- เรามักนึกถึงบทบาทของ ‘แม่’ มากกว่า ‘พ่อ’ บทบาทของพ่อจึงถูกมองข้ามและไม่ได้รับการพูดถึง จนเกิดเป็นมายาคติหรือความเชื่อที่พูดต่อๆ กันมาว่า ‘แม่เลี้ยงลูกได้ดีกว่า’
- จากการศึกษาพบว่า หากปล่อยให้พ่อได้ใช้เวลาดูแลลูกในระยะเวลาพอๆ กับแม่ พ่อสามารถพัฒนาทักษะการดูแลลูกได้ไม่ต่างจากแม่เลยแม้แต่น้อย
- สำหรับบทบาทของพ่อ การมีเวลาให้กับลูก ดูแลเอาใจใส่ลูกอย่างใกล้ชิด เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ เรียกอิทธิพลของพ่อที่มีต่อลูกว่า dose effect บทบาทของพ่อมีผลทั้งต่อบุคลิกภาพ พฤติกรรม และวิธีคิดในการใช้ชีวิตของลูก
เอ่ยถึงบทบาทหน้าที่ในการเลี้ยงดูลูก ทั่วไปแล้วเรามักนึกถึงบทบาทของ ‘แม่’ มากกว่า ‘พ่อ’ อาจเพราะแม่เป็นผู้อุ้มท้องมาตลอด 9 เดือน แถมยังต้องรับหน้าที่ให้นมลูกต่อ ส่วนจะให้นมได้ยาวนานขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพ การดูแลเรื่องอาหารการกินของแม่ เพื่อให้เต้านมสามารถผลิตนมได้ดีและต่อเนื่อง ทั้งหมดต้องอาศัยความพยายามและความอดทนของผู้เป็นแม่ บทบาทของพ่อจึงถูกมองข้ามและไม่ได้รับการพูดถึง ซ้ำยังเกิดเป็นมายาคติหรือความเชื่อที่พูดต่อๆ กันมาว่า “แม่เลี้ยงลูกได้ดีกว่าพ่อ”
ลอเรน แม็คเคลน (Lauren McClain) และ ซูซาน แอล. บราวน์ (Susan L. Brown) นักสังคมวิทยา กล่าวถึงความเชื่อลักษณะนี้ไว้ในบทความ ‘The Roles of Fathers’ Involvement and Coparenting in Relationship Quality among Cohabiting and Married Parents’ ว่าเป็น ‘role traditionalization’ หรือ ‘บทบาทดั้งเดิม’ ที่มีความเสี่ยงต่อความสัมพันธ์ในชีวิตคู่หรือความมั่นคงในความสัมพันธ์ของคู่สามีภรรยา ผลการศึกษาชี้ว่า
การเข้ามามีบทบาทดูแลลูกของพ่อ ทำให้แม่มีความพึงพอใจในชีวิตคู่หรือชีวิตแต่งงานมากขึ้นด้วย ในทางกลับกัน หากพ่อละเลยบทบาทดังกล่าว ความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ก็มีแนวโน้มสั่นคลอนได้เช่นกัน
ผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัวจากฟาร์เธอร์ฮูด (Fatherhood Institute) สถาบันที่ศึกษาเกี่ยวกับความเป็นพ่อและบทบาทของพ่อ เอเดรียน เบอร์เกส (Adrienne Burgess) ได้เปิดเผย 6 ความเชื่อที่ไม่จริงเสมอไปเกี่ยวกับพ่อไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
หนึ่ง ผู้ชายไม่ได้อยากมีลูกเท่าผู้หญิง
(MEN DON’T WANT CHILDREN AS MUCH AS WOMEN DO)
ความอยากมีหรือไม่มีลูก เปลี่ยนแปลงได้ตามวัยหรือช่วงจังหวะชีวิต เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของประสบการณ์ชีวิต ที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกมั่นใจ และความพร้อมของแต่ละบุคคลมากกว่าเพศสภาพ จากการศึกษาพบว่า ผู้หญิงจะมีความรู้สึกหรือมีความต้องอยากมีลูกก่อนผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นไปจนถึงช่วงอายุราว 30 ปี
ในทางกลับกันเมื่ออายุย่างเข้าเลข 4 ผู้ชายจะเริ่มมองว่าการมีลูกเป็นเรื่องสำคัญไม่ต่างจากผู้หญิง เพราะเป็นช่วงวัยที่รู้สึกว่าตนเองมีความพร้อม
สอง ผู้ชายไม่มีความอ่อนโยนกับเด็กทารก
(MEN ARE INSENSITIVE TO BABIES)
การศึกษาบอกอย่างชัดเจนว่า ความอ่อนโยนนั้นคุณพ่อมีไม่น้อยไปกว่าคุณแม่ รวมไปถึงความรู้สึกตามสัญชาตญาณอื่นๆ เช่น ความรู้สึกหวง ห่วงใย ความอาทรและความรัก สิ่งเดียวที่พ่อทำไม่ได้ก็คือ การให้นมลูกเท่านั้นเอง
การวิจัยได้ทำการสำรวจปฏิกิริยาตอบสนองของผู้หญิงและผู้ชาย เมื่อได้ยินเสียงทารกร้องไห้ พบว่า จังหวะการเต้นของหัวใจที่ตอบสนองต่อการได้ยินเสียงทารกร้องไห้ในผู้หญิงและผู้ชายมีอัตราการเต้นไม่ต่างกัน ดังนั้นไม่ว่าจะเพศหญิงหรือชายเมื่อต้องกลายเป็นพ่อแม่ ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะรู้สึกใจอ่อนกับลูก
นอกจากนี้ จากการทดลองเก็บข้อมูล ยังพบว่า หากปล่อยให้พ่อได้คลุกคลีกอดเล่นกับลูกประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อปิดตาพ่อ ประสาทสัมผัสของพ่อสามารถแยกแยะได้ว่าเด็กคนไหนเป็นลูกของตัวเองจากการสัมผัสมือของลูกเท่านั้นเอง ถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ของสายใยความสัมพันธ์ตามธรรมชาติ
สาม โดยธรรมชาติแล้วแม่ดูแลลูกได้ดีกว่าพ่อ
(MUMS ARE NATURALLY BETTER AT CARING FOR CHILDREN)
เมื่อเทียบแล้ว ในช่วงแรกเกิดแม่ใช้เวลาอยู่กับลูกมากกว่าพ่อ เนื่องจากต้องคอยให้นมลูกอย่างใกล้ชิด แม่จึงได้เรียนรู้และฝึกฝนการดูแลลูกจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง แต่เรื่อง ‘ทักษะการดูแล’ อย่างคล่องแคล่วนี้เป็นคนละเรื่องกับ ‘ความมั่นใจ’ และ ‘ความเข้าใจ’ ความต้องการของเด็กทารก
จากการศึกษาพบว่า หากปล่อยให้พ่อได้ใช้เวลาดูแลลูกในระยะเวลาพอๆ กับแม่ พ่อสามารถพัฒนาทักษะการดูแลลูกได้ไม่ต่างจากแม่เลยแม้แต่น้อย
สี่ พ่อก็คือพ่อ พ่อเป็นผู้ชาย ทำอะไรมากไม่ได้หรอก
(DADS DON’T MAKE MUCH DIFFERENCE)
เรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง เพราะพ่อสามารถสร้างความแตกต่างและสร้างพัฒนาการที่ดีให้ลูกได้ตั้งแต่ในครรภ์ ด้วยการดูแลเอาใจใส่ผู้เป็นภรรยาหรือแม่ของลูกอย่างใกล้ชิด รวมถึงการส่งผ่านความรักและความห่วงใยให้แก่ภรรยาด้วย
การสร้างความอบอุ่นใจและสบายใจให้ผู้เป็นแม่ จะส่งผลต่อการสร้างสารเคมีในร่างกายของแม่ ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการของลูก
ดังนั้น พ่อจึงสร้างความแตกต่างด้านพัฒนาการของลูกได้ตั้งแต่แรกเกิด
จากการศึกษาพบว่า การเลี้ยงดูของพ่อมีผลต่อไอคิว (IQ) โดยเฉพาะพัฒนาการทางภาษาของลูก รวมทั้งเรื่องความมั่นใจในตัวเอง การเคารพตัวเอง และการเข้าสังคม ความสัมพันธ์ที่อบอุ่น แน่นแฟ้นระหว่างพ่อกับลูก ทำให้ลูกมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าน้อยลง
ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวในครอบครัว เมื่อลูกโตเป็นผู้ใหญ่แล้วต้องรับผิดชอบดูแลตัวเองและครอบครัว
ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากผลการศึกษา คือ พ่อที่สนใจเรื่องการเรียนของลูก ให้คำแนะนำ พูดคุย จะช่วยส่งเสริมให้ลูกมีผลการเรียนที่ดีได้ โดยเฉพาะในเด็กผู้ชาย นอกจากนี้ ความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างพ่อกับลูก ยังส่งผลให้ลูกควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ดีอีกด้วย
กลับมามองที่ปัญหายาเสพติด ทางออกของการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจึงต้องกลับมาที่การสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งในครอบครัว ทำให้ลูกเคารพและรักตัวเอง จากการให้ความรักความเข้าใจกับลูกนั่นเอง
ห้า พ่อไม่ค่อยมีเวลาดูแลลูกหรอก
(DADS HARDLY EVER LOOK AFTER CHILDREN)
แม้ส่วนใหญ่แล้ว พ่อต้องเป็นผู้รับผิดชอบทำงานนอกบ้านจนไม่มีเวลาดูแลลูกเท่าที่ควรในช่วงระหว่างวัน ผลการศึกษาในประเทศอังกฤษ พบว่า พ่อมีส่วนร่วมดูแลลูกหลังจากเลิกงาน เฉลี่ยแล้วประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน รวมแล้วคิดเป็น 1 ใน 4 ของเวลาทั้งหมด นอกจากนี้ เมื่อลูกอยู่ในช่วงวัยที่แม่ต้องกลับไปทำงาน การใช้เวลาของพ่อกับลูก เพิ่มมากขึ้นตามลำดับและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
นี่แสดงให้เห็นว่า ในทางปฏิบัติพ่ออาจไม่มีเวลามากนักในการดูแลลูก เนื่องจากต้องออกไปทำงาน แต่เมื่อมีเวลาพ่อสามารถใช้เวลาที่มีอย่างคุ้มค่าดูแลลูก
หก ผู้ชายทำอะไรพร้อมกันหลายอย่างไม่ได้
(MEN CAN’T MULTI-TASK)
เรื่องนี้ไม่จริงเสียทีเดียวเพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เมื่อให้พ่อได้ใช้เวลาอยู่กับลูก และได้เรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลลูก ไม่ว่าจะเรื่องชงนม เปลี่ยนผ้าอ้อม เล่นกับลูก และอื่นๆ ผลลัพธ์ คือ พ่อมีความสามารถในการดูแลลูกไม่แพ้แม่เลยทีเดียว เพียงแต่ส่วนใหญ่แล้ว พ่อมักได้รับบทบาทให้เป็นกองหนุนช่วยแม่มากกว่า เลยทำให้ถูกมองว่าไม่สามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้
เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ‘เวลา’ ที่ใช้กับลูกเป็นตัวแปรสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ‘พ่อ’ หรือ ‘แม่’ หากมีเวลาให้ลูกอย่างเพียงพอ การเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดของทั้ง 2 คน หรือคนใดคนหนึ่งมีผลต่อพัฒนาการของลูกไม่ต่างกัน
‘การดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด’ ในที่นี้หมายถึง การทำให้ลูก รู้สึกปลอดภัยและมีที่พึ่ง (safe) ด้วยการให้เวลาพูดคุยและรับฟังสิ่งที่ลูกต้องการสื่อสารโดยไม่ตัดสิน รู้ว่าตัวเองมีคุณค่าและมีความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ (competent) จากการให้กำลังใจและสนับสนุนของพ่อแม่ และ รู้สึกว่าเป็นที่รัก (lovable) เช่น การแสดงออกด้วยการกอด เป็นต้น
ดังนั้นไม่ว่าจะรับบทบาทเป็นพ่อแบบไหน…พ่อทางสายเลือด พ่อบุญธรรม พ่อเลี้ยงเดี่ยว หรือครอบครัวที่พ่อแม่ตัดสินใจสิ้นสุดความสัมพันธ์ต่อกัน พ่อแม่ยังคงต้องร่วมมือกันสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก และแม่กับลูกให้ได้อย่างมั่นคง
สำหรับบทบาทของพ่อ การมีเวลาให้กับลูก เพื่อให้ได้ดูแลเอาใจใส่ลูกอย่างใกล้ชิดจึงเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ เบอร์เกส เรียกอิทธิพลของพ่อที่มีต่อลูกว่า dose effect เพราะบทบาทของพ่อมีผลทั้งต่อบุคลิกภาพ พฤติกรรม และวิธีคิดในการใช้ชีวิตของลูก