- เริ่มจากการตั้งคำถามกับภาวะที่เกิดขึ้นกับครูในยุคนี้ ทำไมครูไม่ได้แค่สอนหนังสือ แต่กลับต้องเผชิญกับภาระเอกสารจำนวนมาก รวมถึงทำงานนอกเวลา
- เข้าใจและถอยออกมามองให้ชัด การเดินทางตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันของระบบศึกษาไทย ผ่านงานวิจัย ‘Neoliberalism, Govermentality, Education Reform, and Teacher in Thailand’ โดย วงอร พัวพันสวัสดิ์ ว่าเหตุใดเมื่อเสรีนิยมใหม่เข้ามาแล้วภาระงานของครูจึงมีมากขึ้น
- เป็นเรื่องที่น่าเศร้า หากครูต้องจมอยู่กับปัญหาเหล่านี้โดยไม่คิดทำอะไร “ครูต้องหาทางออกก่อนที่งานจะกัดกิน passion และทำให้ครูไม่สนุกกับการเป็นครูอีกแล้ว” คำตอบจาก ครูร่มเกล้า-ครูสอนคณิตศาสตร์ ม.ปลาย ผู้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง และไม่ยอมให้ภาระงานเอกสารทำให้ตัวเองหมดสนุกกับการสอน
ภาพ: กลุ่มพลเรียน, Inskru และ Critizen
“ทำไมครูถึงเผชิญกับภาระเอกสารจำนวนมาก?”
“เพราะอะไรครูถึงไม่ได้ทำงานสอนเพียงอย่างเดียว?”
นี่คือผลผลิตของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ที่เข้ามาปั่นปวนในระบบการศึกษาไทยจนก่อให้เกิดปรากฏการณ์ ‘ครูไม่ได้ทำหน้าที่ครู’ ค่อยๆ สะสมในสังคมไทยอย่างยาวนานและแนบแน่น จนบางครั้งทำให้เราหลงลืม ไม่ทันฉุกคิด และตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น
แต่ในความเป็นจริง หน้าที่ของครูที่แท้คืออะไร?
การทำงานเอกสารและสร้างผลงานวิชาการ ถือเป็นข้อเสียหรือไม่?
วิทยานิพนธ์เรื่อง ‘Neoliberalism, Govermentality, Education Reform, and Teacher in Thailand’ โดย วงอร พัวพันสวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวบรวมคำอธิบายผ่านประสบการณ์ของครูจำนวน 63 คน ผ่านทฤษฎีทางสังคมและการเมือง เพื่อให้เข้าใจและถอยออกมามองให้ชัดว่าตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันการเดินทางของระบบการศึกษาไทยเป็นอย่างไร
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในงาน ตั้งวงเล่า #1 เมื่อ ‘ครู’ ไม่ได้ทำหน้าที่ครู: เสรีนิยมใหม่ในโรงเรียนไทย โดยกลุ่ม พลเรียน inskru และ Critizen เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
เสรีนิยมใหม่คืออะไร
คือระเบียบทางเศรษฐกิจโลกที่เข้ามากำกับชุดความคิดและกำหนดนโยบายทางการเมืองและสังคม โดยมุ่งเน้นและให้ความสำคัญไปที่ระบบเศรษฐกิจ
อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ เมื่อเราพูดถึงคำว่าเศรษฐกิจ ย่อมเชื่อมโยงกับชีวิตมนุษย์ในหลายมิติ เสรีนิยมใหม่จึงมีบทบาทและสร้างผลกระทบเชื่อมโยงกับเราทุกคนได้แทบทุกด้าน ไม่ว่าจะทางสังคม วัฒนธรรม สุขภาพ รวมถึงการศึกษา
หากเราสวมแว่นตาเสรีนิยมใหม่มองเข้าไปในระบบการศึกษาไทย จะพบเห็นความพยายามจัดวางให้โรงเรียนเป็นดั่งสินค้า มีครูทำหน้าที่เป็นพนักงานผลิตสินค้าป้อนเข้าสู่ตลาด และเชื่อกันว่าหากโรงเรียนอยู่บนกลไกตลาดที่มีการแข่งขันสูง จะทำให้โรงเรียนและบุคลากรครูเกิดการพัฒนา ท้ายที่สุดการศึกษาจะมีคุณภาพ
เมื่อโรงเรียนอยู่ในสถานะผู้ผลิตสินค้าแล้ว พ่อแม่หรือผู้ปกครองจะมีอำนาจในการซื้อขายมากขึ้น หมายถึง จะมีเสรีภาพในการเลือกโรงเรียนที่ดีให้กับลูกตัวเองได้ (parental choice) เราจึงเห็นโรงเรียนทางเลือก หรือโรงเรียนนานาชาติ ผุดขึ้นมากมายในยุคหลัง
ทั้งนี้ เสรีนิยมใหม่เกิดขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับคำว่ารัฐสวัสดิการ เพราะรัฐสวัสดิการคือ สวัสดิการที่รัฐจัดให้ หลายฝ่ายคิดว่าจะไม่ก่อให้เกิดการต่อสู้ แข่งขัน ไม่มีการลุกขึ้นมาผลิต พัฒนา และปรับตัว ทำให้ไร้นวัตกรรม
ความคิดนี้ ส่งผลถึงภาพใหญ่ของระบบการศึกษา และความคิด-ความเชื่อที่เปลี่ยนไปของคนตัวเล็กๆ ในระดับปัจเจก อย่าง ‘ครู’
เสรีนิยมใหม่ในการศึกษาไทย
ดูเหมือนว่าเสรีนิยมใหม่เรียกร้องให้ครูแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น ให้ครูแต่ละคนใช้เทคนิคหรือวิธีการส่วนตัวต่อสู้กับปัญหาที่พบเจอไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจทำให้ครูมีสิทธิต่อรองได้น้อยลง และเพราะคิดว่าเป็นปัญหาของตัวเอง จึงต้องก้มหน้าก้มตาจัดการปัญหาทางการศึกษาด้วยตัวเองต่อไป ทั้งที่จริงแล้วมันคือปัญหาเชิงโครงสร้าง
สรุปสั้นๆ ว่า เมื่อเสรีนิยมใหม่เข้ามาในระบบการศึกษาไทย ก่อให้เกิด 2 ปรากฏการณ์สำคัญ คือ ความคิดของครูที่เปลี่ยนไปและพฤติกรรมที่ครูแสดงออกมา จึงทำให้ ดร.วงอร พัวพันสวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถามในการศึกษาวิทยานิพนธ์เล่มนี้ว่า ‘ประสบการณ์ของครูในโรงเรียนรัฐบาลที่มีต่อการปฏิรูปนโยบายเสรีนิยมใหม่ เปลี่ยนไปอย่างไร’
โดยบทความชิ้นนี้จะตั้งข้อสังเกตและศึกษาครูในฐานะลูกจ้างของรัฐ ว่า ‘ครูกับรัฐ: สะท้อนความสัมพันธ์ของครูกับรัฐบาล ในฐานะลูกจ้างเป็นอย่างไร’ เมื่อสังคมก้าวเข้าสู่ยุคเสรีนิยมใหม่แล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงใดขึ้นบ้างกับครู ซึ่งข้อมูลทั้งหมดในวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ ได้มาจากการสัมภาษณ์ผ่านประสบการณ์ครูระดับมัธยมจำนวน 63 คน ในโรงเรียนรัฐบาลขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และโรงเรียนประจำอำเภอจำนวน 5 แห่ง
ผลการศึกษา
เมื่อมีนโยบายเสรีนิยมใหม่เข้ามา พฤติกรรมของครูในโรงเรียนรัฐเปลี่ยนไปอย่างน้อย 2 เรื่องใหญ่ คือ
- การจ่ายผลตอบแทนที่ผูกติดกับผลงาน: เรื่องนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีแรงจูงใจเหมือนพนักงานเอกชน เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกจ้างงานในลักษณะความมั่นคง ตลอดชีวิต และระยะยาว ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะไม่ก่อให้เกิดการผลักดัน และผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ
- เรื่องการประเมินคุณภาพโรงเรียน: ลักษณะหนึ่งของการบริหารแบบเสรีนิยมใหม่มักนำเอาการบริหารจัดการในภาคธุรกิจเข้ามาปรับใช้ในภาครัฐ โดยมีตัวชี้วัดเป็นตัวตัดสิน เพื่อประเมินว่าใครเป็นอย่างไร
ข้อดีของการประเมิน เพื่อทำให้เจ้าหน้าที่รัฐกระตือรือร้น แต่อีกนัยหนึ่งก็ทำให้การศึกษากลายเป็นสินค้า มีผู้ผลิต และบริโภค ทำให้หลังการปฏิรูปการศึกษาปี 2542 โรงเรียนต้องเผชิญกับระบบการประเมินอย่างมหาศาล เต็มไปด้วยตัวชี้วัดมากมาย กลายเป็นว่าครูไม่ได้ทำหน้าที่แค่สอน และผลักให้ครูหลายคนต้องทำงานล่วงเวลา หรือทำงานเอกสารอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น
พฤติกรรมใหม่ของครู
เมื่อเสรีนิยมใหม่เข้ามา ทำให้ครูต้องเร่งพัฒนาตัวเองและหมั่นสร้างผลงานอยู่เสมอ ครูจะต้องเพิ่มองค์ความรู้ทางวิชาการ พัฒนาสื่อการเรียนการสอน หมั่นอัพเดตและติดตามข่าวสาร
เสรีนิยมใหม่มองว่าการบริหารจัดการโรงเรียนควรเป็นเหมือนบริษัท ผลักให้ครูกลายเป็นพนักงานบริษัทต้องแข่งขันไปตามกลไก ต้องสร้างผลงานให้กับองค์กร เช่น การสร้างแผนการสอนใหม่ๆ ทำใบงาน ทำวิจัย ทำใบประกาศต่างๆ นอกจากนี้วาทกรรมการพัฒนาตัวเอง ยังมีอิทธิพลมาก เพราะกลายเป็นตัวชี้วัดทางศีลธรรม ทำให้ครูหลายๆ คนใช้สิ่งนี้ตัดสินและกำกับตัวเองว่า ตัวเองเป็นครูที่ดีหรือไม่ โดยพิจารณาจากการสร้างผลงาน
ครูที่ดีคือใคร
คุณสมบัติของครูที่ดีภายใต้ยุคเสรีนิยมใหม่ จะต้องเป็นครูที่ต้องผ่านการอบรมสัมมนาเป็นประจำ ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ไปศึกษาดูงานนอกสถานที่ กระตือรือร้น รู้จักปรับการเรียนการสอนอย่างสม่ำเสมอ ใช้แหล่งความรู้เครื่องมือและเทคนิคการสอนอย่างหลากหลาย รวมถึงทำงานวิจัย ผลกระทบที่ตามมา คือ ‘แรงกดดัน’ จากผู้บังคับบัญชา (หรือโรงเรียน) รวมถึงความกดดันภายในตัวเอง
ปรับแผนการสอนหน้าเดียว ลดภาระครู
ในเมื่อโลกเดินเข้าสู่ระบบเสรีนิยมใหม่อย่างสมบูรณ์แบบ เหล่ามนุษย์ครูย่อมต้องปรับตัว สำหรับ ร่มเกล้า ช้างน้อย ครูสอนคณิตศาสตร์ระดับชั้น ม.ปลาย โรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม ให้คำนิยามกับเสรีนิยมใหม่ไม่ต่างจากงานวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ และมองว่าเสรีนิยมใหม่ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาอย่างหลีกหนีไม่ได้
เสรีนิยมทำให้มนุษย์เป็นสินค้าและแรงงานในการหาเงิน ทำให้การศึกษากลายเป็นเครื่องมือผลิตแรงงานขึ้นมา ยิ่งตอกย้ำว่าโรงเรียนไทยกำลังผลิตมนุษย์เพื่อตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจและระบบทุน มุ่งเน้นการผลิตนักเรียนไปในทิศทางเดียว โดยลืมให้ความสำคัญบางอย่างไป เช่น การค้นหาตัวตน การค้นพบทักษะที่สำคัญตามวัย ความสามารถและทักษะที่เด็กควรจะมีติดตัว รวมถึงความสุขในการเรียนรู้ ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่ฉาบฉวยและไม่ยั่งยืน
แน่นอนว่าผลผลิตหนึ่งของเสรีนิยมใหม่คือภาระงานของครูที่เพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางงานที่มากมายของครูเช่นนี้ ครูร่มเกล้า มีวิธีการปฏิบัติเชิงรูปธรรมที่นำร่องและช่วยลดภาระดังกล่าวได้ นั่นคือ การทำแผนการสอนให้เหลือ 1 หน้า
ก่อนหน้านั้น ครูร่มเกล้าได้ทำผลสำรวจเรื่องแผนการสอนจากครูจำนวน 313 คน พบว่า ครูส่วนใหญ่มักใช้วิธีลอกแผนการสอนเดิมของตัวเอง หาข้อมูลเพิ่มจากอินเทอร์เน็ต หรือบางทีอาจหยิบยืมของเพื่อนครูด้วยกัน ซึ่งวิธีการเหล่านี้ไม่อาจย่นระยะเวลาภาระงานได้เลย ครูยังเหนื่อยอยู่ แถมแผนการสอนดังกล่าวยังไม่มีประสิทธิภาพที่ดีเพียงพอ จึงเกิดไอเดียการทำแผนหน้าเดียวขึ้นมา เพื่อปลดล็อคการเขียนแผนตามฟอร์มที่เกินความจำเป็น ให้ครูได้เขียนแผนแบบที่ตัวเองได้ใช้จริง ตามสไตล์ที่ตนเองถนัดก็พอ
“เริ่มจากการตั้งวัตถุประสงค์ ที่มี 3 ส่วนเหมือนแผนปกติทั่วไป ทั้งความรู้ กระบวนการ และคุณลักษณะที่อยากได้ มีขั้นนำขั้นสอน ขั้นสรุป และการวัดประเมินผลผู้เรียน ทั้งหมดนี้คือใจความที่เราจะสอน ออกแบบโดยมีภาพมาช่วยอธิบายว่า เราจะสอนตอนไหน โดยแผนนี้ใช้ 1 เรื่อง ต่อ 1 เนื้อหา”
“นอกจากนี้ เราใช้วิธีลงไปอยู่กับเด็ก ให้เด็กทำแบบฝึกหัด อาจไม่ได้มีขั้นตอนการสอนอะไรมากมาย แต่ถ้าเด็กต้องการรู้ว่าเราสอนเนื้อหาแบบไหน สไลด์แบบไหน ก็สามารถเข้าไปดูใน QR code”
“ทุกคนต้องตีความคำว่าเสียสละใหม่ เรามักจะเรียกร้องให้ครูทำงานเกินเวลา กลับดึก ทำงานในวันเสาร์อาทิตย์ ส่วนนี้จะทำให้ชีวิตและตัวตนของครูหายไป แทนที่ครูจะได้พักไปอยู่กับครอบครัว อยู่กับตัวเอง ได้มีเวลาสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ก็ไม่มี”
นอกจากนั้นครูร่มเกล้ายังแบ่งปันวิธีการทำงานที่ตัวเองใช้ และเห็นว่าเป็นประโยชน์ทำให้ครูสามารถขยับตัวได้คล่องขึ้นจากสภาพที่เป็นอยู่ นั่นคือ
- ครูต้องเขียนงานทั้งหมดที่มี กางออกมาให้ตัวเองเห็น
- ครูต้องเรียงลำดับความสำคัญของงานแต่ละชิ้น
- ครูสามารถตัดทิ้งงานบางสิ่งบางอย่างออกไป
“3 วิธีการนี้จะช่วยให้ครูไม่ต้องรับภาระโหลดเกินไป ครูต้องหาทางออกก่อนที่งานจะกัดกิน passion และทำให้ครูไม่สนุกกับการเป็นครูอีกแล้ว”
ซึ่งการทำแผนหน้าเดียว จะช่วยทำให้ครูทำงานได้เต็มศักยภาพมากขึ้น รู้โฟกัสของตัวเอง ข้อดีอีกอย่างจะช่วยส่งต่อให้ครูผู้สอนท่านอื่น สามารถสอนเข้าสอนแทนได้อย่างสะดวก หากครูผู้สอนติดภารกิจ เพราะมีแผนการสอนหน้าเดียวกำกับอย่างชัดเจน ว่าจะต้องสอนเนื้อหาอะไรในแต่ละคาบ ช่วยลดปัญหาครูทิ้งคาบ หรือคาบว่างของนักเรียนลงไปได้
สอดคล้องกับคำพูดที่ครูร่มเกล้า กล่าวไว้บนเวทีงาน TEP Forum 2019 ในหัวข้อ ‘ภาพใหม่การศึกษาไทย เพื่อการสร้างเสริมสมรรถนะเด็กไทย’ ที่ผ่านมา โดยครูร่มเกล้าเชื่อว่าการลดภาระงานเอกสาร เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสุขของครู
“ถ้าครูมีความสุข ครูก็จะส่งความสุขต่อนักเรียน ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เกิดตั้งแต่ระดับตัวบุคคล ก็จะส่งต่อไปที่สังคม และสุดท้ายก็จะไปเปลี่ยนนโยบายได้ในที่สุด”