- คุยเรื่อง พื้นที่สาธารณะ (public space) ในเมืองกับ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว นักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม เพราะพื้นที่สาธารณะไม่ใช่แค่บรรยากาศดีๆ แต่เป็น ‘ประสบการณ์’ ที่มอบสัมผัส (senses) ละเอียดเชื่อมต่อกับสิ่งรอบข้าง มอบปัญญาทางสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เข้าใจภาษาระบบนิเวศ หรือที่เรียกว่า ‘eco literacy’
- “พวกผู้ใหญ่ชอบคิดว่าเด็กขาดนู่นขาดนี่ แล้วก็เอาสิ่งที่คิดว่าเด็กขาดมาผสมกัน แต่เราไม่ใช่แท่งช็อกโกแลตนะ ที่บอกว่าถ้าขาดธาตุไหนก็ให้เอาธาตุนั้นมาผสม ไม่ใช่เคมีในชามข้าว พอคิดว่าเด็กขาดธรรมชาติต้องเอาธรรมชาติมาเติม” ดังนั้นเราควรการเรียนรู้ให้เป็นไปปล่อยไปตามวิถี ไม่ต้องคิดมาก แต่ทำยังไงให้ธรรมชาติมันมีตัวตนอยู่ (Available) ไม่ใช่ให้ธรรมชาติอยู่แค่ในห้องแลป
จำได้ไหมว่าเราออกไป ‘เล่น’ ‘สัมผัส’ ‘สูดอากาศบริสุทธิ์’ นอกบ้านครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ จำได้ไหมว่าบ้านเมืองของเรามีฤดูกาลที่หลากหลาย จำได้ไหมว่าเราเคยมีฤดูหนาว มีอาหารตามฤดูกาลให้จดจ่อรอกินกัน?
อย่าว่าแต่คำถามเรื่องฤดูกาลที่เราอาจไม่ได้สัมผัสอีกต่อไป (นอกจากจะออกไปต่างจังหวัด หรือไปสัมผัสความหนาวที่ต่างประเทศ!) เอาแค่ตื่นขึ้นมาแล้วแอพพลิเคชั่นตรวจวัดอากาศขึ้นรูปคนหน้ายิ้มสีเขียว อันแปลว่าอากาศวันนี้ไม่มีค่า PM เกินมาตรฐาน เท่านั้นก็พอจะยิ้มออกมาแล้ว
เหนือไปจากโครงสร้างการจัดการสิ่งแวดล้อมและเรื่องสุขภาพ ประเด็นที่ The Potential อยากชวนคุยวันนี้คือ พื้นที่สาธารณะ (public space) แบบไหนที่เราอยากให้เกิดขึ้นในเมือง เมืองที่จะมอบประสบการณ์ (experience) ให้คนได้ออกไปเล่น สัมผัส โยงตัวเองกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้ไม่ใช่อุดมการณ์โลกสวยที่แค่อยากมีอากาศดีๆ ไว้หายใจ (ซึ่งแค่เรื่องนี้ก็สำคัญ!) แต่คือเมืองที่สะอาดและสุขภาพดีพอจะมอบประสบการณ์ มอบปัญญาหรือความฉลาดทางสิ่งแวดล้อม (ecological intelligence) ซึ่งเราเชื่อว่านี่คือทักษะที่ถูกทำให้หายไป โดยเฉพาะเด็กๆ ที่โชคร้ายในยุคสมัยนี้
The Potential ชวน ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว นักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่ทำโครงการด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกเมือง ตั้งแต่โครงการนักสืบสิ่งแวดล้อม, โครงการจักรยานกลางเมือง, พลเมืองเปลี่ยนกรุง, wild watch, rewilding Bangkok และอื่นๆ นอกจากจะเป็นนักวิจัยที่ผลักดันโครงการด้านสิ่งแวดล้อมมามากกว่า 20 ปี ดร.สรณรัชฎ์ยังเป็นคนรุ่นที่ได้ชื่อว่าเป็น last child in the wood หรือ กลุ่มคนที่ทันเห็นกรุงเทพฯ สมัยสาวๆ สมัยที่หมอกลงหนาเป็นสายล้อไปกับท้องนา สมัยที่กรุงเทพฯ ยังมีฤดูหนาวให้เด็กๆ ใส่เสื้อกันหนาวผ้าสำลีออกไปวิ่งเล่นกัน
และนั่นไม่ใช่แค่การมีบรรยากาศดีๆ แต่มันคือ ‘ประสบการณ์’ ที่มอบสัมผัส (senses) ละเอียดเชื่อมต่อกับสิ่งรอบข้าง มอบปัญญาทางสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เข้าใจภาษาระบบนิเวศ หรือที่เรียกว่า ‘eco literacy’
ก่อนจะว่ากันเรื่องสิ่งแวดล้อม อยากชวนพี่อ้อยย้อนความหลัง เล่าภาพบรรยากาศว่าพี่อ้อยโตมากับภาพบรรยากาศแบบไหน ภาพแบบนั้นมันกระทำอะไรกับเราบ้าง
พี่เติบโตที่ย่านสุขุมวิท แต่สมัยนั้นน่ะ สุขุมวิทมันคือชานเมืองนะ อย่าลืมว่าเอกมัยคือที่ที่คุณจะไปขึ้นรถเพื่อออกไปภาคตะวันออก สุขุมวิทคือชานเมือง เป็นนา มีข้าว มีควาย พื้นที่สำคัญที่อยู่กับพี่มานานจนอายุ 15 ปีคือบึงบัวหลวงสีชมพู สวยมาก หรือภาพอย่างหมอกยามเช้า พูดไปคุณจะนึกไม่ถึง… กรุงเทพฯ มีหน้าหนาวนะคะ ตื่นเช้ามา 6 โมงจะใส่เสื้อกันหนาวผ้าสำลีมีลายเป็ด เราจะเดินออกไปหาหมอกที่ลงเป็นสาย มันสวยมหัศจรรย์มาก ออกไปต่างจังหวัดก็ยิ่งสนุกใหญ่ เพราะยายพี่อยู่ชะอำ จะได้ไปทะเลบ่อยมาก
ถ้าถามว่าตอนเด็กๆ พี่เล่นกับสัตว์อะไร… ฉลามค่ะ ลูกฉลามเลย มีอยู่หนหนึ่งเจอฉลามสองตัวตรงน้ำตื้น เพราะเป็นช่วงที่น้ำลงแล้วมันว่ายไปไหนไม่ได้ เราก็แบบว่า ตายแล้ว… อยู่เฝ้ามันทั้งวัน ขุดบ่อทรายหลุมใหญ่ๆ เพื่อให้มีน้ำขัง นั่งรอจนกว่าทะเลจะขึ้นมารับ
ฉลามมีให้เห็น โลมานี่เห็นกระโดดดึ๋งๆ เลย หรือเราเคยเห็นหาดชะอำทั้งหาดเป็นสีชมพูเพราะเต็มไปด้วยหอยทับทิม แต่แล้วมันก็หายไปภายในชั่วอายุเดียว สิ่งที่ไม่เคยนึกว่าจะหายก็หายไป
คนรุ่นพี่ถึงได้ถูกนิยามว่าเป็น last child in the wood เพราะโตมาก็อยู่กับธรรมชาติ ไม่ได้เรียนพิเศษ วิ่งเล่นกับธรรมชาติโดยไม่มีใครกำหนดว่าต้องไปหรือต้องทำอะไรยังไง หมายความว่าผู้ใหญ่ไม่ได้คิดว่าจะต้องจัดสรรกิจกรรมอะไรให้กับเรา พอถึงเวลามันก็อยากออกไปสำรวจเอง และคนรุ่นพี่จึงเป็นนักอนุรักษ์กันหลายคนเพราะเราโตมากับสิ่งเหล่านั้น และอยู่ในช่วงเวลาขณะมันถูกเอาไป
ทั้งหมดนี้ไม่ได้บอกว่าคนรุ่นใหม่ไม่เก่ง พี่เองก็มีความโง่หลายอย่าง เด็กรุ่นใหม่เก่งเทคโนโลยีมาก แต่พี่มีอันนี้ (ประสบการณ์) แล้วก็อยากให้เด็กคนอื่นได้มีด้วยเพราะเรารู้ว่ามันมีค่า
น่าเศร้าที่เราเองก็โตมากับเมือง แต่เมืองไม่มีบรรยากาศแบบนั้น ไม่มีประสบการณ์แบบนั้นแล้ว
เพราะเมืองถูกตัดขาด แต่โชคดีบางที่ยังรักษาไว้อยู่ แต่หลายๆ คนรู้ว่ามันสำคัญ เรามีข้อมูลเยอะแยะ รู้ว่าต้นไม้ดียังไง รู้ว่ามันให้ออกซิเจน รู้ว่ามันให้ความร่มเย็น บลาๆๆ แต่ทำไมเราถึงยังไม่เคารพ? อยากแชร์เรื่องหนึ่งคือ ตอนที่เราทำแคมเปญจักรยานกลางเมือง เด็กรุ่นใหม่เขาอินมาก ทำไมถึงอิน? แน่นอนว่ามันสนุก แต่ที่สัมผัสได้เลยคือมันเป็นประสบการณ์ตรง
ตอนนั้นเราขี่จักรยานจากถนนสาทรเข้าถนนวิทยุ อากาศร้อนมาก แต่ตรงถนนวิทยุมีต้นไม้ใหญ่ เด็กๆ ดีใจมากที่มีต้นไม้ คือพูดให้ตายทุกคนรู้ว่าต้นไม้สำคัญ ทุกคนรู้
แต่การที่เขาได้สัมผัสเองโดยตรง จับต้องได้ ขี่จักรยานจากแดดร้อนๆ เข้ามาที่ถนนวิทยุแล้วสบายเนื้อสบายตัว อากาศเย็นขึ้น หายใจสะดวกขึ้น นี่คือประสบการณ์ตรง มันเกิดการเห็นค่าทันที
เด็กที่รณรงค์เรื่องจักรยานหลายคนก็ไปรณรงค์ต่อเรื่องเมืองที่เป็นมิตรกับชีวิต หลายคนทำประเด็นต่อไปสู่แคมเปญเกี่ยวกับต้นไม้
เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ?
ใช่ เพราะเราโยงใยกับมัน เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง จริงๆ เราไม่ได้เรียนรู้แค่ที่สมองนะ แต่มันมีความทรงจำตามเนื้อ ตามตัว ตามกล้ามเนื้อ เราเรียนรู้ผ่านตรงนั้นด้วยและเกิดการจดจำได้
อีกหนึ่งการเรียนรู้ที่พี่อ้อยกล่าวถึงเสมอ คือความสามารถในการอ่านระบบนิเวศ หรือ eco literacy มันคืออะไร?
literacy แปลว่า รู้ภาษา, eco คือ ระบบนิเวศ คำว่า eco literacy จึงคือการรู้ภาษานิเวศ หลายคนอาจใช้คำว่า environment literacy แต่โดยส่วนตัวพี่ชอบคำว่า eco มากกว่า environment แปลว่าสิ่งแวดล้อม ‘สิ่ง’ ที่อาจเป็นแค่ ดิน/น้ำ/ลม/ไฟ แต่สำหรับพี่มันเป็น ‘ชีวิต’ พี่เลยขอใช้คำว่า eco ในแง่ที่มันคือความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งที่เอื้อต่อชีวิต ที่ดูแลระบบ ที่ขับเคลื่อนระบบหมุนเวียนแร่ธาตุ สภาพแวดล้อมที่เราดำรงอยู่ และที่เอื้อต่อการมีชีวิตของเราได้
‘อ่าน’ และ ‘รู้ภาษา’ ระบบนิเวศ คืออะไร?
เวลาเราเดินทางไปประเทศที่เราไม่รู้ภาษาของเขา เราสื่อสารกับเขาด้วยอะไร? อาจจะเป็นการโบกไม้โบกมือ ใช้การสื่อสารผ่านกายภาพซึ่งแล้วแต่สถานการณ์ใช่ไหม? แต่จริงๆ พี่ว่าเราใช้การสังเกตเยอะ ตั้งแต่สังเกตภาษากาย สังเกตรูปแบบพฤติกรรม (behavior pattern) บางทีเราก๊อปปี้การกระทำของคนอื่นๆ เช่น เวลาไปญี่ปุ่นเราก็อาจค้อมตัวน้อยๆ พูดว่า ‘ไฮ่’ หรือเวลาเราเห็นคนร้องไห้ เรารู้ว่าเขาเป็นทุกข์ หรือเราเข้าไปในโบสถ์ เราไม่รู้หรอกว่าพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์คืออะไร แต่เราจะเงียบ หรือกระทำบางอย่างตามคนที่อยู่ในนั้น ทั้งหมดนี้หมายความว่าเราใช้ประสาทสัมผัส (sense) อื่นๆ นอกเหนือจากการใช้สมองคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
ทั้งหมดนี้เราใช้ ‘ภาษา’ เหมือนกัน แต่ภาษาไม่ใช่แค่ language แต่เป็น ‘วัฒนธรรม’
เวลาพี่พูดว่า นักสืบสิ่งแวดล้อมคือคนที่จะอ่านธรรมชาติได้ พี่มักจะยกตัวอย่างว่า
การที่เรารู้จักชนิดของแมลงน้ำ ก็เหมือนเรารู้จักพยัญชนะ ABCs แมลงน้ำตัวนี้มีสองหาง ตัวนี้มีสามหาง แยกแบบนี้ได้แปลว่าเราเริ่มอ่าน พยัญชนะหรือรู้จัก ABCs ในสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่พอเราเรียนรู้เพื่อรู้จักลงไปถึงชีวิตของเขาว่า เขาชอบอยู่บ้านแบบไหน, เขาชอบน้ำอย่างไร, เขาทนอะไรได้ ทนอะไรไม่ได้ มันเท่ากับเราเริ่มรู้จัก ‘ไวยากรณ์’ เพราะเราเข้าใจสภาพของมัน
คร่าวๆ ก็คือ องค์ประกอบทางระบบนิเวศเหมือนพยัญชนะ ABCs แต่ความหมายของมัน เช่น เขาชอบอะไร ทำไมจึงอยู่ตรงนั้น อันนี้เป็นไวยากรณ์ ซึ่งเวลาที่เรารู้จักไวยากรณ์ ก็คือการที่คุณเริ่มเข้าใจความสัมพันธ์ของมัน เข้าใจการเชื่อมโยง เอ๊ะ… มันเป็นเพื่อนตัวนั้น เป็นเพื่อนกับตัวนี้ เราก็จะเริ่มเข้าใจไวยากรณ์ที่ซับซ้อน (complex) ขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับการอ่านของคุณที่เริ่มอ่านได้หลายระดับ ตั้งแต่ ก-อา-กา ไปจนถึงอ่านนวนิยายของเชคสเปียร์ ที่ต้องการการตีความไปอีกขั้น ฟังแบบนี้แล้วเหมือนเราเรียนวิทยาศาสตร์เนอะ แต่ภาษานิเวศมันมากไปกว่าการเรียนด้วยสมอง
พี่อ้อยมักพูดเสมอว่า การอ่านสิ่งแวดล้อมต้องใช้ร่างกายเปิดรับและสื่อสารกับธรรมชาติ นี่คือ ‘ภาษานิเวศ’ แบบเดียวกันไหม
ต่อให้เราอ่านไม่ออก ต่อให้ไม่มีความรู้แบบวิทยาศาสตร์ เรายัง sense ได้นะ sense นี้มาจากไหน? ไม่ใช่ความสามารถจากสมองซีกซ้าย หรือใช้ความรู้เชิงตรรกะนะ แต่มันก็มีการใช้ตรรกะอยู่อะแหละ เพราะ sensitivity ก็คือสมอง มันแยกกันไม่ขาด แต่เหนืออื่นใดมันใช้ความเคารพและการสังเกตด้วยหัวใจ ใช้ความอ่อนไหว ความละเอียดลออในการสังเกต
ในแง่ของโลกธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พี่ว่าเผลอๆ อันนี้สำคัญกว่าการรู้วิทยาศาสตร์แบบเป็นขั้นตอน 1-2-3 อีกนะ คือก่อนที่เราจะไปรู้จักแมลงตัวนี้ตัวนั้น เราไม่รู้ข้อมูล ไม่มีวิทยาศาสตร์ ไม่รู้ภาษาของเขา แต่เรา sense ได้ เวลาที่สอนเรื่องธรรมชาติจึงไม่ใช่แค่เรื่องของข้อมูล ไม่ใช่แค่ Head แต่ Heart (ใจ) ต้องมาด้วย พี่พยายามจะใช้การรับสัมผัสต่างๆ ทั้งร่างกาย ให้คนกลับมาเคารพกับร่างกายของตัวเองด้วยว่าร่างกายมีความสามารถในการเรียนรู้ รับข้อมูลอะไรแค่ไหนบ้าง
ถ้าให้ขมวดก็คือ ส่วนมากเรามักพูดว่าต้องมีความรู้เชิงข้อมูล แต่พี่กำลังจะบอกว่า… ก่อนที่เราจะรู้ข้อมูล ถ้าเรารู้ด้วยใจ เปิดหัวใจออกไป คุณก็รู้ภาษาแล้ว ต่อให้คุณยังไม่รู้จัก ABCs แต่คุณก็อ่านภาษาได้ผ่านร่างกาย แต่เริ่มแรกคุณต้อง sense ก่อนว่าเขามีชีวิต คุณเคารพเขา ซึ่งพี่คิดว่าอันนี้สำคัญมาก
นอกจากเป็นนักวิจัย พี่อ้อยเดินทางไปต่างประเทศเยอะมาก อยากให้ช่วยให้ความเห็นว่า ต่างประเทศมีการจัดการพื้นที่อย่างไรให้เด็กได้สัมผัสกับธรรมชาติ ให้ได้มี sense ของการรู้ภาษานิเวศอย่างใกล้ตัว
อันที่จริงพี่ไม่ได้โตในต่างประเทศ ไม่ได้ผ่านระบบการศึกษาของประเทศนู้นประเทศนี้ และไม่ได้อินกับการศึกษามากเท่าไร ประการแรก พี่คิดว่าต่างประเทศเองก็ยังมีปัญหาและเข้าใจว่าจริตของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน แต่คิดว่าเขามีความเห็นร่วมกันที่ชัดเจนนะ คือการให้เด็กเล่นกับธรรมชาติมากขึ้น ไม่ต้องวางโครงสร้างอะไร unstructured play ไปเลย ปล่อยให้เด็กลื่นไหลอย่างเป็นธรรมชาติและเขาจะค้นพบอะไรใหม่ๆ เอง
unstructured play หมายถึงอะไรบ้าง
ให้เล่นอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องไปกะเกณฑ์อะไร การที่ตารางเวลาของเด็กถูกวางไว้หมด อยากให้ลูกเก่งต้องพาไปเรียนนั่นเรียนนี่ ไม่ต้องมีบทเรียนเยอะ สมัยพี่เด็กๆ นี่มีช่วงเวลาเล่นเยอะมากนะ บ่ายสามโมงกระดิ่งดังปุ๊บเราออกไปวิ่งเล่น ไม่ได้เรียนเยอะ เรียนดีมั่งไม่ดีมั่งนะ เบื่อมั่งสนุกมั่ง คละๆ ไป เราไม่มีเรียนพิเศษ เรียนก็เรียนในนั้น สอบก็คือสอบในนั้น ไม่ได้เป็นระบบการศึกษาที่วิเศษอะไรมากมาย แต่มันไม่ได้เอาเวลาชีวิตเราไปหมด ที่สงสารคือเด็กวันนี้ถูกระบบการศึกษาเอาเวลาไปหมด พี่ไม่เคยหรอกที่ต้องตื่นเช้าไปโรงเรียนขนาดนี้
น่าเศร้าไปอีกที่เมืองไม่มีพื้นที่สาธารณะให้ออกไปเล่นอย่างมีทางเลือก โดยเฉพาะทางเลือกต่อสุขภาพมากขนาดนั้น
เราต้อง identify หรือระบุปัญหาให้ชัด เช่น ถ้าคุณออกแบบเมืองเพื่อรถยนต์มากกว่าเพื่อมนุษย์… จบ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ ถนนคือ public space นะ แล้วมันไปกินพื้นที่สีเขียว กินคูคลอง
เมื่อก่อนกรุงเทพฯ เป็น floodplain (ที่ราบน้ำท่วมถึง) จะอยู่ได้คุณต้องขุดคลองและใช้คลองเป็นเส้นเลือดเพื่อการคมนาคมของเมือง แต่เราก็ถมคลองเพราะต้องการสร้างถนนให้รถยนต์ ตอนหลังเอาบ้านคนออกเพื่อให้เป็นถนนด้วย รถยนต์เลยเริ่มยึดครองพื้นที่อื่นๆ แต่แล้วเกิดอะไรขึ้นบนถนน?
คนเปิดแอร์อยู่ในบ้าน พอเดินออกจากบ้านทนไม่ไหว ร้อน มีฝุ่นควัน มีไอเสียรถ จากนั้นเราก็เข้าไปในรถ ทำรถให้สุขสบาย มีเพลงฟัง มีแอร์ ถามว่ามันเป็นพื้นที่ส่วนตัวไหม? ส่วนตัว แต่พื้นที่ส่วนตัวนี้ยัดเข้าไปอยู่บนพื้นที่สาธารณะ ทุกคนแย่งพื้นที่สาธารณะเป็นของส่วนตัว แบบนี้ปัญหาไม่จบ ทำยังไงก็ไม่มีวันพอ
สำหรับเมือง ต้องแก้โจทย์ปัญหารถยนต์ ถ้าแก้ได้จะแก้ปัญหาอื่นได้เป็นพรวน ต้องเรียก public space คืนมา identify ให้ออก
หรืออย่าง สวนสาธารณะก็ควรมีหลายแบบหลายระดับ ทำไมสวนจึงกลายเป็นมีกฎห้ามนั่นห้ามนี่ ห้ามปีนต้นไม้ เด็กสมัยนี้ปีนต้นไม้ไม่ได้ ซึ่งมันน่าเศร้ามากนะ เพราะสิ่งที่คุณจะได้จากการปีนต้นไม้มันมหาศาล ทั้งการมีความสัมพันธ์กับต้นไม้ การทรงตัว สมรรถภาพที่จะพัฒนาไปยังด้านอื่นๆ
เวลาที่เราเปิดเวิร์คช็อป ดูธรรมชาติเสร็จแล้วเด็กๆ เห็นต้นไม้ที่มันเอนอยู่ สิ่งแรกที่เด็กทำคือวิ่งขึ้นต้นไม้ เขาอยากสัมผัส มันเป็นความท้าทายที่ทุกคนอยากป่ายปีน และเด็กๆ ควรได้สัมผัสสิ่งนี้ การได้สัมผัสต้นไม้… คุณไม่รู้หรอกพลังจากต้นไม้มันซึมซับเข้าไปในตัวอย่างไร
จำเป็นไหมที่ต้องเข้าไปในป่าเพื่อรับรู้ว่าเรามี sense นี้
ไม่ค่ะ เพราะฉะนั้นมันจึงสำคัญว่าเราต้อง identify ให้ได้ว่าเมืองคืออะไร?
เมืองไม่ใช่แค่ศูนย์กลางเศรษฐกิจ เพราะนั่นคือความหมายที่โบราณมาก คนเมืองถึงได้ป่วยไข้ เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนเมืองกับคนชนบทเพราะเมืองทำหน้าที่กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ ไม่มีความน่าอยู่ เรานึกว่าจะโกยเงินจากเมืองอย่างเดียวแล้วพอเสาร์-อาทิตย์ก็ไปกอบโกยเบียดเบียนทรัพยากรข้างนอก
แต่ถ้ามองว่าเมืองต้องเป็นที่อยู่ของมนุษย์ เป็น human habitat เป็นถิ่นอาศัยมนุษย์ แล้วมนุษย์ต้องการอะไรบ้างก็ต้องมาช่วยกันคิด
แน่นอน สิ่งที่ต้องการคืออากาศสะอาดปราศจาก PM2.5 แต่ตัวที่ปล่อย PM2.5 ยังวิ่งอยู่ในเมือง? แน่นอนว่าเราต้องการดินและน้ำที่สะอาด แต่การจะเกิดสิ่งเหล่านี้เราก็ต้องการพื้นที่สีเขียว แสดงว่าเราก็ต้องการป่าในเมืองด้วย ต้องการความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง ต้องการพื้นที่ชุ่มน้ำในเมือง
ท่ามกลางเมืองที่เป็นแบบนี้ เราจะสร้างประสบการณ์เรียนรู้เรื่องธรรมชาติให้เด็กๆ อย่างไรดี
เอาจริงๆ พี่ไม่แน่ใจว่าจะตอบได้ไหมเพราะไม่มีลูก แต่คิดว่ามันเป็นธรรมชาติของเราอยู่แล้วที่จะสนใจธรรมชาติ ที่จะสนใจชีวิตอื่นๆ นอกเหนือจากตัวเอง แต่เนื่องจากว่าเด็กสมัยนี้มักโตมาอย่างไม่ได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติ เจอเด็กหลายคนที่กลัวสกปรก กลัวดิน เกลียดทราย อันนั้นคุณก็หาวิธีแก้เอาเองนะคะ (หัวเราะ) คือถ้าเขา disconnect ไปแล้วมันก็จะยากขึ้น สุดท้ายมันก็คือ ให้การเข้าไปอยู่กับธรรมชาติเป็นธรรมชาติ
มีอยู่ครั้งหนึ่ง พี่เขียนบทความเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม พอมีคนแชร์ลิงค์ไปพี่ก็ตามไปดู ไปเห็นคอมเมนต์หนึ่งของเด็กซึ่งน่าสนใจมาก เขาบอกว่า
‘พวกผู้ใหญ่ชอบคิดว่าเด็กขาดนู่นขาดนี่ แล้วก็เอาสิ่งที่คิดว่าเด็กขาดมาผสมกัน แต่เราไม่ใช่แท่งช็อกโกแลตนะ ที่บอกว่าถ้าขาดธาตุไหนก็ให้เอาธาตุนั้นมาผสม ไม่ใช่เคมีในชามข้าว พอคิดว่าเด็กขาดธรรมชาติต้องเอาธรรมชาติมาเติม’
ซึ่งเด็กเขาพูดถูกนะ คุณปฏิบัติต่อเขาเหมือนเป็นสูตรสำเร็จ วิธีคิดแบบนี้ต้องเปลี่ยนก่อน พี่โคตรเห็นใจเด็กเลยนะ แต่ขณะเดียวกัน เขาก็มีความคิดแบบนี้แล้วไง ถ้าคุณเอาเด็กคนนี้มาให้พี่และบอกว่า ให้เวลาพี่สามชั่วโมง ช่วยดูแลเด็กคนนี้ให้หน่อย เติมวิตามิน N ให้หน่อย (วิตามิน N – Nature) จะให้พี่ทำยังไงอะ? เขาไม่อยากมาอะ คุณแม่บอกว่าตอนนี้เป็นเทรนด์ค่ะ ต้องเติมวิตามิน N แบบนี้ก็ต้องเปลี่ยนที่คุณแม่ด้วยไหม?
ปล่อยไปตามวิถี ไม่ต้องคิดมาก แต่ทำยังไงให้ธรรมชาติมันมีตัวตนอยู่ (available) ไม่ใช่ให้ธรรมชาติอยู่แค่ในห้องแล็บ ถ้าผู้ใหญ่พูดว่าเวลานี้ต้องเติมวิตามิน N แต่ผู้ใหญ่ไม่ทำ (ผายมือ) จะให้เราทำยังไง? มันต้องให้เป็นวิถีปกตินะ ไม่ต้องคิดมาก แค่ไปสัมผัส