- แนวคิด ‘ยกเลิกสอบเข้า ป.1’ ยังคงเป็นร่าง เพียงแต่คณะอนุกรรมการเด็กเล็ก ‘เห็นพ้องต้องกัน’ ให้ผ่านร่างนี้
- หากมีผลบังคับจริง คาดว่าจะแล้วเสร็จมีผลบังคับใช้ปีการศึกษา 2562
- จัดสอบปรับห้าแสน, ฝากเข้าปรับ 10 เท่าจากยอดเงินที่ฝาก คือบทลงโทษตามร่างนี้
- ห้ามเลี่ยงบาลีจัดสอบในเด็กที่เล็กกว่า หรือสอบไหวพริบเชาวน์ปัญญาก็ไม่ได้
- ไม่ใช่แค่ปฐมวัย แต่ระบบ ‘แพ้คัดออก’ ในมหาวิทยาลัยยังปรับเป็น TCAS ที่มีขั้นตอนดู portfolio เด็กโดยเฉพาะ ค่อยตัดรากคิดแพ้คัดออกการศึกษาไทย
จาก ‘ข่าว’ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ‘ชง’ มาตราสำคัญร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ. … เสนอให้ “ยกเลิกสอบเข้า ป.1” นับเป็นข่าวร้อนประจำสัปดาห์ที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์กันมาก
ท่ามกลางคำวิจารณ์ที่เผ็ดร้อน แต่ยังไม่มีการยืนยันชัดเจนจากคณะอนุกรรมการเด็กเล็ก ถึงสถานะทางกฎหมาย หน้าตาของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้คืออะไร จะมีการดำเนินการแบบไหน บทลงโทษเป็นอย่างไร และคาดว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไร และคำถามอีกมากผุดขึ้นกลางสมรภูมิโซเชียล ที่ทำให้เห็นทั้งความหวั่นวิตกและคำวิจารณ์ต่อระบบการศึกษาที่เริ่มตึงเครียดในเด็กที่เล็กลงไปเรื่อยๆ
The Potential ต่อสายตรงถึงนายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว หนึ่งในคณะอนุกรรมการเด็กเล็ก กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ช่วยคุณพ่อคุณแม่ยืนยันว่า
สถานะทางกฎหมายของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้คืออะไร หน้าตาเป็นอย่างไร ความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว พร้อมสอบถามแนวคิดตั้งต้น เหตุใดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้?
สถานะทางกฎหมายของร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ. … คืออะไร ความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว?
ตอนนี้เป็นร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ. … แต่ที่แน่ๆ คืออนุกรรมการเด็กเล็ก เห็นพ้องต้องกันว่าต้องทำ (ยกเลิกและมีบทลงโทษต่อโรงเรียนที่จัดสอบคัดเลือกในช่วงปฐมวัย หรือเข้า ป.1) สิ่งที่ต้องเสนอต่อ เสนอผ่านกระทรวง ต่อ ครม. เพื่อนำไปสู่กระบวนการประชาพิจารณ์ แล้วจึงนำสู่ชั้น สนช. เสียก่อน ถึงจะประกาศบังคับใช้กฎหมาย
คาดว่ากระบวนการเสนอร่างนี้จะใช้เวลาเท่าไร
เข้าใจว่าโดยเร่งด่วนและอย่างที่พยายามเร่งกันอยู่ คาดว่าน่าจะ (ย้ำ) ให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ ซึ่งหากแล้วเสร็จในปีนี้ จะมีผลบังคับใช้ในปีการศึกษาหน้า (ปีการศึกษา 2562)
มีบทลงโทษอย่างไร
หากยึดตามตามร่าง ถ้ามีการจัดสอบ โรงเรียนจะถูกปรับ 500,000 บาท กรณีฝากเข้า โรงเรียนถูกปรับ 10 เท่าของจำนวนเงินที่ใช้ฝาก
หากโรงเรียนเลี่ยงบาลี ตัดตอนไปสอบเข้าตั้งแต่ อ.3 แต่ไม่ได้สอบเข้า ป.1 กฎหมายฉบับนี้อนุญาตหรือไม่
(หัวเราะ) เราใช้คำว่า ‘ช่วงชั้นปฐมวัย’ ทั้งหมดจะสอบเข้าไม่ได้ จะเลี่ยงบาลีว่าไม่สอบเข้า ป.1 แต่จัดสอบในเด็กที่เล็กกว่านั้นทำไม่ได้อยู่แล้ว
การจัดสอบเด็กทำไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ แม้สอบพัฒนาการก็ไม่เอา ห้ามเลี่ยงบาลีว่าโรงเรียนฉันไม่ได้จัดสอบ แต่สอบไหวพริบหรือเชาวน์ปัญญา คือการทดสอบอะไรมันต้องมีผู้แพ้ ต้องไม่ทำกับเด็ก เว้นเสียแต่ว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์คณะกรรมการนโยบายกำหนด
เช่น ในเด็กออทิสติก หรือ เด็กที่มีพัฒนาการช้า (delay development) โรงเรียนบางโรงเรียนมีพื้นที่ในการจะพัฒนาเด็กพิเศษเพียงแต่พื้นที่เขาจำกัด อย่างนี้ต้องขอบคุณโรงเรียนเลย ในกรณีแบบนี้อาจต้องมีกระบวนการคัด เช่น ถ้าเด็กที่มีภาวะกดดันมาก อาจเรียนในระบบไม่ได้ก็ต้องแนะนำให้ไปโรงพยาบาล ทั้งหมดนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับ และไม่ใช่การกดดันไปที่ตัวเด็ก
ถ้าไม่ใช่ระบบคัดเลือก การสอบ จะใช้อะไร
ใครอยู่ภาคส่วนไหนก็เข้าโรงเรียนแถวนั้น ไม่ต้องย้ายข้ามภาคกันไปมา เพราะลูกต้องการอยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ ใกล้ชิดครอบครัว ควรจะเป็นโรงเรียนใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงานพ่อแม่ คือต้องมีเหตุผลอะไรสักอย่างที่ทำให้เราถึงตัวเด็กได้เร็ว ไม่จำเป็นต้องเดินทางกันมาก ไม่ใช่ว่าที่ทำงานที่หนึ่ง บ้านที่หนึ่ง โรงเรียนไปอีกที่ ลูกไม่ได้ต้องการเดินทางตั้งแต่ตี 5 เด็กไทยติดหนี้การนอนและมีแนวโน้มจะเป็นหนี้สูญ คือไม่มีทางได้กู้กลับเลย ซึ่งการติดหนี้การนอนมันทำลายศักยภาพสมอง อดหลับอดนอน กินข้าวกันบนรถ สมองพัง ความคิดสร้างสรรค์ไม่เกิด
หลักการที่สองคือ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งหมด ทั้งเด็กเก่งไม่เก่ง ต้องกระจายตัวกันพอสมควรเพื่อให้กระบวนการยกระดับการศึกษา มากกว่าการ pool กันเข้าไป
หลักการคือให้เด็กเข้าโรงเรียนใกล้บ้าน แต่ข้อโต้แย้งของผู้ปกครองทั่วไปคือ คุณภาพการศึกษาแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน
ก็ต้องพัฒนา แต่ผมไม่คิดว่า ภาคแต่ละภาคจะอ่อนด้อยไปกว่ากัน มันเป็นกระแสนิยมเพื่อสร้างราคาให้เด็กเก่งๆ มารวมกันเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน แต่ต้องอย่าลืมว่าความเก่งของคุณมันจะไม่ช่วยอะไรเลยถ้าคุณไม่มีวิชาชีวิต
คณะทำงานประเมินผลกระทบที่อาจเกิดต่อ ‘ธุรกิจ’ หรือ สถานการณ์แข่งขันสอบเข้า ป.1 ว่าอย่างไร
ผมเชื่อว่าผู้ใหญ่ตอนนี้เห็นความทุกข์ระทมจากระบบการศึกษาที่ป่วย ทั้งเห็นกระแสพ่อแม่ที่เอาด้วยกับระบบคัดเลือกนี้ การจะทลายกรอบในลักษณะนี้ ต้องทำให้เขาเห็นด้วยว่า ภาพข้างหน้าที่คุณหวังเอาไว้ มันไม่ได้เป็นแพ็คเกจแบบเดิม เพราะถ้าเป็นแพ็คเกจเดิมมันล้มค่านิยมไม่ได้
เช่น ถ้ายังยืนพื้นเอาระบบ O-NET / A-NET, GAT/PAT สอบเอนทรานซ์อะไรทั้งหลาย ในรูปแบบเดิมซึ่งก็คือระบบแพ้คัดออกแบบนี้ กระแสสอบเข้า ป.1 ก็ไม่หลุด เราก็อยากอธิบายให้เขาเข้าใจว่าทุกอย่างเปลี่ยนหมดแล้ว แม้แต่ประเทศเราเองก็มีทิศทางว่าจะเปลี่ยน อย่างระบบ TCAS ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในวันนี้ก็เปลี่ยนไปแล้วนะ มีวิธีรับนักศึกษาโดยใช้ portfolio หรือการรับเข้าทำงานเขาไม่สนใจประกาศนียบัตรด้วยซ้ำไป แต่ไปดูทักษะความสามารถ หรือ skill bases ของเด็ก
โดยเฉพาะในช่วงชั้นที่ 1 นี้ เราไม่ต้องใช้วิธี ‘เทกระจาด’ เพื่อให้เด็กเข้าไปอยู่ในโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง วิธีนี้ทำให้เกิดความตึงเครียด ตัวผู้ปกครองก็ตึงเครียด เด็กก็ตึงเครียด ซึ่งมันส่งผลต่อพัฒนาการเด็กอย่างมหาศาลมาก และท่าทาง (ความตึงเครียดจากการ ‘เทกระจาด’) จะหยุดไม่อยู่ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ครอบครัวไหนที่มีสตางค์ก็ให้ลูกไปติวหรือกวดวิชาเพื่อจะเข้าโรงเรียนดังๆ แต่ถ้าเราปรับจูนทัศนคติตรงนี้ให้ดีๆ จะไม่เกิดปัญหาขึ้นมา
การปรับจูนทัศนคติต้องทำความเข้าใจร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ. … จะทำให้เห็นเลยว่าปลายทางของระบบการคัดเลือกหรือรับคนเข้าก็กำลังจะพัฒนาและเปลี่ยนแปลง
เช่น ต่อไปอาจไม่ใช้ระบบแพ้คัดออกอย่างเดียว เด็กที่ทำกิจกรรม แม้กระทั่งการรับคนเข้าทำงาน อีกหน่อยเขาก็ต้องดู portfolio หรือการทำกิจกรรมมากกว่าที่จะมาดูเกรดการเรียน
ทั้งหมดนี้ต้องการตัดวงจรความเหลื่อมล้ำ ย้ำว่าเรื่องนี้อาจหยุดกระแสพ่อแม่คลั่งไคล้การสอบไม่ได้ แต่ต้องทำความเข้าใจว่า ขณะนี้ประตูในการรับคนเข้า (entry point) เหล่านี้กำลังถูกเปลี่ยนแปลง การตั้งต้นว่า เด็กที่จะเข้า ป.1 อยู่ยาวถึง ม.3 ปลายทางคือ ม.6 เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย แพ็คเกจแบบนี้อาจเปลี่ยน ถึงตอนนั้นเขาไม่เอาเกรดแล้ว หรืออย่าว่าแต่เกรดเลย แม้แต่ที่ทำงานทั่วไปเขาก็จะเน้นทักษะความสามารถ หรือ skill bases ของเด็กกันหมด
จึงต้องกลับมากระตุกพวกเรากันเองว่า แล้วจะคลั่งไคล้การสอบตั้งแต่ ป.1 กันขนาดไหน ทรัพยากรมนุษย์ถูกทำลายด้วยระบบแพ้คัดออก แน่นอนว่าผมไม่สามารถหยุดยั้งความไม่เข้าใจเรื่องการแห่แหนแข่งกันสอบเข้าได้ เรายังนั่งคุยกันเลยว่า เพื่อลดความตึงเครียดของลูก ไปจัดสอบพ่อแม่เสียดีมั้ย
เรื่องจริงเลยใช่มั้ย (หัวเราะ)
จริง เราคุยกันจริงๆ ในเมื่อพ่อแม่มีความคาดหวังสูงก็ให้พ่อแม่ไปแข่งขันกันเลย จะไปกดดันเด็กทำไม เพราะในมาตรา 31 ของร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ. … เราห้ามสอบเด็ก แต่ไม่ได้พูดถึงพ่อแม่ พ่อแม่จะไปสอบอะไรก็แล้วแต่ อันนั้นเป็นเรื่องของพ่อแม่
นอกจากเรื่อง ‘ยกเลิกสอบเข้า ป.1’ มีประเด็นอะไรอื่นอีกบ้างที่ต้องพูดถึง ซึ่งคนทำงานเรื่องการศึกษาปฐมวัยเห็นว่าสำคัญ
ที่อยากฝากอีกอย่างคือการยกเลิกการตัดเกรดในเด็ก ป.1-ป.3 เลย คือไม่ต้องมาเทียบเกรดกันว่า ลูกเธอได้เท่าไร ลูกฉันได้เท่าไร ไม่ต้องมาเทียบเกรดละ เพราะเราจะยกเลิกเลย ซึ่งอันนี้น่าจะสำเร็จก่อนและมีแรงต้านน้อยกว่าการยกเลิกสอบเข้า ป.1 ด้วย
แนวคิดเลิกตัดเกรดในการศึกษาปฐมวัยมาจากอะไร
ยูเนสโกหรือนานาอารยประเทศ เขามี มาตรฐานสากลและนิยามตรงกันเลยว่า early childhood หรือปฐมวัย ตามคำศัพท์บ้านเรา นิยามถึงช่วงวัยของเด็กว่า ตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงก่อนแปดปี (นิยามเด็กปฐมวัยเดิม คือผู้ที่อายุ 3-6 ปี) คำถามคือทำไมเขาจึงตัดที่อายุเท่านี้
ก็เพราะว่าเด็ก 6-8 ปี เพิ่งจะเริ่มเรียนรู้โลกจริง ขณะที่เด็กอายุน้อยกว่าหกปีเขายังอยู่ในจินตนาการ เหมือนคำที่ว่า เด็กวัยนี้ต้องเรียน เล่น เล่านิทาน ได้มีโอกาสนอน
ตามหลักจิตวิทยาพัฒนาการ ช่วงเปลี่ยนผ่านอายุ 6-8 ปี การเรียนรู้จากโลกของจริงของเขากำลังพัฒนา เราจึงมองว่าวัยนี้เป็นวัยเปลี่ยนผ่านขึ้นไปเป็นวัยเรียน ก่อนเข้าสู่วัยรุ่น
ผมใช้หลักการอีกอย่างหนึ่งว่า เขาไม่ได้ต้องการเอาชนะคะคาน ไม่ได้บ้าพลัง ไม่ได้มีเกมการแข่งขัน
การแข่งขันที่เกิดในอายุน้อยกว่า 8 ปี ผิดหลักพัฒนาการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเกมหรือกีฬาก็ไม่ได้ เพราะเด็กไม่ได้ต้องการเป็นผู้แพ้และถูกตอกย้ำว่าเป็นผู้แพ้
ด้วยหลักการนี้มันจึงนำมาสู่การยกเลิกการตัดเกรดในช่วงชั้นที่หนึ่งไปด้วย แต่พอเด็กก้าวเข้าสู่วัยเรียน ก็ต้องเข้าสู่วัยปกติ และเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เขาค้นพบตัวเองได้ ก็เป็นไปตามกระบวนการแข่งขันที่เรียกว่าการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา แต่ไม่ใช่ในปฐมวัย
ความจริงมีอีกข้อที่ไม่ได้ถูกร่างใน พ.ร.บ.นี้ เป็นข้อหนึ่งที่เราถกกันพอสมควรและผมก็เห็นดีด้วยมาก คืออยากจะยกเลิก ห้องคิง ควีน และห้อง gifted ไปเลย เพราะกลายเป็นว่า คนที่ไม่ได้อยู่ห้องนี้ก็ไม่เหมือนคน เกิดความเหลื่อมล้ำในตัวนักเรียน ไม่ใช่แค่ชั้นผู้ปกครอง ถ้าถามไอเดียผม อยากยกเลิกหมดเลย