพื้นที่ศิลปะแต่ละที่เขาทำยังไง และใช้เวลาสองปีทำรีเสิร์ช ออกไปสัมภาษณ์ผู้คน สมมุติฐานของเราตอนนั้นคือทำไมมันไม่มีพื้นที่ทางกายภาพของศิลปะในเชียงใหม่เลย แล้วมันจะโตยังไงวะ? ก็ไปถามคนหลายๆ กลุ่มที่ไม่ใช่แค่กลุ่มละคร ถาม art producer ถามนักธุรกิจ ถามคนทำงานการศึกษา ถาม NGO ถามแอคติวิสต์
ถ้าเป็นนักธุรกิจจะตอบว่าเพราะมันใช้เงินเยอะ เพราะทำแล้วมันไม่ได้อะไร มีคนมาดูงานแต่ไม่เห็นมานอนโรงแรมฉันเลย ฝ่ายการศึกษาตอบว่าเพราะมันจะขโมยเวลาเด็กๆ ออกจากห้องเรียน พวกที่ทำก็เป็นแต่พวกเด็กกิจกรรมและไม่สนใจเรียน แอคติวิสต์ก็บอก โอ๊ย พวกนี้มันติสต์กันมาก แม้เรื่องที่พูดจะดูเป็นการเมืองเหอะนะ แต่สื่อสารไม่รู้เรื่องเลย เราก็เลยพอเข้าใจว่าศิลปะในความหมายแต่ละกลุ่มมันไม่เชื่อมกันและไม่สื่อสารกัน
จากจุดเริ่มต้นของ BTF นำมาซึ่งการทำรีเสิร์ชการเกิดชุมชนละครในพื้นที่หนึ่งๆ และนำมาซึ่งงาน Act Up ในปีนี้
(พยักหน้า) และภาพ BTF มันทำให้เราไฝว้ (fight) มากนะ เราส่งใบสมัครไปที่เทศกาลละครการเมืองฝ่ายซ้ายที่ใหญ่มากของเยอรมัน ปีนั้นเขาเปิดรับศิลปินจากทั่วโลก เราเป็น 1 ใน 30 ศิลปินทั่วโลกที่อายุน้อยที่สุด ซึ่งเรางงมากว่านี่ฉันติดเหรอ? เขาให้เหตุผลว่าเพราะเราฝันแรงมาก เขาเห็นไฟในตัวเรา เลยคงอยากเห็นว่าเด็กคนนี้มันเป็นยังไงนะ ไหนเอาตัวมาดูหน่อย (หัวเราะ) พอไปดูมันแบบ … (คำอุทาน) นี่เหรอ พื้นที่ละครมันเป็นแบบนี้เหรอ มันเป็นความยั่งยืนที่มาจากการสนับสนุนภาครัฐ รัฐปันเงินจากภาษีประชาชนมาทำพื้นที่แบบนี้นะ โรงละครใหญ่มาก มีงบเป็นล้านให้ทำละครไม่ใช่แค่หมื่นสองหมื่น และบอกให้คนทำงานขายบัตรเข้าชมไปเลยเพราะสังคมต้องมีส่วนร่วม และโมเดลการเรียนรู้ศิลปะมันไปทุกทิศทุกทางไม่ใช่แค่ตัวละคร
กลับมาเมืองไทย ซัพเฟอร์ไหม ดูเหมือนมันไม่มีทางเป็นไปได้ในระยะเวลาอันใกล้
อยู่ที่วิธีการมอง เราว่าเราก็เห็นเหมือนที่ทุกคนเห็น รู้สึกเหมือนที่ทุกคนรู้สึก แต่เราจะเลือกกุมฝันหรือกุมทุกข์ ถ้าคุณเลือกจะฝัน ยังไงคุณก็มีแรงพลังจากทุกคน เคยมีคนเสนอให้ไปเรียนเมืองนอกไม่ก็ย้ายไปอยู่ที่อื่นจะได้ทำงานศิลปะได้ แต่ไม่ ฉันต้องอยู่ในพื้นที่แบบนี้แหละ อาร์ตฉันจะแพงมาก (หัวเราะ) ฉันจะมีแรงบันดาลใจในการทำอาร์ต ยิ่งมันกดฉันใช่ไหม แพชชั่นยิ่งร้าย ยิ่งท้องฟ้ามืดเท่าไร ดวงดาวยิ่งสว่างและสวยมากเท่านั้น (หัวเราะ) ดังนั้นฉันจะไม่ยอมไปไหนจนกว่าประเทศฉันจะดี