มีคำสองคำที่ใช้กันในตำราหลายเล่ม หนึ่งคือ role play หมายถึงการเล่นบทบาทสมมุติ สองคือ pretend play หมายถึงการเล่นสมมุติ หนังสือบางเล่มใช้ทั้งสองคำ ในขณะที่บางเล่มใช้คำว่าเล่นสมมุติคำเดียว
การเล่นสมมุติหมายความง่ายๆ ถึงการหยิบฉวยวัสดุรอบตัวมาเล่นสมมุติแทนวัตถุจริง เช่น ใช้กล่องสักใบแทนเตาปฏิกรณ์ปรมาณู เป็นต้น อาจจะกินความไปถึงสมมุติตนเองเป็นใคร เช่น ไออ้อนแมน เป็นต้น (หากคนรุ่นเก่าเลือกแบทแมนหรือซูเปอร์แมนก็อย่าเสียใจที่เด็กๆ จะเลือกไออ้อนแมนหรือกัปตันอเมริกา)
การเล่นบทบาทสมมุติมีความหมายคล้ายคลึงกัน หมายความง่ายๆ ถึงการสมมุติเต็มรูปแบบทั้งผู้เล่น วัสดุ และสภาวะแวดล้อม เช่น เด็กสมมุติตนเองเป็นพ่อครัว หยิบฉวยวัสดุเหลือใช้รอบตัวมาสร้างเป็นครัว แล้วให้คุณพ่อเป็นลูกมือในครัว เป็นต้น พูดง่ายๆ ว่าการเล่นบทบาทสมมุติเข้าใกล้การเล่นละคร ซึ่งเป็นเรื่องสามัญสำหรับโรงเรียนในประเทศพัฒนาที่มักจัดให้มีการแสดงละครอย่างสม่ำเสมอ
การเล่นสมมุติหรือบทบาทสมมุติมีประโยชน์อย่างไรและทำได้อย่างไร
1. ช่วยให้เข้าใจว่าคนอื่นกำลังจะทำอะไร ความข้อนี้สำคัญ ทารกเกิดมาพร้อมความสามารถที่จะทำนายได้ว่าคุณแม่จะทำอะไรหรือควรจะทำอะไร ซึ่งจะนำไปสู่ความไว้ใจแม่และความไว้ใจตนเอง รวมไปถึงความไว้ใจโลกและจักรวาล เมื่อทารกเติบโตขึ้นถึงวัยเล่นได้ เขาพัฒนาความสามารถนี้ดีขึ้น เก่งขึ้น ซับซ้อนขึ้น ถึงระดับดูสีหน้าคนก็รู้ว่าเขากำลังจะทำอะไร การละเล่นที่เข้ามาเสริมความสามารถด้านนี้คือ การเล่นบทบาทสมมุติ
2. ช่วยให้เข้าใจและล่วงรู้ความรู้สึกของผู้อื่น ความข้อนี้สำคัญมาก ความสามารถที่จะเข้าใจไปจนถึงล่วงรู้ความรู้สึกในใจของผู้อื่นนี้มิใช่เรื่องอ่านใจหรือกระแสจิต แต่หมายถึง เอมพาธี (empathy) และเรียกความสัมพันธ์ที่มีเอมพาธีว่า empathetic relation คนทั่วไปควรมีเอ็มพาธีได้ระดับหนึ่งนั่นคือเข้าใจ ล่วงรู้ และสัมผัสความทุกข์ยากของคนอื่นและเพื่อนมนุษย์ พบว่าอาชญากรบางประเภท เผด็จการบางคน หรือฆาตกรบางคนไม่มีความสามารถนี้
3. ช่วยให้พัฒนาการทางภาษาดีขึ้น ระหว่างการเล่นบทบาทสมมุติเด็กสมมุติวัสดุรอบตัวเป็นวัตถุจริง เช่น นำกล่องมาวางเป็นเตาแก๊ส กล่องโฟมเป็นถังแก๊ส แผ่นไม้สักแผ่นเป็นกระทะ นำขวดเปล่ามาวางเรียงเป็นซีอิ๊ว น้ำปลา น้ำมันหอย ฉีกหนังสือพิมพ์โรยเป็นผัก จะเห็นว่าลำพังขั้นตอนเตรียมอุปกรณ์คุณพ่อจะต้องพูดคำศัพท์จำนวนมากออกมาให้เด็กได้ยิน และบ่อยครั้งที่เด็กจะพูดตามโดยไม่รู้ตัว
4. ช่วยให้การอ่านและการเขียนดีขึ้นด้วย อย่าลืมว่าภาษาหรืออักขระคือเส้นสายสมมุติ มิได้มีอยู่จริงในตอนแรก เด็กไทยสมมุติให้การลากเส้นเช่นนี้ “ก” คือ ก ไก่ และชวนให้ใจคิดถึงสัตว์ 2 ขามีปีกที่ร้องเอ้กอีเอ๊กเอ้กในตอนเช้าๆ ในขณะที่เด็กฝรั่งสมมุติให้การลากเส้นเช่นนี้ “A” คือ A Ant และชวนให้คิดถึงสัตว์ 6 ขาที่กัดเจ็บ จะเห็นว่าลำพังการขีดเส้นบนผนังถ้ำหรือกระดาษเพียงสั้นๆ สามารถพาจิตใจของเด็กไปสู่ภาพสัตว์ที่เกิดขึ้น การเล่นสมมุติหรือการเล่นบทบาทสมมุติทำงานในลักษณะเดียวกัน คือช่วยพัฒนาระบบการให้สัญลักษณ์และถอดความหมายของสัญลักษณ์ (symbolization) นำไปสู่ภาษาที่ดีขึ้นทั้งการพูด อ่าน และเขียน เราจึงแนะนำให้คุณพ่อเล่นบทบาทสมมุติกับลูกเสมอเมื่อลูกพูดช้า
5. ช่วยเรื่องจินตนาการ ในระหว่างการเล่นทำครัว บ่อยครั้งที่เราเตรียมอุปกรณ์ไม่ครบ คุณพ่อสามารถคว้าตะหลิวด้วยมือเปล่ากลางอากาศแล้วพูดคำว่า “ตะหลิว” เพียงเท่านี้ตะหลิวก็มีอยู่จริงโดยพลัน สังเกตดูเถิดว่ามีอยู่จริงมิใช่เพียงในจิตใจของลูกแต่ของพ่อด้วย จะเล่นเป็นครูแต่ลืมไม้เรียว คุณพ่อสามารถคว้าไม้เรียวจากกลางอากาศเมื่อไรก็ได้ หากเล่นเป็นยอดมนุษย์อุลตร้าแมนจากดาว M78 ซึ่งอยู่ใกล้ๆ หลุมดำ M87 ก็ต้องไขว้มือปล่อยแสงสเปซเซี่ยม และถ้าเป็นก๊อดซิลล่าต้องร้อง “ก๊าซซซซซ” แล้วปล่อยแสงออกจากปากทำลายศัตรูราบเป็นหน้ากลอง ไม่นับการเหยียบย่ำทำลายตึกไปทั่วบ้าน นี่แค่เขียนยังนึกถึงสมัยที่ตนเองเป็นเด็กนำบล็อคไม้และกล่องเปล่ามาสร้างเป็นตึกรามบ้านช่องทั่วพื้นบ้านแล้วสมมุติตนเองเป็นก๊อดซิลล่า
6. ช่วยพัฒนาความคิดเชิงนามธรรม ระหว่างการเล่นบทบาทสมมุติเด็กจะได้ภาษาเชิงรูปธรรมง่ายๆ คือวัสดุเหลือใช้ที่เรานำมาสมมุติเป็นตะหลิว ไม้เรียว หูฟังของคุณหมอ ผัดกะเพราไข่ดาวใส่พริกด้วย แต่ระหว่างการเล่นเด็กจะได้คำศัพท์ที่นอกเหนือจากวัตถุ เช่น ใช้ตะหลิวผัดผัก “ซั่วซ่าๆ” เห็นไม้เรียวก็ “กลัวแล้วๆ” ฟังหัวใจได้ยินเสียง “ตุ้บ ตุ้บ” ผัดกะเพรา “เผ็ดจังเลย” เป็นต้น คำศัพท์ที่ไม่ใช่วัตถุ ได้แก่คำอุทาน คำวิเศษณ์ คำสันธาน คำบุพบท ไปจนถึงคำหยาบ วลี สำนวน คำพังเพย โวหาร เหล่านี้ล้วนรอเวลาหลุดออกมาในการเล่นบทบาทสมมุติ ก่อนที่จะก่อร่างสร้างตัวเป็นความสามารถระดับนามธรรมต่อไป
7. การเล่นบทบาทสมมุติช่วยระบายความคับข้องใจได้มาก เวลาเราเล่นบทบาทสมมุติบนกองทราย เด็กมักได้โอกาสระบายความเครียด เคียดแค้น โกรธ น้อยใจ เสียใจ เศร้าใจ เหงา เปล่าเปลี่ยว ออกไปกับการละเล่น เช่น นำตุ๊กตาที่สมมุติว่าเป็นพ่อหรือแม่มาฝัง แม้แต่โยนคุณครูลงกระทะทอดกินก็มี เป็นต้น
อย่าลืมว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงการสมมุติและจินตนาการ เป็นกระบวนการระบายสิ่งสกปรกตกค้างออกจากจิตใจ เป็นวาล์วนิรภัยเปิดเพื่อระบายแรงดันไอน้ำออกบ้างก่อนที่จะระเบิด เป็นเรื่องดีและจะมีกันบ้างทุกคนไม่มากก็น้อย
8. การเล่นบทบาทสมมุติช่วยให้เด็กเข้าใจตนเอง นี่คือคุณูปการสูงสุดของการเล่นละครโรงเรียน ด้วยกลไกของสิ่งที่เรียกว่าละคร การสวมบทบาทตัวละครใดๆ ของเด็กๆ มีประโยชน์เสมอ ต่อให้สวมบทเป็น ทองคำ กำยาน และมดยอบ อันเป็นของขวัญจากมาไจในคืนวันคริสต์มาส หรือจะเล่นบทพระราม พระลักษณ์ ทศกัณฑ์ พิเภก อินทรชิต หรือสีดา บทบาทเหล่านี้จะแตะต้อง (touch) ถูกจิตใจและบุคลิกภาพเด็กๆ เสมอ ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กๆ กำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาบุคลิกภาพจึงมีทุกนิสัยใจคอซ่อนตัวอยู่
9. การเล่นบทบาทสมมุติสร้างพ่อที่มีอยู่จริง คงสังเกตได้แล้วว่ามีแต่คำว่าพ่อตั้งแต่ต้นบทความ เพราะนี่คือโอกาสทองที่พ่อจะได้นั่งลงเล่นทำครัวกับลูกแล้วปล่อยแม่ไปทำครัว อาบน้ำนานๆ ไปร้านเสริมสวย 4 ชั่วโมง เป็นช่วงเวลาแสนสุขที่พ่อลูกจะใช้เวลาอยู่ด้วยกันเล่นด้วยกันโดยไม่ยาก หากคุณพ่อเหนื่อยจากงานมาเล่นทำครัวย่อมง่ายที่สุด เพราะนั่งเฉยๆ (อย่างแย่ที่สุดคือนอนหลับข้างกองทรายให้ลูกๆ สมมุติว่าป็นคนตายเพื่อเอาทรายกลบฝังก็ได้ อยากไม่มีเวลาดีนัก) ถ้าคุณพ่อมีพลังย่อมเล่นเป็นสไปเดอร์แมนได้ การเล่นเป็นผู้ป่วยนอนลงให้คุณหมอตรวจนั้นง่ายมาก แต่ถ้าเล่นเป็นทหาร ตำรวจหรือโจรขโมยก็จะเหนื่อยหน่อย
การเล่นบทบาทสมมุติเป็นโอกาสทองที่คุณพ่อจะได้ถดถอยกลับไปสู่ความเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง – ขอบอก
ได้แต่หวังว่าเรื่องจะไม่น่าเศร้าถึงระดับไม่มีคุณพ่อมาเล่นบทบาทสมมุติ หรือมีพ่อที่เอาแต่นั่งก้มหน้าเล่นมือถืออยู่ข้างกองทราย