- “ทุกวันนี้ความรู้อายุสั้น ขณะที่คนอายุยืนยาว” นี่คือประโยคที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กล่าวในเวที TEP Forum 2019 ในหัวข้อ ‘ภาพใหม่การศึกษาไทย เพื่อการสร้างเสริมสมรรถนะเด็กไทย’
- ความรู้ปัจจุบันอยู่ในรูปแบบ VUCA ที่มาจากคำว่า V-Volatility การเปลี่ยนไว / U-Uncertainty ความไม่แน่นอน / C-Complexity ความซับซ้อน / A-Ambiguity ความคลุมเครือ
- ภาพใหม่ของการศึกษาไทย จึงกลับไปที่เนื้อแท้แห่งการศึกษา นั่นคือการเรียนรู้ที่ได้ทดลอง ลงมือ มีพื้นที่แห่งการทดลอง และต้องเกิดจาก passion ความหลงใหลภายใน
ภาพ : พัชริดา จูจรูญ, ศิริลักษณ์ พรมภักดี
ไม่ใช่แค่ “ทุกวันนี้ความรู้อายุสั้น ขณะที่คนอายุยืนยาว” แต่ความรู้ในปัจจุบัน ยัง เปลี่ยนไว ไม่แน่นอน ซับซ้อน และ คลุมเครือ อย่างที่เรียกสั้นๆ ว่า VUCA
คือทัศนะส่วนหนึ่งของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เลขานุการคณะกรรมการภาคีเพื่อการศึกษา บนเวที TEP Forum 2019ในหัวข้อ ‘ภาพใหม่การศึกษาไทย เพื่อการสร้างเสริมสมรรถนะเด็กไทย’ ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา
แต่ก่อนที่จะพาคนในห้องประชุมราวหนึ่งพันคนและผู้ชมทางบ้านผ่าน Live เฟซบุ๊คให้เห็นภาพอย่างประโยคข้างต้น ดร.สมเกียรติ ยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของธนาคารไทยพาณิชย์ในราวปี 2559 เพื่อเปรียบเทียบว่า ปรัชญาแห่งการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจ ไม่เคยเป็นคนละเรื่อง ไม่เคยแยกขาดกับการเปลี่ยนแปลง (ไปแล้ว) ในประเด็นการศึกษา
เพราะในยุค disruption ที่องค์ความรู้และเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ผลกระทบแห่งการเปลี่ยน มันมีพรมแดนจริงหรือ?
ไทยพาณิชย์ ตัวอย่างการปรับตัวในโลกที่เปลี่ยนไว ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ
“ย้อนเวลากลับไป 1 ปี ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศข่าวปรับทัพครั้งใหญ่ ตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปี จะลดพนักงานลงให้เหลือ 15,000 คน และจะลดจำนวนสาขาให้เหลือเพียง 400 สาขา เหตุใด องค์กรใหญ่ที่อยู่มาเป็นร้อยปีอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ จึงต้องปรับตัวครั้งใหญ่ทั้งที่ผลประกอบการก่อนหน้านั้นยังคงเติบโต ในปี 2560 ธนาคารมีรายได้เกือบ 2 แสนล้านบาท กำไรสุทธิ 40,000 ล้านบาทต่อปี ทำไมธนาคารใหญ่เก่าแก่ของประเทศไทย ถึงต้องปรับตัว?”
เหตุผลที่ คุณอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการ ประธานกรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการกำกับความเสี่ยง ชี้แจงคือ แม้รายได้โดยรวมของธนาคารยังคงดีอยู่ แต่ก็มีแนวโน้มที่ลดลง ชัดเจนคือรายได้จากค่าธรรมเนียม และรายได้จากสินเชื่อ เพราะการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีและการเข้าถึงระบบทางการเงินแบบใหม่ และจากผู้เล่นรายใหม่ บริษัท อาลีบาบา จากประเทศจีน คือชื่อที่ ดร.สมเกียรติ ยกตัวอย่างถึง
การปรับตัวของไทยพาณิชย์มีหลายรูปแบบ แต่ที่ทรงพลังที่สุดในมุมของ ดร.สมเกียรติ คือการปรับตัวจากภายใน
“ก่อนเดินเข้ามาในห้องประชุม ท่านเห็นใช่ไหมครับว่า จะมีบอร์ดที่โชว์รูปภาพพนักงานโดยถามว่า ‘ทำไมต้องตื่นมาทำงานในแต่ละวัน?’ นี่คือการปรับตัวครั้งใหญ่ของธนาคาร การปรับตัวที่ไม่ได้ขึ้นกับ CEO และกรรมการผู้จัดการใหญ่ แต่กระตุ้นให้พนักงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
“และเพื่อให้เกิดความคล่องแคล่ว ธนาคารต้อง disrupt ตัวเองก่อนจะถูก disrupt สิ่งที่เป็นรูปธรรมคือ จากที่มีสายบังคับบัญชาที่ยาวมาก การปรับตัวจึงใช้ agile team เพื่อให้มีความคล่องแคล่ว ปราดเปรียว ตอนนี้ฝ่ายบริหารไม่ได้แยกตัวออกจากองคาพยพทั้งหมดแล้ว ฝ่ายบริหารถูกทลายห้อง ผู้จัดการใหญ่ตอนนี้นั่งโต๊ะตัวเดียวกัน มีอะไรจะได้พูดคุยกัน ตัดสินใจได้รวดเร็วเลย
“นอกจากนี้ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เล่นกับเทคโนโลยีมากขึ้น มีการตั้งบริษัทลูกขึ้นใหม่ เช่น SCB Abacus เพื่อทำงานด้าน big data ตั้งบริษัท Digital Ventures ไว้ลงทุนกับเทคโนโลยีเพื่อตามโลกให้ทัน และใน SCB เองก็มีการพยายามทำนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นเร็วกว่าปัจจุบัน 10 เท่า เรียกว่าแผนก SCB 10X”
อาจไม่ต้องบอกแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร ภายในตัวตึกของธนาคารไทยพาณิชย์ส่งภาพการเปลี่ยนแปลงสู่ผู้ใช้งานภายนอกอย่างไร ที่ชัดเจนที่สุดอาจเป็นความเคยชินกับ ‘แม่มณี’ และการอนุมัติสินเชื่อบางตัวที่ไวเพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง
หนึ่งในปรัชญาการเปลี่ยนแปลงภายในนี้ ดร.สมเกียรติ มองว่ามาจากความคิดที่ชื่อ VUCA: โลกที่เปลี่ยนไว ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ อันมาจากคำว่า
- V – Volatility การเปลี่ยนไว
- U – Uncertainty ความไม่แน่นอน
- C – Complexity ความซับซ้อน
- A – Ambiguity ความคลุมเครือ
ดร.สมเกียรติ ชี้ว่า ยิ่งองค์ประกอบซับซ้อนและมีองค์ประกอบตัวเล็กๆ น้อยๆ เชื่อมโยงกันหลายอย่าง ในความซับซ้อนจึงยากจะพยากรณ์ เช่น การทำนายที่ว่า หากธนาคารหนึ่งล้มไป จะส่งผลต่อธุรกิจอื่นหรือไม่ และ ส่งอย่างไร? นี่เป็นสิ่งที่สมัยนี้ไม่อาจทำนายได้ หมายความว่า ยิ่งซับซ้อนเท่าไร ก็ยิ่งคลุมเครือมากเท่านั้น
“โลกจึงมีความไม่แน่นอนสูง พยากรณ์ได้ยาก และคลุมเครือ และนี่คือโลกที่พวกเราทุกคน และเด็กในวันนี้ต้องเผชิญ” ดร.สมเกียรติกล่าว
ความรู้อายุสั้น คนอายุยาว ภาพใหม่การศึกษายุค disruption
“ผมเรียนจบสาขาคอมพิวเตอร์ น่าสนใจมากนะครับ เพราะความรู้ที่ผมเรียนมาในปี 1 พอจบปี 4 มันใช้ไม่ได้แล้ว (หัวเราะ)”
แม้ ดร.สมเกียรติจะหัวเราะแบบขันขื่น แต่ข้อเท็จจริงที่เขาชี้ก็คือ ‘ครึ่งชีวิต’ ของความรู้ จะมีอายุน้อยลงไปเรื่อย ความรู้-ความจริง ชุดเดิม จะถูกตั้งคำถาม รื้อ ล้ม และเกิดใหม่ ในเวลาที่สั้นลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะสาขาวิศวกรรมและคอมพิวเตอร์ ที่น่าสนุกไปกว่านั้นคือ ข้อเท็จจริงนี้สวนทางกับค่าเฉลี่ยอายุขัยของมนุษย์ที่จะยืนยาวขึ้นเรื่อยๆ
เราได้ยินกันตลอดว่าทักษะของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่แค่ความสามารถทางวิชาการ (เพราะความรู้จะถูก disrupt) แต่ในทัศนะของ ดร.สมเกียรติ ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงพลิกผัน แค่ทักษะในศตวรรษที่ 21 ไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ต้องมี ++ ตามท้าย โดยเฉพาะ ความคิดสร้างสรรค์ และความจำเป็นต้องเข้าใจทฤษฎีแห่งการเรียนรู้
“แม้ความรู้จะมีอายุสั้นลง แต่ไม่ได้หมายความว่ามันไม่สำคัญ เพราะยิ่งความรู้สั้นลง เด็กกลับจำเป็นต้องรู้ถึงความเป็นไปในโลก นักเรียนต้องเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ‘ทฤษฎีความรู้’ รู้ว่าความรู้สร้างมาได้ยังไง ทำไมจึงผิดพลาดได้ และรู้ว่าแม้ว่าวันนี้มันถูกสร้าง มันอาจถูกล้มได้เช่นกัน”
ภาพใหม่ของการศึกษาไทย จึงกลับไปที่เนื้อแท้แห่งการศึกษา นั่นคือการเรียนรู้ที่ได้ทดลอง ลงมือ มีพื้นที่แห่งการทดลอง และต้องเกิดจาก passion ความหลงใหลภายใน
“การถูกบังคับ เป็นแรงจูงใจที่ทำให้การเรียนรู้ของเด็กคนหนึ่งไม่ยืนยาว การเรียนรู้จะทำได้ ต้องเริ่มจากความหลงใหลและอยากเรียนรู้ภายใน การเรียนรู้ที่ได้ทำจากของจริง จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในอนาคต”
ดร.สมเกียรติกล่าวปิดท้ายบนเวทีไว้อย่างน่าสนใจ โดยยกคำพูดของ เฮนรี มินท์ซเบิร์ก ศาสตราจารย์ด้านกลยุทธ์ มหาวิทยาลัยแมคกิลล์ ว่า
“เมื่อโลกพยากรณ์ได้ เราต้องการคนฉลาด แต่เมื่อโลกพยากรณ์ไม่ได้ เราต้องการคนที่ปรับตัวได้”
สามารถดู Live Facebook ได้ที่นี่