- ต้นเดือนที่ผ่านมา เด็กๆ ในโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่รุ่นที่ 7 ลากกระเป๋าเข้าบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อเวิร์คช็อปเรียนรู้การพัฒนาโปรเจ็คท์ของแต่ละทีมเป็นครั้งแรก (จากทั้งหมด 3 ครั้ง เวิร์คช็อปครั้งสุดท้ายจะมีขึ้นราวเดือนกันยายน)
- The Potential เข้าสังเกตการณ์และพูดคุยกับเยาวชนผู้เคยเข้าร่วมโครงการต่อกล้าฯ ในปีก่อนๆ วันนี้พวกเขากลับมาเป็นพี่เลี้ยงค่าย เราคุยกันถึงจุดเริ่มต้นและวิธีคิดการเป็นนวัตกร หากฟังเสียงของพวกเขาอย่างตั้งใจพอ เราจะเห็นคำตอบว่า ทำไมการเรียนรู้จึงไม่เคยอยู่แค่ในห้องเรียน
ภาพ: จุมพล ศิริอินทร์
สำหรับเด็กสายไอที เวทีประลองความรู้และต่อยอดไอเดียมีหลากหลาย แต่เวทีที่คุ้นหูเหล่านวัตกรน้อยและครูที่ปรึกษาหนีไม่พ้น 3 เวทีนี้คือ การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC) การประกวดโครงงานนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC) และ การประกวดวงจรอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ (YECC) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
อย่างไรก็ตาม ผู้ชนะแต่ละปีมีได้ไม่กี่ราย แต่นวัตกรเกิดใหม่ ไอเดียและโปรเจ็คท์มากล้นได้ก่อเกิดขึ้นบนเวทีเหล่านั้นแล้ว
เพื่อไม่ให้ไอเดียนวัตกรรมและนวัตกรเหล่านั้นสูญหายไป โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่จึงเกิดขึ้น วิธีคิดคือทำอย่างไรก็ได้ให้ไอเดียเหล่านั้นถูก ‘ต่อยอด’ วิธีการคือเปิดเวทีให้ทีมนวัตกรจากเวทีประกวด 3 เวทีข้างต้น (NSC, YSC และ YECC) ที่ต้องการพาผลงานไปสู่ผู้ใช้งาน สมัครเข้าโครงการ รวมถึงต่อยอดเหล่านวัตกรในเรื่องวิธีคิดและความรู้ใหม่ในการพัฒนาโปรเจ็คท์
สำคัญที่สุดคือโครงการต่อกล้าฯ จะจัดเวิร์คช็อปจำนวน 3 ครั้งเพื่อติดตั้งวิธีคิดและเครื่องมือในการพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่ผู้ใช้ได้จริง เช่นเรื่อง Design Thinking, User Experience Design (UX) และ User Interface Design (UI) เป็นต้น รวมถึงการให้คำปรึกษาและฝึกอบรมผ่านโค้ชมืออาชีพจำนวนหนึ่ง เป็นโค้ชที่เข้าใจวิธีส่งต่อข้อมูลอย่างไม่สั่งสอน เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้อบอุ่นเป็นกันเอง เป็นครอบครัว
วันที่ 1-4 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เด็กๆ ในโครงการต่อกล้าฯ รุ่นที่ 7 ลากกระเป๋าเข้าบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อเข้าเวิร์คช็อปการเรียนรู้พัฒนาโปรเจ็คท์ของแต่ละทีมเป็นครั้งแรก (จากทั้งหมด 3 ครั้ง เวิร์คช็อปครั้งสุดท้ายจะมีขึ้นราวเดือนกันยายน)
The Potential มีโอกาสเข้าสังเกตการณ์และแอบพูดคุยกับเยาวชนผู้เคยเข้าร่วมโครงการต่อกล้าฯ ในปีก่อนๆ ซึ่งกลับมาเป็นพี่เลี้ยงหรือ TA (Teacher Assistant) ในวันนี้ถึงจุดเริ่มต้นเส้นทางชีวิตและวิธีคิดการเป็นนวัตกร
และหากฟังเสียงของพวกเขาอย่างตั้งใจพอ เราจะเห็นคำตอบที่ว่า ทำไมการเรียนรู้จึงไม่เคยอยู่แค่ในห้องเรียน
1. ภูมินทร์ ประกอบแสง โครงการต่อกล้าฯ รุ่นที่ 3
“พูดกันตรงๆ เด็กบ้านนอกอย่างผมมองว่าการเข้าไปแข่งขันในเวทีระดับประเทศแบบนี้มันยาก แค่เวทีในอำเภอหรือจังหวัดก็สู้เขาไม่ได้แล้ว มองศักยภาพของตัวเองต่ำมาก คิดว่าความรู้คงไม่ถึง วิชาการด้านเทคโนโลยีอะไรก็ไม่มี อยู่ไกล โอกาสจะได้เจอเทคโนโลยีใหม่ๆ มันช้า”
“ตอนแข่งครั้งแรก (เวที YECC) บอกเลยว่าผม ‘ว้าว‘ มาก เดินไปดูงานแต่ละกลุ่มแต่ละชิ้นแต่ละเวที ผม ‘ว้าว‘ ทุกอย่าง เดินเข้าไปถามอย่างเดียวเลย เคยเห็นเทคโนโลยีสูงๆ ล้ำๆ แค่ในหนัง แต่สิ่งที่อยู่ตรงหน้าทำให้คิดว่าคนไทยทำได้ถึงขั้นนั้น“
ภูมินทร์ ประกอบแสง หรือ ครูต่าย วัย 24 ปี ปัจจุบันเป็นอาจารย์แผนกวิชาไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ ย้อนความถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาเลือกเป็นครูทันทีหลังเรียนจบ
“อยากสร้างโอกาสให้กับเด็กๆ เหมือนที่เคยได้รับ” เขาว่าเช่นนั้น
ภูมินทร์เข้าร่วมเวที YECC ด้วยโครงการ ‘เครื่องเพาะเห็ดสำหรับบุคคลทั่วไป‘ เริ่มต้นจากปัญหาใกล้ตัวเพราะขณะเรียนชั้นปี 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร พบว่าหลายครัวเรือนรอบมหาวิทยาลัย ประกอบอาชีพเพาะเห็ดแต่ปัญหาคืออุณหภูมิและความชื้นแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน เขาและทีมจึงอยากพัฒนาเครื่องเพาะเห็ดอัตโนมัติสำหรับบุคคลทั่วไปขึ้น
“ตอนนั้นคิดแค่ว่าเราจะแก้ปัญหาให้บ้านเรา พี่น้องเราต้องใช้เครื่องนี้เป็น คิดแค่นั้น ยังไม่ได้คิดไปถึงสเกลระดับใหญ่อะไรขนาดนั้น พอประกวดเวที YECC จบ ทีมผมได้ที่ 2 โครงการต่อกล้าฯ เดินมาถามว่า ‘น้องอยากต่อยอดโครงการไหม?’ ผมถามว่า ‘มันจะต่อยอดได้เหรอครับ?’ เขาบอกว่าได้ และการเข้าโครงการจะช่วยต่อยอดถึงผู้ใช้งานจริงได้ ผมเลยสนใจและสมัครโครงการต่อกล้ารุ่นที่ 3”
ปัจจุบันเครื่องเพาะเห็ดของทีมถูกพัฒนาโดยเจาะไปที่กลุ่มผู้ใช้งานสูงวัย ซึ่งปุ่มสั่งการต้องเรียบง่าย ใช้ง่าย เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน ทีมมอบสิทธิบัตรดังกล่าวให้กับมหาวิทยาลัยโดยเปิดให้เป็น free brand นำไปพัฒนาต่อยอดและผลิตใช้งานได้ฟรี
“สิ่งที่ผมได้จากโครงการต่อกล้าฯ คือความรู้สึกอยากเป็นครู อยากสร้างโอกาสแบบนี้ให้กับเด็กที่อยู่ในพื้นที่ไกลๆ เหมือนตอนที่ผมได้โอกาสแบบนี้จากคนอื่นเช่นกัน พยายามพานักเรียนที่ตัวเองสอนให้ได้มาเวทีเหล่านี้ ให้เขาได้เห็นโลกกว้าง เพราะเวลาได้มาเห็นอะไรแบบนี้เราจะเห็นเลยว่า วิธีคิดเขาเปลี่ยนไป มันมีความตื่นเต้น มีความท้าทายเข้ามาแต่ละวัน
“ก่อนทำงานจริง เด็กๆ จะมองว่าสิ่งที่ทำเป็นเรื่องยาก เขาจะไม่อยากทำ แต่เมื่อเด็กๆ ซึมซับสิ่งที่โค้ชสอน คำถามจากโค้ชทำให้เขาเริ่มคิดกับงาน นำมาใส่กับงาน จากที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ก็จะเริ่มเก่งขึ้น
“เวทีเหล่านี้ทำให้เขามองเห็นโอกาสในชีวิต อย่างนักเรียนที่พามาเป็นนักเรียนช่างไฟฟ้า สิ่งที่เขาเคยคิดคือจบไปอาจเป็นแค่ช่าง แต่พอได้มาเวทีแบบนี้เขาเห็นว่าตัวเองอาจเป็นได้มากกว่านั้น แค่ชื่อโครงการ (ต่อกล้าให้เติบใหญ่) ก็เป็นจุดเปลี่ยนแล้ว”
คำถามทิ้งท้าย นวัตกรรมในมุมของภูมินทร์คืออะไร?
“นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ใหม่ในแง่เทคโนโลยีที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่จำเป็น แต่นวัตกรรมต้องแก้ปัญหาต่อยอดตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ นวัตกรต้องขี้สงสัยต่อยอดจากปัญหาและนำไปทดลองทดลองๆๆ ว่ามันตอบโจทย์ที่ตั้งไว้จริงรึเปล่า ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ต้องทำไปเรื่อยๆ บอกไม่ได้ว่าจะจบตรงไหน สำคัญคือนวัตกรรมนั้นต้องตอบโจทย์ผู้ใช้งาน นั่นคืองานของเรา”
2. วณัฐวนี ศรีโกเศรษฐ โครงการต่อกล้ารุ่นที่ 5
“ชอบวาดรูปตั้งแต่เด็กแต่ก็แค่ฝึกวาดเฉยๆ มากสุดคือใช้เมาส์ปากกาวาดรูปในคอมฯ เคยคิดว่าโตขึ้นไปถ้าไม่เป็นครู… คือพ่อแม่หนูเป็นครูมาตลอด เคยเห็นแค่อาชีพนี้อาชีพเดียว หมายความว่าถ้าไม่เป็นครูก็อาจทำงานเกี่ยวกับการวาดรูป แต่ไม่เคยคิดว่าจะเอาการวาดไปจับกับเทคโนโลยีได้เหมือนที่ทำทุกวันนี้
“พอมาอยู่ตรงนี้ (ทำเกมแอนิเมชั่น) รู้สึกว่างานอดิเรกของเราทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้ มีความสุขที่เห็นคนใช้งานจากรูปวาดของเรา“
แป้ง–วณัฐวนี ศรีโกเศรษฐ โครงการต่อกล้ารุ่นที่ 5 ปัจจุบันเป็นนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ไม่ใช่สายครุศาสตร์อย่างที่เคยคิดไว้
แอพพลิเคชั่นที่แป้งว่าคือ เกมเป็นหนึ่ง เกมเพื่อสร้างเสริมทักษะการทำงานเป็นทีม วิธีการคือผู้เล่นหนึ่งคนต้องควบคุมตัวละครทั้ง 5 ให้ทำงานร่วมกันเป็นทีมให้ได้ หน้าที่ของแป้งในทีมคือเป็นมือกราฟิก โดยเพื่อนอีกสองคนรับหน้าที่เขียนโค้ด ทีมของแป้งพัฒนาเป็นหนึ่งเข้าประกวดเวที NSC และใช้เกมเดิมสมัครเข้าโครงการต่อกล้าฯ เพื่อพัฒนาเกมต่อไป
วันที่แป้งพูดคุยกับเราเธอพูดจาฉะฉาน แต่แป้งย้ำเสมอว่าเมื่อก่อนไม่ได้เป็นแบบนี้ เธอไม่พูด ไม่มั่นใจ กลัว แต่เวทีนี้ขัดเกลาเปรียบเป็นยาแรงผลักให้เธอต้องพัฒนาบุคลิกภาพของตัวเอง
“ตอนเข้าเวที NSC ตื่นเต้นมาก ไม่เคยทำงานนอกโรงเรียนมาก่อน ตอนพรีเซนต์ครั้งแรกเกือบร้องไห้ กลัวทำไม่ได้ กลัวทำให้เพื่อนร่วมทีมลำบาก กลัวการเข้าสังคม ไม่มั่นใจว่าตัวเองจะทำอะไรได้เลย โดยเฉพาะตอนโค้ชถามคำถามที่ตอบไม่ได้ จะยิ่งไม่มั่นใจ กลัวมากว่าถ้าตอบไปว่า ‘ไม่รู้’ เขาจะว่าอะไรไหม? (หัวเราะ) แต่พอจบค่ายกลายเป็นว่าเราพูดในสิ่งที่เกี่ยวกับงานได้คล่องแคล่ว ส่วนหนึ่งมาจากความเข้าใจในงานของตัวเอง แต่ก็เป็นเพราะค่ายทำให้เรามีเวลาอยู่กับงานอย่างเต็มที่มากๆ คอยกระตุ้นให้ต้องทำงานและพัฒนางานของเราให้ดีขึ้น ทำให้ต้องอยู่กับงานบ่อยขึ้น
“จำได้ว่าตอนประกวด NSC เวทีแรก ผู้เล่นจำไม่ได้ว่าต้องกดคีย์ลัดอะไรบ้าง แต่วันพรีเซนต์งานครั้งสุดท้ายในโครงการต่อกล้าฯ คนมาอยู่ที่บูธเรามากกว่าครั้งไหนๆ รู้สึกว่างานมาไกลจากเดิมมาก เห็นว่าผู้เล่นมีความสุขกับงานเรา งานเราเล่นง่ายขึ้นซึ่งในมุมมองคนทำเกม การเห็นคนเล่นเกมมีความสุขคือความสุขของเราแล้ว”
แป้งขยายความต่อว่าความมั่นใจที่มากขึ้น แปรผันตามความเข้าใจในหน้างานของตัวเองจนแตกฉาน เพราะรู้ว่าที่มาที่ไปของงานมาจากไหน นำไปสู่อะไร วิธีคิดในงานคืออะไร แป้งยกตัวอย่างบทเรียนในโครงการต่อกล้าฯ ที่มีส่วนช่วยให้รู้ว่า ‘ตัวเองกำลังทำอะไรอยู่’ มากขึ้น
“ความรู้ที่จำได้และชอบคือเรื่อง UX (User Experience Design) และ UI (User Interface Design) ตอนออกแบบโปรแกรมช่วงมัธยม หนูออกแบบโปรแกรมด้วยหน้าตาที่ตัวเองคุ้นเคย แต่พอมาเรียนเรื่องนี้ต้องมองในมุมคนใช้งานมากขึ้น เปลี่ยนมุมมองว่าเราเป็นคนพัฒนานะ ไม่ใช่ผู้ใช้งาน พอเข้าใจผู้ใช้มากขึ้นก็จะเข้าใจว่าโปรแกรมแบบนี้ ต้องออกแบบหน้าตายังไงให้ผู้ใช้เข้าใจว่าโปรแกรมมีไปเพื่ออะไร”
ความมั่นใจสำคัญยังไงต่อการเป็นโปรแกรมเมอร์?
“การนำงานในส่วนของเราไปทำร่วมกับคนอื่น หรือไปให้คนอื่นใช้เราต้องพรีเซนต์ต้องสื่อสาร ต้องโฆษณางานตัวเองให้คนอื่นรับรู้ได้ ไม่ใช่แค่ทำในส่วนของตัวเองอย่างเดียว เช่นหน้าที่ของหนูคือกราฟิก เราออกแบบหน้าตาโปรแกรมไว้แบบหนึ่ง แต่ถ้าเราสื่อสารให้คนเขียนโค้ดเข้าใจไม่ได้ แผนก็จะผิด ต้องไปตามแก้ซึ่งมันเสียเวลา”
คำถามสุดท้ายประจำหัวข้อ สำหรับแป้งนวัตกรรมคืออะไร?
“นวัตกรรมต้องยึดจากปัญหาของผู้ใช้งานเป็นหลัก ต้องรู้ว่าผู้ใช้งานมีปัญหาอะไร ปัญหานั้นเกิดขึ้นจากอะไร เราจะสร้างนวัตกรรมอะไรมาแก้ปัญหานี้ นวัตกรต้องเป็นคนใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ ที่คนอื่นมองข้าม
“หนูคิดว่านวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยีเสมอไป แค่ ‘วิธีคิด’ ที่แก้ปัญหาให้ผู้ใช้งาน ให้คนใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น เป็นประโยชน์กับเขามากขึ้น”
3. พีรพงษ์ ทับทิม โครงการต่อกล้าฯ รุ่นที่ 4
“ในเวิร์คช็อปต่อกล้าฯ ปีที่ 4 ผมกับเพื่อนทำโปรเจ็คท์ตู้อบสมุนไพรชื่อ Herb Pure Dry เพราะชาวบ้านทำลูกประคบโดยใช้สมุนไพรตากแห้ง แต่อากาศบางครั้งเดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝน เดี๋ยวชื้น ทำให้สมุนไพรเป็นรา ตู้อบสมุนไพรเดิมมีอยู่แล้วแต่ราคาสูง และมักเป็นตู้อบขนาดอุตสาหกรรม เราอยากทำตู้อบที่ราคาถูกลงใช้ในครัวเรือนง่ายขึ้น
“เพราะตอนนั้นผมเป็นนักศึกษาครุศาสตร์อุตสาหกรรมฯ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา) ทำให้มีความรู้แค่ในเชิงวิศวกรรมศาสตร์ แต่เวลาโค้ชถาม เขาใช้คำถามที่ลึกเช่นเจาะลึกเรื่องวิทยาศาสตร์ สมุนไพรที่ใช้มาจากอะไร ใบพืชแบบนี้มีประโยชน์อย่างไร ยังมีคำถามในเชิงธุรกิจอีกที่เราตอบไม่ได้ เราตอบไม่ได้แต่ก็อยากตอบ เลยกลายเป็นแถ (หัวเราะ) กรรมการบอกว่าสิ่งที่เราตอบมันไม่ใช่นะ เลยเฟลหน่อยๆ ว่าทำไมเราถึงไม่ศึกษาข้อมูลให้ดีนะ ถ้าศึกษามาแต่แรกก็จะตอบได้เลย
“อาจเพราะตอนนั้นยังเด็ก ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องถามจี้เราขนาดนี้ แต่ตอนนี้เข้าใจว่าเขาอยากให้เราหาจุดประสงค์ของโครงการที่เรากำลังทำให้ได้จริงๆ เราทำเพื่ออะไร ใครเป็นคนใช้งาน ไม่ใช่แค่โปรเจ็คท์เพื่อให้เรียนจบแค่ทำให้เสร็จๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก”
ปิ๊ก–พีรพงษ์ ทับทิม โครงการต่อกล้าฯ รุ่นที่ 4 ผู้ที่ตอนเข้าแข่งขันได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งคนที่ถูกโค้ชถามเจาะถามจี้มากที่สุดคนหนึ่ง ปัจจุบันปิ๊กเป็นผู้ช่วยวิศวกรโครงการ FabLab ประจำวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ใช้ความรู้ด้านการโค้ชและประสบการณ์ในเวทีไอทีต่างๆ แนะนำน้องๆ ที่เข้าใช้ห้องแล็บ และช่วยแนะแนวน้องๆ สู่การประกวดในโครงการด้านวิทยาศาสตร์ต่อไป
“สำหรับผม โครงการต่อกล้าฯ ทำให้เราไม่หยุดแค่การทำงานเชิงฮาร์ดแวร์ แต่เข้าใจเรื่องการทำการตลาดต่อยอดไปสู่ผู้ใช้งาน แต่ก่อนเพื่อนคณะบัญชีพูดกันเรื่อง Agile, Scrum หรือการตลาดกัน ผมไม่รู้เรื่องเลยนะ เดี๋ยวนี้เพื่อนสายอื่นๆ กลับงงแทนว่าผมที่เรียนวิศวะ รู้เรื่องพวกนี้ได้ยังไง”
ในฐานะนวัตกร คุณนิยามนวัตกรรมว่าอะไร? – เราถามทิ้งท้ายก่อนจาก
“เริ่มจากปัญหาที่เราเจอและยังไม่มีใครแก้ ไม่จำเป็นต้องเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ เป็นปัญหาเล็กๆ ก็ได้ แต่เราคิดถึงมัน แก้ไขและทำมันออกมา นวัตกรรมนั้นๆ ต้องโดนใจตัวเองก่อน ถ้าเราชอบ คนอื่นอาจจะชอบเหมือนเราก็ได้เพราะเรายังชอบเองเลย”
4. สุภาวดี ภูสนาม โครงการต่อกล้าฯ รุ่นที่ 3, 4 และ 6
“หนูเข้า NSC ตอน ม.2 ตอนนั้นยังค้นหาตัวเองอยู่ว่าสนใจด้านไหน ตอนนั้นครูที่โรงเรียนรู้ว่าหนูชอบเรียนคณิตศาสตร์เลยชวนให้ลองเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าโค้ดคืออะไร แต่อยากลอง เลยเริ่มเรียนรู้จากตรงนั้น และเรียนรู้ผ่านการแข่งขันแต่นั้นมา”
หญิง–สุภาวดี ภูสนาม เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการต่อกล้าฯ รุ่นที่ 3, 4 และ 6 ที่เธอกล่าวว่าเรียนรู้การเขียนโค้ดจากการแข่งขันจึงไม่ใช่เรื่องเกินเลย หญิงเพิ่งจบชั้น ม.6 โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์มาหมาดๆ กำลังจะเข้าศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
โปรแกรมคอมพิวเตอร์แรกที่หญิงเป็นคนพัฒนาและใช้ประกวดเวที NSC คือหนุมานตะลุยใต้บาดาล แต่โครงการที่เธอใช้ต่อยอดในโครงการต่อกล้าฯ คือเกมกระดานชิ้น King of Transport รับส่งผู้โดยสารผ่านการวางแผน ต้องใช้ยานพาหนะแบบไหนในการรับส่งผู้โดยสารในแต่ละรอบ
เพราะเป็นน้องเล็กสุดในทีม ประสบการณ์แข่งขันยังมีน้อย ทำให้เธอคิดว่าปีแรกเป็นปีที่ยากที่สุด ทั้งความตื่นกลัวที่จะต้องพรีเซนต์ต่อหน้ากรรมการ และการต้องพัฒนาฝีมือมาพัฒนาโปรแกรม
“เราเห็นปัญหากระบวนการคิดของเด็กสมัยนี้ที่คิดน้อย คิดแค่ผิวเผิน สมาธิสั้น King of Transport ฝึกการคิดวิเคราะห์ตัดสินใจ เพราะต้องตัดสินใจทุกอย่างในเกม อีกเรื่องคือปัญหาเรื่องสังคมก้มหน้า แต่ธรรมชาติของเกมกระดานต้องมาเล่นหลายคน ก็ต้องไปชวนคนมาเล่นกันเยอะๆ”
หญิงเข้าโครงการต่อกล้าฯ ถึง 3 ครั้ง อะไรเป็นเหตุผลให้อยากกลับมาแข่งขันตลอดช่วงชีวิตมัธยมปลาย?
“เข้าต่อกล้าฯ ครั้งแรกไม่ใช่โครงการที่เราเริ่มต้นพัฒนาเองตั้งแต่แรก เป็นโครงการของรุ่นพี่ แต่การเข้าร่วมโครงการต่อกล้าฯครั้งที่ 2 และ 3 เป็นโครงการของหนูเองตั้งแต่ต้น อยากผลักดันโครงการของเราต่อโดยใช้ความรู้จากในโครงการ โครงการต่อกล้าฯ ช่วยพัฒนาโปรเจ็คท์จนไปถึงคนใช้ น้องได้เล่นเกมได้เรียนรู้จากแอพฯ อาจไม่ได้มีคนใช้เยอะแต่ภูมิใจที่งานเราไปได้ไกล กระบวนการทำให้เราคิดถึงผู้ใช้มากขึ้น”
หญิงบอกว่าโปรเจ็คท์ที่เธอภูมิใจที่สุดชื่อว่า Algolaxy มาจากคำว่า algorithm และ galaxy แอพพลิเคชั่นประกอบการเรียนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณ หรือ Computing Science เป็นวิชาใหม่ของนักเรียนไทย เริ่มเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นมา ปัจจุบัน แอพพลิเคชั่น Algolaxy ถูกใช้ประกอบการสอนจริงที่โรงเรียนในเครือคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตรจำนวน 23 โรง ผู้สนใจทั่วไปอัพโหลดแอพพลิเคชั่นนี้ได้ทาง Play Store และ App Store
หญิงอยู่กับการ coding มานาน เคยคิดอยากไปค้นหาตัวเองกับกิจกรรมอื่นไหม?
“เพราะอยู่กับการโค้ดดิ้งมานาน ถ้าไม่ชอบมันก็น่าจะเลิกไปนานแล้ว ยิ่งทำยิ่งรู้ว่าชอบ ท้าทาย เวลาเจอปัญหาแล้วแก้ได้จะดีใจ มีกำลังใจทำต่อ ไม่รู้ว่าเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมรึเปล่าที่เวลาเขียนต้องลำดับความคิด 1 2 3 4 วิธีการทำงานเลยค่อนข้างต่างกับเพื่อน คิดลึกไปว่าถ้าทำงานแบบนี้จะเจออะไรบ้าง และมีความเป็นผู้นำด้วย“
“นอกจากบ้านและโรงเรียน โครงการต่อกล้าฯ เหมือนบ้านหลังที่สาม เวลาที่กลับมาค่ายจะรู้สึกอบอุ่นทุกครั้ง แม้ตอนเข้าค่ายจะเครียดแต่มีจุดที่สนุกและมีความสุขกับมัน เวลาที่เครียดมันมีคนอยู่ข้างๆ ให้กำลังตลอด ไม่ได้อยู่คนเดียว ได้พัฒนาตัวเองตลอด ได้เรียนรู้สิ่งที่เพื่อนในห้องเรียนไม่ได้เรียน”
สำหรับหญิง นวัตกรรมคืออะไร?
“นวัตกรรมคือต้องตอบโจทย์ผู้ใช้ สิ่งที่เราสร้างไม่ใช่แค่อวดอ้างว่าเราทำได้ แต่ต้องใช้ประโยชน์ได้ นวัตกรรมอาจตั้งต้นจากการคิดขึ้นใหม่เลย หรือเป็นการต่อยอดจากของเดิมก็ได้”
5. สุภนิดา พลอยคำ โครงการต่อกล้าฯ รุ่นที่ 6
“เข้ามาตอนแรกคิดแค่ว่ามาแข่งขัน แต่ถึงเวลาจริงมันมากกว่านั้น เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่หาไม่ได้จากที่ไหน โค้ชในโครงการไม่ได้แค่สอนเรื่องงาน แต่ทำให้เรามีความรับผิดชอบ สอนให้ทำงานเป็นทีม โค้ชไม่สั่งให้เราต้องทำแบบนี้ๆ แต่ช่วยแนะนำว่าสิ่งที่คุณทำมันเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจริงไหม? เหมาะสมจริงหรือ ช่วยชี้ว่าออกแบบโปรแกรมแบบไหนจะมีคนสนใจ ส่วนใหญ่โค้ชจะใช้คำถามชวนให้คิดว่าเราจะเลือกอะไร ถ้าจุดไหนเป็นปัญหาเขาจะชี้ให้ชัด แล้วให้ดูว่าเราจะแก้หรือจมอยู่กับปัญหาตรงนั้น ต่อให้ไม่ใช่ช่วงเวิร์คช็อปก็ทักไปขอคำปรึกษาได้ตลอด
“ต่างกับการเรียนในห้อง ในห้องจะสอนว่าคุณต้องเป็นแบบนี้ๆ ถ้าไม่ทำตามที่บอกคุณผิด แต่อันนี้โค้ชไม่บอกว่าคุณต้องเป็นแบบนี้แต่ชี้แนะให้คุณเลือกเอง”
ย้อนกลับไปเมื่อปีก่อน นิดา–สุภนิดา พลอยคำ ประกวดเวที NCS ด้วยโปรแกรมเกมคอมพิวเตอร์ชื่อ แสบซ่าท้าฝัน เกมเกี่ยวกับอาชีพ 3 อาชีพ คือ ครู เชฟ และจิตรกร แต่เข้าประกวดในโครงการต่อกล้าฯ ปีที่ 6 ด้วยโปรแกรมเกมคอมพิวเตอร์ที่ชื่อ Vocaby มาจากคำว่า vocabulary ให้ผู้เล่นแก้ปริศนาโดยใช้ภาษาอังกฤษ นิดารับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างทีมโค้ดและทีมดีไซน์
ปัจจุวันนวัตกรน้อยคนนี้อายุ 19 ปี กำลังจะเป็นนักศึกษาปีที่ 1 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พร้อมฝึกงานเขียนโปรแกรมให้กับบางโครงการของ NECTEC ไปในเวลาเดียวกัน
“เขาไม่ได้ให้แค่เงินรางวัล ไม่ได้ให้แค่บทเรียนที่หาไม่ได้ในห้อง แต่ให้อนาคตของเด็กคนหนึ่ง กรรมการหรือโค้ชในโครงการถ้าเขาเห็นว่าเราตั้งใจ เขาพร้อมให้โอกาสเราพัฒนาตัวเอง ต่อให้จบโครงการไปแล้วเราก็ยังติดต่อกันได้อยู่ เอาจริงๆ ถ้าไม่มีต่อกล้าฯ เราคงเป็นเด็กนั่งเตรียมสอบโดยไม่รู้ว่าจะติดรอบไหน”
ปัจจุบันนิดาตั้งใจอยากส่งต่อโครงการและบรรยากาศการเรียนรู้ด้านไอทีเช่นนี้ต่อไป ส่วนจะมีโครงการอะไรบ้าง นิดาและเพื่อนๆ ขอให้ทุกคนช่วยกันติดตาม
คำถามสุดท้าย ในความเห็นของนิดานวัตกรรมคืออะไร?
“นวัตกรรมอาจไม่ใช่การประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่หรือเป็นอะไรที่ยาก อาจเป็นนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาจากของเดิม นวัตกรรมที่ทำให้ผู้ใช้สะดวกสบายขึ้นกว่าสิ่งที่มีอยู่”
6. ภูมิ-ภูมิปรินทร์ มะโน โครงการต่อกล้าฯ รุ่นที่ 4
ภูมิ–ภูมิปรินทร์ มะโน โครงการต่อกล้าฯ ปีที่ 4 ปัจจุบันเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ (software developer) ที่อายุน้อยที่สุดของบริษัท OmniVirt สตาร์ทอัพสัญชาติไทยในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา–ที่ว่าน้อยที่สุดคืออายุ 17 ปี
“เวลาที่เราคุยเรื่อง product ไม่มีครั้งไหนที่เราจะคุยกันว่า ‘มาทำ product ที่เราชอบกันไหม?’ ได้ยินคำเดียว ‘เราจะทำ product เพื่อ user’ ‘เพื่อแก้ปัญหาของเขา’ โครงการต่อกล้าฯ เปลี่ยนความคิดจากการเขียนโค้ดเพื่อตัวเองเป็นเขียนโค้ดเพื่อสร้าง product ที่แก้ปัญหาคนในสังคม เริ่มที่คำนี้ เริ่มจากการน้อมรับฟีดแบ็คที่ผู้ใช้บอกมา“
“เพราะเรา (โปรแกรมเมอร์) ไม่ใช่ผู้ใช้แต่เป็นคนที่ไปทำความเข้าใจกับผู้ใช้งาน สร้าง product ที่แก้ปัญหาได้จริง ไม่ใช่สิ่งที่เรามโน ทำงานบนพื้นฐานข้อมูล เห็นอกเห็นใจผู้ใช้”
ภูมิลาออกจากโรงเรียนตอนอายุ 15 ปี หลังเข้าโครงการต่อกล้าฯ ปีที่ 4 เขาพบว่าการทำโปรเจ็คท์ FlipEd แอพพลิเคชั่นสนับสนุนการเรียนรู้ที่สนุกโดยไม่จำเป็นต้องเป็นการเรียนการสอนแบบเดิม พร้อมกับตั้งคำถามว่าการเรียนในห้องอาจไม่ตอบโจทย์ตัวเองอีกต่อไป จากนั้นเขาลาออกจากโรงเรียนตอนอยู่ ม.4 และสมัครเข้าโครงการฝึกงานและทำงานเต็มเวลาที่บริษัท iTAX สตาร์ทอัพด้านภาษีในไทย เมื่อครบ 1 ปี ภูมิเข้าทำงานต่อที่ OmniVirt เดินทางไป–กลับระหว่างไทยและแคลิฟอร์เนีย
เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในบริษัทใหญ่ ใช้ความรู้จากในโครงการต่อกล้าฯ ไหม หรือมีวิธีคิดอะไรบ้าง?
“ใช้เยอะมากโดยเฉพาะเรื่อง UX (User Experience Design) และ design thinking ที่บริษัทผมแม้จะเป็น developer แต่เราพูดคำว่า UX กันบ่อยมาก เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงที่เราทำต้องมาจากผู้ใช้ เมื่อผู้ใช้ใช้ผลิตภัณฑ์เราง่ายขึ้นก็จะนำไปสู่ผู้ใช้ที่มากขึ้น ไปสู่กำไรที่มากขึ้น เห็นว่าทุกอย่างเริ่มที่ผู้ใช้ทั้งหมด”
นอกจากหมวกนักพัฒนาซอฟต์แวร์มืออาชีพ หมวกอีกใบที่ภูมิสวมอยู่คือการจัดค่ายพัฒนานวัตกรน้อยในประเทศไทย
“พวกเรานำหลักสูตรจากต่อกล้าฯ ไปสอนน้องๆ ในค่าย Young Creator’s Camp เพราะอันที่จริงแล้วเป้าหมายของโครงการต่อกล้าฯ คืออยากให้เด็กๆ มีมายด์เซ็ตที่จะเป็นผู้ให้ต่อสังคม ไม่ได้ทำเพื่อเราคนเดียว แต่แก้ปัญหาให้กับคนหลายคน”
“ผมมองว่าชีวิตตัวเองเหมือนพีระมิดสามชั้น ชั้นแรก–เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อแก้ปัญหาตัวเอง พอแก้ของตัวเองเสร็จ ชั้นที่สอง–เราจะเห็นว่าเราไม่ได้มีปัญหานี้คนเดียว มีคนอีกมากที่มีปัญหาเดียวกับเรา เราก็ทำให้ปัญหานั้นกลายเป็น product ที่หลายคนใช้ได้ เมื่อทำ product ของตัวเองได้แล้ว ยอดสุดของพีระมิด–คือการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่คนอื่น ทำให้องค์ความรู้ยั่งยืน”
สุดท้าย นวัตกรรมในความเห็นของภูมิเขามองว่า
“ความเห็นของผมซึ่งอาจไม่ตรงกับคนอื่นนะครับ ผมมองว่า นวัตกรรมคือการนำปัญหาที่เรามีมาแก้ให้คนหมู่มาก ปัจจุบันมีคนเรียกวิธีการแก้ปัญหาด้วยคำสวยหรูแต่แก้ปัญหาไม่ได้ กลับกันบาง project อาจใช้เทคโนโลยีง่ายๆ อาจเป็นแค่กระดาษหรือเครื่องจักรกล แต่แก้ปัญหาได้จริง ผมมองว่านวัตกรรมจริงๆ คือการแก้ปัญหาผู้คน”
“หาเป้าหมายก่อนว่าจะแก้ปัญหาให้ใคร แล้วเริ่มจากการคุย สัมภาษณ์ พยายามเข้าใจว่าคนแต่ละคนต้องการอะไร เขามีปัญหานี้จริงรึเปล่า พยายามเข้าใจบริบทแล้วเอาทั้งหมดนั้นมาบวกกับองค์ความรู้ที่เรามี เพื่อหาจุดร่วมในการแก้ปัญหา ย้ำว่ามันอาจไม่สวยหรู แค่แก้ไขปัญหาให้เขาได้”
โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ สร้างการเรียนรู้โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สนับสนุนโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) |