- ครูบลู ครูสอนดนตรีระดับมัธยม โรงเรียนวัดสะแกงาม ได้รับภารกิจใหญ่จากผู้อำนวยการให้สร้างวงโยธวาทิตขึ้นมา แม้จะสอนดนตรีเป็นวิชาหลัก แต่การทำวงโยฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย ครูบลูเริ่มต้นจากศูนย์ ต้องนั่งเรียนรู้เรื่องดนตรีและเสียงของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดไปพร้อมเด็กๆ
- แม้อีก 9 ปี ครูบลูจะเกษียณอายุราชการ แต่ไม่เคยคิดหยุดเรียนรู้ การได้มาทำวงโยฯ ช่วยเคาะสนิมทำให้ครูอยากเรียนอีกครั้ง โดยเลือกเรียนต่อในระดับปริญญาโท ด้านดนตรีในคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
- “สิ่งสำคัญคือเราไม่ได้หวังว่าจะต้องเป็นวงโยฯ ที่เก่งที่สุด ในฐานะครูแค่ให้เขารู้สึกว่าช่วงชีวิตหนึ่งตอนที่เขาอยู่มัธยมเขาได้เป็นนักดนตรี เขาเคยเล่นดนตรีก็พอ” ภารกิจสร้างวงโยฯ ครั้งนี้ นอกจากเติมเต็มตัวครูเองแล้ว ยังช่วยให้เด็กๆ ค้นหาตัวเอง เพิ่มทักษะด้านดนตรี ประโยชน์คือเด็กๆ อาจใช้ดนตรีต่อยอดเป็นอาชีพในอนาคตได้
เสียงเครื่องเป่าจากเด็กๆ วงโยธวาทิตโรงเรียนวัดสะแกงาม ย่านพระราม 2 ดังขึ้นบริเวณหน้าห้องดนตรีเป็นประจำทุกวันหลังเลิกเรียน โดยมี ‘ครูบลู’ อัฒฑวินทร์ ธนเดชสำราญพงษ์ วัย 51 ครูประจำวิชาดนตรีระดับมัธยมต้น เป็นผู้ฝึกซ้อม
แต่กว่าเครื่องดนตรีแต่ละชนิดจะประกอบกันเป็นวง – ไม่ใช่เรื่องง่าย
ใครจะรู้ว่าเสียงดนตรีที่เกิดขึ้นทุกวันหลังเลิกเรียน เกิดจากครูผู้สอนที่ไม่มีความรู้เรื่องดนตรีมาก่อน ย้อนไปหลายปีที่แล้ว ครูบลูได้รับโจทย์ใหญ่จากผู้อำนวยการโรงเรียนให้ฟอร์มวงโยธวาทิตขึ้นมา โดยมีระยะเวลากำหนดให้หนึ่งปีเท่านั้น จากครูเบ็ดเตล็ดที่สอนมาแล้วทุกวิชา งานช่าง เกษตร สังคม ภาษาไทย แม้ทุกวิชาที่กล่าวมาจะไม่ใช่ทางถนัด แต่ครูก็ตั้งใจและทำมันออกมาให้ดีที่สุด
ครูบลูจบเอกโขน จากวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ และหลงใหลในการวาดรูป แม้ปัจจุบันจะเบนเข็มกลับเข้ามาสอนในแขนงศิลปะ แต่วิชาดนตรีที่ครูรับผิดชอบ ทำให้ครูต้องเรียนรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา โดยลงทุนไปเรียนต่อปริญญาโท ด้านดนตรี คณะดุริยางคศาสตร์โดยเฉพาะ
ภารกิจสร้างวงโยธวาทิตครั้งนี้พาครูบลูไปเคาะสนิมการเรียนรู้ของตัวเองในวัยใกล้เกษียณ ครูต้องทำความรู้จักเครื่องดนตรีแต่ละชนิด ที่สำคัญนอกจากเรียนดนตรีเพื่อเล่นให้เป็นแล้ว ยังต้องเรียนการเป็นผู้สอนดนตรีอีกด้วย และความทุ่มเทครั้งนี้ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ในที่สุดโจทย์ที่ผู้อำนวยการมอบหมายให้ก็ลุล่วง ครูบลูทำให้วงโยธวาทิตเกิดขึ้นจริง-และตอนนี้กำลังมีวงโยฯ รุ่นสอง
อะไรทำให้ครูผู้นี้ ไม่กลัวที่จะเริ่มเรียนรู้ครั้งใหม่ในวัยใกล้เกษียณ
ทำไมถึงเลือกเรียนนาฏศิลป์ แล้วเข้ามาทำงานเป็นครูได้อย่างไร
เป็นเรื่องบังเอิญ เพราะเราชอบเรียนวาดรูป อยากวาดรูป คิดว่าการเรียนในวิทยาลัยนาฏศิลป์คงได้เรียนวาดรูปด้วย แต่ชีวิตคงถูกขีดไว้แล้ว จึงได้เข้าเรียนด้านนี้เลย แต่เราชอบนะ ชอบศิลปะอยู่แล้ว
ไม่ได้อยากเป็นครูเลยนะ เป็นคนไม่ได้มีความคาดหวังในชีวิตขนาดนั้น ไม่อายที่จะบอกว่าเราเป็นคนไม่คิดอะไรเยอะ ย้อนไปตอนปี 2534 สอบบรรจุเป็นครูได้ในโรงเรียนสังกัด กทม. แห่งหนึ่ง พอได้สอนจริงแล้วรู้สึกว่า อาชีพครูไม่ใช่ทางของเรา อาจจะเป็นเพราะตอนนั้นยังเป็นเด็กจบใหม่ วิธีการคิดและการทำงานแบบผู้ใหญ่มันไม่เข้ากับเรา จึงตัดสินใจลาออกไปทำงานที่โรงละคร จากนั้นก็ผันตัวไปทำงานออร์แกไนซ์อยู่สักพัก จากนั้นก็ฟอร์มทีมทำงานเกี่ยวกับนาฏศิลป์และดนตรีไทย
การที่เราตัดสินใจลองทำหลายๆ อย่าง อย่างไม่รีบร้อน เพราะเราอยากเรียนรู้ก่อน คิดว่าชีวิตเรายังมีโอกาสเลือกได้อีกเยอะ หากวันหนึ่งเราอยากกลับมาเป็นครูอีกครั้ง สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดจะเป็นต้นทุนให้เรา
จนปี 2540 เราตัดสินใจกลับเข้ามาสอบบรรจุครูที่โรงเรียนวัดสะแกงาม นับจากวันนั้นจนวันนี้ก็เป็นครูมา 21 ปีแล้ว
ตอนเป็นครูครั้งแรก เห็นอะไร ทำไมต้องทบทวนกับตัวเองว่า ‘ครูเป็นอาชีพที่เหมาะกับเราหรือไม่’
เห็นความแตกต่าง เรามีเพื่อนครูที่สอนอยู่โรงเรียนเอกชน สอนอยู่ในโรงเรียนมัธยม สอนอยู่ในโรงเรียนนาฏศิลป์ แต่ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เราพบว่าเด็กไม่มีอะไรเลย โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในเขตรอบนอก ยังคงมีปัญหาและความไม่พร้อมอย่างยิ่ง แต่พอได้ทดลองไปทำงานอื่น เวลา 6 ปีผ่านไป เราเข้าใจอะไรมากขึ้น จึงอยากกลับมาเป็นครูอีกครั้ง
พอชีวิตได้พลิกมารับบทบาทครูอีกครั้งเป็นอย่างไรบ้าง
การเป็นครูในสังกัด กทม. ในยุคนั้น เราต้องสอนหลายวิชามาก ครูใหญ่มีคำสั่งให้สอนอะไรก็ต้องสอนให้ได้ (หัวเราะ) เพราะครูขาดแคลน จำได้ว่าอาทิตย์แรกเคยไปสอนเด็กอนุบาล จากนั้นขยับมาสอน ป.1-ป.2 สอนวิชาการงานและอาชีพ สอนงานประดิษฐ์ สอนพละ เราสอนได้หมดขอแค่มีหนังสือ จน 4 ปีผ่านไป ได้ขยับขึ้นมาสอนเด็กมัธยม แต่ก็ยังไม่ได้สอนวิชาตรงเอกที่เราจบมา เฉียดไปสอนเกษตร สอนภาษาไทยบ้าง
สมัยนั้นยังไม่มีการปฏิรูปการศึกษาอย่างชัดเจน แค่มีหนังสือเรียนเป็นคู่มือและสอนให้บรรลุวัตถุประสงค์ไปก็เพียงพอสำหรับยุคนั้น แต่สิ่งที่เราพยายามเสริมคือเรื่องทักษะชีวิต เราจะบอกเด็กและผู้ปกครองทุกรุ่นเสมอว่า “ครูบลูอาจจะสอนหนังสือไม่เก่งนะ แต่สอนทักษะชีวิตพอใช้ได้”
ทักษะชีวิตเรื่องอะไรบ้าง
การอยู่ร่วมกัน การใช้ชีวิตกับผู้อื่น เพราะความคาดหวังของเด็กขยายโอกาสทางการศึกษาในสังกัด กทม. ด้วยคาแรคเตอร์ของเด็กอาจจะไม่ได้คาดหวังทางวิชาการมากนัก ส่วนใหญ่ที่เข้ามาเรียนคือเด็กในชุมชนรอบๆ ครูขอให้เขาอยู่รอด อยู่เป็น จนจบ ม.3 จากนั้นเขาจะไปต่อเทคนิค เรียน ปวช. เรียนอาชีวะก็ปล่อยไปตามทางเขา หรือถ้าใครไปต่อสายสามัญได้จะถือว่าดีมากๆ ในยุคนั้น
ดังนั้นสิ่งที่เราพยายามเน้นคือมุมมองต่อการวางแผนชีวิตตัวเอง เมื่อคุณเรียนมา 3 ปีแล้ว คุณจะไปทางไหนต่อ? โดยใช้วิธีคุยกับเด็กๆ อย่างเปิดใจตั้งแต่เขาอยู่ ม.1 เหมือนเราเป็นครูแนะแนว เราวางตัวเองไม่ใช่แค่ครูประจำวิชา เป็นทั้งเพื่อน เป็นพี่ เป็นพ่อแม่ เป็นอะไรก็ได้ที่เขาอยากให้เป็น
ปัจจุบันครูได้กลับมาสอนในวิชาที่ตัวเองจบมาแล้วหรือยัง
ตอนนี้สอนวิชาดนตรีเป็นหลักแล้ว แต่ก็ไม่ได้สอนในลู่วิชาที่เราจบมาโดยตรงอย่างนาฏศิลป์
ฉะนั้นการเป็นครูสอนดนตรี จึงเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ครูอยากทำวงโยธวาทิตขึ้นมาหรือเปล่า
การเกิดขึ้นของวงโยฯ เป็นเรื่องที่จักรวาลจัดสรรขึ้นมา (หัวเราะ) เราไม่เคยรู้มาก่อน ก่อนหน้านี้โรงเรียนวัดสะแกงามไม่เคยมีวงโยฯ วันดีคืนดีมีรถขนอุปกรณ์ดนตรีมาส่งที่ห้องดนตรี เราก็เซ็นรับแบบงงๆ จากนั้นเราก็ไปแจ้งผู้อำนวยการโรงเรียนว่า “มีเครื่องดนตรีมาส่งแล้วนะ ผอ. จะให้ใครดูแลในส่วนนี้” ผอ. ก็หันมาบอกว่า “ให้เรานั่นแหละเป็นผู้ดูแล” จังหวะนั้นเราก็ “โอ๊ย จะทำได้อย่างไร ไม่ได้จบมา สอนไม่เป็น เล่นดนตรีไม่เป็น” ผอ. จึงใช้วิธีจ้างครูข้างนอกมาสอนก่อน 1 ปีโดยที่ให้เราเรียนรู้ไปกับเด็ก เผลอๆ อาจจะเรียนหนักกว่าด้วยซ้ำ
สมมุติเด็กเรียนการเป่าเครื่องดนตรี แต่เราต้องเรียนการสอนการเป่าอีกที เวลาว่างๆ ก็ต้องมาฝึกเป่าเครื่องดนตรีนั้นให้เป็น อย่างน้อยก็ให้มันมีเสียงออกมาให้ได้
ถึงแม้เริ่มต้นจากความไม่รู้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปต้องจริงจังขึ้น ครูบลูใช้วิธีการฟอร์มวงอย่างไร
จากวันแรกเราใช้วิธีหว่านประกาศรับสมัครเด็ก ตอนนั้นแบ่งรับแบ่งสู้ ไม่รู้ว่าจะมีเด็กมาสมัครไหม เพราะไม่มีตัวอย่างให้เขาเห็น ปรากฏว่ามีเด็กสนใจ 20 กว่าคน เราก็รับหมดทุกคน ใครอยากเล่นเครื่องอะไรก็จับจองได้เลย
ในช่วงแรก ผอ. จึงให้ ‘ครูกบ’ ซึ่งเป็นทหารจากกองดุริยางค์มาช่วยฟอร์มวงก่อนเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งในเวลานั้นเราก็ต้องเรียนรู้ไปพร้อมเด็ก เราต้องเรียนรู้เครื่องดนตรีทุกชนิด รวมๆ ก็เป็น 10 ชนิด ความยากคือเด็กหนึ่งคนต้องเรียนรู้ดนตรีหนึ่งเครื่อง แต่คนเป็นครูผู้สอนต้องเรียนรู้ทุกเครื่อง ซึ่งแต่ละเครื่องมีรายละเอียดต่างกัน เป่าต่างกัน ใช้นิ้วกดต่างกัน เสียงไม่เหมือนกัน เรามีเวลาแค่ 1 ปีเรียนรู้กับครูกบ ถ้าครูกบไปแล้ว เราจะต้องเป็นคนฟอร์มวงให้เด็กวงโยฯ รุ่นต่อไป
ณ เวลานั้น รู้สึกกลัวหรือกดดันไหม?
ไม่กลัว คิดอย่างเดียวว่าต้องทำให้ได้ ตอนเด็กๆ เรียนกับครูกบ เราก็นั่งเรียนไปด้วย นั่งดูว่าครูกบสอนอย่างไร ถ่ายทอดอย่างไร สมมุติตัวเราเป็นผู้เรียนเอง สิ่งหนึ่งที่เห็นคือครูวงโยฯ มักจะดุ เป็นเพราะเขาอยากให้เด็กเล่นเครื่องดนตรีได้ไวๆ จนเผลอลืมไปว่าการเรียนดนตรีมันยาก พอตัวเรามาเริ่มต้นเรียนใหม่จริงๆ จึงทำให้รู้ว่าดนตรีมันยากจริงๆ ด้วย ฉะนั้นเราจึงกลายเป็นครูวงโยฯ ที่ไม่ดุเลย เพราะเราเข้าใจว่ามันยาก เข้าใจแล้วว่าทำไมเด็กถึงเป่าไม่ได้
แล้วในแง่ของเด็กๆ ระหว่างการเรียนดนตรีกับครูบลูกับครูกบ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง
เราพยายามเช็คตัวเองตลอด แต่จะไม่เปรียบเทียบ อีกแง่หนึ่งก็พยายามทำให้เด็กเข้าใจว่าทำไมครูกบต้องดุ การเป็นครูในสายทักษะ ไม่ใช่แค่สอนจบแล้วแยกย้าย มันต้องคลุกคลี มันมีความผูกพัน เราอยู่กับเด็กตลอด ถ้าเป่าไม่ได้ เล่นดนตรีไม่ได้ ต้องพยายามเข้าใจ
นอกจาก ‘ความยาก’ ในการทำวงโยฯ ครูบลูพบปัญหาอะไรอีกบ้าง
มีแค่ความยากอย่างเดียว แต่เราแก้ปัญหาโดยการฝึกตัวเองให้เล่นดนตรีให้ได้ ซึ่งเด็กวงโยฯ รุ่นแรกไม่น่าห่วงเพราะมีครูกบช่วย แต่รุ่นต่อไปเราต้องดูแลทั้งหมดเอง การฟอร์มวงในวันที่ไม่มีครูกบแล้ว มันก็ยากนะสำหรับเรา เราใช้วิธีคล้ายเดิมในการเริ่มต้นใหม่ แต่จะไม่กดดันให้เด็กเล่นดนตรีเป็นเร็วๆ เพราะเข้าใจว่ามันยาก ให้เวลาเด็ก แล้วก็ให้เวลาตัวเอง
พอเห็นเด็กเล่นเครื่องดนตรีได้ เพราะเราสอน ครูรู้สึกอย่างไร
โอ้โห มันพราวด์มากเลย รู้สึกว่า ฉันก็ทำได้ (หัวเราะ)
ส่วนใหญ่งานที่วงจะเล่นก็เป็นงานโรงเรียนทั่วไป งานวันพ่อ วันแม่ งานต้อนรับผู้ว่าฯ ตามแต่ใครจะเรียกใช้งาน ซึ่งพอเราฟอร์มวงไปสักพัก เริ่มเข้าที่เข้าทาง ก็เริ่มรู้สึกอยากลงประกวด
ตอนนั้นมีเวทียามาฮ่าลูกทุ่งคอนเทสต์ เราก็เตรียมวงและส่งเข้าประกวด แต่ถ้าให้เทียบกับวงอื่น วงเราเล็กและอ่อนประสบการณ์ที่สุด ซึ่งใครจะเรียกว่าเป็นวงไม้ประดับก็ไม่เป็นไร เราไม่ได้หวังรางวัลยิ่งใหญ่ เพราะโลกไม่ได้เดินเข้ามาหาเด็ก แต่เรากำลังพาเด็กเดินเข้าไปหาโลก สุดท้ายจะไม่ได้รางวัลก็ไม่เสียใจ
เราแค่อยากพาเด็กมาสัมผัสโลกของคนดนตรี ให้เด็กๆ ได้รู้ว่าโลกดนตรีมันเป็นอย่างไร รวมไปถึงพาไปเจอพี่ๆ น้องๆ ในสายดนตรี
เพื่อไม่ให้มันน่าเบื่อ ครูดีไซน์การสอนวงโยฯ แบบฉบับตัวเองอย่างไร
โดยปกติเราเริ่มเรียนทีละเสียง ให้เด็กรู้สึกคุ้นกับเสียง หัดฟัง เมื่อเริ่มคุ้นชินก็ลงมือเป่า ตรงนี้จะเป็นจุดยาก ศักยภาพแต่ละคนไม่เท่ากัน ดังนั้นการที่จะทำให้เด็กสนุกเราก็เล่นดนตรีไปกับเขา เอาโน้ตเพลงมาหลายๆ เพลง แต่หยิบแค่บางส่วนมาเล่น แต่ไม่เต็มเพลง เช่น โน้ตเพลงหนูมาลี ง่ายๆ ให้เขาสนุก และรู้สึกไม่ยากเกินไป
สิ่งสำคัญคือเราไม่ได้หวังว่าจะต้องเป็นวงโยฯ ที่เก่งที่สุด ในฐานะครูแค่ให้เขารู้สึกว่าช่วงชีวิตหนึ่งตอนที่เขาอยู่มัธยมเขาได้เป็นนักดนตรี เขาเคยเล่นดนตรีก็พอ
เพราะเด็กบางคนไม่เคยถูกคาดหวังทางวิชาการ แต่พอเขามาเล่นดนตรี เขากลับทำได้ ทำให้เขารู้สึกว่า “หนูทำอย่างอื่นได้นะ” “หนูมีค่านะ” มันมีผลต่อตัวเด็กมาก ครูไม่ได้สนใจอยู่แล้วว่าหนูจะเก่งในเรื่องนี้ที่สุดในโลกหรือเปล่า แต่สนใจเรื่องราวระหว่างทางที่อยู่ด้วยกันว่ามันจะเป็นอย่างไร มีอะไรที่ก้าวหน้าขึ้นบ้าง หนูพัฒนาตัวเองไปไกลได้แค่ไหนนับจากวันแรกที่มาเรียน
แล้วในแง่ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ระหว่างครูบลูกับเด็กวงโยฯ เป็นอย่างไร
โห มันเกิดอะไรขึ้นเยอะมากนะ ในแง่สถานที่ห้องดนตรีก็เหมือนบ้านของเขา หลังจากเขาเลิกเรียน เป็นเวลาที่ซ้อมดนตรี แต่ก่อนจะซ้อมเขาจะกิน เล่น นอน หรือทำการบ้านก่อนก็ตามสะดวก ทุกอย่างมันเกิดในบ้านหลังนี้ ส่วนความสัมพันธ์ของครู มันมีอะไรเกิดขึ้นมากมาย เพราะเราใช้เวลาอยู่กับเขามากกว่าครูในวิชาอื่นๆ
ช่วยยกตัวอย่างเด็กนักเรียนที่เข้ามาอยู่ในวงโยฯ เขาเติบโต พัฒนา หรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
มีเด็ก 4 คน ที่เขาจบไปจากวงโยฯ ได้รับเหรียญทองจากการประกวดแข่งขันที่เซี่ยงไฮ้
อีก 2 คนที่ไม่ได้เรียนต่อวิทยาลัยนาฏศิลป์ ไปเรียนต่อในสายสามัญ แต่เขาก็ยังไม่ทิ้งดนตรี สิ่งที่เกิดขึ้นมันอาจจะไม่ใช่การสร้างหรือพัฒนาวินัยในตัวเอง แต่การที่เขาได้เข้ามาอยู่ในวงโยธวาทิตมันจะช่วยเขาในการค้นพบตัวเองมากกว่า ทำให้เขารู้ว่าเขาชอบอะไร ทำอะไรได้บ้าง และยังมีอีกหลายๆ คน ที่แม้ไปเรียนที่อื่น แต่เราก็ยังมีความผูกพันให้กัน
เด็กบางคนเข้ามาอยู่ในวงโยฯ เขากลับค้นพบว่าตัวเองชอบเล่นกล้อง ก็ผันไปเป็นช่างภาพ บางคนเรียนไม่จบเพราะไม่มีทุนเรียนต่อ แต่เขายังใช้วิชาดนตรีในการหาเลี้ยงชีพ หรือบางคนเรียนไม่จบแต่เขาก็มีเป้าหมาย มุ่งมั่นที่จะใช้ทักษะดนตรีที่มีเข้าไปสมัครเป็นทหาร เพื่อจะได้ลงเหล่าดุริยางค์
ผลที่เกิดขึ้นแบบนี้ มันสำคัญแค่ไหนสำหรับความเป็นโรงเรียนขยายโอกาส
มันช่วยเติมอะไรให้เด็กได้เยอะ อย่างน้อยๆ เขาได้ประโยชน์จากการที่เขาได้อยู่กับดนตรี ไม่ได้เรียนรู้แค่วิธีการเล่นดนตรี แต่การที่เด็กคนหนึ่งได้อยู่ใกล้ใครเขาจะซึมซับวิธีการคิดแบบคนคนนั้นไปด้วย
เช่นเดียวกับที่เราไปเรียนปริญญาโท ในคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ซึ่งเราไม่เคยคิดจะเรียนปริญญาโทมาก่อน แต่พอมาทำวงโยฯ ก็ตัดสินใจไปเรียนต่อในด้านนี้ โดยก่อนเรียนเราลังเลอยู่พักหนึ่ง เตรียมตัว หาข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันที่เราจะไปเรียน มีการปรึกษาเพื่อนๆ พี่ๆ ที่เป็นครูดนตรีด้วยกัน (เขาทราบดีว่าเราไม่ได้จบดนตรีมา เมื่อมีปัญหาก็จะได้รับความช่วยเหลืออยู่เสมอ) ซึ่งทุกคนเชียร์ให้ไปเรียนต่อ
พอได้ไปเรียนจริงๆ เรารู้สึกได้รับประโยชน์มาก นอกจากเทคนิค วิชาความรู้ เราซึมซับวิธีคิดอื่นๆ มาจากครู ซึ่งไม่ต่างจากเด็กๆ ที่มาอยู่กับเรา เขาก็คงซึมซับจุดนี้ได้เหมือนกัน
อะไรที่ทำให้ครูลังเล และรู้สึกว่าไม่ต้องเรียนต่อ
เพราะในทุกวันของเรา มันมีหลายๆ สิ่งที่ทำให้รู้สึกมีคุณค่าตลอด เราพอใจในคุณค่าของความเป็นครูแล้ว เลยไม่ได้รู้สึกอยากไปเป็นอย่างอื่น ที่รู้สึกพอใจกับชีวิตความเป็นครูแล้ว มันอยู่ที่มุมมองเล็กๆ น้อยๆ เช่น แค่เราสามารถจัดการไม่ให้เด็กทะเลาะกันได้ มันก็ทำให้เรารู้สึกมีคุณค่าในทุกๆ วัน
แล้วทำไม สุดท้ายครูถึงตัดสินใจไปเรียนต่อ
เพราะ ‘เด็ก’ เพราะเราอยากสอนเขาให้ดีๆ อยากมีวิธีการสอนที่ถูกต้อง อยากให้มันออกมาดีที่สุด เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เพราะอย่างที่บอก ปีนี้อายุ 51 แล้ว อายุราชการที่เหลือก็คงไม่ได้กลับมาสอนอีกแล้ว
การไปเรียนต่ออย่างจริงจังครั้งนี้ ช่วยอะไรเด็กได้บ้าง
ได้ครับ เราได้รู้ว่าเราจะต้องสอนดนตรีเขาอย่างไร เราได้ทบทวนตัวเอง การจะเป็นครูสอนดนตรี มันจะต้องเข้าใจดนตรี มีจิตวิทยาด้านดนตรีประกอบด้วย ก็จริงที่บางอย่างเราอาจจะสอนได้ บรรลุตามวัตถุประสงค์ แต่มันผิดหลักการ ให้เข้าใจง่ายๆ แทนที่เราจะสอน 1-2-3-4-5 จนถึง 10 แต่เรากลับสอน 5-4-3-1-2 แม้จะถึง 10 เหมือนกัน แต่มันผิดหลักวิธีการสอนดนตรี
การเรียนรู้ครั้งใหม่ของครูบลู ช่วยเติมเต็มอะไรในตัวครูเองบ้าง
เติมเต็ม ต้องมีความคาดหวังไหม? (หัวเราะ) เราคาดหวังให้มีเทคนิคดีๆ เพื่อนำมาสอนดนตรีเด็กๆ ซึ่งมันตอบโจทย์แล้ว แต่สิ่งที่เติมเต็มต่อจากนี้มันมีเยอะเลย โลกทัศน์ของเราเปิดกว้าง เราไปเรียนกับคนที่เป็นครูดนตรีจริงๆ เราได้รู้จักคนมากมาย ได้รู้จักครูที่สอนดนตรีในมหาวิทยาลัย ได้รู้จักครูที่สอนวงโยฯ ชนะอันดับหนึ่งของประเทศ เราโชคดีที่ได้รู้จักคนเครือข่ายเหล่านี้ นี่เป็นของแถมที่เกิดขึ้น
รู้สึกมั่นใจขึ้นไหม อารมณ์ในการสอนวงโยฯ ของครูบลูเปลี่ยนไปอย่างไร ระหว่างก่อนไปเรียน-หลังไปเรียน
ก่อน-หลัง ไปเรียน ไม่ต่างกัน เรารู้สึกสนุกกับการทำวงโยฯ อยู่แล้ว แต่หลังจากได้ไปเรียนต่อ ป.โท เมื่อเราเจอปัญหาที่เราไม่สามารถผ่านไปได้ เราสามารถปรึกษาคนอื่นได้ และนำเทคนิคเหล่านั้นมาปรับใช้ให้เข้ากับเด็กและวงของเรา
สนุกไหม ได้กลับไปเรียนอีกครั้ง
สนุกมากเลยครับ
ไม่มีความกลัวหรือกังวลใจบ้างเลยหรือ เช่น อายุ
ไม่เลยๆ เราเป็นคนชอบเรียนอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่เราอยู่ที่นี่ อยู่ที่โรงเรียนขยายโอกาส แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว เราไม่ได้อยากจะไปสอบหรือต้องการเลื่อนขั้นไปไหน เป้าหมายอย่างเดียวที่ทำให้ไปเรียน เพื่อกลับมาสอนความรู้กับเด็กแค่นั้น ส่วนเรื่องอายุ ไม่มีปัญหา ตอนไปเรียนเราอายุประมาณ 45 ปี ซึ่งเท่ากับเพื่อนๆ ที่ไปเรียน เพียงแต่เขาเรียนปริญญาเอก
วงโยฯ ในฝันของครูบลู หน้าตาเป็นอย่างไร
(หัวเราะ) แค่เป็นวงที่ครูและนักเรียน รู้สึกสนุกกับการเล่นดนตรีก็พอแล้ว
ต้องมีความสุขด้วยไหม
แต่เวลาทำอะไรแล้ววัดจากความสุข ก็อาจจะสำเร็จได้ง่าย แต่ความลึกซึ้ง ความผูกพันที่เกิดขึ้นระหว่างกัน มันยากนะ
สมมุติเราทำอะไรด้วยกันอยู่บนความสุข เราจะจำช่วงเวลานั้น จำรอยยิ้มได้ แต่ถ้ามันทุกข์ เรียนดนตรีแล้วเครียด กลับไปก็มีแต่เหนื่อยล้า มีแต่ความกดดันจะต้องทำให้ได้ มันคงไม่ใช่ทางของเรา รวมถึงคงไม่ใช่ทางที่เด็กน่าจะชอบด้วย
ดังนั้นจะบอกกับเด็กเสมอ ‘เรียนก่อนค่อยเลือก’ เรียนให้รู้ว่าไม่ใช่ ไม่เป็น ไม่เอา ไม่ชอบ ไม่อยู่ ไม่มีความสุข ก็ไม่ว่ากัน เลิกเรียนได้ แต่ต้องค้นหาตัวเองต่อไป
ที่ครูบลูมีความสุข เพราะครูสอนดนตรี ไม่ได้สอนวิชาการหรือเปล่า
ครูทุกคนมีภาระหนักเป็นของตัวเอง การเรียนในวิชาดนตรีไม่ได้แปลว่าละทิ้งวิชาการ การเรียนดนตรีมีการสอบ การตัดเกรด ดังนั้นครูหนีงานวิชาการไม่ได้อยู่แล้ว ทุกอย่างต้องเป็นไปตามหลักสูตรที่กำหนด จริงๆ แล้วครูที่สอนวิชาการก็สามารถสร้างความสุขในแบบตัวเองได้ แต่ต้องหาวิธีเป็นของตัวเอง มีอย่างเดียวที่เราโชคดีกว่าคือการทำวงโยฯ หรือการสอนดนตรี มันเพิ่มโอกาสทำให้เราใกล้ชิดกับเด็กขึ้นเท่านั้นเอง
ความหมายของคำว่า ‘เรียนรู้’ แบบฉบับครูบลูคืออะไร
ทุกอย่าง อย่างไม่มีขีดจำกัดด้วย ทุกอย่างคือการเรียนรู้หมด ครูเองก็ต้องเรียนรู้จากเด็กตลอดเวลา ไม่ใช่แค่เขามาเรียนความรู้กับเราเพียงอย่างเดียว เราต้องอยู่กับเขา ทำงานกับเขา ต้องเรียนรู้เด็กทุกคน นิสัยใจคอ สิ่งที่เขาชอบ-ไม่ชอบ การใช้ชีวิตของเขา เรียนรู้เพื่อให้เข้าใจเด็กแต่ละคน
เทคนิคการเรียนรู้ของเราคือการบอกด้วยเองอยู่เสมอว่า ‘เราอายุ 18’ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่า ในวันที่เราอายุ 18 ตอนนั้นคิดและรู้สึกอย่างไร เวลาเราเห็นเด็กทำอะไรแปลกๆ หรือทำอะไรนอกลู่นอกทาง เราจะได้ทบทวนเพื่อเข้าใจว่าเขาทำแบบนั้นเพราะอะไร