- คุยกับ 4 ครู 1 กระบวนกร ว่าเพราะเหตุใดประชาธิปไตยในความหมายที่แท้จริงต้องเริ่มต้นสอนในห้องเรียน
- ไม่จำเป็นต้องอยู่ในคาบวิชาสังคม วิชาอื่นๆ ก็แทรก ‘ความเท่าเทียมกันของทุกคน’ เข้าไปได้ สนุกด้วย
- เพราะห้องเรียนคือโลกจำลองของสังคม ถ้าห้องเรียนเผด็จการ สังคมก็เผด็จการ แต่ถ้าห้องเรียนประชาธิปไตย ห้องเรียนก็ประชาธิปไตย
เพราะห้องเรียนคือโลกจำลองของสังคม ถ้าห้องเรียนเผด็จการ สังคมก็เผด็จการ แต่ถ้าห้องเรียนประชาธิปไตย ห้องเรียนก็ประชาธิปไตย
The Potential จึงไปคุยกับครู 4 คนที่เห็นความสำคัญของประชาธิปไตยและใส่เข้าไว้ในห้องเรียน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นครูสังคม 2 คน ครูฟิสิกส์ 1 คน และ ครูบูรณาการอีก 1 คน รวมถึงไปคุยกับกระบวนกรคนสำคัญที่ผลักดันและเป็นกองหลังสำคัญครูให้สอนประชาธิปไตยด้วยหัวใจในห้องเรียน
1. ประชาธิปไตยในกระป๋องมันฝรั่ง: ภาคิน นิมมานนรวงศ์
ภาคิน นิมมานนรวงศ์
คุณครูวิชาสังคมศึกษา ม.4 กับ ม.5 โรงเรียนกำเนิดวิทย์
ร่มใหญ่ที่รับผิดชอบคือวิชาสังคมศึกษา แต่ในรายละเอียด คุณครูภาคิน นิมมานนรวงศ์ รับหน้าที่สอนวิชาหน้าที่พลเมือง ม.4 และ ม.5 ส่วนคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ จะไปปรากฏในวิชาหน้าที่พลเมือง ม.5 เทอม 1
ครูภาคินตั้งธงไว้แต่แรกว่าประชาธิปไตยจะต้องไม่ใช่วิชาที่ว่าด้วย ‘สิทธิเสรีภาพ’
“การโฟกัสประชาธิปไตยไปที่คำว่าสิทธิเสรีภาพ มันจำกัดไปหน่อยและทำให้เราเข้าใจมันอย่างผิวเผิน
คาบแรกที่ผมสอนจะพยายามทำให้เด็กเข้าใจว่าการเมืองหมายถึงอะไร และการเมืองไม่ใช่แค่สิ่งที่เกิดขึ้นในสภา หรือมีนักการเมือง”
แต่การเมืองคือการรวบรวมและจัดสรรทรัพยากร ด้วยการเริ่มต้นที่ ‘มันฝรั่ง’
การเมือง = การจัดสรรทรัพยากร
“คาบแรก ผมเอามันฝรั่งพริงเกิลส์ไปให้เด็กๆ แจก ให้ช่วยกันคิดว่าจะแจกยังไง แจกให้เท่าๆ กันไหม หรือแจกตามความต้องการ แล้วให้คนเดียวแจกหรือหลายคนแจก ผมลองให้เด็กจินตนาการ โดยให้นึกถึงโลกที่เราอยากได้อะไรก็ได้ แต่ในโลกแบบนั้นอะไรที่หายไปแน่ๆ”
คำตอบกลับมาหลายอย่าง แต่เสียงส่วนใหญ่บอกว่าที่หายไปแน่ๆ คือ การเมืองการปกครอง
“ในโลกที่เราได้อะไรก็ได้ทุกอย่าง มันไม่มีเหตุผลที่เราอยากจะไปอยู่ใต้การปกครองของใคร แต่ในความเป็นจริง โลกต้องมีการเมืองการปกครอง เพราะโลกมีทรัพยากรจำกัด แล้วการเมืองการปกครองแต่ละรูปแบบคืออะไร ก็คือวิธีการที่แต่ละสังคมจะเอาทรัพยากรจำกัดนั้นมา แต่เอามาจากไหน และเอาไปใช้ทำอะไร”
เพื่อให้ง่ายขึ้น ครูภาคินจึงสมมุติให้ทรัพยากรที่ว่านั้นคือเงิน และโยนให้เด็กๆ ช่วยกันคิดว่าถ้าห้องเรียนนี้ต้องการเงิน คำถามแรกคือแล้วจะเอาเงินมาจากไหน และจะจัดสรรอย่างไรเป็นคำถามถัดมา
“ทุกคนก็บอกว่าเงินเอามาจากเพื่อน แล้วเอาไปใช้ทำอะไร บางคนบอกเอาไปจีบสาว บางคนก็บอกว่าแบ่งออกไปใช้หน่อยนึง อีก 50 เปอร์เซ็นต์เก็บเอาไว้แล้วกัน พอเห็นภาพนี้ก็จะรู้ว่าการที่เราให้สิทธิใครบางคนตัดสินใจว่าจะเอาทรัพยากรมาจากไหน หรือเอาไปใช้ทำอะไร-เพียงคนเดียว โดยมากแล้วก็เอาทรัพยากรมาจากที่อื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง เอาไปใช้ทำอะไร สุดท้ายก็มักเอาไปใช้ทำอะไรเพื่อตัวเอง ไมได้ทำเพื่อคนอื่น”
อาศัยความเข้าใจนี้ครูภาคินเลยอธิบายต่อว่า สิ่งนี้ก็คล้ายๆ กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย นั่นหมายถึง รูปแบบการเก็บและจัดสรรทรัพยากรในกลุ่มคนที่มีพื้นเพแตกต่าง มีผลประโยชน์หลากหลาย
เช่นนั้นแล้วระบอบการเมืองแบบไหนที่มีปัญหา?
คำตอบคือ ระบอบที่การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างไม่เป็นธรรม
“คุณเอามาจากคนอื่นเยอะ แต่เวลาคุณใช้ คุณเอามาใช้กับตัวเองเยอะ ถามเด็กว่าแฟร์หรือไม่ ไม่มีใครพูดเลยว่าแฟร์”
สเต็ปต่อมาคือ นำความไม่แฟร์ที่เด็กๆ เข้าใจ โยงสู่เรื่องใหญ่ๆ อย่างงบประมาณของประเทศ
“ว่ามันไปอยู่ที่กระทรวงหรือจังหวัดไหนมากที่สุด เด็กๆ จะเห็นภาพว่าอ๋อ… ระบบการเมืองที่ดีกับไม่ดี มันต่างกันแบบนี้ ระบบการเมืองที่ดี มันเปิดโอกาสให้พลเมืองต่างๆ ในสังคมซึ่งมีผลประโยชน์ต่างกัน มีโอกาสถกเถียงกันว่าจะเอาทรัพยากรที่จำกัดไปทำอะไรในแต่ละพื้นที่ที่มีความต้องการต่างกัน ส่วนระบบการเมืองที่ไม่ดีคือระบบที่อำนาจการตัดสินใจไปกระจุกตัวอยู่ที่คนบางคน บางกลุ่ม ซึ่งมีผลประโยชน์เหมือนกันหมด”
ครูภาคิน ชี้ว่าพอเด็กเห็นอย่างนี้ เด็กจะเข้าใจได้เองว่า หัวใจหลักของประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่คือเรื่องจัดสรรทรัพยากรต่างหาก
เราไม่ได้เก่งแบบนี้ด้วยตัวเราเอง
ในแต่ละคาบ ครูภาคินทำหน้าที่ตั้งแต่สร้างบรรยากาศ ชักชวนเด็กๆ เข้าสู่ประเด็น ด้วยการชวนคิด ชวนตั้งคำถาม แต่ภารกิจหลักคือ ‘โชว์ข้อมูล’
ความที่เด็กๆ ในโรงเรียนกำเนิดวิทย์ถูกคัดเลือกผ่านการสอบที่มีการแข่งขันกันสูง พื้นฐานครอบครัวใกล้เคียงกัน ครูภาคินเลยต้อนรับนักเรียน ม.4 เทอม 1 วันแรกด้วย ‘ข้อมูลส่วนตัว’
“ผมไปนั่งทำข้อมูลแบ็คกราวด์ของเด็กทุกคนว่า พ่อแม่ทำอาชีพอะไร ได้เงินเดือนเท่าไหร่ มาจากโรงเรียนอะไรไหน จังหวัดอะไรบ้าง พอถึงคาบเรียน ก็เริ่มด้วยการถามเด็กๆ ว่า ทำไมถึงมาเรียนที่นี่ คาดหวังหรือมีเป้าหมายอย่างไร แต่รู้หรือเปล่าว่าคุณมีอะไรเหมือนกัน แล้วก็ให้จับกลุ่มกันเขียน”
คำตอบมีหลากหลายตั้งแต่ ชอบเกาหลีเหมือนกัน พูดภาษาอังกฤษเก่งเหมือนกัน และ เรียนเก่งเหมือนกัน
แต่ครูภาคินกลับเฉลยว่า “จริงๆ แล้วมีอีกอย่างหนึ่งที่พวกคุณเหมือนกัน แต่ไม่เคยสังเกต คือ…”
ว่าแล้วครูภาคินก็เปิดข้อมูลแบ็คกราวด์ของแต่ละคนและนำเสนอในรูปแบบสถิติ
“พวกคุณมาจากโรงเรียนเพียงไม่กี่จังหวัดในประเทศ อันดับ 1 คือกรุงเทพฯ อันดับ 2 คือ สงขลา และโชว์คะแนนโอเน็ตของแต่ละจังหวัด ให้เด็กเห็นความเชื่อมโยงว่ามันมีความสอดคล้องกันอย่างไร รวมทั้งเอาจำนวนโรงเรียนพิเศษในจังหวัดต่างๆ มาให้ดูประกอบ”
ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การแสดงให้เห็นวุฒิการศึกษาของผู้ปกครอง (โดยไม่ได้เปิดเผยรายชื่อ) เพื่อให้เด็กๆ เห็นว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของพ่อแม่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา แล้วครูภาคินก็นำไปเปรียบเทียบกับสถิติเด็กๆ ที่มาจากครอบครัวยากจนว่ามีโอกาสเรียนต่อมหาวิทยาลัยเพียง 5 เปอร์เซ็นต์
“แล้วก็เอารายได้เฉลี่ยประชากรไทยมาให้ดูแล้วถามเด็กๆ ว่าพวกคุณอยู่ตรงไหน ปรากฏว่าอยู่เลยค่าเฉลี่ยไปไกลมาก ติดท็อปเท็นเลยด้วยซ้ำ”
เมื่อเด็กๆ ได้รับคำตอบว่า “เรามีพื้นฐานครอบครัวและเศรษฐกิจ ‘ดี’ เหมือนกัน” ครูภาคินจึงถามต่อว่า
“แล้วที่คุณตอบตอนแรกว่าพวกคุณเก่งเหมือนกัน ถามว่าความเก่งที่คุณมี เป็นความเก่งด้วยตัวคุณเองล้วนๆ หรือเปล่า ลองจินตนาการว่าถ้าคุณไม่ได้อยู่ในครอบครัวของคุณ แต่ไปอยู่ในครอบครัวเด็กที่มีโอกาสต่อมหา’ลัย 5 เปอร์เซ็นต์ คุณจะเห็นความสัมพันธ์บางอย่าง มันอาจไม่ใช่เรื่องความสามารถส่วนบุคคลอย่างเดียว แต่มีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้คุณก้าวไปได้ไกลกว่าคนอื่น”
ท้ายชั่วโมงครูภาคินสรุปโดยชวนเด็กๆ ตั้งคำถามว่า ถัดจากความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ อย่างน้อยที่สุดเพราะพวกคุณมีเงินทุน หรืออยู่ในบริบททางสังคมซึ่งเอื้อให้ความสนใจด้านวิทยาศาสตร์โดดเด่นและไปได้ไกลกว่าเด็กคนอื่นหรือไม่ ผ่านโรงเรียนขนาดใหญ่ โรงเรียนพิเศษ และมีทรัพยากรที่ดีกว่า
“คนอื่นสอบไม่ติด อาจไม่ใช่เพราะเขาไม่เก่ง แต่อาจเป็นเพราะแบ็คกราวด์และเงื่อนไขที่ต่างกัน ดังนั้นคำพูดที่ว่าความเก่ง ความโง่ เป็นเรื่องส่วนบุคคล ก็อาจจะไม่จริง”
การเมืองไม่ใช่แค่เลือกตั้ง
ทั้งเรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกันและแบ็คกราวด์ของนักเรียนแต่ละคนที่ต่างกัน นำไปสู่ ‘ประชาธิปไตย’ อย่างไร
“นำไปสู่การทำความเข้าใจสังคม และทำความเข้าใจคนอื่นอย่างใจเย็น” ครูภาคินตอบ ก่อนจะขยายความต่อว่า ปัญหาหลายอย่างในสังคมจำเป็นต้องใจเย็น และคิดกับมันว่า มีเงื่อนไขเชิงโครงสร้างบางอย่างที่ทำให้สังคมมีหน้าตาแบบนี้
“เช่น การศึกษา เราคิดว่า คนต่างจังหวัดไม่มีการศึกษา เมื่อไม่มีการศึกษาก็โง่ เมื่อโง่ก็ไม่สามารถตัดสินใจที่ดีได้ เมื่อไม่สามารถตัดสินใจที่ดีได้ก็ไม่ควรให้เขาตัดสินใจ และควรให้คนมีความรู้เป็นผู้ตัดสินใจ และสุดท้ายแล้วคนไม่ต้องเท่ากันก็ได้นี่หว่า ทุกอย่างมันเริ่มต้นจากตรงนั้น”
ความตั้งใจของครูภาคิน คือ การจะเข้าใจเรื่องใหญ่ได้ เด็กๆ ต้องเริ่มจากการเข้าใจเรื่องเล็กที่สุดก่อน
“อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจ มันมีปัจจัยหลายอย่างที่ผลักคนคนนั้นให้ไปได้มากกว่าคนอื่น ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายปัจจัยที่เหนี่ยวรั้งคนคนนั้นไม่ให้ไปได้ไกล ทั้งๆ ที่เขาพยายามมากกว่าอีกหลายๆ คน”
สุดท้าย ธงการสอนของคุณครูภาคินสรุปได้ 3 อย่าง
หนึ่ง – ระยะสั้น อยากให้เด็กๆ รู้ว่าพวกเขามาอยู่ตรงนี้ได้เพราะเขามีโอกาสที่ดีกว่าคนอื่นๆ ยอมรับก่อนว่าความเก่งหรือไม่เก่งอาจไม่ได้มาจากความสามารถส่วนตัวล้วนๆ แต่มาจากเหตุผลอื่นๆ ด้วย สิ่งที่คิดว่าเป็นตัวเรา มันไม่ใช่เรื่องของตัวเราเท่านั้น
สอง – เมื่อเข้าใจตัวเองมากขึ้นก็เข้าใจคนอื่นมากขึ้น เมื่อเข้าใจคนอื่นมากขึ้น จะตัดสินคนอื่นน้อยลง
“คนเรียนจะเห็นเลือดเนื้อ เห็นเรื่องเล่า เห็นคนอื่น เมื่อเด็กๆ ไม่ได้เห็นแต่ตัวเอง มันถึงจะไปไกล”
สาม – อยากให้มีเด็กๆ มี political literacy หรือความเข้าใจการเมืองว่าจริงๆ การเมืองไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใหญ่พยายามบอกเรา แต่การเมืองเป็นเรื่องของเรา เป็นเรื่องปากท้อง ทรัพยากร ไมใช่แค่เรื่องสภา หรือคอร์รัปชัน แต่ยังคือการที่คนมาเถียงกันเรื่องผลประโยชน์ด้วย
“เวลาคุณอยู่ในสังคมแบบนี้ คุณจำเป็นต้องรู้เท่าทัน ถ้ารู้ไม่เท่าทันตัวคุณเองอาจเสียผลประโยชน์ สุดท้ายการเลือกตั้งเป็นเพียงหนึ่งในกระบวนการแก้ปัญหาการจัดสรรทรัพยากร ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง”
2. ในฟิสิกส์ มีอนุภาคไม่เล็ก ชื่อประชาธิปไตย: ธนา เอี่ยมบำรุงทรัพย์
ธนา เอี่ยมบำรุงทรัพย์
คุณครูสอนวิชาฟิสิกส์ ม.3 กับ ม.6 โรงเรียนสุวรรณพลับพลาพิทยาคม
คุณครูธนา เอี่ยมบำรุงทรัพย์ หรือ ครูโปเต้ เริ่มเข้าใจตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยว่า ประชาธิปไตยและการศึกษามีความเกี่ยวข้องกัน ตรงการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยให้ผู้เรียนได้ลงมือทำ ได้มีส่วนร่วม และการมีส่วนร่วมนี่แหละคือวิธีคิดแบบประชาธิปไตย
“ตอนนั้นเรารับรู้แล้วว่า เราสามารถที่จะเป็นครูได้ สามารถใช้การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันสังคม ให้มันเป็นประชาธิปไตย เพราะว่าสังคมไทยมันไม่เป็นประชาธิปไตย”
พอเข้าสู่วงการสอนอย่างเต็มตัว ครูโปเต้ก็เริ่มมีปัญหากับระบบ ไม่เห็นด้วย และไม่มีความสุขในการสอน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ครูโปเต้มีความสุขคือการสอน และเป็นการสอนที่แทรกประชาธิปไตยเข้าไปอย่างไม่ยัดเยียด
ด้วยการเริ่มต้นคาบแรกของทุกๆ ห้อง ด้วยกฎข้อเดียวเลยว่า “เราต้องไม่ละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ของกันและกัน”
“เด็กก็งง เราก็อธิบายต่อว่า อะไรที่เธอไม่อยากโดนกระทำก็อย่าไปทำกับคนอื่น…ง่ายๆ แค่นี้”
ยกตัวอย่าง ครั้งหนึ่งครูโปเต้เคยโดนเด็กล้อว่า “ครูเป็นรุกหรือเป็นรับ” ซึ่งเป็นคำถามที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
“ก็เรียกเข้ามาคุยว่า สำหรับความเข้าใจของหนู คำว่ารุก และ คำว่ารับคืออะไร แล้วเธอคิดว่าเรื่องแบบนี้ควรเอามาถามในที่สาธารณะไหม พยายามบอกว่านี่คือสิ่งที่เรียกว่าสิทธินะ”
ถัดจากคำว่าสิทธิ คือ ประชาธิปไตย
ธงแรกในการสอนของครูโปเต้คือ เด็กต้องรู้เยอะ รู้ลึก รู้ให้สุด แต่เด็กที่โรงเรียนมีความแตกต่างกัน และไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนอยากเรียนฟิสิกส์ แต่จะทำอย่างไรให้ทุกคนเรียนด้วยกันได้
“พอสอนๆๆๆ มันไม่สำเร็จ เราเหนื่อยมาก ฟีดแบคก็ไม่โอเค เลยคิดได้ว่า เนื้อหาไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว เราเลยโยนคอนเทนท์ทุกอย่างทิ้งไป และกลับมาทำงานกับความเป็นมนุษย์ของเด็กๆ ขณะเดียวกันก็ต้องตรงกับตัวชี้วัดในหลักสูตรด้วย
“ต้องให้เด็กมีแรงบันดาลใจและรักในการเรียน เดิมเราพาเด็ก proof ยาวทุกสมการ แต่เราเปลี่ยนมาเป็นไม่ proof แล้วชวนเด็กคุยว่า สมการนี้มันบอกอะไรเกี่ยวกับชีวิตเราได้บ้าง แล้วมันอยู่ตรงไหนในชีวิตเรามากกว่า
“ยกตัวอย่าง กฎแรงโน้มถ่วงของนิวตัน ครูโปเต้อธิบายจะอธิบายว่า ทุกสิ่งในธรรมชาติมันเป็นไปด้วยกฎของนิวตัน สิ่งนี้ที่มันวางอยู่ได้เพราะมันมีมวล มีแรงเสียดทานนั่นนู่นนี่ เราพยายามชวนเด็กคุย ตั้งคำถาม ชวนคิดว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น ให้เขามีส่วนร่วม”
ส่วนการสอดไส้ประชาธิปไตยเข้าไปในวิชาฟิสิกส์ของครูโปเต้ เริ่มต้นจากการ ‘ไม่คิด’
“เราคิดว่าประชาธิปไตยอยู่ในเนื้อในตัวของเราอยู่แล้ว เช่น เราให้ดีเบตเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย ให้แบ่งกลุ่มว่าใครเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย แล้วให้ยกเหตุผลขึ้นมาดีเบตกัน”
ก่อนการดีเบต สิ่งที่แต่ละฝ่ายต้องไปทำการบ้านมาก่อน คือ จะชูประเด็นอย่างไร อะไรคือเหตุผลที่เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย และต้องเป็นเหตุผลที่จะทำให้อีกฝ่ายตอบไม่ได้ ทุกฝ่ายจึงต้องเก็บข้อมูลให้ได้เยอะที่สุดและ หนักแน่นที่สุด
“เขาก็จะพยายามไปคุยกัน ปรึกษากัน จากนั้นก็ออกมานำเสนอทีละฝั่ง ครูจะคอยรวมประเด็นที่เขาพูด สรุปให้อีกฝ่ายฟังว่า ฝั่งนี้เขาพูดว่าอย่างนี้นะ อีกฝั่งหนึ่งเขาก็พูดว่าอย่างนี้นะ”
วิธีดีเบต มันจะเข้ากับหลักการ ‘ฟังกันก่อน’ จะยอมรับหรือแย้งก็มาดีเบตกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นมันไม่ได้มีกระบวนการใดๆ ที่จะมาตัดสินหรือชี้ขาดว่าแบบไหนดีกว่า
“ท้ายที่สุด สรุปกิจกรรมออกมาแล้ว เราก็ไม่ได้ตัดสินอยู่ดีว่า มันควรจะเป็นแบบไหน คำตอบมันอยู่ในใจเราอยู่แล้วแหละ ถึงแม้เราอยากจะเข้าข้างกลุ่มเรามากน้อยแค่ไหน แต่พอมันได้ฟัง เชื่อเถอะในความเป็นมนุษย์ก็ต้องเลือกสิ่งที่มันรู้สึกว่าเป็นประโยชน์ของตัวเองที่สุด กระบวนการที่มันเป็นประชาธิปไตยแบบนี้มันถึงสำคัญในการเรียน”
เช่นเดียวกับทุกๆ ประเด็นสาธารณะหรือเรื่องส่วนรวม ครูโปเต้ก็จะชี้ให้เด็กๆ เห็นว่ามันต้องผ่านกระบวนการฟังเสียงของกันและกันก่อน
และใช้โอกาสนี้ อธิบายการเลือกตั้ง
“เราก็โยงว่า ก็เหมือนกับการเลือกตั้ง เวลาเราจะเลือกพรรคไหนเราก็ต้องดูก่อนว่าเขานำเสนออะไรออกมา แล้วเราก็ลองฟังเสียงของนักการเมือง ลองฟังดู นอกจากฟังนักการเมือง เราก็ลองฟังเสียงคนอื่นด้วยว่าเขาคิดเห็นยังไง แล้วเราก็บวกลบคูณหารชั่งน้ำหนักของเราเองว่า แล้วเราควรจะเลือกสิ่งไหนที่มันเป็นประโยชน์ต่อตัวเราแล้วก็ต่อคนอื่นได้มากที่สุด”
ความเห็นส่วนตัว ครูโปเต้เชื่อว่าวิธีการสอนแบบนี้ โอเคกว่าการสอนแบบเดิม 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะการสอนแบบเดิม ครูคือผู้มีอำนาจสูงสุด ครูคือผู้กุมความรู้แล้วค่อยนำมาแจกให้เด็กๆ
“แต่แบบนี้ อำนาจในการกุมความรู้มันมาจากสองฝ่าย ครูและนักเรียน”
ถามเถอะ ฉันจะตอบ ชอบที่สุด
ในแต่ละคาบ การถามขึ้นมาทันทีทั้งที่ครูยังพูดไม่จบ อาจถือว่าผิด แต่สำหรับครูโปเต้ ถามมาเถอะ ฉันจะตอบ ชอบที่สุด
“ชอบ ชอบให้ถาม สวนเลย ชอบมาก ชอบที่สุด การถามทำให้การเรียนรู้มันสนุก คนอื่นจะได้เรียนรู้ว่าเวลาเขาไม่เข้าใจแล้วเขาอยากรู้ เขามีสิทธิถามได้ แล้วเขาก็จะได้เห็นว่า เออ ครูพูดมาแบบนี้เพื่อนไม่เข้าใจ แล้วเราก็ได้เห็นตัวเองด้วยว่า ทำให้คนส่วนหนึ่งไม่เข้าใจ เราจะได้ไปสะท้อนตัวเองว่า ควรปรับวิธีการพูดใหม่หรือสอนใหม่ อันนี้ต้องปรับตลอด”
และการถามทันที นั่นแสดงว่าเด็กสงสัยจริงๆ แล้วเขาก็รู้ว่าตัวเองมีสิทธิที่จะถาม แทนที่จะโดนต่อว่าในข้อหาเสียมารยาท
“ตอนเด็กๆ เราโดนว่าตลอดเลยเวลาสงสัยแล้วยกมือถาม โดนครูด่าว่าไม่ตั้งใจถึงเรียนไม่รู้เรื่อง สุดท้ายเด็กจะไม่กล้าถาม ซ้ำร้าย ทำให้เด็กที่ไม่รู้แกล้งทำเป็นรู้ ซึ่งส่งผลร้ายต่อประเทศมากเลย ตรงที่ทำให้การเรียนรู้ไม่เติบโต ปิดกั้นการเรียนรู้ของสังคม ทำให้คนไม่สนใจกันมากขึ้น เมื่อเคยชินกับพฤติกรรมนี้ เราก็อยู่กันไปเหมือนว่าเราเข้าใจว่ามันเป็นแบบนี้ ก็ไม่อยากจะลุกขึ้นมาตั้งคำถาม พอไม่ตั้งคำถามมันก็ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคม”
3. ห้องเรียนเผด็จการ สังคมก็เผด็จการ: ‘ครูพล’ อรรถพล ประภาสโนบล
‘ครูพล’ อรรถพล ประภาสโนบล
ครูผู้ช่วยสอนวิชาสังคมศึกษาชั้นมัธยม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ปทุมธานี
“โรงเรียนหรือห้องเรียนเป็นภาพจำลองของสังคมใหญ่ เพราะฉะนั้นถ้าห้องเรียนไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ก็จะแปลว่าสังคมก็ไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยตามไปด้วย มันเป็นภาพสะท้อนซึ่งกันและกันเสมอ”
ถ้าถามว่าโลกของประชาธิปไตยเกี่ยวข้องกับโลกของนักเรียนอย่างไร ‘ครูพล’ อรรถพล ประภาสโนบล ในฐานะครูสังคมที่สอนวิชาหน้าที่พลเมือง บอกว่าโลกทั้งสองใบนี้เกี่ยวพันกันอย่างชัดเจน ด้านหนึ่งนอกจากโลกทั้งสองนี้จะสามารถสะท้อนกันและกันแล้ว ยังช่วยสร้างพลังเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างให้เกิดขึ้นจริงอีกด้วย
ถ้าสมมุติเด็กต้องอยู่ในสังคมที่มีแต่ความเผด็จการ แน่นอนว่าเด็กจะต้องตกอยู่ภายใต้วิถีหรือวิธีคิดแบบนั้น ส่งผลให้ การปฏิบัติตัว การแสดงออก ความสัมพันธ์ระหว่างกันในโรงเรียน ไม่ว่าครู–นักเรียน หรือ นักเรียนด้วยกันเอง ก็จะอยู่บนฐานคิดการมองคนที่ไม่เท่ากัน รวมถึงจะทำให้พวกเขามองเห็นคำตอบในห้องเรียนว่ามีแบบเดียวเท่านั้น
ดังนั้นในฐานะครู ถ้าทำให้ห้องเรียนเกิดความเป็นประชาธิปไตยขึ้นได้จริง สร้างห้องเรียนที่ทำให้เด็กนักเรียนมองเห็นถึงความเป็นมนุษย์ และให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ที่ทุกคนล้วนมีติดตัวตั้งแต่เกิด ความสัมพันธ์ระหว่างกันในโรงเรียนก็จะเปลี่ยนไป และการเปลี่ยนแปลงจะไม่หยุดแค่ในในโรงเรียนเท่านั้น เขาจะมองเห็นคนรอบๆ ตัวมากขึ้น
ยิ่งครูพล–เป็นครูที่สอนวิชาพลเมืองโดยตรง จึงแบ่งวิธีการสอนออกเป็น 2 แบบ ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อนำเด็กไปสู่ความเข้าใจที่แท้จริง
“อย่างแรกคงเป็นเรื่องวิถีปฏิบัติ ผ่านการแสดงออกของเรา แค่สร้างปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนอย่างเท่าเทียม มองเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ให้เกียรติและเคารพเขา ไม่สวมหัวความเป็นครูที่เอาอำนาจนำ แค่นี้ก็เป็นการสอนหลักประชาธิปไตยโดยไม่จำเป็นต้องเข้าสู่เนื้อหาหรือบทเรียนแล้ว ทำให้เขารู้สึกว่าแม้จะเป็นนักเรียนแต่เขาก็ไม่ได้ตัวเล็กเกินกว่าที่เราจะมองเห็น”
อย่างที่สองก็คงหลีกไม่ได้ที่จะเข้าสู่ห้องเรียน นั่นคือ การเลือกหยิบประเด็นต่างๆ ไปสอนให้เด็กรู้สึกว่าชีวิตเขาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร พยายามแทรกเรื่องราวต่างๆ เข้าไปทำให้เด็กเห็นว่าการเมืองคือเรื่องพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ ทุกคนเกิดมาแล้วต้องเจอ แม้เด็กนักเรียนตัวเล็กๆ แต่ก็ไม่อาจหนีความเป็นการเมืองไปได้ ตั้งแต่เเริ่มตื่นมาโรงเรียน จนขึ้นรถเมล์กลับบ้าน มันเป็นเรื่องการเมืองทั้งนั้น
ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของครูพลคือการหยิบยกประเด็นที่อยู่ในชีวิตประจำวันเหล่านี้ ขึ้นมาพูดในห้องเรียน โดยพานักเรียนไปสู่การมองเห็นอำนาจ มองเห็นโครงสร้าง และหนทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ โดยผ่านกระบวนการประชาธิปไตย อย่างการส่งเสียงของตัวเองและรับฟังเสียงของผู้อื่น ซึ่งเป็นหัวใจหลักของหลักประชาธิปไตย
“เช่น การถือกระเป๋าตังค์เข้าไปในห้อง แล้วให้เด็กจินตนาการว่าถ้ากระเป๋าตังค์เป็นทรัพยากร แล้วครูโยนกระเป๋าตังค์เข้าไปกลางห้องจะโอเคไหม? เด็กที่อยู่ทางซ้าย–ขวา ตอบสวนขึ้นมาทันทีว่าไม่โอเค เพราะพวกเขาจะไม่ได้รับผลประโยชน์ แล้วถ้าครูไม่โยนแต่เปลี่ยนเป็นให้วิธีให้คนที่วิ่งเร็ว วิ่งมาถึงก่อนได้ไปจะโอเคไหม? เด็กก็ไม่โอเค”
จากนั้นครูพลจึงตั้งคำถามต่อว่า แล้ววิธีแบบไหนนักเรียนถึงพอใจ?
ไม่น่าเชื่อว่านักเรียนทั้งห้องจะตอบไปในเชิงเดียวกันว่า ‘ครูควรจัดสรรทรัพยากรให้เท่าเทียม’ โดยที่ยังไม่ทันได้หนังสือสอนเลยด้วยซ้ำ
สิ่งที่ครูพลทำพยายามทำอยู่ในทุกวันนี้ ไม่ใช่หวังแค่ให้เด็กสอบได้คะแนนสูงๆ แต่สิ่งสำคัญและจำเป็น นั่นคือ การเตรียมความพร้อมให้เขาต่างหาก
“หลายๆ ครั้ง ครูก็ยังติดกับดักการสอนในรูปแบบเดิมๆ จะต้องเปิดตำราแล้วสอนว่าประชาธิปไตยคืออะไร โดยที่ไม่ได้พาบทเรียนเข้าไปสู่ชีวิตประจำวันของนักเรียนมากนัก รวมถึงยังขาดการลงลึกไปให้ถึงรากด้วยว่า ทำไมเราต้องมีประชาธิปไตย”
ครูพลเชื่อว่าถ้าเด็กสามารถเข้าใจคำถามพื้นฐานเหล่านี้ได้ เมื่อพวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่ เขาจะสามารถออกแบบและดีไซน์สังคมของตัวเองได้ด้วยตัวเขาเองเช่นกัน
4. คาบประชาธิปไตยในโพสต์อิท: ‘ครูวิลลี่’ อนุสรณ์ นิลโฉม
‘ครูวิลลี่’ อนุสรณ์ นิลโฉม
โรงเรียนชุมชนบ้านผานกเค้า จังหวัดเลย
ทุกคาบในรายวิชาบูรณาการ ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมต้น ในโรงเรียนชุมชนบ้านผานกเค้า ‘ครูวิลลี่’ อนุสรณ์ นิลโฉม อธิบายว่า นักเรียนจะได้เรียนเนื้อหาที่หลากหลาย โดยข้อกำหนดตามหลักสูตรบอกว่า วิชาบูรณาการคือวิชาที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้ฝึกเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผ่านกระบวนการต่างๆ เน้นการเรียนรู้ร่วมกัน เรียนรู้จากธรรมชาติ หรือเรียนรู้จากสิ่งที่นักเรียนสนใจ
ซึ่งถึงแม้ว่าวิชาบูรณาการจะไม่ใช่รายวิชาที่เกี่ยวกับสังคมศึกษาโดยตรง แต่ครูวิลลี่ ครูผู้สอนวิชานี้ กลับมองเห็นความสำคัญและพยายามใส่เนื้อหาเรื่องประชาธิปไตยลงไปในห้องเรียนให้ได้มากที่สุด
“เรื่องสิทธิเป็นเรื่องสำคัญ เราจะเน้นสอนให้เด็กทุกคนรู้จักเคารพในสิทธิผู้อื่น มองเห็นสถานะคนอื่น และทุกคนสามารถวิพากษ์วิจารณ์กันได้ ไม่ใช่เรื่องผิด สามารถมองต่างมุมได้ แต่ต้องยอมรับความคิดเห็นผู้อื่น นี่คือสิ่งที่พยายามใส่ลงไปในห้องเรียน ซึ่งเรื่องนี้มันก็เป็นหลักของประชาธิปไตยโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว”
ยิ่งในวิชาบูรณาการ ที่หลายคนมองว่าเป็นวิชาที่ไม่ใกล้เคียงกับภาควิชาสังคมสักเท่าไรนัก แต่ครูกลับมีเทคนิคการสอนที่น่าสนใจและช่วยสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยได้ ด้วยวิธีง่ายๆ เช่น การวางกระดาษโพสต์อิทไว้ประจำห้อง
ครูวิลลี่บอกว่าโพสต์อิทหล่านี้ มีเพื่อแทนเสียงของนักเรียน เพราะสิ่งที่เป็นฐานคิดแรกของเรื่องประชาธิไตย นั่นคือ การทำให้นักเรียนทุกคนสามารถออกเสียงของตัวเองออกมา สามารถพูดข้อเสนอแนะของตัวเองได้ หรือถ้าครูทำอะไรไม่ถูกต้อง นักเรียนก็สามารถเขียนบอกผ่านกระดาษได้
วิธีการของครูวิลลี่อาจเป็นวิธีธรรมดา ไม่ได้เข้าไปเขย่าหรือช่วยตกตะกอนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง แต่นี่คือการเริ่มต้นเล็กๆ เพราะได้เปิดพื้นที่ให้นักเรียน ช่วยละลายพฤติกรรมทำให้เขาไม่รู้สึกกลัว และกล้าจะวิพากษ์วิจารณ์
นอกจากวิธีการสื่อสารผ่านโพสต์อิทแล้ว ครูวิลลี่ยังมีอีกวิธี นั่นคือ การเปลี่ยนหัวหน้าห้องเวียนไปทุกอาทิตย์
“ทุกคนต้องได้เป็นหัวหน้าห้อง เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกยึดติดกับอำนาจและสอนให้เขาฝึกตัวเองให้เป็นผู้นำและผู้ตามไปพร้อมๆ กัน”
รวมถึงเรื่องเล็กๆ อย่างเช่นการทำเวรความสะอาด ในบางคาบเรียน ครูวิลลี่จะพาเด็กมานั่งล้อมวงเพื่อทำความสะอาดห้องเรียนด้วยกัน นอกจากเป็นการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมแล้ว วิธีนี้ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของพื้นที่นั้น สิ่งที่ตามมาคือความรู้สึกผูกพันและจะไม่ทำให้สกปรกอีก ซึ่งเป็นการสอนให้นักเรียนรู้จักรักษาความสะอาด โดยไม่ต้องชี้นิ้วสั่ง
ถึงแม้โลกจะพัฒนาไปไกล โซเชียลมีเดียเข้าถึงมือเด็กหลายๆ แต่ครูวิลลี่บอกว่าเด็กส่วนใหญ่ในโรงเรียนยังมีความรู้เรื่องในสภาหรือเรื่องการเลือกตั้งระดับประเทศน้อย แต่พวกเขาจะเข้าใจได้ง่ายๆ หากเรื่องนั้นเป็นประชาธิปไตยใกล้ตัว เช่น การเลือกอบต. การเลือกผู้ใหญ่บ้านในชุมชน ดังนั้นจึงตั้งคำถามให้ไปคิดต่อว่า ‘เพราะเหตุผลอะไรทำไมเราทุกคนต้องช่วยกันเลือกคนเหล่านี้เข้ามาดูแล’ ทำให้เขาความสำคัญว่าทำไม? เพราะอะไรถึงต้องออกสิทธิ ออกเสียง ในการเลือกคนเหล่านี้เข้ามา
ดังนั้นความท้าทายต่อไปของครูวิลลี่ คือ การทำให้นักเรียนทุกคนเข้าใจหัวใจของประชาธิปไตยได้
“แม้เขาจะเป็นเด็กตัวเล็กๆ แต่การสอนให้เขารู้จักตั้งคำถาม ผ่านสิ่งง่ายๆ รอบตัว เช่น ละครที่เขาดูกับพ่อแม่ตอนหัวค่ำ วิเคราะห์ตัวละครที่เห็น โดยที่ไม่ใช่การบอกว่าใครดีใครเลว คนนี้บวก คนนี้ลบ เพียงแค่ให้รู้ว่าใครเป็นอย่างไร ฝึกให้คิดและตั้งคำถามไปกับมัน มองอย่างรอบด้านมากขึ้น ให้เห็นมิติอื่นๆ จะทำให้เด็กเรียนรู้ไปเองว่านี่คือความหลากหลาย”
5. ภัทรภร เกิดจังหวัด “เราจะไม่สร้างครูให้ไปสอนว่าประชาธิปไตยคืออะไร แต่เราจะค้นหากระบวนการที่นำไปสู่ประชาธิปไตย”
ภัทรภร เกิดจังหวัด
นักจัดกระบวนการห้องเรียนประชาธิปไตย จากมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม)
แม้จะไม่ได้เป็น ‘ครู’ ไม่ใด้ใกล้ชิดกับเด็กที่สุด แต่ในฐานะนักจัดกระบวนการเรียนรู้ ‘ฝน’ ภัทรกร เกิดจังหวัด นักจัดกระบวนการห้องเรียนประชาธิปไตย จากมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) จึงเปรียบเสมือนผู้ที่ถ่ายทอดเครื่องมือหรือความรู้อะไรบางอย่าง ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้คุณครูได้นำวิธีการเหล่านี้กลับไปใช้ในห้องเรียนและส่งต่อให้เด็ก
เมื่อย้อนถามความเข้าใจเดิม เกี่ยวกับคำว่า ‘ประชาธิไตย’ ฝนบอกว่าแต่ก่อนก็เคยเข้าใจแบบที่ทุกคนคงรู้
“มันคงเป็นภาพฟุ้งๆ อยู่แล้วว่าประชาธิปไตยคือความเท่าเทียม คือการเคารพกัน จนได้ยินคำพูดหนึ่งของคุณโตมร ศุขปรีชา (นักเขียน) ที่เคยพูดไว้ว่า ‘ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่อยู่ปลายทาง แต่กระบวนการที่เดินไปสู่ปลายทางต่างหาก การถกเถียง การมองเห็น การได้ยินเสียงของทุกคน สิ่งเหล่านี้ต่างหากคือประชาธิปไตย’ ดังนั้นถ้าต้องการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ประชาธิปไตยจึงเป็นอีกเครื่องมือสำคัญ เพราะมันทำให้เกิดการถกเถียงกันและกันได้”
สำหรับฝน ประชาธิปไตยจึงคือกระบวนการถกเถียง เพื่อหาคำตอบบางอย่างร่วมกัน
“โดยที่เราทุกคนไม่รู้หรอกว่าคำตอบนั้นมันจะเป็นอย่างไร แต่มันเกิดจากการ ‘ร่วมกัน’ ไม่ใช่ฉันเห็นว่าดี พวกเธอจงทำตาม”
และเมื่อเข้าสู่การกระบวนการ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือการทำให้ครูเห็นว่า ‘เสียงทุกเสียงมีคุณค่า’
พออยู่ในกิจกรรมเรียนรู้ สิ่งที่เห็นได้ชัดเลย คือครูที่เข้าร่วมไม่ต่างอะไรจากเด็กคนหนึ่ง ครูทุกคนไม่ได้เกิดมาแล้วพูดเก่ง หรือมีความมั่นใจ สิ่งที่ฝนทำคือการสร้างกระบวนการให้ครูก้าวข้ามความรู้สึกนั้น จนกล้าที่จะส่งเสียงของตัวเองออกมา
“ดังนั้นเมื่อเราสร้างเครื่องมือให้ครูเห็นได้ว่าเสียงของเขามีค่า เขาก็จะนำวิธีการเหล่านี้กลับไปใช้ในห้องเรียน กลับไปใช้กับเด็กที่ตัวเองสอนเอง ทำให้เด็กกล้าพูด สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกเสียงที่จะพูดออกมา”
สำหรับฝน ‘ความเป็นประชาธิปไตย’ เป็นสมบัติที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ไม่ใช่แค่อาชีพครู
ครูคนหนึ่งเคยบอกกับฝนว่า เขาไม่เคยสั่งเด็กเลย แต่ด้วยออร่าอะไรบางอย่าง ทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัวจนไม่กล้าส่งเสียงของตัวเองออกมา เอาแต่นั่งเงียบ ไม่พูด จึงตัดสินใจเปลี่ยนพลังงานบางอย่างของตัวเอง จนทำให้บรรยากาศในห้องเรียนเปลี่ยนไป ซึ่งฝนบอกว่า นี่คืออีกกระบวนการหนึ่งที่ช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก ทำให้เด็กกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น หา ‘อำนาจร่วม’ หาทางออกด้วยกัน ซึ่งสิ่งนี้คือวิถีประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง และไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่ในห้องเรียน ในครอบครัว ในบริษัท ก็เอาไปใช้ได้
ในฐานะนักจัดกระบวนการ ฝนบอกว่ามีกิจกรรมหลายอย่างที่ช่วยเขาไปสะกิดต่อมอำนาจ ทำให้ครูเผยความรู้สึกอะไรบางอย่างได้ ตัวอย่าง เช่น กิจกรรมละครชื่อว่า landlord (แลนด์ลอร์ด) ที่โยงให้เห็นถึงโครงสร้างเหนือสุดสู่ล่างสุด ตามลำดับ 1-2-3-4 (เบอร์ 1 สามารสั่งเบอร์ 2 ได้, และเบอร์ 2 สามารถสั่ง 3 กับ 4 ได้) จากนั้นก็ให้ทุกคนได้ทดลองสลับตำแหน่งเวียนกันไป แล้วฝนในฐานะกระบวนกรจะถามความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับครูแต่ละคนว่าเมื่อได้ยืนในทุกๆ ตำแหน่งแล้ว รู้สึกอย่างไร เห็นอะไร
“บางคนก็สะท้อนมาว่า แม้จะได้ไปยืนในตำแหน่งเบอร์หนึ่งที่มีอำนาจสั่งทุกคนได้ แต่เขาก็ไม่ได้ชอบ เพราะมันกดดัน หรือ ถึงแม้จะไปยืนในตำแหน่งเบอร์ 3, 4 ที่ถูกกดขี่ แต่บางคนกลับชอบเพราะไม่ต้องคิดมาก ทำตามคำสั่งสบายๆ จากนั้นก็โยงเข้าไปสู่ในห้องเรียนโดยให้ครูกลับไปคิดว่า ใครอยู่ตำแหน่งไหน และถ้าเด็กถูกผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าสั่งเขาจะรู้สึกอย่างไร”
ดังนั้น เมื่อถามว่าทำไมต้องสร้างห้องเรียนประชาธิปไตย ฝนตอบทันทีว่า เพราะในแต่ละวันเด็ก ต้องใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนเยอะมาก ห้องเรียนและโรงเรียนจึงกลายเป็นสถานที่และแบบจำลองของสังคม ถ้าโรงเรียนเป็นพื้นที่ให้เด็กได้ลองถูก ลองผิด คอยสอนเขาเมื่อเขาเดินผิดทาง ฝึกให้เขาคิดและถกเถียง ให้เขาได้รู้ว่ามันมีอีกหลายความคิดที่เกิดขึ้น ทำให้เขาเห็นว่า ‘เออ มันก็มีคนคิดแบบนี้ด้วย’ จนสุดท้ายเขาตกตะกอนออกมาได้เอง โดยที่บางครั้งครู อาจไม่ต้องเปิดตำราสอนเลยด้วยซ้ำ
หากโรงเรียนเป็นโลกจำลองของสังคมได้จริง เด็กนักเรียนไปโรงเรียนทุกวัน เขาก็จะได้ฝึกวิธีคิดเชิงถกเถียง ซ้ำๆ ทุกวันและในที่สุดมันก็จะกลายเป็นพฤติกรรม เป็นสิ่งที่เข้าอยู่ในเนื้อในตัวของเขา เมื่อเขาโตขึ้นไปอยู่ในสังคมจริง สังคมนั้นก็จะไม่ใช่สังคมที่สยบยอม ที่มีแต่กลัวผิด กลัวพลาด ไม่กล้าส่งเสียงของตัวเอง ดังนั้นถ้าเราอยากทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ อยากทำให้สังคมเปลี่ยนแปลง โรงเรียนก็ต้องเปิดพื้นที่ตรงนี้ให้เกิดขึ้นจริง
“เราจะไม่สร้างครูให้ไปสอนว่าประชาธิปไตยคืออะไร แต่เราจะค้นหากระบวนการที่จะนำไปสู่ความประชาธิปไตยต่างหาก ครูต้องสอนแบบไหน สอนประชาธิปไตยโดยใช้อำนาจได้ไหม ถ้าใช้อำนาจต้องเป็นอำนาจแบบไหน จึงชวนครูมาหาคำตอบร่วมกัน” ฝนทิ้งท้าย