- ไม่ต่างจากพ่อแม่ที่มักเผลอพูดจาภาษาหมาป่ากับลูก คือ ตัดสิน กล่าวโทษ ประชดประชัน ครูเองก็เช่นกัน
- แม้ลึกๆ แล้วคือความรักและหวังดี แต่การบอกว่าเด็กๆ ทำผิดหรือโง่ นอกจากบรรยากาศเรียนรู้จะไม่เกิดขึ้น ซ้ำร้ายความสัมพันธ์ครู-นักเรียนจะดิ่งลงนรกเรื่อยๆ
- ครู-นักเรียนเริ่มต้นกันใหม่ได้ด้วยการสื่อสารความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา ไม่ตัดสิน ไม่ออกคำสั่ง คิดถึงใจเขาใจเรา แบบยีราฟ-สัตว์บกที่มี ‘หัวใจ’ ใหญ่โตที่สุด มันจึงพร้อมจะแบ่งปันความรัก ความเมตตากรุณาทั้งกับตัวเองและคนอื่น
ดร.มาร์เชล บี. โรเซนเบิร์ก (Marshall B. Rosenberg) ผู้ก่อตั้งและอำนวยการศูนย์การศึกษาเพื่อการสื่อสารอย่างสันติ อธิบายว่า สังคมที่หล่อหลอมให้คนมองโลกด้วยบรรทัดฐานดีชั่ว ถูกผิด เก่งโง่ เป็นธรรมดาที่ต้องใช้การทำโทษหรือให้รางวัลเป็นเครื่องมือเพื่อบริหารอำนาจตัดสิน สังคมแบบนี้คือระบบใครอำนาจเหนือกว่าเป็นใหญ่ (Dominant System) หมายความว่าคนมีสถานะเหนือกว่าจะใช้อำนาจนั้นควบคุม ‘เหนือ’ ผู้อื่นแทนที่จะเคารพในความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกันอย่างเท่าเทียม
ในสังคมนี้ เราจะเห็นพ่อแม่มีอำนาจในบ้าน คุณครูอาจารย์มีอำนาจที่โรงเรียน หรือเจ้านายมีอำนาจในบริษัท สามารถออกคำสั่ง ชี้ถูกผิด และตัดสินผู้อยู่ใต้อำนาจอย่างลูกหลาน นักเรียน ลูกจ้างเสมอมา แต่เล็กจนโต สังคมแบบนี้สอนให้เราวัดประเมินการกระทำกับคำพูดคนอื่นอยู่ตลอดว่าใครดีหรือไม่ดี ทำถูกหรือทำผิด จึงไม่แปลกที่ทุกคนต่างก็เรียนรู้ที่จะมองโลกด้วยสายตาแห่งการประเมินตัดสินเช่นกัน
ภาษาที่ตัดสินคนอื่นว่าผิดหรือโง่
ดร.โรเซนเบิร์ก สังเกตว่า ภาษาที่เราใช้สื่อสารก็เป็นตัวการหนึ่งที่ผสมโรงให้ความสัมพันธ์ของผู้คนในระบบ Dominant เต็มไปด้วยการแสดงออกทางความรุนแรงในความสัมพันธ์ เช่น ออกคำสั่ง ประเมินตัดสิน วิพากษ์วิจารณ์คนอื่นว่าดีหรือร้ายอยู่ตลอดเวลา ยิ่งในโรงเรียน คนที่ด้อยอำนาจกว่าคือนักเรียน ต้องเป็นฝ่ายถูกตัดสิน บังคับ และกดความต้องการที่แท้จริงเพื่อให้ครูถูกใจ โดยหารู้ไม่ว่ายิ่งถูกบีบให้กดความต้องการเท่าไหร่ แรงต่อต้านยิ่งก่อตัวมากขึ้นเท่านั้น เกิดเป็นการต่อต้าน อาการขบถ ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ครูมองว่าเด็กมีนิสัยเกเร ดื้อ และลงเอยด้วยการทำโทษในที่สุด
สิ่งสำคัญที่สุดที่นักเรียนต้องเรียนรู้แทนที่จะเป็นการพัฒนาทักษะชีวิตและองค์ความรู้ จึงกลับเป็นการเรียนรู้ว่าทำยังไงจึงจะได้รับคำชม และทำยังไงจึงจะไม่ถูกต่อว่า
ไม่น่าเชื่อว่าปัจจัยของความรุนแรงที่มาจากภาษาที่เราใช้จนเห็นเป็นธรรมดาโดยไม่รู้ตัว รูปประโยคที่เต็มไปด้วยการกล่าวโทษ ตัดสินตีความ วิจารณ์ และจัดประเภท และมีนัยยะว่าคนที่ไม่ทำตามความต้องการของเรามีความผิด หรือสถานการณ์ที่ไม่เป็นดังใจเราก่อความทุกข์ เช่น
- “พวกเธอมาเตะบอลในห้องได้ไง ทำกระจกแตกอีก โตป่านนี้แล้ว ยังเล่นไม่เข้าเรื่อง”
- “ทำอย่างนี้ใช้ได้ที่ไหน ไปทำรายงานมาใหม่เลยส้มส้ม ใช้ไม่ได้”
- “เป็นเด็กอย่าเถียงเวลาครูพูด”
- “ถึงบอกไป ครูก็ไม่เข้าใจหรอก”
- “หนูโง่จะตาย ใครจะไปทำได้”
ตัวอย่างข้างต้นนี้ ดร.โรเซนเบิร์ก เรียกว่า ภาษาหมาป่า (Jackal Language) ซึ่งเป็นรูปแบบการสื่อสารที่ตัดสินกล่าวโทษคนอื่น หรือบางครั้งก็กล่าวโทษตัวเอง คนฟังฟังแล้วรู้สึกเหมือนกำลังทำอะไรผิด ถูกประเมินตัดสิน อยากเถียงกลับ และต้องตั้งแง่โดยอัตโนมัติ จึงมีแนวโน้มสร้างปัญหาหรือความรุนแรงให้เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ได้ตลอดเวลา
ถ้าพิจารณากันดีๆ เราจะพบว่าภาษาหมาป่าเป็นภาษาที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันตลอดเวลา อย่างเช่น ตอนเราพูดกับเพื่อนว่า “ไปทำอะไรมา ทำไมอ้วนจังวะ”
เมื่อภาษาที่เราใช้ในการสื่อสารอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันกลับสร้างความร้าวฉานให้ทั้งคนฟังและพูด จึงเป็นที่มาของกระบวนการสื่อสารที่เรียกว่า Nonviolent Communication (NVC) หรือการสื่อสารอย่างสันติ ซึ่ง ดร.โรเซนเบิร์ก คิดค้นการปรับรูปแบบการพูดการฟังเสียใหม่ให้เป็นกลางที่สุด คือปราศจากการประเมิน การตัดสิน การวิจารณ์ หรือคำสั่ง อย่างสิ้นเชิง และตั้งชื่อการสื่อสารซึ่งตรงข้ามกับภาษาหมาป่าว่า ภาษายีราฟ (Giraffe Language)
เหตุผลที่เรียกมุ้งมิ้งอย่างนี้ ก็เพราะยีราฟเป็นสัตว์บกที่มี ‘หัวใจ’ ใหญ่โตที่สุด และเขาคิดว่าสิ่งสูงค่าที่สุดในธรรมชาติความเป็นมนุษย์ คือการมีความรักและความเมตตากรุณา (Love and Compassionate)
เมื่อยีราฟมีหัวใจดวงใหญ่โต มันก็พร้อมจะแบ่งปันความรัก ความเมตตากรุณาทั้งกับตัวเองและคนอื่น มันจึงสื่อสารอย่างซื่อตรง ต้องการอะไรก็บอกชัดเจน ปราศจากถ้อยคำที่ตัดสินคนอื่นว่าดีไม่ดี ฉลาด/โง่ ถูก/ผิด
ถ้าไม่เข้าใจอีกฝ่ายก็จะคาดเดาความรู้สึกและความต้องการของอีกฝ่ายโดยการถามออกไปตรงๆ ไม่ตีความเอง เช่น “เธอพูดโดยไม่มองหน้าฉัน กำลังโกรธอยู่รึเปล่า” เพราะเชื่อว่าอีกฝ่ายก็มีความต้องการที่อยากได้รับการตอบสนองเช่นเดียวกัน
หลักการของ NVC คือ ในมนุษย์ทุกคนมี ‘ความต้องการในส่วนลึก (needs)’ ที่ต้องการการตอบสนองด้วยกันทั้งนั้น นอกเหนือจากปัจจัยสี่ ยังมีความต้องการพื้นฐานของชีวิต เช่น อิสรภาพในตนเอง ทางเลือก การเรียนรู้ เป้าหมาย หรือ ความต้องการด้านความสัมพันธ์ เช่น การมีส่วนร่วม ความเอาใจใส่ ความไว้วางใจ ความร่วมมือ ความเคารพ ความเข้าใจ หรือ ความต้องการความสุขทางกายใจ เช่น ความสะดวกสบาย สุขภาพที่แข็งแรง เป็นต้น
‘ความต้องการ’ คือปัจจัยเหตุที่เราแสดงความรู้สึกออกมาเป็นการกระทำหรือคำพูดนั่นเอง นี่จึงเป็นที่มาให้ภาษายีราฟออกแบบขึ้นเพื่อถอดเอาเฉพาะความต้องการที่อยู่ภายในออกมา โดยตัดคำกล่าวโทษ คำประเมินตัดสินทิ้งไป เพื่อไม่ให้คำพูดของเราทำร้ายอีกฝ่ายและหาวิธีตอบสนองความต้องการที่พอใจสำหรับทั้งสองฝ่าย
ลองดูว่า หากปรับจากภาษาหมาป่า มาพูดด้วยภาษายีราฟจะเป็นเช่นไร
- “เธอมาเตะบอลในห้องได้ยังไง ทำกระจกแตกอีก โตป่านนี้แล้ว ยังเล่นไม่เข้าเรื่อง” เปลี่ยนเป็น “พวกเธอเล่นเตะบอลกันในห้องเรียนแล้วลูกบอลลอยไปโดนกระจก ครูรู้สึกใจแป้วเลยนะ ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ครูต้องการให้มีในห้องเรียน คราวหน้าพวกเธอไปเล่นที่สนามฟุตบอลได้ไหม”
- “ทำอย่างนี้ใช้ได้ที่ไหน ไปทำรายงานมาใหม่เลยส้มส้ม ใช้ไม่ได้” เปลี่ยนเป็น “ส้มส้ม ครูเห็นว่ารายงานเรื่องพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยของหนูมีเนื้อหาที่ตรงกับบทความที่ค้นพบใน Google ทุกตัวอักษร ครูรู้สึกผิดหวังนะ เพราะสิ่งที่ครูต้องการคือความซื่อสัตย์ อยากให้นักเรียนมีความมานะพยายามและเรียนรู้ด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง เธอรู้สึกท้อกับหัวข้อนี้รึเปล่า อยากให้ครูให้คำแนะนำ หรือเธออยากอธิบายอะไรไหม”
- “เป็นเด็กอย่าเถียงเวลาครูพูด” เปลี่ยนเป็น “สไปรท์ ครูยังพูดไม่จบแล้วหนูก็พูดขึ้นมากลางคัน ครูร้อนใจนะ ขอเวลาครูพูดให้จบ 10 นาที แล้วครูจะให้หนูอธิบายทุกอย่างหลังจากนั้นได้มั้ย”
- “ถึงบอกไป ครูก็ไม่เข้าใจหรอก” เปลี่ยนเป็น “ตอนนี้หนูโมโหมากๆ เพราะส้มส้มพูดว่า “เธอมันแร่ด” กับหนู ต่อหน้าเพื่อนในห้อง หนูอยากได้ความเคารพและการยอมรับจากส้มส้ม”
- “หนูโง่จะตาย ใครจะไปทำได้” เปลี่ยนเป็น “หนูไม่มั่นใจในตัวเองเลยว่าจะทำได้”
จากข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่าส่วนประกอบสำคัญของภาษายีราฟซึ่งไม่ก่อความระคายหูผู้ฟังจะประกอบไปด้วย 4 ข้อ
1. Observations, not evaluations: บอกสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมา ไม่เจือปนการตัดสิน
ควรบรรยายสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมาเสมือนกล้อง CCTV ที่ฉายภาพไปเรื่อยๆ ไม่ใส่อารมณ์ ไม่บอกว่าเราคิดเห็นต่อเหตุการณ์อย่างไร
2. Feelings, not thoughts: บอกความรู้สึกที่มีตรงๆ ไม่เอาความคิดมาปะปน
แยกระหว่างความรู้สึกกับความคิดให้ได้ ความรู้สึกคือ โมโห เสียใจ โกรธ ดีใจ ตื่นเต้น กังวล น้อยใจ สนุก จำให้ง่ายคือความรู้สึกเหล่านี้จะอยู่ในรูปคำคุณศัพท์ (adjective) ระวังประโยคประเภทที่ปะปนความรู้สึกกับความคิดเข้าด้วยกัน เช่น “หนูรู้สึกว่าครูเอาแต่ด่าๆๆ” “ครูรู้สึกว่าเธอเอาแต่เล่นมากเกินไปแล้ว”
3. Needs, not strategies: บอกสิ่งที่ต้องการอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยไม่กล่าวโทษว่าอีกฝ่ายเป็นต้นเหตุ
คำว่าความต้องการในที่นี้ควรบอกความต้องการออกมาเป็นคำนาม (noun) ไม่กล่าวโทษพาดพิงอีกฝ่ายว่าเป็นต้นเหตุของความรู้สึกเรา เช่น “ครูไม่โอเคเลยนะที่หนูก้าวร้าวอย่างนั้น” ควรพูดอย่างยีราฟเป็น “เธอกำลังโกรธ เพราะต้องการความเข้าใจใช่มั้ย ครูไม่สบายใจนะ ที่ครูต้องการคือความเคารพและความสุภาพในการพูดคุยกัน เธออยากให้ครูทำอะไรให้รู้สึกดีขึ้นมั้ย”
4. Requests, not demands: ขอให้อีกฝ่ายตอบสนองความต้องการของเรา ไม่ใช่ออกคำสั่ง
ระวังเสมอว่าเมื่อเราขอร้องให้อีกฝ่ายทำบางอย่าง เราให้โอกาสเขาตัดสินใจเลือกหรือไม่ หรือมันเป็นคำสั่งอยู่ในที ชั่งใจให้ดีว่า ถ้าเราขอร้องด้วยเจตนาจะให้เขาทำในสิ่งที่เราต้องการโดยไม่ให้ทางเลือก โยนความรู้สึกผิดเข้าใส่ ใช้การคาดโทษให้กลัว อ้างเป็นหน้าที่ ยังไงนั่นก็คือคำสั่งอยู่ดี เช่น “ทำคะแนนให้ดีกว่านี้ได้มั้ย”
การขอร้องหมายถึงเราให้สิทธิเขาเลือกทำตามความสมัครใจ คิดถึงใจเขาใจเรา (empathy) ถ้าอีกฝ่ายปฏิเสธที่จะทำตามที่ขอ ต้องเคารพการตัดสินใจนั้นและหาวิธีที่จะบรรลุความต้องการที่ต่างกันต่อไป
ในสถานการณ์จริง ครูกับนักเรียนไม่จำเป็นต้องพูดภาษายีราฟแบบเรียง 1-4 เป๊ะๆ อาจตัดการสังเกต แล้วบอกแค่ความรู้สึก ความต้องการ และขอให้อีกฝ่ายทำตามวิธีตอบสนองความต้องการของเราเลยก็ย่อมได้ ขอแค่ไม่ลืมว่า สิ่งสำคัญและเป็นเป้าหมายคือ ต้องบอกความต้องการออกไปให้ชัดเจนเสมอ ผู้ฟังก็ต้องจับความต้องการผู้พูดให้ได้เช่นกัน
สื่อสารแบบยีราฟๆ – เมื่อครูปิดโหมดตัดสิน นักเรียนก็กล้าเรียนรู้
จากข้างต้น คงพอจะจินตนาการออกว่า ถ้าจู่ๆ เราเริ่มพูดภาษายีราฟกันเลย โดยไม่ได้ทำความเข้าใจและฝึกฝนจนคุ้นปากเสียก่อน มันจะแปลกพิกลแค่ไหน ดังนั้นเบื้องต้น ครูกับนักเรียนต้อง
1. ทำความเข้าใจแก่นสำคัญของการสื่อสารอย่างสันติร่วมกันเสียก่อนว่า ห้องเรียนหรือโรงเรียนเป็นพื้นที่ที่ทุกคนมีความต้องการเหมือนกันคือ การเรียนรู้ การพัฒนาคุณภาพตนเอง ทักษะความรู้ที่จะทำให้พวกเขาเข้าใจความเป็นไปของโลก และสังคมที่น่าอยู่
การหยิบภาษายีราฟมาใช้สื่อสารในพื้นที่การเรียนรู้ ก็เพื่อให้ทั้งครูและนักเรียนไม่ประเมินตัดสินว่าทำถูกผิด โง่ฉลาด หรือกล่าวโทษและตีความกันด้วยบรรทัดฐานที่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง รูปแบบภาษายีราฟจะช่วยขัดเกลาให้เราพูดโดยคิดถึงความรู้สึกและความต้องการของอีกฝ่ายโดยปริยาย
2. ก้าวข้ามทัศนคติ “ถึงยังไงเด็กก็ยังเป็นเด็กวันยังค่ำ” เพราะนี่คืออุปสรรคสำคัญที่จะบดบังไม่ให้ครูมองเห็นความต้องการตรงกลางใจพวกเขาได้สักที ภาษาอังกฤษเรียกความคิดนี้ว่า labeling หรือการวางสถานะ เช่น ฉันเป็นผู้ใหญ่ เขาเป็นเด็ก ฉันเป็นผู้ชาย เขาเป็นผู้หญิง เขาเป็นเจ้านาย ฉันเป็นลูกน้อง และการวางสถานะในความสัมพันธ์นี่แหละที่ทำให้เราแสดงอำนาจในระดับต่างๆ ออกไปโดยไม่รู้ตัว
เช่นเดียวกับที่เราคิดว่าเราเป็นครู เป็นผู้ใหญ่ นักเรียนเป็นเด็ก ครูและผู้ใหญ่มีอำนาจโดยชอบในการชี้ผิดถูก ควบคุมให้เด็กต้องอยู่ในโอวาท ทำในสิ่งที่เราคิดว่า ‘ถูกต้อง’ ‘ฉลาด’ เราก็ไม่มีทางมองเห็นความต้องการที่แท้จริงของนักเรียนที่แต่งตัวผิดระเบียบ นักเรียนที่สอบตกซ้ำแล้วซ้ำเล่า นักเรียนที่โดดเรียนจนหมดสิทธิสอบ ว่าแท้จริงพวกเขากำลังต้องการอะไรและจะตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้อย่างไร
ดังนั้น ครูต้องเปลี่ยนจุดยืนจากที่สวมหัวโขนว่าเราเป็นครูผู้ถือกฎและความถูกต้อง หันมาใช้หัวใจรับฟังและเคารพความต้องการภายในของเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีความต้องการความสุขด้านต่างๆ ในชีวิตเหมือนกับเรา อย่าเพิ่งมองเขาด้วยสถานะความเป็นศิษย์ (ที่ต้องอยู่ในโอวาทครู) เป็นเด็ก (อายุน้อยไม่มีประสบการณ์ทางโลก) และโยนสายตาที่วัดประเมิน ตัดสิน ตีความการกระทำของนักเรียนทิ้งไปเสีย
3. ปรับความเคยชินจากครูใช้อำนาจเหนือกว่า ‘สั่งการ’ มาเป็น ‘แบ่งปัน’ ความรู้สึกและความต้องการระหว่างกัน ดร.โรเซนเบิร์ก บอกว่า หัวใจดวงใหญ่ของยีราฟกว้างขวางพอที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา (empathy) ลองนึกดูว่า ตัวเราเองเวลาถูกบังคับหรือสั่งให้ทำนู่นทำนี่ แม้ตั้งใจจะทำเองอยู่แล้วแต่กลับอยากจะต่อต้านไม่ทำมันซะอย่างนั้น นี่เป็นวิสัยธรรมชาติของมนุษย์ที่หวงแหนความเป็นอธิปไตย (autonomy) หรือการมีทางเลือกเป็นของตนเอง
การพูดภาษายีราฟเปิดโอกาสให้ครูกับศิษย์ได้ปรับตัวกันขนานใหญ่ ไม่ใช่บอกสิ่งที่คิดแล้วสั่งออกไปอย่างเคย แต่มันช่วยดึงสติให้เราสำรวจความรู้สึก และความต้องการก่อนจะสื่อสารออกไป
แอนเดรีย มาร์ชแบงค์ (Andrea Marshbank) เล่าประสบการณ์ปีแรกของการเป็นครูสอนนักเรียนเกรด 9 ที่แคนซัส สหรัฐอเมริกา ไว้ในบทความที่เผยแพร่ทาง EDUTOPIA.ORG ว่า เมื่อเป็นครูใหม่ๆ เธอใส่หัวโขนของครู เอาความเข้มงวดมาควบคุมพฤติกรรมและการเรียนรู้ของนักเรียนในชั้น ผลคือนอกจากจะไม่มีความสุขในการสอนแล้ว นักเรียนยังแสดงออกว่าไม่ยินดียินร้ายกับเธอ จนเมื่อล่วงเข้าปีที่สอง เธอเริ่มเข้าใจว่าการแสดงความเข้าอกเข้าใจ (compassionate) และใส่ใจความต้องการและความรู้สึกของพวกเขามากกว่าตั้งเป้าหมายว่าพวกเขาต้องทำตัวอย่างไร และควรได้เกรดเท่าไร ในที่สุด นักเรียนก็ไว้วางใจเธอและบรรยากาศการเรียนรู้ก็เปลี่ยนไปในทางที่ดี
จุดที่มาร์ชแบงค์เตือนให้ระวังคือ การแสดงความเข้าอกเข้าใจ ต้องไม่ทำไปเพื่อให้นักเรียนมานิยมชมชอบตัวเอง หรือวางสถานะตนเองเป็น ‘เพื่อน’ ให้เขาเล่นหัวได้ ครูต้องรักษาสมดุลระหว่างการให้โอกาสเขาเลือกตัดสินใจด้วยตนเองได้และเป็นผู้ที่เขายังต้องมีความเคารพ
อีกประการคือ การอยู่ในโหมดยีราฟไม่ได้หมายความว่า ฝ่ายที่รับฟังต้องโอนอ่อนตามความต้องการของคนพูดเป็นหลัก จำไว้ว่าถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องกดความต้องการเพื่ออีกฝ่ายแล้วละก็ เจ้าหมาป่าจอมโวยจะหลุดออกมาสร้างความวุ่นวายทันที
ครูสามารถใช้ภาษายีราฟในการ ‘ถาม’ ไกด์ให้นักเรียนบอกความต้องการออกมา ได้ดังนี้
1) Observations: เมื่อหนูเห็น/ได้ยิน/นึกถึง…(เรื่องการสอบ)…
2) Feelings: หนู…(กังวล)…รึเปล่า
3) Needs: ที่เป็นอย่างนั้นเพราะหนูต้องการ…(ความเข้าใจและเวลาว่างเพื่อทำสิ่งที่หนูสนใจอื่นๆ)…ใช่มั้ย
4) Requests: หนูต้องการให้ครู…(รับฟังหรือทำอะไรต่างไปจากนี้เพื่อให้หนูสบายใจขึ้นมั้ย)…
4. ฝึกฝนการใช้ภาษายีราฟให้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน การจะให้นักเรียนคุ้นชินกับการสื่อสารอย่างสันติจนกลายเป็นนิสัยที่ดี ต้องใช้เวลาและการฝึกฝนกันพอสมควร
ทั้งนี้ เพื่อให้ครูสามารถนำ NVC ไปใช้ได้ง่ายขึ้น อาจแบ่งหมวดคำที่เป็น ‘ความรู้สึก’ และ ‘ความต้องการ’ ติดไว้บนบอร์ดในห้อง เพื่อให้นักเรียนคุ้นเคยกับคลังคำศัพท์และสามารถเลือกมาใช้สื่อสารได้ตรงใจมากขึ้น หรืออาจหาแบบฝึกหัดการแยกแยะความรู้สึกจากความคิด แบบฝึกหัดการถามคาดเดาความต้องการซึ่งกันและกันก็เป็นวิธีหนึ่ง (มีให้ด้านล่าง)
ที่มา: สื่อสารอย่างสันติ : คู่มือการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและแก้ไขความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ โดย ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์
แบบฝึกหัดสำหรับฝึกฝนการสื่อสารอย่างสันติ (ออกแบบโดยศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล)
1. ให้ดูรูปภาพสถานการณ์ต่างๆ แล้วบรรยายเหตุการณ์นั้นด้วยการสังเกตไม่ตีความ
2. ฝึกแยกแยะประโยคที่เป็นภาษาหมาป่ากับภาษายีราฟ เช่น
– เย็นวานนี้เวลาครูพูดกับเธอ เธอไม่มองหน้าครู
– รุ่นน้องที่เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนน่ารักมาก
– เมื่อวานพ่อโทรหาเธอ 12 ครั้งเธอไม่ได้โทรกลับ
– หนูรู้สึกว่า เขาแอบชอบหนูอยู่
– หนูรู้สึกกลุ้มใจ อยากได้ความเงียบสงบเพื่อคิดทบทวน
3. ให้นักเรียนฝึกแยกแยะ ‘ความรู้สึก’ จากคำพูด เช่น
– วันนี้เพิ่งจะวันจันทร์เอง (ท้อแท้ เหนื่อย เบื่อ ซังกะตาย)
– เปิดเพลงเสียงดังขนาดนี้ ใครจะอ่านรู้เรื่อง (รำคาญ โมโห ข้องใจ)
– มันต้องอย่างนี้สิ (ถูกใจ พอใจ เห็นชอบ)
4. ให้นักเรียนฝึกแยกแยะ ‘ความรู้สึก’ กับ ‘ความคิด’ เช่น
– หนูรู้สึกว่าพละเกลียดหนู
– ครูเป็นห่วงนะ
– ผมดีใจที่ได้รับเลือก
– ผมรู้สึกว่าครูชอบมันมากกว่าผม ครูถึงเลือกมัน
5. ฝึกนักเรียนให้เคยชินในการ ‘คาดเดา’ ความรู้สึกและความต้องการ เมื่ออยู่ในสถานการณ์ต่างๆ กัน โดยจำลองสถานการณ์สมมุติ หรือหยิบยกเหตุการณ์มาแล้วช่วยกันตอบ
ห้องเรียนที่มีการสื่อสารอย่างสันติ เมื่อการสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียนเต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าว่าแท้จริงแล้วความต้องการภายในของศิษย์และครูคืออะไร การลงโทษก็ไม่มีความจำเป็นในห้องเรียนเลย หากครูเปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้อย่างสันติ ใช้หัวใจทุกห้องฟังนักเรียนด้วยความเข้าใจ ไม่ใช้อำนาจและความรุนแรงให้หวาดกลัว
โดยเริ่มต้นจากฝึกพูดภาษายีราฟกันให้คล่องก่อน ถ้าในช่วงแรกยังไม่บรรลุความต้องการของทั้งสองฝ่าย ทั้งครูและนักเรียนเองก็ต้องเมตตาต่อตัวเอง (self-empathy) อย่าโทษตัวเองว่าทำไมยังเป็นยีราฟที่สื่อสารหรือเข้าใจความต้องการไม่ได้สักที สูดลมหายใจเข้าลึกๆ ไม่ว่าอย่างไรขอแค่เริ่มตัดคำพูดวิพากษ์วิจารณ์ กล่าวโทษ เสียดสี คำบ่น ที่เคยทำร้ายกันออกไป
ก้าวแรกของความพยายามสร้างบรรยากาศแห่งสันติและความรักขึ้นในโรงเรียนจะนำไปสู่ความเข้าใจกันและกันมากขึ้น ในที่สุดห้องเรียนก็จะกลายเป็นพื้นที่แห่งความสุขในการเรียนรู้