- คิน-ภาคิน นิมมานนรวงศ์ อดีตนักวิจัยและนักวิชาการที่เปลี่ยนสายมาเป็น ครูสังคมศึกษาโรงเรียนกำเนิดวิทย์ และผู้ร่วมสอนวิชา Game of Thrones
- ครูวิชาประวัติศาสตร์ที่ตั้งคำถามกับนักเรียนวัยรุ่น ย้อนไปตั้งแต่ประวัติศาสตร์เกษตรกรรมโลก แล้วไล่กลับมาที่ประวัติศาสตร์สุโขทัย เพียงเพื่อให้เด็กๆ ถามว่า “เรียนไปทำไม” เมื่อนั้นก็ ปิ๊ง… ใช่เลย นี่แหละคำถามที่เขาอยากได้จากเด็กๆ!
- “ผมไม่ได้แคร์ว่าเขาจะต้องได้คำตอบแบบเดียวกับที่ผมได้ ผมแคร์ว่ากระบวนการที่เขาจะได้มาซึ่งคำตอบ ต้องไม่ใช่การที่มีคนมาบอกแล้วเขาเชื่อ”
- คุยกับภาคินตั้งแต่วิธีการสอน การดีลกับนักเรียนและตัวเอง และตั้งคำถามต่อบทบาทของครูว่า จะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือจะเป็นคน คนที่เท่ากันกับนักเรียน?
โดยที่ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าวันหนึ่งจะต้องมาเป็นครู คิน-ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูสังคมศึกษาโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง เจ้าของวิทยานิพนธ์หัวข้อ “ประวัติศาสตร์เด็กและวัยเด็กช่วงต้นรัตนโกสินทร์ถึงการปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5” จากการเรียนปริญญาโทคณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ตามแผนคร่าวๆ ภาคินจินตนาการถึงภาพอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยมากกว่า เพราะแนวการเรียนและประสบการณ์ที่ผ่านมาของเขาเข้าข่ายนี้มากที่สุด แต่เมื่อแนวทางการรับสมัครอาจารย์ของมหาวิทยาลัยไทยเปลี่ยนแปลงไปรับวุฒิปริญญาเอกมากขึ้น แผนก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นการสอนเด็กในวัยที่ลดลงมา เป็นการสอนที่เขาไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน
ที่สำคัญคือโรงเรียนกำเนิดวิทย์เพิ่งเปิดมาได้ราว 3 ปี เป็นที่กล่าวขานกันว่าสอบเข้ายากมาก คัดกรองเด็กค่อนข้างโหดและเน้นด้านการเรียนการสอนด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเป็นพิเศษ ห้องหนึ่งมีเด็กเพียง 18 คนเท่านั้น มีรูปแบบหลักสูตรและการสอนที่ค่อนข้างแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปจนคุณครูโรงเรียนหนึ่งในจังหวัดระยองเคยเปรยไว้ว่า ‘เหมือนโรงเรียนสอนอเวนเจอร์สน่ะ’
“ตอนที่ผมเข้าไปสอนตอนเทอม 1 เป็นปีแรกที่มีนักเรียนครบสามชั้นคือ ม.4 5 6 เพราะโรงเรียนเพิ่งเปิดมาได้ 3 ปีพอดี วิชาสังคมเลยมีสัก 10 ตัวไปเลย ผมสอนเยอะมากครับ (หัวเราะ) ตอนนี้สอนวิชาประวัติศาสตร์ 4 ตัว ประวัติศาสตร์ไทยเทอมละ 2 ตัว คือประวัติศาสตร์ไทย 1 2 3 4, ประวัติศาสตร์โลก, หน้าที่พลเมือง 1 2 3 4 และอื่นๆ ประปราย แล้วก็มีวิชาที่โผล่เข้ามาอีกหนึ่งวิชาคือ Game of Thrones”
เกือบจะครบปีแล้วที่ภาคินเป็นครูสอนวิชาสังคมที่ว่ามาให้กับเด็กๆ และเปิดชมรมปรัชญาไปด้วย เมื่อคุยกับเขาจบ เราก็พบว่าอยากย้อนเวลา แล้วหาเก้าอี้สักตัวไปนั่งในห้องเรียนวิชาของคุณครูภาคิน
วิชาสังคม(ที่ดีกว่า) + ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีไว้ให้เชื่อ
ความรู้สึกที่เข้าไปสอนเด็กโรงเรียนหัวกะทิครั้งแรกเป็นอย่างไร
ผมไม่ได้มีความคาดหวังในแง่ใดแง่หนึ่งว่าเด็กจะเป็นอย่างไร แต่พอเข้าไปสอนแล้วก็จะมีความประทับใจบางอย่าง พอมี feedback กับเด็กก็จะเริ่มเห็น เช่น เด็กพวกนี้เขาเก่งด้วยตัวของเขาเองอยู่แล้ว อาจจะไม่ทุกคน แต่มีเด็กจำนวนหนึ่งจะรู้สึกว่าวิชาด้านสังคมมันไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่สำหรับเขาเพราะเขาอยู่โรงเรียนวิทยาศาสตร์ อะไรๆ ก็เป็นวิทยาศาสตร์ไปหมด เหมือนเรียนสังคมให้ครบหลักสูตรไป
บางคนอาจจะรู้สึกว่าไม่รู้ว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร แต่ก็มีบางคนที่ติดตามข่าวสาร เห็นดวงตาเขาลุกวาวเวลาเราสอน แต่กว่าจะถึงจุดที่เขาตาลุกวาวก็ต้องผ่านคาบแรกๆ ไปก่อนนะ ทำให้เห็นว่าวิชาเรามีเนื้อหา ไม่ได้เรียนน่าเบื่อๆ แบบเปิดหนังสือแล้วก็สอนๆๆ
แล้วเรามีวิธีการสอนอย่างไร
ผมตอบในฐานะคนที่ไม่ได้เรียนมาด้านการสอน แต่ก่อนผมทำงานวิจัย เขียนบทความก็จะเจอกับเนื้อหาที่เฉพาะทางและอ่านยาก แต่พอมาสอนหนังสือเราต้องกลับไปที่พื้นฐาน back to basic มากๆ ต้องมาอ่านใหม่หมดเลยว่าพื้นฐานของวิชาประวัติศาสตร์คืออะไร ต้องคิดใหม่ว่าเราจะทำยังไงให้เด็กเข้าใจพื้นฐานของวิชาเหล่านี้
ตอนเป็นนักเรียนเราไม่สนใจเรียน สนใจเฉพาะวิชาหน่วยกิตเยอะเพราะมีผลต่อเกรด ผมเลยคิดว่าอะไรที่ทำให้เด็กสนใจได้ ทุกๆ วิชาที่ผมสอนผมก็จะพยายามดึงอะไรที่ใกล้ตัวเข้ามาตั้งคำถาม เช่น ถ้าสอนเรื่องสุโขทัย ก็จะเริ่มถามจากคาบแรกก่อนว่า ถ้าคิดถึงสุโขทัยคิดถึงอะไรในสามคำ แล้วทำไมเราต้องเรียนเรื่องนี้
ผมวางแผนยาวๆ ไปเลยหนึ่งคอร์สหนึ่งเทอมคือ เรามักจะคิดว่าสุโขทัยเป็นประวัติศาสตร์สำคัญเบอร์หนึ่ง แต่ถ้าเราสอนไปเรื่อยๆ เด็กก็จะมีความคิดแบบนั้นและไม่ตั้งคำถาม ผมก็เลยเปิดคาบแรกด้วยการถามก่อน แล้วดึงย้อนกลับไปตั้งแต่เรื่องประวัติศาสตร์การทำเกษตรกรรมของโลก, movement ของคนไกลที่ไม่เกี่ยวข้องเลย แล้วค่อยๆ ย่อมาว่าในเอเชียเป็นยังไงก่อนที่จะเป็นภาพสุโขทัยในปัจจุบัน
ไกลจนเด็กสงสัยว่าเราเรียนไปทำไม แล้วพอถึงตรงนั้นปุ๊บ ผมจะดึงสิ่งนี้มาเป็นคำถามว่าคุณเห็นไหม ที่ผมสอนมาทั้งหมด มันก็มีทั้งความสนุกสนาน มีเรื่องโครงกระดูก โบราณคดี แต่เด็กหลายคนจะตั้งคำถามแล้วว่าเรียนไปทำไม ผมก็เลยถามกลับว่าทำไมถึงถามว่าเรียนไปทำไมในวิชานี้ ทำไมไม่ถามแบบนี้กับวิชาชีววิทยา
แล้วเด็กตอบสนองอย่างไร
เด็กก็เริ่มสงสัยว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนี้ คาบนั้นผมก็จะสรุปสิ่งที่ผมพยายามถาม
แล้วทำให้เขาเห็นว่าเขาโตมาในโลกที่มันสอนเขาว่า อะไรที่ดีหรือมีประโยชน์ ต้องเป็นประโยชน์ระยะสั้น เฉพาะหน้า เห็นเลยทันที ในขณะที่อะไรที่มันห่างไกลมาก เรามักจะคิดว่าไม่มีประโยชน์
อย่างเช่นเรื่องอะไรบ้าง
ผมยกตัวอย่างหนังเรื่อง The giver เป็นหนังโลกอนาคตที่มนุษย์ทุกคนในเมืองนี้จะไม่มีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ แต่ความรู้นั้นจะตกอยู่กับคนคนหนึ่งชื่อว่า The giver ที่ให้คำปรึกษากับผู้นำของชุมชนว่าควรจะทำยังไงไม่ให้เกิดความผิดพลาด วันหนึ่งต้องมีคนใหม่มารับตำแหน่ง ซึ่งเป็นเด็กกลุ่มที่ถูก The giver สอนว่าอดีตเป็นยังไง ประวัติศาสตร์เป็นยังไง
อย่างเรื่องนี้คนในชุมชนจะไม่รู้จักการฆ่า มีตอนที่พระเอกซึ่งเป็นเด็กหนุ่มเห็นภาพพ่อของตัวเองกำลังจับเด็กทารกมาปลดปล่อยโดยการฉีดยาเข้าไปที่ศีรษะ เขาไม่เข้าใจว่านี่คือการฆ่า ระหว่างที่เขาจะไปช่วยเด็กทารกคนนั้น พระเอกเจอเพื่อนสนิท เพื่อนก็ถามพระเอกว่าออกมาเวลากลางคืนทำไมเพราะมันผิดกฎของชุมชนนะ
พระเอกก็บอกว่าไม่ได้ ต้องไปทำสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อนก็ย้อนถามว่า ถ้าสิ่งที่จะทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แล้วคุณทำผิดกฎได้ยังไง ก็เป็นการชนกันระหว่างประวัติศาสตร์สองอย่าง คนหนึ่งรู้ประวัติศาสตร์แคบๆ สั้นๆ ก็จะคิดว่าความถูกผิดคือการทำตามกฎ แต่พออีกคนหนึ่งรู้ประวัติศาสตร์ที่ย้อนไปไกล เริ่มเห็นประโยชน์ของการรู้อดีตระยะยาวมากขึ้น รู้ว่าการกระทำที่ถูกหรือผิดบางทีไม่ได้คิดสั้นๆ ได้ ถ้าเรารู้อะไรมากกว่าเดิม การตัดสินใจที่จะทำอะไรสักอย่างของเราก็เปลี่ยน ก็เริ่มเห็นว่าการกระทำถูกผิดบางอย่างมันเป็นเรื่องของศีลธรรม ไม่ใช่การทำตามหรือไม่ทำตามกฎอย่างเดียว เขาจึงอาจจะต้องแหกกฎมาทำในสิ่งที่เขาคิดว่าถูก
แล้วโยงให้เด็กเข้าใจได้อย่างไร
ผมโยงให้เขาเห็นว่าประวัติศาสตร์ที่เราเรียนรู้กันมาก็แบบนี้ เขาพยายามให้เราเรียนรู้เรื่องสั้นๆ ว่าเราเป็นชาติที่แตกต่างไม่เหมือนใคร แต่ถ้าเรารู้เรื่องที่มันไกลมาก เราก็จะเห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ ไม่เหมือนใครที่สุด พอเรารู้ประวัติศาสตร์ระยะยาว เราจะถ่อมตัวมากขึ้น ประโยชน์อย่างหนึ่งของการศึกษาประวัติศาสตร์มันต้องทำให้เราถ่อมตน ขณะที่ยังเป็นมนุษย์ด้วยกัน
ผมจึงพยายามโยงให้เขาเห็นว่าก่อนที่จะมาเป็นสุโขทัย มีเรื่องอะไรมากมาย มีการเมืองของการเรียนประวัติศาสตร์อยู่ แล้วหลังจากนั้นเราจะไปโฟกัสว่ามันเป็นมาอย่างไร สำคัญยังไง
ฟังดูเหมือนเป็นการผสมรวมเรื่องวิชาการกับการปลูกฝังความคิดเชิงอุดมการณ์บางอย่าง และสอนให้เด็กตั้งคำถาม
ใช่ครับ ตอนผมเป็นเด็ก ผมก็คิดว่าเราไม่เชื่อเวลาคนบอกให้ผมเชื่ออะไร ผมก็มีอุดมการณ์และความเชื่อชุดหนึ่งว่าอะไรบางอย่างน่าจะดีกว่า แต่ถ้าผมบอกเขาไปตรงๆ ว่าสิ่งนี้ดีกว่าสิ่งนี้ มันไม่มีทางที่จะทำให้เขาเห็น
ผมไม่ได้แคร์ว่าเขาจะต้องได้คำตอบแบบเดียวกับที่ผมได้ ผมแคร์ว่ากระบวนการที่เขาจะได้มาซึ่งคำตอบ ต้องไม่ใช่การที่มีคนมาบอกแล้วเขาเชื่อ
แต่ถ้ามันผ่านกระบวนการคิด ตั้งคำถามเยอะๆ เริ่มสืบสวนกับสิ่งที่เขาไม่ค่อยแน่ใจว่าจริงไหม เขาอาจจะได้คำตอบบางอย่างซึ่งอาจจะเหมือนหรือดีกว่าผม
ซึ่งประวัติศาสตร์ก็เป็นวิชาที่อธิบายเรื่องนี้ได้อย่างดีเลย
ใช่ ถ้าครูเห็นความเป็นไปได้ที่จะทำ มันจะทำได้ แต่ว่าบางทีเราโตมาในระบบการศึกษาที่มันไม่เห็นความเป็นไปได้ที่จะทำแบบนั้น ทั้งๆ ที่ประวัติศาสตร์คือวิชาที่ทำให้เรา critical กับชีวิตได้มากเลย
ดูเป็นวิชาที่เราเองก็ต้องค้นคว้าข้อมูลเพิ่มตลอด
ต้องเตรียมเยอะมากครับ บางคนคิดว่าพอสอนวิชาสังคมเท่ากับง่าย ไม่น่าจะมีอะไร แค่เปิดตำราแล้วสอนไปตามนั้นสิ แต่ความเป็นจริงตำรามันใช้ได้แค่ตัวชี้วัดที่เราจะเอามาตีความบางอย่าง มากกว่านั้นมันเป็นสิ่งที่ประเทศไทยไม่มีหนังสืออะไรที่จะมาบอกเรา โชคดีที่ผมได้มาอยู่โรงเรียนที่เปิดโอกาสให้เราเล่นกับการสอนของเราได้ ถ้าโรงเรียนไม่เอื้อก็คงจะยาก
แต่อย่างไรการสอนวิชาสังคมก็ต้องอิงเนื้อหากับหลักสูตรของกระทรวงศึกษาด้วย
เนื้อหาเราออกแบบเอง เด็กจะได้อ่านบทความวิชาการที่ผมอ่านที่ตัดมาเป็นช่วงๆ ตอนๆ หรือหนังสือเล่มหนาของ Openbooks, Openworlds, มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ แต่มันต้องอิงกับตัวหลักสูตรของกระทรวงศึกษาฯ อยู่แล้ว เพราะจะมีตัวชี้วัดที่บอกว่าต้องการให้เด็กรู้อะไร
แต่เนื่องจากเราเป็นโรงเรียนเอกชนโดยมีวิชาวิทยาศาสตร์นำ วิชาสังคมจึงสามารถดิ้นได้พอสมควร เช่น เราเห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์สุโขทัย แสดงว่าเราต้องสอนให้เห็นความสำคัญ แต่เราต้องเล่าว่าสุโขทัยสำคัญเพราะเป็นบรรพบุรุษเราหรือเปล่า อาจจะไม่ แต่สำคัญเพราะมันกลายเป็นประวัติศาสตร์ของเรา ถ้าเด็กรู้ว่าก่อนจะเป็นสุโขทัยเป็นอะไรมาก่อน คนในอดีตคิดกับสุโขทัยอย่างไร ก็เป็นการบอกว่าสุโขทัยสำคัญอย่างไร ผมเลยพยายามจะสร้างสมดุล มีบางอย่างที่เด็กต้องรู้แน่ แต่บางอย่างเราก็ทำได้มากกว่าการที่บอกแค่ในเรื่องที่เด็กต้องรู้
นี่คล้ายกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนและวิธีคิด (deconstruct) แบบที่เราคุ้นเคยไปเลย
จะเรียกอย่างนั้นก็ได้ แต่จริงๆ มันแค่รูปแบบการสอนที่ควรจะเป็น
วิชา Game of Thrones
เด็กโรงเรียนหัวกะทิมีบุคลิกเนิร์ดๆ แบบที่เราคุ้นเคยกันไหม
อันนี้เป็นความประทับใจที่ต่างจากที่คิด มันไม่เป็นแบบนั้นเลย มีเด็กเรียนไปเลยอยู่บ้างแต่ไม่เยอะ ส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กทั่วไป แต่เขาเก่งกว่าเรา (หัวเราะ) ทำกิจกรรม เล่นกีฬา เล่นดนตรี เต้น cover เกาหลีทั่วไปเลย นั่งเล่นเกมไปเลยหรือนั่งทำงานอย่างอื่นไปเลยบ้างก็มี lifestyle แตกต่างหลากหลาย
เจอเด็กลองภูมิบ้างไหม
มีเด็กที่พูดจาออกมาโดยไม่ได้คิดมากนักบ้าง แต่ไม่ได้เป็นเด็กที่แย่ เด็กบางคนรู้ในสิ่งที่เราจะบอกอยู่แล้ว ติดตามข่าวสารบ้านเมือง อ่านหนังสืออยู่แล้ว ซึ่งในห้องจะมีเด็กที่รู้เรื่องราวต่างกัน ผมไม่ค่อยแคร์เด็กที่เก่งเท่าไหร่ แต่แคร์เด็กที่ไม่ค่อยเก่งมากกว่าว่าเขาจะตามทันไหม
บางคลาส มีเด็กที่รู้คำตอบและพูดอะไรบางอย่าง ซึ่งมันเป็นคำตอบนั่นแหละ แต่ถ้าเราสนใจคำตอบเขา พวกที่เหลือจะตามไม่ทัน พอเป็นครูก็เลยต้องดึงเขากลับมาเพื่อไม่ให้คลาสมันหลุดออกไปจากประเด็น
ย้อนกลับไปที่บอกว่าเริ่มตั้งคำถามก่อนสอนแล้วให้เด็กตอบ เด็กมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน
ก็มีบ้างที่เงียบ แต่เราก็ต้องให้เวลาเขาสัก 5-10 วินาทีในการคิดคำตอบ แต่ถ้ามันเงียบจนเกินไป เราอาจจะต้องถามหรือลองใบ้อะไรบางอย่างให้นำไปสู่คำตอบ เด็กก็ไม่ได้แอคทีฟขนาดนั้นนะ เพราะหลายอย่างเป็นคำถามที่เขาอาจจะไม่เคยสงสัยมาก่อน จะเอาคำตอบเลยก็คงไม่ได้
ซึ่งเราต้องใช้สื่อหลายชนิดเพื่อสอนเด็กหรือไม่
หลักๆ ผมจะชอบดึงหนังมาสอนเพราะพอพูดเรื่องหนังเด็กจะตาลุกวาว เราอาจจะสปอยด์สัก 70 เปอร์เซ็นต์ แล้วไม่บอกตอนจบ เด็กก็จะไปดูตอนจบต่อ หน้าที่ของสื่ออื่นๆ คือการทำให้เขา ‘ว้าว’ กับเรื่องที่มันไม่ว้าว เราถามคำถามเฉยๆ ก็ได้แหละ แต่ถ้าเรายกเรื่องบางอย่างมาให้เขาฟัง เขาจะเห็นภาพมากขึ้นว่าครูกำลังพูดเรื่องเหล่านี้อยู่ นอกจากนั้นก็มีให้เด็กลองเล่นบทบาทสมมุติบ้าง
ที่จำได้คือวิชาประวัติศาสตร์โลก ผมต้องสอนเรื่องเมโสโปเตเมียเลยให้เด็กลองแสดงบทบาทสมมุติโดยให้จัดบริษัททัวร์ และขายทัวร์ไปในอารยธรรมต่างๆ
เห็นว่ามีวิชา Game of Thrones ด้วย
เราเปิดวิชานี้ได้เพราะครูสังคมอีกคนสนใจ ในเมืองนอกก็เปิดวิชานี้ในระดับมหาวิทยาลัย เลยชวนกันเปิดเป็นวิชาเลือก สอนรวมกัน ม.4 5 6 ตัววิชาพูดถึงสังคมศึกษาทุกอย่างโดยที่มี Game of Thrones เป็นพื้น ประเด็นก็จะหลากหลายขึ้นอยู่กับความถนัดของครูแต่ละคน คนหนึ่งอาจจะสอนเรื่องภูมิศาสตร์ ศาสนา ชาติพันธุ์ เอาหนังมาดูกันว่าทำไมตัวละครแต่ละกลุ่มถึงหน้าตาต่างกัน ภูมิศาสตร์ส่งผลอย่างไรต่อหนังเรื่องนี้ ส่วนผมก็สอนเรื่องประวัติศาสตร์บ้าง ปรัชญาบ้าง การเมืองบ้าง เด็กที่มาเรียนก็จะดูซีรีส์ หรือไม่ก็อ่านหนังสือมาก่อน เราเปิดวิชานี้เพราะเรารู้ว่ามีเด็กดูอยู่ และทำยังไงให้สิ่งที่เด็กดูเป็นประโยชน์ต่อเขา ไม่ใช่แค่จบไปด้วยฉากฆ่ากันหรือ 18+
ผมเชียร์ให้คนรุ่นใหม่พยายามสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ตอนนี้โลกมันกำลังเปลี่ยนแล้ว วิชานี้มันเปิดได้เพราะเมืองนอกเปิด แล้วเราแย้งได้ว่าโลกมันทำสิ่งนี้อยู่นะ เป็นโอกาสที่ดีสำหรับครูรุ่นใหม่ที่จะได้เอาอะไรประหลาดๆ มาลองใช้ดู แล้วสร้างความชอบธรรมออกมาได้ด้วย
ฟังดูเป็นคลาสที่สนุกสนาน
สนุกครับ ผมก็สนุกเวลาเด็กว้าวหรือตอบอะไรที่เราไม่ได้คิดแบบนั้น ยิ่งเป็นเด็ก ม.ปลายก็ยิ่งเห็นศักยภาพว่าถ้าเข้ามหา’ลัย แล้วยังไม่ได้ทิ้งสิ่งนี้ไป ก็น่าจะไปได้ไกลในหลายๆ ด้าน
บรรยากาศตอนสอนเป็นอย่างไร
แล้วแต่ห้องครับ มีบางคลาสที่ผมสอนไม่ดีเนื่องจากวิชามันเยอะ บางทีเราเตรียมตัวไม่ทัน บางคลาสเด็กก็เข้ามาถามว่าครูต้องการจะบอกอะไร ซึ่งผมคิดว่าในแง่หนึ่งก็เวิร์ค แปลว่าคลาสอื่นๆ เด็กเข้าใจว่าเราต้องการจะสื่ออะไร
มีหนึ่งคลาสที่รู้เลยว่าเราห่วยมากเลย แล้วก็มีเด็กมาถามตอนจบว่า คลาสนี้ครูต้องการบอกอะไร อย่างน้อยเราก็ประเมินได้แล้วว่าเราทำสำเร็จนะที่จะบอกเด็ก บางคลาสทำไม่ได้แล้วเราควรจะทำอะไร
แล้วเราจะควบคุมความต่าง ให้เด็กเข้าใจสิ่งที่สอนไปพร้อมๆ กันได้ไหม
ผมคิดว่าผมไม่สามารถทำให้เด็ก 18 คนได้ความรู้อย่างเท่าเทียมกัน เพราะว่าถึงที่สุดแล้วความรู้ที่เขามีมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา แต่ขึ้นอยู่กับว่าพื้นฐานของเขามีมากแค่ไหน เราเหมือนเป็นตัวกระตุ้นให้เขาไปคิดและหาความรู้ต่อ
วิชาสังคมมันไม่ควรจะเป็นการนั่งอัดความรู้ จำได้ แล้วก็จบไป แต่ถ้าเราทำให้เขาสนใจวิชาเราได้ มันจะไม่จบแค่ ม.ปลาย
เขาผ่านมันไปแล้วเขาก็จะอ่านหนังสือเองอยู่ แต่ถ้าเราทำให้มันน่าเบื่อตั้งแต่ตอนนี้ ผมก็ไม่แน่ใจว่าผมสามารถทำให้เด็กรู้อย่างที่ผมอยากจะบอกได้ทุกคนเท่ากันหรือเปล่า แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ผมน่าจะทำได้คือทำให้เด็กที่เคยรู้สึกว่าวิชาสังคมมันไม่สำคัญ หรือน่าเบื่อมากเริ่มมองเห็นว่ามันมีอะไรบางอย่างอยู่
วิชาสังคม = วิชาชีวิต
อย่างที่บอกว่าโรงเรียนมุ่งสายวิทย์ สังคมอาจจะไม่ได้เป็นวิชาหลัก แต่เมื่อสอนไปแล้วเจอเด็กที่เริ่มตั้งคำถามและสนใจวิชาสังคมบ้างไหม
เยอะเลยครับ หลายคนตอบว่าชอบวิชาสังคม เรียนวิชานี้แล้วรู้สึกว่าเห็นความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงสังคม หลายๆ คนบอกว่าตอนเรียน ม.ต้นคืออาจารย์เข้ามาเปิดหนังสือ แล้วอ่านให้ฟัง เวลาสอบก็อ่านหนังสือเรียนไปสอบ
แต่พอมาเรียนที่นี่เขารู้สึกว่ามันเป็นไปได้ที่จะเรียนวิชาสังคมโดยการเอาประเด็นในชีวิตในประจำวันมาตั้งเป็นคำถาม ชวนให้เขาคิดถึงประเด็นที่มันใกล้ตัวมาก เช่น ทำไมน้ำท่วมบางจังหวัด, พี่ตูนวิ่งไปทำไม เขาก็จะรู้สึกว่าไม่เคยคิดถึงแง่มุมในการวิ่งของพี่ตูนแบบนี้เลย หลายคนรู้สึกว่าเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เขาไม่เคยคิดมาก่อน เห็นความแตกต่างชัดเจนระหว่างวิชาสังคม ม.ต้น และสังคมตอน ม.4
ดึงเหตุการณ์ประจำวันมาสอนในรูปแบบไหน
ต้องเชื่อมโยงกับสิ่งที่ผมจะสอนด้วย อย่าง ม.4 เทอมแรก สอนเรื่องสังคมวิทยา มีเรื่องความคาดหวังทางสังคมที่โยงกับเรื่องเพศ วันก่อนผมไปฉีดยากันไข้หวัดใหญ่มา ก็เลยนำเรื่องนั้นมาสอน พอเด็กผู้ชาย ม.6 ไปฉีดก็จะถกแขนเสื้อเท่ๆ แล้วเดินมานั่งไม่เป็นอะไร เด็กผู้หญิงจะกลัวๆ แล้วผมเป็นครู ซึ่งไม่สามารถหงอได้ ก็ยกตัวอย่างให้เด็กเห็นว่าทำไมต้องผมแสดงออกมาว่ามันไม่เจ็บทั้งๆ ที่มันเจ็บมาก
มันมีบทบาทที่สังคมคาดหวังกับคุณโดยที่คุณไม่รู้ตัว ที่ต้องแอ็คว่าไม่เจ็บทั้งๆ ที่เจ็บมาก ก็เพราะว่า ‘ผม’ ไม่ใช่แค่ ‘ผม’ ผมเป็นครูที่ดันเป็นผู้ชายอีกทีหนึ่ง ถ้าผมร้องโอดโอยมันจะผิดกับบทบาทของผม เด็กก็จะเห็นภาพว่าการที่เราเป็นใคร มีบทบาทบางอย่างที่เขาต้องเป็นจริงๆ ในชีวิตเขา
สามารถสอนเรื่องในชีวิตประจำวันไปได้ถึงการเหมารวม (stereotype) เลย
ใช่ครับ มันมีเรื่องเพศที่ยกมาสอนได้ ประเด็นเล็กน้อยกระทั่งการฉีดยาที่ทำเป็นไม่เจ็บก็ยกมาได้ เด็กจะเห็นภาพว่าทุกคนมีบทบาทที่สังคมคาดหวัง คุณแค่เป็นผู้ชาย ผู้หญิง เป็นครู นักเรียนก็โดนแล้ว และไม่ใช่แค่คุณไปทำหน้าที่ แต่แค่ฉีดยา คุณเป็นผู้ชายสังคมก็มองคุณแบบหนึ่ง เป็นผู้หญิง สังคมก็มองคุณอีกแบบ
ซึ่งเราก็ไม่ได้สอนเรื่องแบบนี้เพื่อคาดหวังให้เด็กเป็นต้นแบบของสังคมใช่ไหม
ผมอยากให้เขาเห็นว่ามีสิ่งเหล่าในโลกที่เขาใช้ชีวิตโดยไม่ได้สังเกตว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ก็คงไม่ใช่ทุกคนที่จะจำได้ แต่ในคาบนั้นหลายคนก็เข้าใจว่าผมกำลังพูดถึงเรื่องอะไร
แล้วเราสอบหรือวัดผลเด็กที่แตกต่างไปจากปกติอย่างไร
มีสอบมิดเทอม มีควิซประปรายตามปกติ เพียงแต่ว่าผมจะเปลี่ยนวิธีการสอบไปตามความจำเป็นของวิชานั้นๆ แทน เช่น วิชาหน้าที่พลเมือง การให้เด็กเขียนตอบไม่ค่อยเวิร์ค เพราะกลายเป็นว่าเด็กต้องท่องจำ แต่หัวใจของรัฐศาสตร์คือเราสอนคอนเซ็ปท์แล้วให้เด็กเอาไปปรับใช้ได้กับสิ่งอื่นๆ ผมเลยจัดสอบปากเปล่า (oral test exam) ให้เรื่องสั้นไปอ่านหนึ่งเรื่องและจับกลุ่มกันสองสามคน แล้วมาคุยกันเกี่ยวกับเรื่องสั้นเรื่องนั้น มีสถานการณ์สมมุติบางอย่างขึ้นมา ให้เขาเห็นว่าการเมืองมันอยู่ทุกที่รอบตัวเรา ไม่ได้เป็นเรื่องของรัฐสภาอย่างเดียว
แล้วผมจะเริ่มถามเป็นกลุ่มๆ ว่าเรียนเป็นยังไงบ้าง ชอบไหม คิดว่าหัวใจสำคัญของวิชานี้คืออะไร ชอบประเด็นไหนที่สุด แล้วก็จะโยงไปที่ว่าอ่านเรื่องสั้นมาหรือยัง คิดอย่างไร เอาเนื้อหาที่เรียนมาหรือโยงกับเหตุการณ์ในปัจจุบันได้อย่างไร แล้วมีคำถาม unseen ขึ้นมา
เช่น สมมุติว่าถ้าเราต้องอธิบายวิชานี้ให้เด็กหกขวบฟัง เราจะอธิบายมันว่าอย่างไร เด็กจะได้คิดไปมากกว่าการจำเนื้อหา ถ้าเขาเข้าใจเนื้อหาเขาจะตอบคำถามส่วนแรกได้ ปรับใช้กับสิ่งที่เราให้อ่านได้ก็ดีแล้ว แต่พาร์ท unseen คือต้องคิดไปไกลกว่าที่เขาเตรียมตัวมาซึ่งถ้าเด็กเข้าใจจริงๆ จะตอบพาร์ท unseen ได้ดีมาก ผมก็จะเห็นเลยว่าใครเข้าใจจริงๆ
มีการให้คะแนนอย่างไร
ก็มีเกณฑ์ว่าตอบคำถามเคลียร์ไหม มีการยกตัวอย่างประกอบหรือเตรียมตัวมาดีไหม ต้องถามนำเยอะไหม แต่ถ้าถามแล้วหยุดแล้วเขาพูดต่อก็จะเป็นคะแนนอีกแบบหนึ่ง
การสอบแบบนี้ก็ทำให้เราเรียนรู้ทัศนคติของเด็ก และความรู้ความเข้าใจพื้นฐานที่มีต่อปัจจัยอื่นๆ ด้วย
ใช่ครับ แต่มันก็กินเวลาทั้งวัน สอบแค่ 72 คน ผมใช้เวลาตั้งแต่ 8 โมงยัน 6 โมงเย็น 10 ชั่วโมงติด แต่ว่ามันมีข้อดีคือ
บางทีเราไม่มีโอกาสได้คุยกับเด็กทุกคนแม้ว่าโรงเรียนมันจะเล็กก็ตาม แต่การสอบปากเปล่าจะเริ่มทำให้เราเห็นทัศนคติของเด็กบางคนว่าเขาคิดอะไร
สมัยเรียนเราก็ไม่ได้เป็นสายเข้าหาครู แต่พอมานั่งสอบด้วยกัน บางคนที่อยากจะคุยกับเราแต่ไม่กล้าพูดในห้อง ได้พูดในสิ่งที่เขาคิด เราก็ได้เห็นอีกด้านหนึ่งของเด็ก
วิชาที่สอน vs วิชาที่สอบ
เคยมีคำถามที่เราตอบเด็กไม่ได้ไหม
เยอะแยะครับ เขาถามคำถามยากกันมาก (หัวเราะ) ผมก็บอกว่าผมไม่รู้ จะไปหาคำตอบมาให้ถ้าทำได้ เวลาเราเตรียมสอน เราก็ต้องคิดเผื่อว่าถ้าเราเป็นเด็กเราจะถามอะไร เช่น ถามปี พ.ศ. หรือนายกฯ คนที่เท่าไหร่ ซึ่งครูสังคมจะถูกคาดหวังว่าต้องรู้ข้อมูลเหล่านี้ แต่ผมไม่ใช่คนที่ท่องข้อมูลพวกนั้น
พอเราสอนสิ่งที่ไม่ได้ตามกฎกระทรวงหรือหลักสูตรปกติ เด็กจะใช้ข้อมูลที่สอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ไหม
ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมสอนคือสิ่งที่เขานำไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แน่ๆ ถ้าไล่ดูข้อสอบเก่าๆ ที่ผ่านมา แต่แน่นอนก็มีความกังวลจากผู้ปกครองบ้าง เพราะเด็กบางคนจะรู้ว่าวิชาสังคมโรงเรียนเราเอาไปสอบโอเน็ตได้ยาก โรงเรียนก็จะจัดติวโอเน็ตให้
ที่น่าสนใจคือว่า มีเด็กไปสอบสัมภาษณ์แพทย์ โรงพยาบาลรามาฯ สอบเสร็จก็ไลน์มาบอกผมว่า ผมเอาเนื้อหาวิชาของครู วันนั้นที่คุยกันในชมรมปรัชญาตอบตอนสัมภาษณ์ด้วย เด็กโดนถามว่าเป็นไปได้เหรอที่สังคมจะยุติธรรม แล้วก่อนหน้านั้นเราคุยกันเรื่องคอนเซ็ปท์ความยุติธรรม มีคำตอบบางอย่างที่เราคุยกันแล้วเขาเอาไปใช้ได้
หรือมีเด็กบางคนไปสอบทุนคิงแล้วบอกว่าครูสอนอย่างที่ครูสอนไปเลยนะ เพราะข้อสอบทุนคิงคือสิ่งที่โรงเรียนเราสอน ไม่ใช่ข้อสอบที่หลักสูตรกำหนด ถามคำถามแบบที่ครูสอนเลย
แล้วมันตลกที่ สิ่งที่เราสอนไปตอบข้อสอบโอเน็ตไม่ได้แต่ไปสอบทุนคิงได้ ในขณะที่โรงเรียนอื่นต้องสอนแบบนั้นเพื่อไปสอบโอเน็ต แต่สอบทุนคิงไม่ได้ แสดงว่าเรากำลังอยู่ในการศึกษาแบบไหน ทุนคิงนี่มีไว้สำหรับใคร
วิธีการสอนแบบนี้ควรเป็นสิ่งที่ทำกันทั่วไป ไม่ใช่ข้อสอบที่ทุนคิงใช้ critical มากเลย แต่ข้อสอบที่เราใช้วัดเด็กทั่วไปเป็นข้อสอบที่ไม่ critical แล้วทุกโรงเรียนถูกบีบให้สอน ครูดันคิดว่าแบบนี้คือถูก
ตอนสอนมีทฤษฎีที่เกี่ยวกับทักษะการเรียนรู้หรือต้องอ่านเพิ่มเติมบ้างไหม
ต้องอ่านครับ แต่ผมไม่ได้มีทฤษฎีในการสอนขนาดนั้นเพราะไม่ได้เรียนมาโดยตรง แต่ผมรู้ว่า Project Based Learning (การเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐาน) มีข้อดีอย่างไร รู้ว่าการยืนเลคเชอร์อย่างเดียวมันมีข้อเสียอย่างไร พอรู้แล้วก็พยายามจะดึงสิ่งเหล่านี้เข้ามาในการสอน ผมเชื่อว่าพอเป็นสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของเด็กยุคนี้ ครูก็จะถูกบอกว่าต้องสอนแบบ Active Learning (กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือกระทำ การที่เด็กได้ทำกิจกรรม เล่นเกม ไม่ได้แค่นั่งฟังเลคเชอร์อย่างเดียว)
ซึ่งผมกลับเชื่อว่า Active Learning ที่ไม่ได้แน่นด้วยคอนเทนต์ คือการเล่นเฉยๆ ที่ไม่ได้รับความรู้อะไรมากไปกว่าเดิม คือมันสนุก แต่เราไม่ได้สนใจสิ่งที่สนุกเสมอในชีวิตถูกไหม
แล้วก็มีหลายอย่างที่ไม่สนุกเลยแต่เราสนใจ Active Learning จึงไม่เท่ากับดีเสมอไป
ในทางกลับกัน เลคเชอร์ไม่ได้เท่ากับ passive เลคเชอร์ที่ชวนให้เด็กคิดและตั้งคำถามเป็นเลคเชอร์ที่ดีได้ และเมื่อเด็กคิดและสงสัยคือโคตรแอคทีฟเลย เพียงแต่ว่าเราไม่เห็นเขากระโดดออกมาเขียนกระดานเท่านั้นเอง ผมคิดว่าไม่ใช่การสอนแบบที่เด็กกระโดดโลดเต้นเท่านั้นที่ดีในตัวมันเอง
ผมต้องลองผิดลองถูก ก็มีบางคอร์สที่ไม่เวิร์ค และเราจะไม่ทำอีก ขอโทษครับเด็กๆ
ครูต้องสร้างสังคมที่ดีกว่า
คิดว่าการเป็นครูต้องทุ่มเทแค่ไหนอย่างไร
การเป็นครูต้องทุ่มเทให้กับอุดมการณ์บางอย่างที่เรามี ผมไม่เชื่อว่ามีครูคนไหนที่เป็นกลาง ไม่มีอุดมการณ์ใดๆ ในหัวเลย ผมว่าการเป็นครูที่เวิร์คคือเราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า bias (การเลือกที่จะเชื่อในบางสิ่งบางอย่าง) ของเราคืออะไร เราคาดหวังหรืออยากสร้างสังคมแบบไหน แล้วเราทุ่มเทสิ่งที่เราทำเพื่อจะสร้างสังคมแบบนั้น ด้วยการสร้างคนที่จะไปทำสิ่งเหล่านั้นต่อ
ไม่ใช่การทุ่มเทเพื่อให้เด็กเป็นเด็กดี เก่ง ฉลาด เรียนจบเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังได้ ต่อให้เด็กจะเข้ามหาลัยญี่ปุ่นได้ 28 คนก็ไม่ได้ทำให้สังคมดีขึ้น แต่ถ้าเราทุ่มเทเพื่อทำให้เขาเห็น คิด สงสัย เห็นว่าสังคมมันดีกว่านี้ได้นะถ้าทำสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นประโยชน์มากกว่า
คนเป็นครูควรจะตอบคำถามนี้ได้ใช่ไหม
ใช่ ถ้าครูไม่รู้ว่าตัวเองมี bias อย่างไร คิดว่าสิ่งที่ตัวเองสอนเป็นกลาง ตอบไม่ได้ด้วยว่าสังคมที่ดีเป็นยังไงเพราะตอนนี้มันดีอยู่แล้ว ครูแบบนั้นก็สร้างสังคมที่ดีกว่าไม่ได้
แต่ความเป็นกลางคือสิ่งที่ควรมีหรือเปล่า
ความเป็นกลางเป็นสิ่งที่ควรจะมีอยู่ แต่เราจะเป็นกลางได้ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่าเราเอียงข้างไหน เราอยู่แบบนี้มาตลอดแล้วเราไม่เคยรู้ว่ามันเอียงแล้วเราจะเป็นกลางได้ยังไง แต่ถ้าเรารู้ว่าเราโตมาในสังคมแบบนี้ เชื่อแบบนี้และคิดว่าวิธีที่ดีกว่าน่าจะเป็นแบบนี้ เราจะเป็นกลางได้มากขึ้น สามารถช่วยให้เด็กค่อยๆ คิดก่อนว่าแบบนั้นมันดีหรือเปล่า แล้วเราก็ถามตัวเองด้วยว่าที่เราเชื่อแบบนี้มันดีแล้วหรือเปล่า ถ้าเราคิดว่าทุกอย่างที่เรารู้เป็นความดีความเป็นกลาง ความจริง 100 เปอร์เซ็นต์ เราจะไม่มีทางเป็นกลางได้เลย เราแค่คิดไปเองว่าเราเป็นกลาง
ซึ่งการสอนของครูก็ส่งผลต่อเด็ก เพราะครูสอนอย่างไรเด็กก็มีแนวโน้มที่จะคิดตาม แล้วเด็กที่สอนมีความ critical มากแค่ไหนในการตั้งคำถาม
แตกต่างหลากหลายครับ ก็มีหลายครั้งที่เราจบแล้วเด็กไม่จบ จบคาบเด็กมาถามต่อ เป็นบรรยากาศแบบมหา’ลัยเลย ในคาบหลายคนก็ถามตอบด้วยรีแอคชันที่ดี เช่น เรื่องสุโขทัย ผมเล่าไปก่อนเรื่องประวัติศาสตร์ระยะสั้น ยาว คาบต่อไป ผมให้แต่ละคนไปอ่านหลักฐานเกี่ยวกับความหมายของความเป็นไทย ผมถามเขามาจนถึงจุดที่ว่าทำไมสุโขทัยถึงสำคัญ แล้วคนในอดีต 100 ปีที่แล้วคิดถึงสุโขทัยแบบเดียวกับเราหรือเปล่า แล้วก็มาสู่คำถามที่ว่าตกลงคนไทยคือใคร มาจากไหน ให้แบ่งกลุ่มกันอ่าน บางคนได้เรื่องสั้น, บทความ, เพลง แตกต่างกันแล้วมาถกเถียงกันว่าตกลงแล้วคนไทยมาจากไหน จริงๆ คือใครกันแน่ ให้แต่ละคนจับกลุ่มกันแล้วเขียนคำตอบ 140 คำ แล้วมาโหวตกันว่าคำตอบของใครที่เพื่อนคิดว่าถูกต้องที่สุด
ที่ตลกคือว่าคำตอบที่ถูกเลือกมากที่สุดคือคำตอบที่นิยามความเป็นคนไทยได้กว้างที่สุด ผมเลยถามเขาว่าทำไม เขาก็เลยเริ่มเห็นว่านิยามความเป็นไทยมันยังเบลอมากเลย เด็กๆ ก็ทำออกมาได้ critical อย่างที่เราคิดว่าน่าจะเป็นไปได้
คิดว่าความเป็นครูต้องมีความคิดสร้างสรรค์มากน้อยแค่ไหน
ผมคิดว่าการเป็นคนมันต้องมีความคิดสร้างสรรค์ครับ มันคือสิ่งที่มนุษย์ควรจะมี บางครั้งเราเชื่อว่าบางสิ่งมันดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปเปลี่ยนมัน แบบนั้นมันอันตรายที่สุดต่อความคิดสร้างสรรค์ ถ้าเราคิดว่าสังคมดี หมดจด อย่าไปเปลี่ยนมัน เราก็ไม่ได้ใช้ความสามารถที่เรามีในการเป็นมนุษย์
ครูเป็นมนุษย์ที่ผิดได้
ลักษณะเด่นของเด็กที่สอนในยุคนี้
ผมคิดว่าเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขา เขาเข้าถึงสื่อต่างๆ ที่บางครั้งเราตามไม่ทันด้วยซ้ำ ลักษณะเด่นของเด็กก็น่าจะเป็นโลกแบบที่คนรุ่น 90 แบบเราไปไม่ถึงแล้ว ถ้าเราตามไม่ทันเราก็หลุด ถ้าเราไม่เคยเล่นเกมออนไลน์เราก็หลุด ถ้าไม่เคยดูไลน์ทีวีเราก็คุยไม่ได้ เราจะเห็นช่องว่างแบบนี้เยอะ เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตมาก และเด็กเข้าถึงสื่อได้เร็ว อาจจะเป็นโจทย์หนึ่งที่ครูต้องจัดการว่าจะทำอย่างไร เพราะเด็กอยู่ในโลกแบบหนึ่งที่เราไม่คุ้นเคย
แล้วเราจำเป็นต้องตามเด็กให้ทันมากแค่ไหน
ง่ายๆ คือเราต้องสื่อสารกับเขาให้รู้เรื่องในภาษาแบบเดียวกัน พอเป็น ม.ปลายนี่เป็นวัยที่ไม่ทำอะไรถ้าผู้ใหญ่สั่ง และยิ่งคุณเป็นผู้ใหญ่ที่เขาไม่เห็นว่าคุณเชื่อมโยงกับเขายังไง คุณก็เป็นแค่ผู้ใหญ่ที่นั่นก็ไม่ตาม นี่ก็ไม่เห็นรู้เลย ก็คงยากที่เขาจะคิดตามที่คุณอยากให้เขาคิด แต่ถ้าเราลดความห่างตรงนั้นลงมาแล้วก็พยายามเอาตัวไปจอยกับโลกที่รุ่นเขากำลังเป็นอยู่ แล้วก็ทำให้เขาเห็นว่าต่อให้เราเป็นครู เราก็เป็นเพื่อนนะ ก็อาจจะทำให้เขากล้าคุยกับเรา มันมีประโยชน์ในทางที่ทำให้รู้ว่าเขาคิดกับเราอย่างไร คาดหวังอะไร แล้วบอกกันได้ ถ้าเราเป็นครูโหดๆ เด็กอาจจะไม่ฟัง
พูดถึงครูโหด เมื่อก่อนอาจจะมีคำพูดประมาณว่าต้องได้ไม้เรียวครู เด็กถึงจะได้ดี แต่ตอนนี้การเรียนการสอนอาจจะเปลี่ยนแปลงไปหลายรูปแบบมากแล้ว
ผมก็ไม่ได้เชื่อแบบนั้นนะ โอเค มนุษย์อาจจะต้องถูกลงโทษบ้างถ้าทำอะไรไม่ถูกต้อง แต่การลงโทษมันสำคัญขนาดนั้นไหม ก็อาจจะไม่ ส่วนตัวผมจะเป็นครูแบบที่ไม่เลือกลงโทษทางร่างกายกับเด็ก ผมไม่ได้พูดสุภาพ เวลาสอนผมพูดหยาบคายบ้าง แต่ความหยาบคายมันทำให้เราเชื่อมต่อกับเด็กได้ แล้วคลาสมันสนุก แต่ว่าถ้าเราตัดสินด้วยสายตาของครู้ครู ที่คิดว่าเด็กต้องมากราบก็อาจจะคิดว่าการเป็นครูแบบผมมันไม่ค่อยเวิร์ค ถ้าเขาคิดว่าครูควรจะเป็นแบบอย่างที่ดี ทำตัวดีในทุกๆ ความหมาย
งั้นถ้าเด็กไม่ฟังที่สอน ครูภาคินทำอย่างไร
ถอนหายใจใส่ แล้วก็เงียบ ผมจะมีเทคนิคในการแสดงออกไปว่าผิดหวังในตัวเขา แล้วหลังคาบเด็กจะมาขอโทษ คือถ้าเราด่าเด็ก เด็กก็จะตอบสนองอีกรูปแบบหนึ่งใช่ไหม มีครั้งหนึ่ง ผมให้เด็กพรีเซนต์แล้วเด็กทำมาขำๆ ดูไม่จริงจัง เพราะบรรยากาศในคลาสดูไม่ค่อยซีเรียส เด็กก็อาจจะคิดไปว่าทำชิวๆ ได้ ซึ่งมันชิวเกินไป ผมเลยดราม่าใส่โดยการบอกว่าผิดหวังอย่างไร หลังคาบก็มีพัฒนาการที่ดี เด็กรู้สึกผิด คือสิ่งเหล่านี้ครูจะทำไม่ได้เลยถ้าเราคิดว่าตัวเองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เราเป็นมนุษย์ เด็กเป็นมนุษย์ แล้วมนุษย์ดีลกันยังไงเวลาเราอยากให้มนุษย์อีกคนทำแบบนี้ เราจะดีลกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกแบบ ถ้าไม่พอใจก็ลงโทษไปสิ เพราะเราเหนือกว่า แต่ถ้าเป็นมนุษย์แล้วมีวิธีมากมายเลยในการสอนคน ทำให้เขาคิด หรือทำให้เขารู้ว่าถูกหรือผิด
ผมคิดว่าครูไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ครูเป็นมนุษย์ที่ผิดได้ ก็เป็นมนุษย์แบบพวกเอ็งนั่นแหละ พูดผิดเด็กก็ต้องแย้ง ต้องถามได้ ยิ่งเราทำตัวให้มีช่องว่างเยอะ เราสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้ามาในสังคมไทยเยอะเกินไปแล้ว
แต่มันอาจจะสำคัญหรือเปล่า ถ้าครูไม่เป็นคนที่ดูภูมิฐาน หรือสามารถออกคำสั่งบางอย่าง อาจจะคุมเด็กไม่ได้
ผมคิดว่าจำเป็นอยู่แล้วที่ครูจะต้องมีช่องว่างบางอย่าง เวลาเด็กทำอะไรไม่ถูกเราควรจะต้องดุ แต่ว่าครูไม่ควรจะเอะอะก็ด่า ตี หรือหยาบคายใส่โดยที่ไม่มีเหตุผล หรือเอะอะเด็กต้องคุกเข่ามาหา เดินก็ต้องก้มหัวตลอด เจอหน้าสิบครั้งก็ต้องไหว้สิบครั้ง ซึ่งโอเค มันดีแหละสำหรับผู้ใหญ่ที่เห็นเด็กนอบน้อมแล้วมีความสุข แต่มันไม่ได้แปลว่าเด็กที่ไม่ทำเป็นเด็กห่วย แล้วหลายครั้งที่เด็กไม่ทำก็เพราะเขาสงสัยว่าทำไปเพื่ออะไร และการที่เขาไม่ทำก็เป็นเพราะว่าคุณทำให้เขาเห็นไม่ได้ไงว่ามันทำไปเพื่ออะไร
บางทีเด็กไม่ร้องเพลงชาติ ไม่รู้ว่าจะเข้าแถวตอนเช้าไปทำไม มันก็บอกอะไรหลายอย่างกับเราว่าเรากำลังดีลกับโลกที่คนสงสัยแล้วยังหาคำตอบไม่ได้ แล้วคุณไม่สามารถเสนอคำตอบได้เพราะมันไม่ดีพอหรือเปล่า
หรือเพราะตัวครูเองก็อาจจะยังไม่มีคำตอบด้วย
ใช่ หลายครั้งเด็กที่ทำอะไรหลายอย่างที่ขัดใจ บางครั้งเป็นเพราะเขาทำในสิ่งที่เราเชื่อกันก่อนที่จะสงสัย เราเชื่อไปแล้วว่ามันดี แต่เด็กมีความสงสัยเหล่านั้นซึ่งเราไม่มี จึงต้องสร้างสมดุลให้ดี ผมคิดว่าเราคงไม่สามารถเป็นเพื่อนกับเด็ก 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเขามีเพื่อนของเขาอยู่แล้ว เขาไม่ต้องการเพื่อนที่นั่งกอดคอกัน แต่ต้องการคนบางคนที่รู้มากกว่า หรือแนะนำได้ เป็นคนบางคนที่สามารถพูดคุยได้ที่ไม่ได้ห่างจนเกินไป เหมือนเราคุยกับมนุษย์แบบหนึ่ง คุยกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกแบบหนึ่ง ผมคิดว่าครูควรจะเป็นมนุษย์ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เหมือนไม่ใช่ว่าเราเป็นครู แล้วนี่คือนักเรียน แต่สถานะเราคือเป็นการเรียนรู้แบ่งปันกันและกัน
การศึกษาหรือการสอนมันไม่ควรจะจบในห้องเรียน ทำยังไงให้ข้างนอกห้องมันยังสามารถหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์เหล่านี้ ยังเรียนรู้ต่อกันได้อีก ถ้าครูถ่อมตัวมาก เป็นมนุษย์มาก สิ่งที่ครูพยายามจะสื่อสารก็จะทำได้ง่ายขึ้น
แล้วทำไมความเป็นมนุษย์สำหรับความเป็นครูถึงสำคัญมาก
ในแง่หนึ่งผมคิดว่าเราไปหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเฉพาะเวลาที่เราเดือดร้อน แต่ชีวิตปกติเราก็เรียนรู้มาจากคนที่ดูเป็นมนุษย์มากกว่าเรา เวลาเราเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่เป็นมนุษย์ เราจะไม่สนใจคอนเทนต์ เราสนใจฟอร์ม แต่การเป็นครูมันไม่ใช่เรื่องของฟอร์ม เราไม่ได้สอนเรื่องพิธีกรรม เราสอนคอนเทนต์ เราพยายามชี้ให้เขาเห็นถึงการคิด การตั้งคำถามกับสังคม การสร้างโลกที่มันดีกว่า พวกนี้มันไม่สามารถกระทำผ่านการเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ มันต้องทำให้เขาเห็นและเรียนรู้ผ่านการที่คุณแสดงออกหรือชี้ทางว่าโลกมันควรจะเป็นแบบนี้
แล้วเราก็ผิดได้ด้วย
ใช่ เรื่องสำคัญของการเป็นมนุษย์คือเราผิดได้ เด็กต้องไปไกลกว่าเรา ต้องก้าวไปข้างหน้า ถ้าเราผิดไม่ได้ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เด็กต้องกราบไหว้อย่างเดียวมันคงไม่มีทางสร้างโลกที่ดีได้ เต็มที่คือโลกแบบที่เราอยู่ สิ่งที่ดีที่สุดที่ทำได้ถ้าเราเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือเด็กที่เชื่อในสิ่งที่เราเชื่อ คิดแบบที่เราคิด เด็กจะต้องรู้มากกว่าเราในวันหนึ่ง และจะสามารถรู้มากกว่าเราได้ด้วยการให้เขาข้ามเราไป ครูต้องเป็นมนุษย์ที่รู้สึกว่าตัวเองถ่อมตัว
ครูที่ดี = คนที่ดี?
มีครูที่ชอบและไม่ชอบไหม
ไม่ได้มีครูคนไหนที่ชอบหรือเกลียดเป็นพิเศษ แต่ผมไม่ชอบอาจารย์มหา’ลัยหลายคนในหลายๆ ความหมาย ในแง่หนึ่งอาจารย์มหา’ลัยห่างกับเด็ก สิ่งที่ผมเจอในอาจารย์มหา’ลัยแล้วไม่ชอบ ผมจะไม่เป็น คือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีก๊กมีเหล่า มีเครือข่าย ให้โอกาสกับเด็กที่เคารพนอบน้อม ครูที่ไม่ได้พร้อมที่จะอยู่กับเด็ก มาถึงจบคาบก็จากไป ผมชอบครูที่สามารถให้แรงบันดาลใจเราได้ เขาทำให้เราว้าวแบบนั้นมากกว่า อาจจะไม่ได้เจาะจงว่าเป็นใคร แต่ผมชอบครูที่ทุ่มเทเพื่อการสอนและใส่ใจ รู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์
ครูที่ดีต้องเป็นคนดีไหม
คนดีคืออะไรนะ ผมถามเด็กตลอดเลยว่าเวลาพูดถึงคนดีเราหมายถึงอะไร ไม่แน่ใจว่าครูที่ดีต้องเป็นคนดีในความหมายไหน ดีในแง่ไหน ดีตามที่รัฐต้องการประเทศชาติต้องการก็แบบหนึ่ง ดีต่อคนส่วนใหญ่ก็แบบหนึ่ง ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าครูที่ดีต้องเป็นคนที่ดี 100 เปอร์เซ็นต์ ไหม แต่มนุษย์ก็ควรจะเป็นคนที่ดีให้ได้มากที่สุดที่เขาจะเป็นได้
และไม่จำเป็นต้องเป็นครู ทุกคนในโลกใบนี้ต่อให้ทำอาชีพอะไรก็ควรจะเป็นคนที่ดีให้ได้มากที่สุดที่เขาจะเป็นได้ แต่เราไม่มีทางรู้หรอกว่าเราเป็นคนที่ดีแค่ไหน คนอื่นจะช่วยตัดสินเรา แล้วเราต้องอยู่ในโลกแบบนี้และต่อสู้กับสิ่งที่เราคิดว่ามันดี ฉะนั้นก็ตอบว่าครูที่ดีควรจะเป็นคนที่ดีครับ และควรจะมีคุณสมบัติบางอย่างที่ทำให้บรรลุหน้าที่ของการเป็นครู
ซึ่งถามผมก็คือทำให้เด็กเห็นว่าโลกตอนนี้มันไม่ได้สวยสดงดงาม แต่มันก็ดีกว่านี้ได้ เราทำให้เขามีแรงบันดาลใจในการไปสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม ผมคิดว่านั่นก็เป็นครูที่ดีแล้ว และควรเป็นคนดีให้ได้มากที่สุดครับ แต่ดีแค่ไหนก็ถกเถียงกันต่อไปได้อีก