- กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้ Coding เป็นหลักสูตรที่นักเรียนทั่วประเทศต้องเรียนอย่างเป็นทางการ (National Standards) ภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 โดยเริ่มตั้งแต่ชั้น ป.1
- Coding คือ ส่วนหนึ่งของหลักสูตรวิทยาการคำนวณที่บรรจุอยู่ในสาระเทคโนโลยี กลุ่มสาระเรียนรู้วิทยาศาสตร์
- เป้าหมายโดยรวมของหลักสูตรวิทยาการคำนวณ มุ่งเน้นให้นักเรียนฝึกคิดอย่างเป็นระบบ ค้นเจอปัญหาและเงื่อนไข รู้เหตุและผล เข้าใจกระบวนการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นทักษะสำคัญและจำเป็นสำหรับเด็กในศตวรรษใหม่
- ตัวอย่างการเรียน Coding ในเด็กเล็กคล้ายกับการเล่นเกม เช่น เกมบันไดงู โดยให้ฝึกคิดหาทางออกทีละขั้น ผ่านการคิดและออกคำสั่งลูกศร ซ้าย-ขวา-หน้า-หลัง
พฤศจิกายนนี้เด็กๆ ป.1 ป.2 ป.4 ป.5 ม.1 ม.2 ม.4 และ ม.5 จะได้เรียน Coding พร้อมกันทั่วประเทศ ในฐานะหลักสูตร National Standards
คำถามพื้นฐานอย่าง Coding คืออะไร เรียนไปทำไม มีประโยชน์อย่างไร อาจสำคัญเท่าๆ กับ เรา-ในที่นี้คือเด็กในฐานะผู้เรียน และครูในฐานะผู้สอน พร้อมแล้วหรือยัง สำหรับการเรียนรู้ครั้งนี้
The Potential สนทนาอย่างจริงๆ จังๆ กับ ดร.เขมวดี พงศานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเครือข่ายและพัฒนาครู สถาบันส่งเสริมการสอน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เจ้าภาพในการออกแบบหลักสูตรและเนื้อหา การจัดการเรียนรู้ในรายวิชาวิทยาการคำนวณ (Computer Science) และสะเต็มศึกษา (Stem education) รวมถึงรับหน้าที่จัดอบรมครูทั่วประเทศให้พร้อมสอนวิชาใหม่หมาดนี้ด้วย
‘Coding for all, All for Coding’ มอตโตของหลักสูตร วิทยาการคำนวณ ที่ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวไว้ จะเป็นจริงหรือไม่ อาจจะไม่สำคัญเท่ากับตอนนี้ที่หลายคนก็ยังไม่รู้เลยว่า Coding คืออะไร
Coding วิชาใหม่ที่ใส่เข้าไปในกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์
ประเทศไทย การศึกษาถูกแบ่งออกเป็น 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้หรือ 8 กลุ่มวิชาที่เด็กทุกคนต้องเรียนเหมือนกัน หนึ่งในนั้นคือ ‘กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์’ ในกลุ่มสาระฯ วิทยาศาสตร์ สมัยก่อนไม่มีสาระเทคโนโลยี มีแต่ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ จนเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการและ สสวท. ปรับหลักสูตรโดยเอาสาระเทคโนโลยีที่เดิมทีเคยอยู่ในกลุ่มการงานพื้นฐานอาชีพ โดยเพิ่มเข้ามาอยู่ในกลุ่มสาระฯ วิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ กลุ่มสาระเทคโนโลยี ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1. วิทยาการคำนวณ สำหรับประถมศึกษา-มัธยมศึกษา
2. การออกแบบและเทคโนโลยี สำหรับชั้นมัธยมศึกษา
“วิทยาการคำนวณ มี Coding อยู่ในนั้น Coding คือ 1 ใน 3 ของวิทยาการคำนวณ”
ทำไมเด็กๆ ต้องเรียน Coding
Coding มาจากภาษาอังกฤษว่า code หมายถึงการเข้ารหัส
รหัสคือการจำลองการทำงานของมนุษย์ทีละขั้น แต่เป็นขั้นที่เล็กที่สุด มนุษย์นำมาสร้างทีละหนึ่งขั้นเพื่อให้คอมพิวเตอร์เข้าใจ
“การที่เราจะสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงาน เราหรือโปรแกรมเมอร์ต้องคิดให้เป็นขั้นตอน เพราะคอมพิวเตอร์ไม่มีทางทำเองได้”
การทำงานของคำว่า Coding จึงถูกนำมาผนวกในหลักสูตร เพื่อฝึกทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving Skill) อย่างเป็นขั้นตอนให้เด็กๆ
“ทักษะแบบนี้เหมาะกับการสร้างนวัตกร ฝึกการเป็นผู้สร้าง เด็กในศตวรรษใหม่จำเป็นต้องเรียนเพื่อฝึกทักษะนี้ คอนเทนต์อาจจะไม่สำคัญเท่าทักษะในการทำงาน แก้ปัญหา จึงจะดำเนินชีวิตได้”
ดีเดย์ เทอมสอง พฤศจิกายนนี้ ทุกโรงเรียน
จริงๆ แล้ว หลักสูตร Coding ในบางโรงเรียนที่พร้อมก็เริ่มสอนไปแล้วเมื่อปี 2561 ในนักเรียนชั้น ป.1 ป.4 ม.1 และ ม.4 แต่ปีนี้ กระทรวงศึกษาธิการประกาศเป็นหลักสูตรทั่วประเทศอย่างเป็นทางการ (National Standards) ดังนั้น พฤศจิกายน 2562 หรือเทอมสองนี้ จะมีนักเรียน ป.1 ป.2 ป.4 ป.5 ม.1 ม.2 ม.4 ม.5 ได้เรียน Coding พร้อมกัน
แน่นอน แต่ละชั้น เรียนไม่เหมือนกัน
จึงอยากให้ทิ้งแทบเล็ต สมาร์ทโฟน หรือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค ไปก่อน เพราะการสอนเขียนโปรแกรมหรือ Coding ให้เด็กเล็กโดยเฉพาะ ป.1-ป.3 แปลว่า ‘การเขียนชุดคำสั่ง’ แปลให้ง่ายกว่านั้นคือ เล่นเกม และเป็นแบบ unplugged
“ในเด็กเล็กเรามีเกมเหมือนบันไดงู ให้หาทางออก คือหาเป้าหมายให้ถูกต้องโดยเดินทีละขั้น ผ่านการใช้บัตรคำ 4 แบบ เช่น เดินซ้าย ขวา หน้า หลัง หรือถ้าอ่านไม่ได้ก็ใช้สัญลักษณ์ลูกศรแทน ให้เด็กๆ เอามาเรียงกันยังไงก็ได้ ยกตัวอย่าง ให้เดินจากบ้านไปซื้อไอติมได้ แล้วให้เขาเอาบัตรนี้ไปใส่ในตารางคำสั่งเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีคำสั่งอะไรและเรียงอย่างไรบ้าง”
ดร.เขมวดี เปรียบเทียบกับวิชาคอมพิวเตอร์ที่เด็กๆ เคยเรียนสมัยก่อนว่าตอนนั้นหัวใจหลักคือการสอนเด็กๆ ให้เป็น user เช่น แนะนำให้รู้จักฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เมาส์ ฯลฯ แต่วันนี้โลกเปลี่ยนไป ต้องขยับเด็กๆ จาก user มาเป็น programmer หรือผู้สร้าง ควบคุม รับมือ และแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี
และนี่คือเป้าหมายของหลักสูตรวิทยาการคำนวณ ในส่วนของวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science: CS) แยกตามชั้นปี
ป.1
- สามารถแก้ปัญหาอย่างง่ายโดยใช้การเปรียบเทียบ การลองผิดลองถูก การค้นหาอย่างเป็นระบบ
- เล่าเรื่องราวและกิจวัตรประจำวันได้อย่างเป็นลำดับขั้นตอน
- แสดงลำดับขั้นตอนการทำงานด้วยสัญลักษณ์ผ่านกิจกรรม unplugged เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด และหลีกเลี่ยงผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์
ป.2
- จัดลำดับขั้นตอนที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น การทำความสะอาดบ้าน การจัดวางสิ่งของ
- ทดสอบการทำงานของโปรแกรม โดยตรวจสอบทีละคำสั่ง และทดสอบกับ input หลายแบบ
- แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบโดยนำเหตุผลเชิงตรรกะมาประกอบการพิจารณา เช่น การค้นหาคำในพจนานุกรมโดยเปิดทีละครึ่งเล่ม การสืบหาสาเหตุของอาหารที่เป็นพิษ หรือเกมสืบสวนอย่างง่าย
- เขียนโปรแกรมแบบ unplugged โดยใช้เงื่อนไขต่อเนื่องกันหลายเงื่อนไข เพื่อสร้างผลลัพธ์หลายแบบ เช่นโปรแกรมปรุงอาหาร โปรแกรมห่อของขวัญ และโปรแกรมคำนวณค่าผ่านทางเข้าสวนสนุก
ป.3
- มีความคุ้นเคยกับการใช้เหตุผลเชิงตรรกะในการแก้ปัญหา สามารถจำลองการทำงานตามเงื่อนไขที่ระบุได้ สามารถใช้เหตุผลเชิงตรรกะสร้างข้อสรุปขึ้นใหม่จากข้อมูลเดิมได้
- คิดอย่างเป็นระบบเพื่อแจกแจงทางเลือกของสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นได้ เช่น การจัดเรียงสิ่งของ การจัดตารางแผนงาน
- เขียนโปรแกรมแบบ unplugged โดยใช้เงื่อนไขซ้อนกันหลายชั้น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์แตกต่างกันตามสถานการณ์และความต้องการของผู้ใช้ที่ซับซ้อนขึ้น
- เขียนโปรแกรมแบบ unplugged โดยมีการทำซ้ำแบบระบุจำนวนรอบ เช่น โปรแกรมที่สั่งให้ตัวละครเคลื่อนที่แบบเดิมหลายครั้ง
ป.4
- รู้จักคำว่า ‘อัลกอริธึม’ สามารถออกแบบอัลกอริธึมเพื่อแก้ปัญหาอย่างง่ายในชีวิตประจำวันได้ มองเห็นวิธีการที่หลากหลายที่สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ
- เขียนโปรแกรมแบบ block programming (แบบลาก-วาง) เพื่อให้ตัวละครสนทนา เคลื่อนที่ และวาดรูปได้ โดยจัดเรียงคำสั่งตามลำดับขั้นตอน (sequential)
- ตรวจหาข้อผิดพลาดของโปรแกรม (debug) ทั้งแบบ unplugged และ block programming โดยทดสอบทีละคำสั่ง และตรวจสอบสถานะเริ่มต้นของโปรแกรม
ป.5
- ใช้เหตุผลเชิงตรรกะในการแก้ปัญหา โดยการแจกแจงทางเลือก และตัดทางเลือกที่เป็นไปไม่ได้
- เขียนอธิบายอัลกอริธึมด้วยข้อความที่ชัดเจน ไม่กำกวม หรือด้วยรหัสลำลอง (pseudo code)
- เขียนโปรแกรมแบบ block programming โดยรับ input และใช้คำสั่งวนซ้ำเพื่อให้ตัวละครเคลื่อนที่หรือวาดรูปที่ต้องการ และใช้คำสั่งเงื่อนไขอย่างง่ายเพื่อให้ตัวละครตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมโดยการเปลี่ยนทิศทางหรือเปลี่ยนรูปร่างของตัวละคร
- ตรวจสอบข้อผิดพลาดของโปรแกรมที่มีการวนซ้ำโดยจำลองการทำงานของโปรแกรมในแต่ละรอบ และสังเกตตำแหน่งของคำสั่งที่มีการวนซ้ำ
ป.6
- ใช้เหตุผลเชิงตรรกะในการแก้ปัญหาและออกแบบอัลกอริธึม และเขียนอธิบายอัลกอริธึมด้วยผังงาน (flowchart)
- เขียนโปรแกรมแบบ block programming โดยใช้คำสั่งต่างๆ ผสมกับการวนซ้ำและการใช้เงื่อนไข เพื่อสร้างโปรแกรมที่มีเรื่องราวและมีการโต้ตอบ เช่น เกมอย่างง่าย หรือโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ให้เคลื่อนที่ตามเส้นทาง
“ป.1-ป.3 เราหวังแค่เด็กสามารถแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนได้ ต่างกันแค่ความลึกของเนื้อหาที่ใส่ไป ส่วน ป.4-ป.6 คือการให้เหตุผลเชิงตรรกะ คือให้เหตุผลของการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนได้ เริ่มเน้นเรื่องเหตุผล” ดร.เขมวดีย้ำ
เริ่มต้นกับเด็ก ป.1 ไม่เร็วเกินไปใช่ไหม
ถึงจะกางหลักสูตรให้เห็นกันไปแล้ว แต่หลายคนก็ยังเป็นห่วงว่ามันเร็วเกินไปสำหรับเด็กหรือไม่
“ไม่เร็วไปค่ะ (ตอบทันที) จริงๆ เริ่มได้ตั้งแต่อนุบาลเลย แต่ไม่ต้องเอาวิธียากๆ อย่าง ป.1 เราเริ่มวิธีแก้ปัญหา ไม่ต้องมีเหตุผลก็ได้แค่ลองผิดลองถูก เพราะเด็ก ป.1 อาจยังเชื่อมโยงเหตุผลไม่ได้ แต่ให้ฝึกแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ วางทุกอย่างเป็นขั้นตอนไปเรื่อยๆ โตขึ้นก็ค่อยๆ ปรับปัญหาที่ให้ ไม่ให้ลองผิดลองถูกแล้วแต่ต้องใช้เหตุผล”
สำหรับ ป.1 ดร.เขมวดี ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การแต่งตัว แค่การติดกระดุมเสื้อ เด็กสามารถลองผิดลองถูกได้ว่าจะเลือกติดจากบนลงล่าง ล่างขึ้นบน หรือเริ่มติดจากเม็ดกลาง โดยปล่อยให้เด็กลองให้หมด เพื่อค้นหาวิธีที่เวิร์คที่สุด
เช็คความพร้อมของครู
หลักสูตรที่ดี ต้องมาพร้อมกับครูที่เข้าใจ ที่ผ่านมา สสวท. จัดอบรมครูเป็นระยะๆ โดยคัดวิทยากรแกนนำที่ผ่านการอบรมอย่างเข้มข้นจังหวัดละ 1-2 คน ให้ไปกระจายอบรมต่อ ควบคู่ไปกับการจัดอบรมออนไลน์ ซึ่งทำหน้าที่คล้ายคู่มือวางเนื้อหาให้ครูสามารถจัดการสอนได้ตามนั้นทีละขั้นตอน โดยที่ครูผู้สอนไม่จำเป็นต้องจบด้านคอมพิวเตอร์โดยตรง
“ต้องปรับให้เข้าใจใหม่ว่า คำว่า Coding ไม่ใช่ให้ครูและนักเรียนกระโดดลงไปเขียนโปรแกรมด้วยคอมพิวเตอร์เลยทันที แนวคิดคือวิชานี้ สอนให้เด็กทำงานเป็นขั้นตอน แก้ปัญหาอย่างมีกระบวนการ ฝึกตรรกะในการคิด” ดร.เขมวดี ย้ำ
จริงๆ สิ่งที่เด็กๆ เรียนในวิชา Coding คือ การฝึกทักษะการคิดเชิงคำนวณ หรือ Computational Thinking แต่ถูกชูด้วยคำว่า Coding แทนเพราะ Computational Thinking เป็นนามธรรม ไม่มีแนวทางให้เห็นว่าเด็กจะได้ทำอะไร
“Coding เป็นรูปธรรม เป็นสื่อหนึ่งที่สร้างภาพให้เห็นการทำงานเป็นขั้นตอนและวิธีการคิดแก้ปัญหาที่เป็นระบบ ซึ่งเป็นผลจาก Computational Thinking”
เหนือสิ่งอื่นใด อุปสรรคสำคัญของการปรับเปลี่ยนครั้งนี้คือ ความกลัวของครู
“ครูส่วนใหญ่จะกลัวเพราะไม่เคยอ่านหลักสูตร ไม่เคยลองเปิดหนังสือ สสวท. ว่าให้ทำอะไรบ้าง แต่พอเข้ามาอบรมกับเรา เขาจะพูดเหมือนกันหมดเลยว่า กิจกรรมสนุกเหมือนเล่นมากกว่า กลับไปเขาก็ทำได้กัน”
ไม่ต่างจาก ‘โคนัน’ ชัชวาล สังคีตตระการ ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส จาก NECTEC ที่แสดงความกังวลต่อประเด็นความพร้อมของครูผู้สอนเช่นกัน
“สิ่งที่น่ากังวลที่สุดของ Coding คือ ความไม่เข้าใจของทุกคน ทั้งคนสอน เครื่องมือในการสอน เขาเห็นในภาพเดียวกันหรือเปล่า เช่น วิชาวิทยาการคำนวณ เขาตีความว่าอะไร ให้เด็กมานั่งเขียน python (ชื่อภาษาหนึ่งที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม) หรือไม่ หลักสูตรที่เกิดขึ้นต้องเหมาะสมและเป็นไปตามพัฒนาการ เรากำลังคาดหวังให้เด็กประถมต้องเรียนอะไรบ้าง เด็กสมัยนี้มีเวลาเล่นน้อยลง เพราะถูกยัดเยียดด้วยเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยเต็มไปหมด จึงจำเป็นต้องตีความให้ชัดว่าจะเอาอะไรกับเด็ก”
โคนันยังย้ำอีกว่า โจทย์สำคัญที่ต้องหลักสูตร Coding ต้องตอบให้ได้ คือ เด็กจะใช้กระบวนการพวกนี้ไปอธิบาย การเกิดปัญหาอย่างไร รวมไปถึงจะสร้างโปรแกรมขึ้นมาช่วยแก้อย่างไร ถ้าสามารถอธิบายได้ คำตอบเบื้องหลังของ Coding มันอาจจะเป็น วิธีการคิดที่ซ่อนอยู่ ถ้ามันสอนไปถึงระดับนั้นเด็กก็คงได้ประโยชน์
สอดคล้องกับ ‘ภูมิ’ ภูมิปรินท์ มะโน นักพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือ software developer วัย 18 บริษัท OmniVirt สตาร์ทอัพสัญชาติไทยในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่เชื่อว่า ทั้งครูผู้สอนและโรงเรียนในประเทศไทย ยังขาดความพร้อมในการสอนด้านวิทยาการคำนวณ
ภูมิอธิบายว่า เพราะการสอน คือการส่งมอบประสบการณ์การเรียนรู้ที่ตัวเองเคยได้รับมา ส่งมอบความสนุกในการเรียนรู้เหล่านั้นไปให้กับผู้เรียน ซึ่งการสอนจำเป็นจะต้องมีทักษะสองด้าน คือองค์ความรู้ในวิชาวิทยาการคำนวณ (domain knowledge) และทักษะในการในการสอนให้สนุกและน่าติดตาม (delivery)
“การเรียนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณให้สามารถส่งต่อความรู้และประสบการณ์ให้กับนักเรียนได้ หมายความว่าคุณครูต้องเคยสัมผัสกับประสบการณ์ความสนุกตรงนี้มาก่อน ถึงจะสามารถสอนได้เห็นภาพ เข้าใจง่าย และจับต้องได้”
ด้วยความที่คุณครูหลายท่านยังไม่เคยได้รับประสบการณ์เหล่านี้ ทำให้ยังขาดทั้งองค์ความรู้ที่จะสามารถสอนได้อย่างตรงประเด็น ถ่ายทอดความเข้าใจ และไม่มีทักษะ เครื่องมือ วิธีการเรียนการสอนที่ทำให้การเรียนรู้ด้านนี้เป็นเรื่องที่สนุกและจับต้องได้ “จึงเป็นเรื่องที่ยากมากที่คุณครูเหล่านี้จะสอนวิชาวิทยาการคำนวณได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งไม่ใช่ความผิดของคุณครูเลย” ภูมิย้ำประโยคท้าย
นอกจากนั้น โรงเรียนยังขาดงบประมาณที่สามารถซื้อเครื่องมือที่ช่วยให้การเรียนรู้สนุก และจับต้องได้มากขึ้น อย่างของเล่นโค้ดดิ้ง (coding toys) คอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ ฮาร์ดแวร์ และเครื่องมืออื่นๆ ที่จะช่วยให้การเรียนรู้มีจุดหมาย เป็นรูปธรรม ผู้เรียนจะเห็นภาพทันทีว่าเราเรียนวิชานี้ และวิชาอื่นๆ ไปเพื่ออะไร ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน
เรื่องงบประมาณ ดร.เขมวดี ยอมรับว่า ที่ผ่านมายังไม่มีงบประมาณสนับสนุนการสอน Coding ของครูในโรงเรียนต่างๆ ครูหลายคนต้องขวนขวายเอาเอง
“หลายครั้ง สสวท. ก็ทำเป็นสื่อช่วยครู เราทำต้นแบบสื่อที่เป็นเกมออกมา หาบริษัทมาทำให้แมสแล้วช่วยขายในราคาที่ไม่แพงมาก แต่ยังไม่สามารถแจกได้ ยกเว้นบางโรงเรียนที่เป็นเครือข่าย เราพยายามหางบประมาณมาซื้อแจกได้ แต่เราไม่สามารถสนับสนุนทั้งหมดสามหมื่นกว่าโรงเรียนได้”
ตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 คือประโยชน์ที่เด็กจะได้รับ
ในฐานะผู้ร่างหลักสูตรและจัดการอบรม ดร.เขมวดี ยืนยันว่า วิชาวิทยาการคำนวณคือวิชาที่จะตอบโจทย์การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะในหลัก 4Cs ได้แก่ creativity, critical thinking, collaboration และ communication
Creativity คิดสร้างสรรค์ “เวลาที่เราบอกเด็กว่ามีปัญหาหนึ่งอย่าง จะมีการแก้ได้กี่วิธีบ้าง เปิดโอกาสให้เด็กคิดได้หลากหลาย และสร้างสรรค์”
Critical Thinking การคิดอย่างมีวิจารณญาณ “เพราะการออกแบบขั้นตอนการทำงานต้องใช้ทั้งวิจารณญาณและการประเมิน ประเมินผลที่เราคาดหวังข้างหน้าและประมวลผลว่าจะเลือกการแก้ปัญหาแบบไหน”
Collaboration ทำงานร่วมกับผู้อื่น “ยิ่งโตขึ้น หลักสูตรก็จะเขียนโปรแกรมรวมกับเพื่อนเพื่อแก้ปัญหากันเป็นทีม”
Communication สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ “ตั้งแต่ ป.1 เลยคือการบอกลำดับงานเป็นขั้นตอน เขียนโฟลว์ชาร์ท เพื่อแสดงขั้นตอนการคิดแก้ปัญหาของตัวเองได้”
อีกเหตุผลสำคัญของการดัน Coding เข้ามา ดร.เขมวดีมองว่า ปัจจุบันเด็กขาดทักษะการแก้ปัญหาและทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
“สมมุติเราบอกเด็กว่าอยากได้โซลูชั่นแบบนี้ ไปช่วยแก้หรือทำมาให้หน่อย เขาทำไม่ได้ เขาเริ่มไม่ถูกหรือไม่รู้ว่าควรจะเริ่มตรงไหน เราต้องไปนั่งโค้ดเขาเลยว่าทำอันนี้แล้วต้องไปทำอันนั้นต่อ แต่วิทยาการคำนวณสอนให้คิดเชิงตรรกะ คือการคิดเชื่อมโยงเชิงเหตุผล ให้แก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางได้ด้วยตัวเขาเอง
นี่คือการสร้างพื้นฐานการคิดให้เข้มแข็ง ให้เด็กพร้อมต่อยอดไปได้ในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยหรือไปทำอะไรก็ตาม”
อธิบายให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะเด็กรุ่นนี้เติบโตมากับเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกรอบตัว ช่วยแก้ปัญหาแทบจะทุกอย่าง จนบางครั้งอาจทำให้หลงลืมการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
โดยคุณสมบัติสำคัญที่เด็กควรจะพัฒนาในยุคนี้ อย่างน้อยจะต้องช่างสังเกต และมีความคิดสร้างสรรค์
“สิ่งเหล่านี้มันจะไปปลูกฝังในเด็กผ่านการเรียนรู้ แม้เราจะเห็นการเรียนการสอนที่เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ใช้เครื่องมือทันสมัย แต่มันยังขาดมิติบางอย่างคือ วิธีการคิดโรงเรียนควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนโดยใช้วิธีการสร้างกระบวนการคิด ทำให้เด็กรู้ที่ไปที่มา ต้นตอ สาเหตุของปัญหา มากกว่าจะผลักให้เขาเรียนใช้เทคโนโลยี” โคนัน จาก NECTEC เสริม
นอกจากวางรากฐานวิธีคิดเป็นสิ่งสำคัญแล้ว การให้เด็กได้เจอโจทย์และแก้ปัญหาบ่อยๆ จะช่วยให้เด็กๆ ไม่กลัวและไม่หนีปัญหา
“เด็กจะดีลกับปัญหาได้ รู้ว่าอะไรคือสาเหตุ ค่อยๆ หาวิธีแก้ ซึ่งประยุกต์ใช้กับชีวิตเขาได้ ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไร เขาจะตั้งสติ แล้วการที่เขาเจอปัญหาตั้งแต่เด็กๆ จะทำให้เขารู้สึกว่าทุกปัญหาแก้ได้ ทำให้เขาแข็งแรงขึ้นทางจิตใจ มี mindset ว่าปัญหาคือสิ่งที่ต้องหาวิธีแก้ เป็น growth mindset”
ถ้าครูสอนตามหลักสูตรที่ สสวท. วางไว้ได้จริง การประเมินหรือทดสอบวิชานี้จะไม่มีคำว่าถูกหรือผิด การสร้างสรรค์และกระบวนการแก้ปัญหาต่างหากคือเกณฑ์สำคัญในการวัดผล
“การกลับบ้านให้ถูก เราไม่ได้บอกว่ามีทางเดียว จากตรงนี้ไปอาจมีหลายเส้นทาง เด็กมีสิทธิเลือกไปทางไหนก็ได้ แต่ต้องให้เหตุผลให้ได้ว่าทำไมเลือกทางนั้น มันคือความคิดสร้างสรรค์ โจทย์เปิดหมด เมื่อไหร่เขียนโปรแกรม เมื่อนั้นไม่เคยมีคำตอบเดียว เพียงแต่คุณจะเลือกคำตอบไหน ด้วยเหตุผลอะไร”
และเมื่อไม่มีเด็กคนไหนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพียงเพราะว่าเขาตอบต่างจากคนอื่น เมื่อนั้น ดร.เขมวดีเชื่อว่า “เด็กๆ จะเรียนอย่างมีความสุขมากขึ้น”
พ่อแม่ช่วยลูกได้อย่างไร
จริงอยู่ที่วิชานี้จะเกิดขึ้นในห้องเรียน แต่เมื่อกลับมาบ้าน พ่อแม่และผู้ปกครองสามารถเรียนรู้และอยู่ข้างๆ พร้อมคำแนะนำอย่างคนมีข้อมูลเรื่องนี้ได้ เริ่มง่ายๆ จากการซื้อหนังสือมาลองศึกษา
“พ่อแม่เองก็ต้องปรับความเข้าใจว่า เป็นการฝึกให้เด็กคิดอย่างเป็นขั้นตอน ไม่ใช่เขียนโปรแกรม (สำหรับเด็กเล็ก) และลองไปเปิดหนังสือดูแล้วอ่านไปพร้อมกับลูก เหมือนเล่านิทานให้เขาฟัง แล้วพอถึงส่วนที่เป็นกิจกรรมหรือเกมก็เล่นกับเด็ก โดยเฉพาะของ ป.1-ป.6 จะเป็นการ์ตูน เล่าผ่านครอบครัวครอบครัวหนึ่งมีลูกฝาแฝด จะสอดแทรกการแก้ปัญหาไปในเรื่องราวที่เด็กสองคนนี้เจอในแต่ละวัน คล้ายๆ มานะมานีที่เราเคยเรียน”
มาถึงขั้นนี้แล้ว คำว่าพร้อมไม่พร้อม เร็วไปหรือเปล่า เริ่มช้าไปไหม ครูจะเตรียมตัวทันหรือไม่ ฯลฯ คงไม่สำคัญเท่ากับการเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับวิชาใหม่ที่มาแน่ๆ
“ถ้ารอให้พร้อมยังไงก็ไม่ทัน หมายความว่า ถ้าเรารอให้ครูมีศักยภาพมากกว่านี้ รอให้เด็กพร้อมมากกว่านี้ รอให้งบประมาณพร้อมกว่านี้ ก็คงไม่ได้เริ่ม สุดท้ายคนที่เสียโอกาสที่สุดก็คือเด็ก”
โคนัน ชวนคิดต่อว่า สิ่งสำคัญที่น่าติดตามคือ action หลังจากนั้น เพราะเนื้อหาไม่ว่าเรื่องใดๆ จะต้องมีทั้งส่วนที่ใช้ได้ผลกับไม่ได้ผล
“และส่วนที่เอาไปใช้แล้วไม่ได้ผล คำถามคือผู้ใหญ่จะแก้ปัญหาหลังจากนั้นอย่างไร ที่สำคัญต้องอย่าละทิ้งกระบวนการระหว่างทาง Coding เป็นเหมือนเครื่องมือที่จะมาดูกันว่าเวิร์คไม่เวิร์ค มันเป็นแค่ tool หนึ่งแค่นั้นเอง ยังไม่รู้ด้วยว่าบริบทของประเทศตอนนี้มันโอเคไหมกับหลักสูตรนี้ แต่ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้อยู่ดี”