- Saturday School ก่อตั้งด้วยแนวคิดว่าเด็กจะพัฒนาศักยภาพได้เต็มที่ก็ต่อเมื่อได้เรียนในสิ่งที่สนใจ
- เริ่มต้นจากการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กๆ ให้เห็นว่าการเรียนรู้ก็น่าสนใจ มีทางเลือกมากกว่าการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว
- การจัดการเรียนรู้ในแบบฉบับ Saturday School คือความใส่ใจ ความต่อเนื่อง ภายใต้ตัวแปรสำคัญคือครูที่จะชักชวนเด็กๆ ให้พัฒนาตัวเองจากสิ่งที่เรียน
“ผมเห็นศักยภาพของเด็กหลายคนที่ถูกจำกัดโดยการสอนในห้องเรียน เด็กไม่อาจโตได้เต็มที่ในห้องแคบๆ มืดๆ ดอกไม้ไม่เจอแสงก็ไม่โต สิ่งที่เราทำคือจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเติบโตเด็กเท่าที่ทำได้”
“ตอนโรงเรียนส่งเด็กออกไปแข่งขันจะมีแต่เด็กเสี้ยวเดียวมีส่วนร่วมซึ่งเป็นเด็กที่พัฒนาตัวเองอยู่แล้ว แต่เราละเลยเด็กหลังห้องจำนวนมาก ก็เป็นแนวคิดหนึ่งที่ปกติ มองเด็กเราควรมองเด็กให้ครบ มองแต่เด็กกลุ่มเก่งๆ อย่างเดียวก็ไม่สามารถทำให้การศึกษามีคุณภาพเท่าเทียมกันได้”
“ถ้าเราละเลยเด็กเรียนไม่เก่ง การศึกษาไทยก็จะเป็นตะแกรงร่อนเอาเด็กเก่งมาเรียนเท่านั้น”
นี่คือมุมคิดด้านการศึกษาของครูยีราฟ – สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร ผู้ก่อตั้ง Saturday School หรือ ‘โรงเรียนวันเสาร์’ เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนวิชาที่ตนเองสนใจโดยมีครูอาสาสมัครมาสอนให้ทุกเช้าวันเสาร์ ซึ่งวิชาเหล่านี้บางห้องเรียนไม่มีสอนแน่นอน เช่น ถ่ายภาพ ร้องเพลง มวยไทย ทำอาหาร เต้น ฟิล์ม ออกแบบบอร์ดเกม ออกแบบผลิตภัณฑ์ การพูดในที่สาธารณะ การตัดต่อวิดีโอ การทำธุรกิจ ฯลฯ โดยทำงานภายใต้ความเชื่อที่ว่า “เด็กจะพัฒนาศักยภาพได้เต็มที่ก็ต่อเมื่อได้เรียนในสิ่งที่สนใจ”
ปัจจุบัน Saturday School จดทะเบียนเป็นมูลนิธิและดำเนินโครงการมาถึงซีซั่นที่ 6 มีจำนวนห้องเรียนที่มากขึ้นพร้อมๆ กับจำนวนนักเรียน ครูอาสาสมัครและทีมงาน จากจุดเริ่มต้นในห้องเรียนเล็กๆ ห้องเดียว
มากกว่าวิชาการคือแรงบันดาลใจ
ก่อนที่จะมาจับงานด้านการศึกษาอย่างจริงจังนั้น ครูยีราฟจบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นนักพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาก่อน ระหว่างนั้นพบเห็นปัญหาสังคมมากมายทำให้วิศวกรรมบัณฑิตฉุกคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคม
“ถ้าในอนาคตเราไม่ทำอะไร เราจะอยู่ในสังคมแบบไหน จึงคิดว่าเราต้องทำอะไรบางอย่างให้สังคมมันเปลี่ยน”
“อยากจะเข้าใจปัญหาสังคมมากขึ้น อยากจะทำอะไรบางอย่างเพื่อให้สังคมเปลี่ยนแปลง และคิดว่าการเป็นครูจะช่วยให้เราได้พัฒนาภาวะผู้นำของตัวเอง มากว่านั้นคือได้เปลี่ยนสังคมด้วย”
จากจุดนี้เองครูยีราฟจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ Teach for Thailand ที่เป็นโครงการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงผ่านการสอนเป็นเวลา 2 ปี โดยครูยีราฟได้มีโอกาสไปสอนวิชาคณิตศาสตร์ในโรงเรียนขยายโอกาสของกรุงเทพมหานคร และพยายามทำโครงการหลากหลายเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กนอกเหนือจากการสอนวิชาการอย่างเดียว
“ถ้าสอนคณิตแล้วไปวนกับเรื่องอื่น แทนที่เราจะนำเข้าสู่เนื้อหาก็จะกลายเป็นนำไปไหนไม่รู้ เด็กเจอเราสามชั่วโมงต่อสัปดาห์ น้อยมากที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวเด็ก แต่ในระยะยาวสองปีก็ไม่น้อยหรอก เพียงแต่เรารู้สึกแทรกอะไรยากจากการสอนคณิตอย่างเดียว พบว่าเด็กควรจะได้ inspiration มากกว่าการเรียนเลข คิดว่าชีวิตพวกเขามีอะไรอีกเยอะที่จะต่อสู้และหาเป้าหมาย การที่เราโตมากับเด็กกลุ่มนี้ก็พบว่าเด็กควรจะรู้อะไรได้มากกว่านี้ มีแรงขับในตัวเองมากขึ้น”
ครูยีราฟเล่าว่า ก้าวแรก ไม่ได้เริ่มทำ Saturday School ทีเดียว แต่ทำกิจกรรมเสริมการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจรูปแบบอื่นมาก่อน เช่น ฐานวิทยาศาสตร์ พาเด็กออกไปทัศนศึกษาข้างนอกเพื่อเปิดโลกทัศน์ ให้เรียนรู้ว่ามีสิ่งที่น่าสนใจนอกห้องเรียนมากมาย เช่น ไปสนามบิน ไปดูห้องบังคับการนักบินจริงๆ
“ทำทุกอย่างให้เด็ก inspire กับการเรียนรู้ เพราะเด็กสนใจเรียนน้อย จะสนใจอย่างอื่นมากกว่า เช่น เพื่อน หรือบางอย่างที่ไม่ค่อยดี แต่การที่เด็กไม่มาสนใจการเรียนมีหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นคือไม่เห็นสิ่งที่น่าเรียนจริงๆ”
สร้างห้องเรียนที่คนเรียนอยากเรียน คนสอนอยากสอน
“เราเชื่อว่าตัวเองเก่งบางอย่าง เด็กอาจไม่ได้สนใจสิ่งที่เราเก่งก็ได้ คนเก่งๆ ที่เป็นเพื่อนเราเยอะที่อยากพัฒนาสังคมด้วยกัน จึงเชิญมาสอน ตอนแรกเป็นสิ่งที่ครูอาสาอยากสอนจัดกิจกรรมเอง แรกๆ เด็กก็เรียนภาษาอังกฤษ หาคนสอนง่าย เด็กๆ เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเรียนอะไร แต่เขาจะได้เรียนสิ่งที่เรียนในห้องเรียนนั่นแหละ”
ครูยีราฟเล่าจุดเริ่มต้นแรกๆ ของ Saturday School
“เริ่มจากห้องเรียนเดียว คือเด็กๆ ที่ผมสอนอยู่นั่นแหละ แล้วก็จริงจังมากขึ้น เทอมแรกเป็น ม.1 แล้วก็ทำห้องเรียนเพิ่มขึ้น นอกจากเด็กที่สนใจแตกต่างกันแล้ว อาสาสมัครก็เริ่มบอกต่อกันด้วย
ปรากฏว่า ห้องเรียนที่เด็กได้เลือกว่าจะเรียนอะไร เด็กหายไปน้อยกว่าและเข้ามาต่อเนื่องกว่า จึงเปลี่ยนให้เด็กเลือกก่อนเลยแล้วหาอาสาสมัครมาสอนวิชานั้น
การจัดให้มีการเรียนในสิ่งที่เด็กสนใจ และอาสาสมัครที่อยากจะสอน นอกจากจะได้เรียนสิ่งที่สนใจจริงๆ อันจะเป็นการสร้างแรงผลักดันในการเรียนแล้ว การมีครูอาสาหน้าใหม่ๆ ก็เป็นการสร้างแรงบันดาลใจแก่เด็กๆ ด้วย
“พอเด็กเรียนกับครูคนอื่นก็ได้ inspiration และได้เจอคนใหม่ๆ บางทีเราไม่ได้สื่อสารให้เด็กเรียนสิ่งที่เตรียมมา แต่อยากให้เด็กเห็นว่ามีครูเป็น Role model ชอบคาแรคเตอร์ครูบางคน มีแรงขับเคลื่อนตัวเองเพิ่มขึ้นนอกจากเนื้อหาที่เรียน เช่น เด็กที่ได้เรียน Model Business แล้วก็อยากจะไปต่อ ได้เปิดมุมมอง ได้คิดว่าถ้าเราเป็นเจ้าของกิจการแล้วจะไปขายโปรดักท์ที่ไหน เอ๊ะ! มันมีมุมที่ไปได้ นอกจากสิ่งที่เขาเรียนบวกลบคูณหารในห้องเรียน เกิดแรงบันดาลใจ และพบว่ามันมีตัวตนของเขาที่อยากจะทำ เพียงแต่เขาไม่รู้ว่าตัวเองมีสิ่งนี้อยู่ด้วย”
ความใส่ใจและความต่อเนื่องคือหัวใจ
ครูยีราฟเล่าถึงการรับครูอาสาสมัครว่าไม่จำเป็นต้องเป็นครู แต่ต้อง ‘ถนัด’ ในวิชาการบางอย่าง โดยโครงการฯ จะช่วยอบรมวิชาครูและสอนเขียนแผนการสอนให้ นอกจากนี้ครูอาสาก็ไม่ต้องกังวลใจว่าจะสอนคนเดียว งานนี้รวมกันเป็นทีม 3-5 คน เพื่อสลับกันสอนและช่วยกันดูแลชั้นเรียนอย่างใกล้ชิด
ในช่วงหลังๆ เริ่มมีทีมวิจัยมืออาชีพคอยเก็บข้อมูลอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินผลความเปลี่ยนแปลงในตัวเด็ก เมื่อสอนเสร็จก็จะมาวิเคราะห์กันว่าทำอะไรได้ดี อยากพัฒนาอะไรต่อ เรียกได้ว่าเก็บรายละเอียดกันทุกเม็ด และไม่มีเด็กคนไหนถูกทิ้งในชั้นเรียนเลย
“ทุกกระบวนการของเรา ความใส่ใจทั่วถึงคือคีย์หนึ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ ปกติครูสอนห้องเรียนห้องหนึ่งเด็กเยอะ อาจดูแลไม่ทั่วถึง บางห้องเรียนมีอาสาสมัครที่เพียงพอต่อเด็ก ก็จะดูแลทั่วถึง หลังๆ เราเริ่มมีอาสารุ่นก่อนๆ ที่เคยสอน มาช่วยกันพัฒนาให้แข็งแกร่งมากขึ้นในตัวเนื้อหาวิชากับการสอน
“บางวิชาเด็กอาจไม่ได้เลือกแต่แรก แต่มีอาสาที่เลือกแต่แรกว่าเด็กน่าจะชอบ เช่นวิชาสร้างบอร์ดเกม ก็มีส่วนบิวท์จากครูอาสาและสถานที่เหมือนกัน เช่นพิพิธภัณฑ์เด็ก มีวิชาทัวร์ไกด์ พอเด็กเรียนเสร็จก็เป็นไกด์พาทัวร์ในนั้นได้”
นอกจากความใส่ใจแล้ว ความต่อเนื่องก็เป็นสิ่งสำคัญมากเช่นเดียวกัน ครูยีราฟเล่าว่าในขั้นตอนการคัดสิ่งที่โครงการให้ความสำคัญคือจะต้องมีเวลามาสอนอย่างต่อเนื่องให้ได้
“ถ้าอาสาเก่งขนาดไหนแต่มาครั้งเดียว เราไม่เอา” เพราะการเรียนอย่างต่อเนื่องจะทำให้เด็กๆ ได้พัฒนาศักยภาพเต็มที่ถัดจากการมีแรงบันดาลใจจากสิ่งที่สนใจ นำไปสู่การเปลี่ยนความคิดว่าการเรียนรู้น่าสนใจกว่าที่เคยเข้าใจ และเมื่อมีประสบการณ์จากการลงมือทำ สิ่งนั้นก็จะติดตัวเขาไปจนโต แต่เด็กจะเข้าใจถึงจุดนี้ได้จะต้องใช้เวลาลงมือทำในระดับหนึ่ง
“การพัฒนาเด็กอย่างต่อเนื่องคือหัวใจ ให้เติบโตในอนาคตด้วยตัวเขาเอง”
ครูก็เป็นตัวแปรสำคัญ
จากการให้ความสำคัญกับการสอนอย่างต่อเนื่องนี้เอง ครูยีราฟก็ขยายความต่อว่า ครูก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเด็กด้วยเช่นกัน เรียกว่าแม้เด็กจะสนใจวิชาเรียน แต่ผู้ที่นำพาเด็กไปก็คือครู
“อยู่ที่การสอนทำให้เด็กสนใจด้วยหรือเปล่า ครูพาเด็กไปถึงจุดที่เด็กสามารถพัฒนาตัวเองได้ไหม เต็มที่ขนาดไหนขึ้นกับครู”
“หลายๆ คลาส ครูอาสาก็พาไปถึงที่สุด ยกตัวอย่าง เด็กคนหนึ่งออกแบบบ้านได้เจ๋งมาก เดิมทีเป็นเด็กที่เรียนอ่อน แต่เขามีความพยายามมาก เราไปคุยกับครูที่สอน จึงได้รู้ว่าเด็กมีดบาด กาวติดนิ้ว กว่าจะตัดจะทำออกมาได้ขนาดนั้นเรียกว่าเขามีความพยายามระดับหนึ่งเลยทีเดียว แล้วเขาต้อง push ตัวเองไปอีก แค่นั้นพอมั้ย แต่ครูอาสาทำได้ดีมาก สร้างแรงบันดาลใจและให้ความสำคัญต่อความทุ่มเทของการทำงาน จนเด็กสัมผัสได้ ทำให้ทุ่มเทแรงกายแรงใจกับงานจนดึกๆ ดื่นๆ ตีสองตีสามเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด ประสบการณ์ของเด็กที่ได้ทำแบบนี้มันจะติดตัวไป พอเจอความยากลำบากจะนึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น จะผ่านไปได้ ผลงานออกมาดีและประสบความสำเร็จได้”
วันแสดงผลงานพิสูจน์ศักยภาพ
เมื่อ Saturday School จัดการเรียนการสอนไปจนครบ 10 สัปดาห์ ก็จะมีกิจกรรมวันสำคัญของโครงการก็คือวัน ‘Big day’ เป็นวันแสดงผลงานที่เด็กๆ ได้เรียนมา ข้อดีของกิจกรรมก็คือเด็กจะได้แลกเปลี่ยนกัน ใครเรียนอะไรก็โชว์สิ่งนั้น เช่น เด็กการแสดงก็มาแสดง เด็กทำอาหารก็มาทำอาหาร เป็นกีฬาก็มาโชว์กีฬา เรียนฟิล์มก็โชว์หนังสั้น เป็นวันที่น่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมากทั้งครูและเด็ก
ครูยีราฟเล่าเพิ่มว่า เมื่อเด็กๆ พบว่ามีคนสนใจสิ่งที่พวกเขาทำ ก็ทำให้อยากเรียนรู้และพัฒนาตัวเองต่อ
“อย่างเด็กในชุมชนที่แสดงดนตรี แสดงเสร็จมีเสียงกรี๊ดเยอะมากจากในฮอลล์ เปิดเพจตัวเอง ร้องเพลง เวลาคนในชุมชนมีงาน เขาก็เอาไปแสดง คนในชุมชนก็มองเด็กๆ กลุ่มนี้เปลี่ยนไป”
นอกจากเด็กๆ จะได้แสดงผลงานอย่างภาคภูมิใจแล้ว ครูอาสาก็ทึ่งในศักยภาพของเด็กๆ เช่นกัน
“อย่างเด็กคนหนึ่งที่ไม่กล้าพูด ไม่เห็นค่าในตัวเอง แต่เมื่อเรียนวิชาการแสดง การพูดในที่สาธารณะ สุดท้ายก็เป็นประธานนักเรียนของโรงเรียน พูดโน้มน้าวใจเพื่อนๆ อีกหลายร้อยคน”
ครูยีราฟเล่าเพิ่มเติมว่า ทีมวิจัยได้วิเคราะห์ว่าเด็กๆ จะเติบโตและประสบความสำเร็จได้อย่างไรจากการสังเกตชั้นเรียน Saturday School และพบว่ามี 4 ประการสำคัญดังนี้
- Learning motivation มีพลังในการเรียนรู้ มีแรงขับในตัวเอง
- Sense of purpose ตั้งเป้าหมาย มองเห็นตัวเองในอนาคต
- Growth mindset ก้าวข้ามอุปสรรคเพื่อเรียนรู้
- Grit ความอดทนพยายามเพื่อไปถึงจุดมุ่งหมาย
เด็กที่เรียนวันเสาร์ เมื่อเรียนในห้องวันธรรมดาก็จะเห็นแววตาที่เปลี่ยนไป ผมให้เด็กเขียนว่าอยากทำอะไรในอนาคต ทำยังไงให้ไปถึงเป้า เด็กที่เรียนวันเสาร์ ชัดเจนว่าเขียนออกมาได้เรื่อยๆ 1-2 หน้าเป็นเรื่องปกติ เด็กที่ไม่เรียนจะมีแค่สองสามบรรทัด นึกไม่ออกว่าตัวเองจะไปถึงไหน และไม่กล้าที่จะนึกด้วย
“มากกว่าความรู้ที่เด็กได้ จริงๆ เราไม่ได้ประเมินความรู้เท่าไหร่ ก็จะเห็นในวันบิ๊กเดย์ที่โชว์ผลงานได้ดี แต่อยากเห็นกระบวนการมากกว่า อย่างเด็กเรียนวิชาเต้น สอนเก้าถึงเที่ยง เขาก็อยากซ้อมต่อถึงช่วงบ่ายจนโรงเรียนมาไล่ ความพยายามพวกนี้แหละคือสิ่งที่เราต้องการ” ครูยีราฟเล่ายิ้มๆ
โครงการ Saturday School ของครูยีราฟ คือตัวอย่างของการเรียนรู้ที่คุกรุ่นไปด้วยแรงบันดาลใจ ความสนใจอยากจะลงมือทำ ประกอบกับการจัดการเรียนการสอนที่ใส่ใจและให้ความสำคัญต่อเด็กๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้คือลมใต้ปีกที่ดันให้เด็กบินได้สูงขึ้นเรื่อยๆ จากความสามารถและศักยภาพที่ไม่มีที่สิ้นสุด
อย่าว่าแต่ทะยานไปสุดขอบฟ้าเลย สุดขอบจักรวาลก็ไปได้!
ก้าวต่อไปของ Saturday School
นอกจากซีซั่นปกติของโครงการ Saturday School แล้ว ครูยีราฟเล่าเพิ่มเติมว่ามีแผนจะทำงานพัฒนาการศึกษาไทยต่ออีกมากมาย เช่น
เว็บไซต์ http://www.inskru.com รวบรวมแผนการสอนของคุณครูทั่วประเทศเป็นสื่อต่างๆ เช่น คลิปวิดีโอ หรือมีไอเดียต่างๆ ในการสอนก็มาร่วมแชร์กัน ครูท่านไหนสนใจอยากหาวิธีการสอนใหม่ๆ ก็เข้าไปอ่านและแชร์ได้
Lab การศึกษา จะเทสต์บางอย่างที่เกี่ยวกับการศึกษาในชั้นเรียน เช่น ทำ flip classroom เอาการบ้านมาทำในคาบ แต่ให้ไปหาข้อมูลนอกห้อง เช่นให้ดูหนังหรืออ่านหนังสือมาแล้วมาช่วยกันอภิปรายในชั้นแทนเพื่อลดเวลาในการเรียนและเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น หรือเทสต์ทักษะตั้งคำถามให้เด็กถามคำถามทั้งวัน ฯลฯ
การต่อยอดผลงานเด็กๆ จาก Saturday School จะพยายามดูว่าแต่ละคลาสไปทำอะไรต่อได้บ้าง เด็กร้องเพลงเพราะ ให้ไปฝึกงานกับบริษัทอื่นได้ไหม เด็กอยากแสดงไปแสดงในโรงละครมืออาชีพได้ไหม ฯลฯ
หากใครสนใจร่วมเป็นครูอาสา หรือร่วมระดมทุน คลิกเข้าไปดูรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ https://saturday-school.com/ ได้เลย!